xs
xsm
sm
md
lg

ซัด2ล้านล้านกลวงใน ฟันธง!ติดด่านศาลรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงเสวนาเงินกู้ 2 ล้านล้านวิกฤตหรือโอกาสของประเทศ นักวิชาการเห็นพ้อง เกิดยาก เชื่อไม่ผ่านด่านศาล รธน. แนะศึกษาให้รอบคอบ โดยเฉพาะผลกระทบและความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจและประชาชน ชี้ต้องแยกโครงการไม่ใช่มัดรวม ทีดีอาร์ไอระบุรัฐบาลมีความพร้อมแค่ 25% กังวลรถไฟความเร็วสูงจะเจ๊งเหมือนแอร์พอร์ตลิงก์

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม ราชดำเนินเสวนา “เงินกู้ 2 ล้านล้าน วิกฤติหรือโอกาสประเทศไทย?" ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

นายบรรเจิดเชื่อว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน จะสามารถผ่านการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรแต่จะขัดเรื่องกฏหมายรัฐธรรมนูญ เพราะควรมีเนื้อหาและกระบวนการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ว่าขัดต่อกฎหมายที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

"มองว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา169 ซึ่งการจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้ต้องกำหนดไว้ว่าเป็นงบประมาณรายจ่าย เว้นแต่เป็นกรณีเร่งด่วน อีกทั้งยังขัดต่อเนื้อหากฏหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการที่ใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็น ไม่เกิดผลกระทบ และเป็นไปตามหลักพอสมควร ซึ่งมาตรการตามกฎหมายจะต้องกระทบและเป็นภาระประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งหากมีผลกระทบต่อประชาชนถือว่าไม่ใช่มาตรการที่จำเป็น"

ขณะที่การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงมีทางเลือกอื่นหรือไม่ ที่สามารถจะเกิดภาระน้อยกว่านี้ เช่น การร่วมลงทุนหรือการสัมปทาน ในส่วนนี้ตนมองว่าไม่เป็นไปตามหลักอันพอสมควร โดยขัดกับหลักว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรา 57 วรรค 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเวียนคืนที่ดิน และส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งรัฐควรมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับไม่มีการดำเนินการ รวมทั้งขัด ตามมาตรา 67 วรรค 2 เพราะเป็นโครงการระดับชาติ อย่างไรก็ตาม หากต้องการดำเนินต่อ ควรแยกหลายโครงการออกจากกัน เพื่อให้ดำเนินโครงการที่พร้อมต่อไปได้

นายสกนธ์กล่าวว่า โครงการนี้มีความจำเป็นในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ และคงไม่มีใครปฎิเสธที่ แต่การได้มาของโครงการนี้ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการพิจารณาควรกว้างกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ การพิจารณาโครงการยังขาดแนวทางการพัฒนาประเทศ ตามพื้นที่ต่างๆ และประโยชน์ที่จะได้รับ หากปล่อยให้โครงการเดินหน้าโดยไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้จะส่งผลต่อประเทศในระยะยาว จากการศึกษาพบว่ามีช่องว่างที่จะใช้งบประมาณของประเทศในการสนับสนุนโครงการปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน

"ทำไมต้องมีใช้เงินนอกงบประมาณ ทำไมไม่ร่วมกับเอกชนในการดำเนินโครงการ เพื่อแบ่งเบาภาระจากการลงทุนจนเป็นภาระของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมเพียงหน่วยงานเดียว จากที่มีเงินงบประมาณทุกปีกว่า 9 หมื่นล้าน กระทรวงคมนาคมมีศักยภาพในการบริหารเงินงบประมาณหรือไม่ และโครงสร้างนี้มีความคุ้มค่าหรือไม่" นายสกนธ์กล่าวและว่า ถ้ามองเรื่องงบประมาณของประเทศมีปัญหาอยู่มาก เพราะโครงสร้างงบประมาณตั้งแต่หลังวิกฤติปี 40 ที่มาจากยุคทักษิณในโครงการประชานิยมที่หวังผลเรื่องการเมืองหวังผลการพัฒนาในระยะสั้น แม้ส่วนตัวไม่ได้ติดใจอะไรมากเห็นว่าเป็นกระบวนการทางการเมืองที่พอยอมรับได้ แต่ประเด็นปัญหาอุปสรรคที่เรามีอยู่ขณะนี้ทุกๆ เม็ดเงินที่เป็นโครงการประชานิยมจะมีแต่การเพิ่มขึ้นตลอด ประเทศไทยควรหันมาดูโครงการประชานิยมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่แย่กว่านั้นคือประชานิยมถูกฝังรวมอยู่ในโครงการปกติของระบบงบประมาณรายจ่ายสำคัญของรัฐบาล กินเข้าไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของบประมาณแต่ละปี

ด้านนายสุเมธกล่าวว่า การลงทุนในระบบรางทั้งเก่าและใหม่ มีการเร่งรัดในการลงทุนมากไป ทั้งรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ ซึ่งยังขาดการวิเคราะห์คำนวณความเสี่ยง ขาดการจัดการบริหารที่เป็นระบบ รวมถึง กระบวนการในการชำระหนี้ยังไม่มีความชัดเจน ส่วนเรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้รับ ความคุ้มทุนสุดท้ายอาจจะส่งผลเช่นเดียวกับการก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ที่ไม่มีคนไปใช้บริการจนมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยยอมรับว่า โครงการที่บรรจุในร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มีบางโครงการที่น่าสนับสนุน แต่มีบางส่วนที่ยังติดขัดอยู่ โดยหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการคือกระทรวงคมนาคม เม็ดเงินส่วนใหญ่หรือ 90% ลงไปที่กระทรวงคมนาคม ในส่วนนี้เป็นเรื่องของรถไฟ 83% การดำเนินโครงการรถไฟแน่นอนว่าจะเกิดหนี้จำนวนมากในทุกประเทศ แต่ในต่างประเทศพบว่าเป็นปัญหาจึงมีการปฎิรูปโครงสร้างการลงทุนด้านรถไฟ และประเทศไทยต้องใช้เวลาสักระยะในการปฏิรูปเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณของประเทศ

"ทั้งโครงการมีเพียงแค่ 25 % ที่มีการศึกษาเส้นทาง ผลกระทบ ส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบราง ส่วนรถไฟความเร็วสูง 7.8 แสนล้านบาทยังมีคำถามอยู่จะคุ้มค่ามากน้อยขนาดไหน เนื่องจากการศึกษายังไม่แล้วเสร็จจึงไม่สามารถให้ความเห็นได้ ในเรื่องของรถไฟในเขตกรุงเทพปริมณฑลเป็นโครงการที่ต้องทำต่อเนื่องถ้า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่ผ่านคงไม่มีผลอะไร ซึ่งที่สุดแล้วโครงการเงินกู้ไม่จำเป็นต้องมีจำนวน 2 ล้านล้านบาท" นายสุเมธกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น