คอลัมน์ สมการการเมือง
พาณิชย์ ภูมิพระราม
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -บทวิเคราะห์ของ “แบรด อดัมส์”ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอชต์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ในเว็บไซต์องค์กร ว่า “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะทำให้ทหารและกองกำลังติดอาวุธที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 ปราศจากความผิด และเป็นการปกป้องวัฒนธรรมการไม่ต้องรับโทษให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งผู้ก่ออาชญากรรมไม่ควรได้รับการยกเว้นโทษ”
ขอย้ำอีกครั้งว่า “ผู้ก่ออาชญากรรมสังหารผู้คน และทำลายทรัพย์สิน จะไม่ได้รับโทษจากกฎหมายฉบับนี้”
เขายังระบุว่า "ร่าง พ.ร.บ.ฉบับของนายวรชัย เหมะ สร้างความขุ่นเคืองให้กับบรรดาเหยื่อและญาติ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง"
แม้กระทั่งยูเอ็น ยังสนับสนุนให้ถอนกฎหมายฟอกอาชญากรรมฉบับนี้
เซซีล ปุยล์ลี โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทย ทบทวน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากวิตกว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเปิดทางให้บรรดาผู้ที่ก่อความรุนแรงจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2553 ลอยนวล ไม่ต้องรับโทษ ทั้งที่ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเอาไว้
นั่นจึงทำให้มีประเมินกันว่า จะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มที่สนับสนุน และกลุ่มคัดค้าน
ส่งผลให้ต้องมีการใช้กำลังกัน
แต่เหตุการณ์ “หลุดโลก”มากที่สุดเห็นจะเป็น การตั้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลที่โพสต์จากการประเมินสถานการณ์ว่า จะมีการยึดอำนาจ
พฤติกรรมเพื่อตอบสนองตัณหาเจ้านายอย่างถึงไส้ถึงพุง
ชนิดที่หาก การโยกย้ายครั้งหน้าไม่การขยับตำแหน่ง ผบก.ปอท. แสดงว่า การออกหมายเรียก บก.ข่าวการเมืองและความมั่นคง ไทยพีบีเอส ไม่ตอบโจทย์นักโทษที่อยู่ดูไบ
ทั้งนี้ เมื่อวันนี้ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา กองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ออกหมายเรียกบุคคลที่โพสต์ข้อความบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบปากคำและดำเนินการตามกฎหมาย
บุคคลทั้งสี่รายประกอบด้วย
1. น.ส.วารุณี คำดวงศรี อายุ 27 ปี ใช้นามแฝงในเฟซบุ๊ก "Warunee Khamduangsri"
2. ผู้ใช้นามแฝง "Yo Onsine" โพสต์ในเครือข่ายเฟซบุ๊ก และเคยร่วมงานถ่ายทำรายการ "แดดร่มชมตลาด"
3. นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หรือ เป๊ปซี่ อดีตผู้สื่อข่าวสายทหาร นสพ.บางกอกโพสต์ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ใช้นามแฝง "Sermsuk Kasitpradit" ในเครือข่ายเฟซบุ๊ก
4. นายเดชาธร ธีรพิริยะ แกนนำคนเสื้อแดง จ.ชลบุรี ใช้นามแฝง "ปุ๊ชลบุรี นักสู้ธุลีดิน"
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บอกว่า ทั้ง 4 ราย ที่ถูกออกหมายเรียก เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่กฎหมายแผ่นดิน เกิดความปั่นป่วน ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร
หากพิจารณาจาก มาตรา 14 ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เป็นเท็จ ข้อมูลปลอม ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อการร้าย ข้อมูลลามกแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า...บทวิคราะห์ตามข้อข่าวสารนั้น ไม่อยู่ในข่ายข้อมูลเหล่านี้
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ระบุไว้ว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
ยิ่งเมื่อพิจารณา มาตรา 116 แล้วพบว่า การกระทำผิดตามมาตรานี้ มาจากการใช้กำลัง หรือเกิดความกระด้างกระเดื่อง หรือล่วงละเมิดกฎหมาย...ยิ่งบ้ากันไปใหญ่
ทั้งนี้ มาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้ว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต”
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินต้องระว่างโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
ต่างกันอย่างลิบลับกับ ความผิดซึ่งหน้าและชัดเจน กรณี “นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ขวัญชัย ไพรพนา” แกนนำเสื้อแดงอุดรธานี สวมชุดตำรวจชุดปราบจลาจล
โดยชุดดังกล่าวมีการปักชื่อนายขวัญชัย สาราคำ และระบุสังกัด ภ.จว.อุดรธานี ไว้อย่างชัดเจน และติดบัตรผู้ประสานงานสภาผู้แทนราษฎร โดยเดินป้วนเปี้ยนอยู่บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันพุธที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก่อนเริ่มการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
โดยมีการวิจารณ์และด่ากันอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เพจ Dislike Yingluck For Concentration Citizen โดยได้โพสต์รูปภาพนายขวัญชัย ในชุดตำรวจ พร้อมกับระบุว่า “ขวัญชัย ใส่ชุดตำรวจ มันบอกว่าใส่ได้ เพราะไม่ติดยศ งั้นผมตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเช้าใช่ตำรวจทั้งหมดหรือไม่ ที่เตรียมกำลังไว้สลายมวลชน เราไม่แน่ใจว่าเป็นเสื้อแดงมาใส่ชุดแบบนี้ด้วยหรือไม่ ดังนั้นถ้าเกิดอะไรขึ้น เราสามารถป้องกันตัวได้ตามสิทธิ์ของเรา”
แต่ตำรวจกลับบอกว่า “ขอเวลาตรวจสอบก่อน”
คงต้องใช้เวลาสักปีกว่าจะตรวจสอบได้
ทั้งนี้ นายขวัญชัย กับ พล.ต.ต.บุญลือ กอบางยาง ผบก.ภ.จว.อุดรธานี นั้นมีความสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัว และมักจะออกงานใน จ.อุดรธานีร่วมกันอยู่เสมอ ซึ่งครั้งหนึ่งในการปราศรัยบนเวที ที่ จ.อุดรธานี ทางด้านนายขวัญชัย เคยประกาศว่า เขาเป็นคนเสนอชื่อ พล.ต.ต.บุญลือ ให้เป็น ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ผ่านทาง พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผบช.ภ.4
นั่นจึงทำให้ พล.ต.ต.บุญลือ บอกนักข่าวว่า “นายขวัญชัย มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา ผบก.ภ.จว.อุดรธานี แต่ไม่ได้มีการรับเงินเดือนจากทางราชการแต่อย่างใด และเห็นรูปแล้ว ก็ไม่มีการติดยศอะไร”
นั่นทำให้หลายคนประเมินว่า การทำงานของตำรวจในเวลานี้ ต้องรับใช้ยิ่งลักษณ์ อย่างเต็มกำลัง เพื่อความก้าวหน้าในชีวิตการงาน
"การที่ตำรวจจะดำเนินคดีกับคุณเสริมสุข ในข้อหาดังกล่าวเป็นการเกินกว่าเหตุหรือเปล่า เป็นการเชือดคอไก่ให้ลิงดู เพราะคุณเสริมสุข เป็นสื่อ”ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อประเมินไว้อย่างนั้น
แปลไทยเป็นไทยก็คือ รัฐบากลัวการเปลี่ยนแปลงสุดขีด !!!