xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยหนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เป็นเวรกรรมของบ้านเมืองที่เกิดความขัดแย้งเป็นระยะๆ แทนที่จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องราบรื่น ประชาธิปไตยบ้านเราต้องประสบกับปัญหาด้านภาวะผู้นำมาโดยตลอด ในยุคหนึ่ง ปัญหาของผู้นำเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือ ระบบการเมืองที่ยังเปิดไม่เต็มที่ ผู้นำทางการเมืองเป็นเป้าสำคัญเพราะการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดปัญหาความชอบธรรม ดังเช่นในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นต้น

ปัญหาความชอบธรรมของผู้นำได้รับการแก้ไขตกไปแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง การได้มาซึ่งความชอบธรรมมีผลทำให้ผู้นำมีความแข็งแกร่ง ยิ่งได้รับคะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ยิ่งทำให้ฐานะของผู้นำ และรัฐบาลมีความมั่นคงเพิ่มขึ้นอีก

แต่ระบอบการเมืองก็ยังมีปัญหา ที่สำคัญก็คือมีการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง และเป็นการคอร์รัปชันที่มีมิติใหม่ คือ การอาศัยนโยบายเป็นเครื่องมือ ด้านหนึ่งนโยบายประชานิยมนี้ เป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งนโยบายประชานิยมก็ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้นำและพรรคพวกเช่นกัน

การต่อต้านผู้นำที่เรียกว่า การต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ส่อให้เห็นว่าทักษิณเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจมากถึงขนาดที่ถูกเรียกว่า “ระบอบ” ที่น่าสังเกตก็คือ ระบอบทักษิณมีความแข็งแกร่งมาก เพราะมีทั้งพรรคการเมือง มีแนวร่วม และมีกองกำลังสนับสนุน พร้อมที่จะปกป้องระบอบตลอดเวลา

แต่ระบอบทักษิณก็มีฝ่ายต่อต้านเช่นกัน ฝ่ายที่ต่อต้านไม่ใช่พรรคฝ่ายค้าน แต่เกิดจากการรวมตัวของพลังประชาชน ที่มีประสบการณ์ร่วมกันในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็มิใช่องค์กรที่ต้องการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองเหมือนกับพรรคการเมือง ดังนั้นความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองฝ่ายค้านจึงไม่สู้ดี มีผลทำให้พลังของฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณอ่อนกำลังลง เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง

ในขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านมีภารกิจหลักในการคัดค้านรัฐบาล พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้จะมีจุดยืนในการคัดค้านนโยบายหลายอย่างของรัฐบาล แต่จะมีการรวมตัวกันก็ต่อเมื่อมีจุดที่จะออกมาต่อต้านทักษิณร่วมกัน ดังนั้นประเด็นที่จะจุดชนวนให้มีการชุมนุมใหญ่ก็คือ การพยายามที่จะล้างมลทินให้กับทักษิณ

นอกจากพลังประชาชนแล้ว ตัวแปรสำคัญก็คือ กองทัพ แม้ว่ากองทัพจะมีผู้นำที่ไม่ได้ประกาศตัวเป็นศัตรูอย่างออกนอกหน้ากับทักษิณ แต่ผู้นำกองทัพก็มิได้แสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนทักษิณเช่นกัน บทบาทของกองทัพจะมี ก็ต่อเมื่อเกิดความรุนแรงในการชุมนุมถึงกับนองเลือด

ฝ่ายสนับสนุนระบอบทักษิณ ไม่เคยไว้ใจกองทัพ จึงตั้งหลักคอยต่อต้านกองทัพอยู่ตลอดเวลา ข่าวลือที่ว่า ทักษิณมีทหารที่สนับสนุน และพร้อมที่จะทำปฏิวัติเพื่อทักษิณเอง จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเชื่อถือ เพราะผู้นำกองทัพน่าจะมีความต้องการที่จะวางตัวอยู่เหนือความขัดแย้งมากกว่าที่จะออกมาสนับสนุนทักษิณอย่างเปิดเผย และเสี่ยงถึงขนาดนั้น

ปัจจุบันเมื่อแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ลดบทบาทลง นายทหารชั้นผู้ใหญ่นอกราชการกลุ่มหนึ่งก็รวมตัวกับประชาชนออกมาคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แสดงว่านอกจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว ก็ยังมีกลุ่มอื่นอีก แต่ผมกลับเห็นว่า คณะเสนาธิการร่วมนี้เป็นหัวหน้า เมื่อถึงเวลาที่จำเป็น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็จะออกมาปรากฏตัวเป็นทัพหลวง

การชุมนุมหากมีความยืดเยื้อ โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งก็ยิ่งมีมาก หากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผ่านสภาฯ ประชาชนก็จะลุกฮือขึ้นมาต่อต้านอีก รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านที่รอคอยโอกาสอยู่แล้ว ดังนั้นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการนองเลือด และตามมาด้วยการแทรกแซงของคณะทหาร

ไปๆ มาๆ การเมืองไทยก็ไม่พ้นวงจรอุบาทว์ เพียงแต่ระยะเวลายืดนานออกไป และความรุนแรงมีมากขึ้นกว่าที่เป็นมาในอดีตเท่านั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น