xs
xsm
sm
md
lg

โพลไม่เชื่อมือรัฐบาล สอบโกง-ตรวจข้าวถุงได้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (21 ก.ค.) น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องการตรวจสอบสารตกค้างในข้าวและการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการรับจำนำข้าว โดยสำรวจจากประชาชนใน 17 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 2,438 ตัวอย่าง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.8 ทราบข่าวการตรวจสอบโครงการจำนำข้าว ในขณะที่ร้อยละ 11.2 ไม่ทราบ
ส่วนความน่าเชื่อถือต่อหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบสารตกค้างในข้าวถุง พบว่า ประชาชน ร้อยละ 42.9 เชื่อหน่วยงานภายนอกมากกว่า เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สื่อมวลชน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 32.9 เชื่อหน่วยงานของรัฐบาลมากกว่า และ ร้อยละ 24.2 ไม่เชื่อใครเลย อีกทั้งยังรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกในการรับประทานข้าวที่มีกระแสว่ามีสารตกค้าง รวมทั้งแสดงความผิดหวังต่อรัฐบาล และฝ่ายการเมือง ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฝ่ายหนึ่งก็เอาแต่จะรักษาอำนาจของตนไว้ อีกฝ่ายหนึ่งก็มุ่งแต่ทำลายความเชื่อถือของรัฐบาล แต่ยังไม่เห็นว่าฝ่ายไหนที่มีแนวทางแก้ปัญหาประเทศที่ดีกว่าเลย
เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐบาลที่ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 61.6 ไม่เชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ในขณะที่ ร้อยละ 38.4 เชื่อมั่น ส่วนความเชื่อมั่นต่อการตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน พบว่าร้อยละ 85.2 เชื่อมั่นต่อการเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ตรวจสอบ มีเพียงร้อยละ 14.8 เชื่อมั่นการตรวจสอบกันเอง โดยหน่วยงานของรัฐบาล
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 58.0 รู้สึกท้อ และหมดหวัง เมื่อพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เปิดโปงขบวนการทุจริตคอร์รัปชันถูกกลั่นแกล้งโดยรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 42.0 ไม่รู้สึกอะไรเลย
อย่างไรก็ตามร้อยละ 62.0 ไม่กล้าออกมาพูด หรือเปิดโปง ถ้าหากพบเห็นเหตุการณ์การทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล หรือฝ่ายการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 38.0 ระบุว่า กล้า
"การตรวจสอบสารตกค้างโดยรัฐบาลดูเหมือนจะไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐบาลขึ้นมาได้ในการสำรวจครั้งนี้ แต่ประชาชนจำใจต้องซื้อข้าวรับประทาน เพราะไม่มีทางเลือก และเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองประกาศแนวทางป้องกันปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน และการเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณ และการมีส่วนร่วมประเมินผลงานโดยประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่"

**ติ๊งเหล่บอกข้าวรมยาซาวน้ำก่อนหุงก็กินได้

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Noppadon Pattama ถึงกรณีหลายฝ่ายออกมาตำหนิติติงปมข้าวรมยาฆ่าแมลง ว่า “มีกระบวนการโจมตีข้าวไทยอย่างเป็นระบบ เช่น ใส่ร้ายว่า บางยี่ห้อมีสารเคมีตกค้าง แต่พอเขาพิสูจน์ว่าไม่มี และที่นายกฯ ต้องการสร้างความมั่นใจว่าข้าวปลอดภัย โดยการกินข้าวโชว์ ก็ยังถูกกระแนะกระแหนจากฝ่ายค้านบางคน ผมผิดหวังกับคุณภาพการค้าน และเป็นการสะท้อนวิธีการทำงานที่มองเรื่องดีเป็นเรื่องร้ายได้ทุกเรื่องจริงๆ
เรื่องรมข้าวกันแมลง ผู้เชี่ยวชาญบอกแล้วว่า ซาวข้าวก่อนหุงก็ล้างออก ไม่อันตราย ดังนั้นผมไม่เห็นว่าจะเป็นประเด็นที่ต้องกังวล จนคนบางพวกออกมาวิจารณ์ และดิสเครดิตข้าวไทยกันขนาดหนัก ผมกินข้าวไทย เคยทำนา เข้าใจชีวิตชาวนา และพรรคเพื่อไทย จะยืนเคียงข้างชาวนาและผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตลอดไป”

นักวิชาการอัดรัฐ แนะซาวข้าวล้างโบรไมด์ไอออนทำไม่ได้จริง ชี้ซึมลึกระดับโมเลกุลข้าว ขนาดการตรวจสอบต้องเอาข้าวไปเผาจึงจะได้โบรไมด์ไอออน ล้างธรรมดาเอาไม่อยู่ เผยพบโบรไมด์ไอออนตกค้างในข้าวโค-โค่ เกินมาตรฐาน สะท้อนมีการรมข้าวหลายครั้ง แจง อย.จ่อคุมสารเมทิลโบรไมด์ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมอาหาร ไม่มีทางเท่ากับค่าโบรไมด์ไอออน 50 ppm เพราะเป็นหน่วยเดียวกัน

**ตอกซาวข้าวขจัดสารตกค้างไม่ได้

ด้านน.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานมูลนิธิชีววิถี เครือข่ายต่อต้านสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)กล่าวถึงการตรวจสอบคุณภาพข้าวสารบรรจุถุงว่า การตรวจสอบสารเมทิลโบรไมด์ ตกค้างในข้าวสารบรรจุถุงนั้น จะทดสอบโดยการวัดปริมาณของโบรไมด์ไอออน (Bromide Ion)ซึ่งแตกตัวมาจากสารเมทิลโบรไมด์ อีกที ทั้งนี้โบรไมด์ไอออนไม่ได้ตกค้างอยู่ที่ผิวเมล็ดข้าวด้านนอกทั่วไป แต่จะซึมลึกอยู่ในระดับโมเลกุลของข้าว ดังนั้นการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจเจอโบรไมด์ไอออน เกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX)ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 50 มิลลิกรัมต่อกก. (ppm)นั้น หมายความว่า จะต้องมีการรมข้าวซ้ำหลายครั้งมาก ถึงจะมีการตกค้างจำนวนมากขนาดนี้
น.ส.ปรกชล กล่าวอีกว่า มูลนิธิฯ ตรวจพบโบรไมด์ไอออน ในโมเลกุลข้าว 67.4 ppm ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจเจอถึง 94.2 ppm แบบนี้ถือว่าอันตราย เพราะเกินกว่าค่ามาตรฐาน 50 ppm ซึ่งเป็นปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ที่สำคัญโบรไมด์ไอออน ที่ตรวจเจอจำนวนมากเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นโบรไมด์ไอออนตามธรรมชาติ เนื่องจากมีข้าวถุง 12 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบว่าไม่มีการตกค้างของโบรไมด์ไอออนเลย จึงหมายความได้ว่า ต้องเป็นโบรไมด์ไอออน ที่มาจากการแตกตัวของสารเมทิลโบรไมด์เท่านั้น แม้โบรไมด์ไอออน จะยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าจะก่ออันตรายอะไรต่อร่างกาย แต่โบรไมด์ไอออน ที่แตกตัวมาจากสารเมทิลโบรไมด์ จะมีตัวเมทิลแทรกอยู่ตามช่องว่างของโบรไมด์ไอออนด้วย ซึ่งตัวเมทิลนี้ ที่เป็นสารอันตรายต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้การพบโบรไมด์ไอออนเกินค่ามาตรฐาน จึงถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
"การแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเองด้วยการล้างข้าว หรือซาวข้าวนั้น ไม่สามารถขจัดโบรไมด์ไอออนได้แน่ เพราะมันซึมลึกอยู่ในระดับโมเลกุล ซึ่งการตรวจสอบยังต้องเอาเม็ลดข้าวไปเผาเพื่อสกัดโบรไมด์ไอออนออกมา ดังนั้น การซาวข้าวจึงไม่สามารถช่วยล้างโบรไมด์ไอออนออกไปจากข้าวได้" น.ส.ปรกชล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สำนักงาน อย. เตรียมแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 2) โดยกำหนดค่า MRLของสารเมทิลโบรไมด์ ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมอาหาร หรือเท่ากับโบรไมด์ไอออนไม่เกิน 50 ppm ตามค่ามาตรฐานนั้น น.ส.ปรกชล กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะหน่วยมิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมอาหาร ก็คือหน่วย ppm เช่นกัน เพราะ ppm ย่อมาจาก part per million หรือ 1 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน ซึ่ง 1 กิโลกรัม ก็คือเท่ากับ 1 ล้านมิลลิกรัมนั่นเอง จึงเป็นในลักษณะของ 1 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน ดังนั้น การกำหนดค่า MRLอยู่ที่ 0.01 ppm จึงไม่มีทางเท่ากับ 50 ppm ตามที่ อย.อธิบายแน่นอน
น.ส.ปรกชล กล่าวด้วยว่า การกำหนดค่า MRLอยู่ที่ 0.01 ppm ซึ่งถือว่าน้อยกว่าค่ามาตรฐานโลกมาก ถือเป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริงคงเป็นไปได้ยากในการควบคุมสารตกค้างไม่เกิน 0.01 ppm ซึ่งเท่ากับเป็นการกำหนดค่า MRL ที่น้อยที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะขนาดจีนยังกำหนดอยู่ที่ 5 ppm เท่านั้น และไม่แน่ใจว่าไทยมีเทคโนโลยีรองรับการตรวจถึงระดับ 0.01 ppm แล้วหรือยัง ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 ppm ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาภายในประเทศว่าการตกค้างของสารในระดับใดจึงจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม บางประเทศมีการตั้งค่ามาตรฐานที่สูงกว่านี้ ซึ่งการส่งออกต้องทำให้ได้ตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ตรงนี้คนในประเทศก็ย่อมอยากบริโภคข้าวที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าการส่งออกเช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น