ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การประท้วงและเผาโรงงานของกลุ่มแรงงนชาวพม่า กลายเป็น“ปลายเหตุ”ที่บ่งบอกถึงสภาพคล่องของ บริษัทสหฟาร์ม จำกัด ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งทางด้านผลิตและส่งออกไก่ อันดับหนึ่งของประเทศ
นั่นทำให้เกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับ“ฐานะการเงิน”ของบริษัท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กลุ่มแรงงานชาวพม่า จำนวนกว่า 3,000 คน ได้ก่อเหตุประท้วงขึ้นที่ บริษัทสหฟาร์ม ต.กันจุ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากบริษัทจ่ายค่าแรงให้ไม่ครบ ประกอบกับมีกระแสข่าวแพร่สะพัดในกลุ่มคนงาน เรื่องบริษัทจะปิดโรงงาน โดยที่การประท้วงได้บานปลายออกไปจนมีการทุบทำลายสิ่งของ
การประท้วงดังกล่าวมาจาก สภาพคล่องทางการเงินของสหฟาร์ม ที่อยู่ในสภาพติดลบ เพราะมีภาระถึง 30,000 ล้านบาท
แต่หลังจากนั้น ก็มีการแก้ไข โดยธนาคารกรุงไทย ตกลงปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ให้กับบริษัท คาดว่าจะทำให้บริษัทเปิดดำเนินการใหม่อีกครั้งได้ภายในเดือนกันยายน นี้
โดยบริษัทได้นัดให้พนักงานทุกคนมารายงานตัวในวันที่ 1 กันยายน 2556 จากกำหนดการเดิมที่คาดว่าจะปิดกิจการประมาณ 2 เดือน ซึ่งเงินกู้งวดใหม่นี้ จะนำมาจ่ายค่าแรงที่คงค้างพนักงานมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
“ขณะนี้ได้จ่ายเงินเดือน 25 % ของเดือนพฤษาภาคม เป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท ส่วนของค่าแรงเดือนมิถุนายน จะจ่ายให้ในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะจ่ายให้ครบ 100% โดยขณะนี้บริษัทได้หยุดเลี้ยงไก่เนื้อเป็นการชั่วคราว 1 รุ่น และจะเริ่มเลี้ยงใหม่เมื่อทุกอย่างพร้อม” ทวีศักดิ์ กิตติอุดมธรรม ผู้บริหารระดับสูง บริษัท สหฟาร์ม อธิบายแผนการเปิดกิจการ
อย่างไรก็ตาม ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ประธานบริษัท สหฟาร์ม ได้ส่งสารขอโทษพนักงานทุกคนที่เกิดปัญหาขึ้น และยืนยันว่าคนงานทุกคนต้องได้รับเงินค่าจ้างครบ แม้ว่าต้องขายทรัพย์สิน
นั่นหมายความว่า หากบริษัทไม่สามารถจัดหาเงินทุนจากเจ้าของ และเจ้าหนี้ได้
บริษัทจะขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ เพื่อนำเงินสดมาใช้ให้ได้
ทั้งนี้ งบการเงินของ บจก.สหฟาร์ม ที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปี 2555 ล่าสุด ( สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2555 ) บริษัทมีรายได้รวม 15,836 ล้านบาท ลดลงจากปี 2554 ที่มีรายได้ 16,008 ล้านบาท
รายได้เหล่านี้แบ่งเป็นรายได้จากการขายต่างประเทศ 7,826 ล้านบาท รายได้จากการขายในประเทศ 7,942 ล้านบาท รายได้จากการลงทุน 5.59 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 25.3 ล้านบาท และรายได้อื่น 37.0 ล้านบาท
แต่บริษัทมีค่าใช้จ่ายในปี 2555 รวม 16,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีรายจ่าย 14,884 ล้านบาท)
ประกอบด้วยรายจ่ายด้านต้นทุนขายสินค้า 15,893 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 475 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 449 ล้านบาท ต้นทุนทางการเงิน 483 ล้านบาท
ปี 2554 มีต้นทุนทางการเงิน 428 ล้านบาท
นั่นทำให้บริษัทขาดทุนในปี 2555 จำนวน 1,465 ล้านบาท จากเดิมที่ปี 2554 มีกำไร 695 ล้านบาท
แต่งบกำไรขาดทุนดังกล่าว ไม่ได้สะท้อน“สภาพคล่องทางการเงิน”ของบริษัท
โดยเฉพาะ “รายได้”ที่มาจาก“ลูกหนี้การค้า”
แสดงให้เห็นว่า ลูกหนี้ไม่จ่ายเงินจำนวนมาก
ทำไห้บริษัทไม่มี “เงินสด”ไปจ่ายหนี้การค้า และเจ้าหนี้เงินกู้ได้
ทั้งเจ้าหนี้จากกลุ่มเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรวิเชียรบุรี กว่า 19 ล้านบาท สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.เพชรบูรณ์ 4.9 ล้านบาท
แม้กระทั่งค่าไฟอีกกว่า 100 ล้านบาท บริษัทไม่สามารถหาเงินมาจ่าย
แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีปัญหาเรื่องเงินสดมาเป็นเวลานานพอสมควร
อย่างน้อยที่สุดปัญหาน่าจะเกิดมาแล้ว 3 ปี
จนบานปลาย นำไปสู่การปิด 2 โรงเชือดไก่ ที่ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 600,000 ตัวต่อวัน และโรงเชือดที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 400,000 ตัวต่อวัน
ข้อมูลในอดีตบ่งบอกว่า บริษัทสหฟาร์ม จัดเป็นบริษัทส่งออกขนาดใหญ่ของประเทศไทย
โดยมียอดรวมการส่งออกไก่เฉลี่ยประมาณ 100,000 ตันต่อปี หรือประมาณ 20% จากยอดการส่งออกรวมทั้งระบบ ปี 2555 ประมาณ 552,000 ตัน
คิดเป็นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท
แต่นั่นเป็นช่วงรุ่งโรจน์ของไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง
แต่ในปลายปี 2555 บริษัทได้ยื่นเรื่องถึงเจ้าหนี้รายใหญ่ของธนาคารทุกราย เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ จึงทำให้เจ้าหนี้มีการตั้งที่ปรึกษาการเงิน 3 ราย ประกอบด้วย บริษัทกรุงไทยแอดไวซ์เซอร์รี่ จำกัด (KTBA) และบริษัทเพลินจิต แคปปิตอล จำกัด และ บริษัท เอินส์ท แอนด์ ยัง จำกัด
โดยเจ้าหนี้ได้ข้อสรุปเมื่อเดือน มีนาคม 2556 ว่า ขอให้ 1 ) บริษัทการตัดขายสินทรัพย์ หรือที่ดินที่มีอยู่เพื่อนำมาเพิ่มทุน 2 ) หาพันธมิตรใหม่เพื่อเข้ามาเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่ง 3 ) การยกเลิกระบบดูแลธุรกิจแบบครอบครัว โดยให้เวลาสหฟาร์มถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
โดยแลกกับเงินกู้ก้อนใหม่อีก 2,100 ล้านบาท
แต่ข้อเสนอเหล่านั้น คงต้องมีการทบทวนกันใหม่ เมื่อสหฟาร์ม ปิดโรงงาน 2 แห่ง
ทั้งนี้สหฟาร์ม มีมูลหนี้ทั้งหมดกว่า 30,000 ล้านบาท จากเจ้าหนี้ทั้งหมด 50 ราย ประกอบด้วย หนี้สถาบันการเงินประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากสถาบันการเงิน 8 แห่ง
แต่เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดก็คือ ธนาคารกรุงไทย จำนวน 6,900 ล้านบาท ธนาคารธนชาต 3,000 ล้านบาท ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) 1,600 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 1,000 ล้านบาท
ที่สำคัญที่สุดคือ สหฟาร์ม มีภาระก้อนใหญ่จากซัพพลายเออร์นับหมื่นล้านบาท
แต่ภาระหนี้ดังกล่าว อาจจะไม่เป็นปัญหา หากสหฟาร์ม มีเงินสดในมือที่เพียงพอ
ปัญหาใหญ่ของสหฟาร์มก็คือ ใช้เงินไม่เหมาะสม เพราะสหฟาร์ม ขยายธุรกิจจนเกินตัวทั้งๆ ที่ธุรกิจไก่กำลังอยู่ในช่วงขาลง
แม้กระทั่งซีพี ยังต้องทำธุรกิจโทรคมนาคม
แต่สหฟาร์ม มุ่งมั่นอยู่กับ ไก่ส่งออกแช่แข็งอย่างเดียว
โดยในปี 2555 ที่เกิดสถานการณ์โอเวอร์ซัพพลาย และไก่ราคาตก ทำให้สหฟาร์มขาดทุนมาก แต่สหฟาร์มกลับขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปไม่ค่อยดี ค่าจ้าง 300 เงินบาทแข็งค่า วัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูงขึ้น
ทำให้รายได้เข้ามาไม่สมดุลกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า “ปัญหาของสหฟาร์มส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ โดยหลายเดือนก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงไทย เจ้าหนี้รายสำคัญ พบว่ามีเงินก้อนหนึ่งที่ไม่ได้หมุนเวียนเข้ามาในระบบ และทางดร.ปัญญา ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ จึงเป็นสาเหตุให้ธนาคารชะลอการให้วงเงิน จนนำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องในที่สุด”
จนนำไปสู่เงินภาวะเงินขาดมืออย่างรุนแรง !!!