ลือหุ้น CPALL เกิดแรงเทขายอย่างหนักโดยลบไปถึง 8% จากความกังวลเกี่ยวกับการกู้เงินจากต่างชาติมาเทกโอเวอร์ MAKRO เหตุกู้มาช่วงบาทแข็งค่าที่ 29 บาท/เหรียญ แต่ปัจจุบันอ่อนค่ามาอยู่ที่ 30.7 บาท/เหรียญ ดันต้นทุนเพิ่มจนขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
มีรายงานข่าวแจ้งว่า เกิดข่าวลือในห้องค้าหลักทรัพย์ถึงกรณี บมจ.ซีพีออลล์ มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการกู้เงินต่างประเทศเข้ามาซื้อ MAKRO แล้วทำประกันความเสี่ยงไว้เพียง 60% จากเงินกู้ต่างประเทศที่นำมาใช้ในดีลนี้ทั้งหมด
โดยในตอนกู้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ขณะนี้เงินบาทอ่อนเป็น 30.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงมาก และบริษัทกำลังเจรจากับผู้สอบบัญชีเพื่อขอไม่บันทึกผลขาดทุนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน แต่ไปบันทึกเป็นส่วนหักในส่วนของผู้ถือหุ้นแทน ซึ่งยังไม่ชัดเจน
บล.เอเซีย พลัส ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า จากประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินบาทช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบธุรกรรมการกู้ยืมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ วงเงินสูงสุด 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ CPALL เพื่อใช้ในการชำระเงินค่าซื้อกิจการ MAKRO ราว 90% ของเงินที่ซื้อ MAKRO ทั้งหมด ที่เหลืออีก 10% จะมาจากกระแสเงินสดภายในกิจการเอง
ทั้งนี้ ราคาซื้อหุ้น และราคา Tender MAKRO กำหนดไว้ที่ราคา 787 บาทต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ CPALL ได้ทำข้อตกลงซื้อหุ้น MAKRO จากผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MAKRO อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 28.6181 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผลกระทบของเงินบาทอ่อนค่าทำให้อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันมาอยู่ที่ 30.894 บาท/ดอลาร์สหรัฐ หรืออ่อนตัวลงราว 8% ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่า CPALL จะต้องแบกภาระขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมาก หรือแบกรับภาระหนี้ในรูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย
โดยจากการเปิดเผยของบริษัทเบื้องต้น พบว่าวงเงินกู้ 6 พันล้านบาทแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) ยอดที่จ่ายให้แก่ผู้ถือใหญ่กลุ่ม SHV (ถือ 64.35%) จะมีการจ่ายเป็นทั้งในรูปดอลลาร์สหรัฐ และรูปเงินบาท โดยในส่วนของการจ่ายในรูปสกุลสหรัฐ จะตกลงจ่ายที่ $27.5 ต่อหุ้น MAKRO คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 28.6181 บาท ทั้งนี้ หากพิจารณาจากโครงสร้างการถือหุ้น MAKRO พบว่า SHV ถือหุ้น MAKRO โดยตรง 36.3% ที่เหลืออีก 28.05% ถือโดยทางอ้อมผ่านบริษัทในไทย ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าการชำระค่าหุ้นในรูปเงินสกุลสหรัฐจะมีเพียง 36.3% ของจำนวนหุ้น MAKRO ทั้งหมดเท่านั้น และ 2) ยอดที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 35.65% จะชำระในรูปเงินบาท
ขณะเดียวกัน ทาง CPALL ยืนยันว่ายอดเงินกู้เพื่อชำระค่าหุ้นเป็นสกุลเงินบาทได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้หมดแล้วที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 28.6181 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพราะ ณ เวลาขณะนั้น เงินบาทยังมีแนวโน้มทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนที่จ่ายเป็นดอลลาร์ แม้บริษัทจะไมได้เปิดเผยว่าป้องกันความเสี่ยงไว้แล้วเท่าไหร่ แต่หากสมมติกรณีเลวร้ายสุด คือ ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้เลย ซึ่งมีอยู่ราว 2,396 ดอลลาร์สหรัฐ (36.3% x 240 ล้านหุ้น x $27.5) แต่ภายหลัง เงินบาทกลับมีทิศทางอ่อนค่า ทำให้บริษัททยอยปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของการจ่ายเงินในรูปสกุลดอลลาร์ด้วย แต่มีหลายอัตราแลกเปลี่ยนไล่ตั้งแต่ 28.6 ถึง มากกว่า 29 บาท/ดอลลาร์
นอกจากนี้ บริษัทมีเป้าหมายจะที่ป้องกันความเสี่ยงให้ครบ 100% ดังนั้น ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดจากส่วนต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนที่ป้องกันความเสี่ยงในภายหลังที่อัตราสูงกว่าที่ระบุในสัญญาที่ 28.6181 บาท/ดอลลาร์ บวกกับส่วนที่ยังไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้ เฉพาะยอดเงินกู้เพื่อจ่ายในรูปสกุลสหรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ ทุกๆ 1 บาท ที่อ่อนค่าจะทำให้เกิดภาระหนี้ในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นมากสุด 2,396 ล้านบาท ซึ่งกรณีเลวร้ายสุด หากไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงในส่วนดังกล่าวเลย เงินบาทที่อ่อนค่าสู่ระดับ 31 บาท/$ จะเกิดภาระหนี้เพิ่มขึ้นราว 2.38บาท/ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินที่ต้องซื้อ MAKRO เพิ่มขึ้นราว 3% จากเดิม 1.88 แสนลบ. เป็น 1.94 แสนลบ. และกดดันกำไรปี 2556 ลดลงราว 1% จากภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในงวด 2Q56 หรืองวด 3Q56 บริษัทอาจมีการบันทึกค่าใช้จ่ายด้านที่ปรึกษาการเงินในการซื้อ MAKRO เกิดขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นฝ่ายวิจัยคาดไว้ที่ราว 0.5% ของมูลค่า MAKRO หรือราว 944 ลบ. ทั้งนี้ หากค่าใช้จ่ายดังกล่าวมากกว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัย รวมถึงผลกระทบของค่าเงินบาทที่อ่อนตัว และทำให้ดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งยังไม่รวมอยู่ในประมาณการ เชื่อว่าในกรณีเลวร้ายสุด กำไรสุทธิในปีนี้จะต่ำกว่าประมาณปัจจุบันราว 11% แต่ยังเพิ่มขึ้น 13% YoY
“ราคาที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนปัจจัยกดดันระยะสั้นไปแล้ว ซึ่งฝ่ายวิจัยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อภาพการเติบโตระยะยาวของ CPALL ที่จะแข็งแกร่งมาก จึงยืนยัน “ซื้อ” (FV@B60) นอกจากนี้มูลค่าพื้นฐานในกรณีเลวร้ายสุดยังอยู่ที่ 54 บาท ซึ่งยังมี Upside อยู่มาก”
ล่าสุด ปิดตลาดวันนี้ (20 มิ.ย.) หุ้น CPALL ปิดตลาดที่ 34.50บาท ลบไป 3 บาท หรือ 8% โดยหากนับตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย ราคาหุ้น CPALL อยู่ที่ 40.50 บาท ถือว่าปรับตัวลดลงมาแล้วประมาณ 17.39%