xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.หว่งการเมืองกดบาทอ่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าการธปท.ระบุเงินบาทอ่อนช่วงนี้มาจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ ห่วงหากเหตุการณ์ยืดเยื้อจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และบรรยากาศการใช้จ่ายและการลงทุนต่อไปได้ ชี้ครึ่งปีหลังเงินบาทยังผันผวนต่อ แนะแบงก์กันสำรองพิเศษเพิ่ม หวั่นยกเลิกคิวอี ทำต้นทุนแบงก์และภาระลูกค้าพุ่ง โดยเฉพาะธุรกรรมสินเชื่อ


นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าในขณะนี้ โดยในระยะสั้นเกิดจากปัจจัยการเมืองที่ส่งผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนบ้าง ซึ่งก็ต้องรอดูสักระยะหนึ่งว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยหากเหตุการณ์ยืดเยื้อก็อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อเศรษฐกิจไทยและกระทบบรรยากาศการใช้จ่ายและการลงทุนในอนาคตได้
"หวังว่าทุกฝ่ายจะคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เพื่อจะหาทางออกได้และแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นๆ ต่อไป ซึ่งปกติก็มีโจทย์ให้คิดอีกเยอะอยู่แล้ว อย่าสร้างอุปสรรคกันเองดีกว่า"
ในช่วงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศกำลังร้อนแรง ขณะนี้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศค่อนข้างสมดุลและไม่มีปัญหาอะไร โดยตลาดการเงินยังมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้เปาะบาง จึงส่งผลให้ในตลาดมีทั้งธุรกรรมซื้อและขายตามปกติและไม่มีรายการอะไรมากเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มองว่าสถานการณ์ต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนอยู่ แม้ประเทศเศรษฐกิจหลักเริ่มเห็นการฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่ยังไม่เข้มแข็งมากนัก ขณะเดียวกันปัจจัยในประเทศก็มีเรื่องการเมืองที่อาจเข้ามากระทบได้ ฉะนั้น ภาคธุรกิจก็ต้องระมัดระวังและธนาคารพาณิชย์ควรมีการกันสำรองพิเศษในยามที่มีผลกำไรดี เพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่คาดคิดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากสถาบันจัดอันดับต่างๆ ทำให้ระบบสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคง
"หากมีการยกเลิกมาตรการเชิงปริมาณ หรือ คิวอี ก็อาจจะส่งผลอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเด้งขึ้น ซึ่งส่วนนี้จะมีผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์ สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุุคล เป็นต้น พวกนี้จะมีผลต่อภาระหนี้ อุปสงค์ของลูกค้าว่าจะปรับตัวอย่างไร ขณะเดียวกันก็อย่าเปิดฐานะมากจนเกินไป เพราะอัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสผันผวนได้ 2 ทิศทาง"
ต่อข้อซักถามที่ว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เศรษฐกิจไทยสามารถยืดหยุ่นรองรับปัญหาได้แค่ไหน ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ในส่วนของธปท.พยายามสร้างพื้นที่เบาะรองรับด้านต่างๆ เพื่อรับแรงกระแทกได้ระดับหนึ่ง เช่น ดูแลดุลการชำระเงิน ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ หรือนโยบายทั้งอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน เงินทุนเคลื่อนย้ายให้มีความยืดหยุ่นรองรับสถานการณ์ อีกทั้งยังพยายามดูแลเสถียรภาพในด้านต่างๆ เช่น เตือนให้ทั้งผู้ให้กู้และผู้กู้ระมัดระวังเรื่องหนี้สิน ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีปัญหานี้จะสำแดงออกมา
เมื่อวานนี้ (5ส.ค.) ผู้ว่าการธปท.ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน"ว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากเปรียบเสมือนสถานีดับเพลิงที่คอยควบคุมความเสียหายให้อยู่ในวงจำกัด จึงเป็นกลไกสำคัญในการดูแลสถาบันการเงินในยามเกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง
โดยยืนยันได้จาก 4 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่ ข้อแรกเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและสามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ข้อสองระบบสถาบันการเงินมีฐานะการเงินเข้มแข็งรองความเสี่ยงได้ดี โดยสิ้นไตรมาสที่ 2 สินเชื่อขยายตัวมากกว่า 12.8% และมีกำไรสุทธิ 9.8 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส เรโช)อยู่ที่ 15.7% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ระดับ 8.5% และยังมีสัดส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ที่ 27.5% ถือว่าสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 6.5%และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)2.2%ของสินเชื่อรวม
ข้อสาม มีระบบกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐที่เข้าไปจัดการธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาแต่เนิ่นๆ ป้องกันไม่ให้ปัญหาบานปลาย และข้อสุดท้าย ธนาคารพาณิชย์มีระบบบริหารจัดการภายในที่ดีและมีหลักธรรมาภิบาล ถือเป็นข้อสำคัญสุด เพื่อป้องกันปัญหาสุ่มเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการของสถาบันการเงินนั้นๆ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่อาจมีอะไรแอบแฝงได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น