xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ฮอร์โมน เดอะซีรีส์” ภาพสะท้อน สังคมไทยยุค 4G

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“แม่กำลังจะมีน้อง...” คุณแม่ Single Mom เอื้อนเอ่ยความในใจ

“แล้วเม่ท้องกับใคร... แม่ได้ป้องกันหรือ...แม่ไม่ได้มีแฟนนิ” เด็กวัยรุ่นเพศหญิงถามกลับด้วยความสงสัย

ข้อความที่ดูเหมือนจะกลับตาลปัตร สลับข้างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของบทละครที่ดำเนินไปด้วยบทสนทนาและประโยคแรงๆ โดนๆ และตรงไปตรงมาจาก “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่หนุนส่งให้ซีรีส์วัยรุ่นเรื่องนี้กลายเป็นกระแสยอดฮิตที่กำลังเป็น ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ ในขณะนี้

ปรากฏการณ์ที่สะท้อนผ่านออกมาเป็นบทละครนี้ นอกจากจะกำลังสื่อสารข้อความว่าด้วยความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา ความเป็นไปของผู้คนต่างวัย และวิถีชีวิตของวัยรุ่น ที่กำลังถูกทำให้เป็นประหนึ่งเรื่องราวที่หลบมุมและเข้าใจยาก ทั้งที่ความเป็นไปเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องราวปกติธรรมดาของผู้คนในห้วงอายุและช่วงวัยแล้ว

ในอีกมิติหนึ่ง ความเป็นไปและกระแสที่เกิดขึ้นจาก “ฮอร์โมน เดอะซีรีส์” ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ในโลกยุคดิจิตอลนี้ ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเสพรับ “คอนเทนต์” ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ทั่วถึง ในลักษณะที่อาจกล่าวได้ว่า ไร้ข้อจำกัดกันเลยทีเดียว

พัฒนาการและการมาถึงของเครื่องมือในยุคสมัยใหม่ได้ทลายกำแพงและข้อจำกัดด้านเวลาการออกอากาศในลักษณะดั้งเดิมลงอย่างสิ้นเชิง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ผลิตสื่อ เจ้าของผลิตภัณฑ์ และผู้บริโภคที่เสพงานได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้อย่างเต็มที่

ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ดำเนินไปควบคู่กับพัฒนาการของอุปกรณ์-เครื่องมือ และระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นมารองรับกับยุคสมัยแห่งดิจิตอลนี้ไม่ว่าจะเป็น 3G หรือ 4 G ซึ่งเป็นประหนึ่งประตูที่เปิดกว้างให้ผู้คนผ่านเข้าออกได้อย่างสะดวกและเป็นปัจจัยให้เกิดการผลิตซ้ำที่ช่วยกระตุ้นให้ยอดผู้เข้าชม “ฮอร์โมน เดอะซีรีส์” มีสูงถึงในระดับเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 ล้านครั้งในแต่ละสัปดาห์

จำนวนยอดผู้เข้าชมคลิปรายการจำนวนมากขนาดดังกล่าวนี้ หากนำเข้ามาถอดรหัสในสมการรายได้ บางทีอาจจะพบเห็นตัวเลขที่วิ่งไปไกลกว่าค่าโฆษณาที่เกิดขึ้นในช่องทางของฟรีทีวี ที่เชื่อกันว่ามีเรตติ้งดีบางรายการก็เป็นได้ และย่อมไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลไปในอนาคตหรือเป็นไปไม่ได้

ประเด็นดังกล่าวนี้ ส่งผลสั่นสะเทือนต่อภูมิทัศน์ของวงการโทรทัศน์ไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านและอยู่บนทางแยกของการเลือกระหว่างการพัฒนาเป็นทีวีดาวเทียม เป็นดิจิตอลทีวี หรือแม้กระทั่งการใช้ช่องทาง อินเทอร์เน็ตทีวี ที่น่าสนใจอย่างยิ่งและกำลังเป็นสมรภูมิที่ทวีความเข้มข้นทุกขณะ

นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังกำลังทำให้ content industry ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวางเค้าโครงทางธุรกิจใหม่กันอย่างขนานใหญ่ เพราะลำพังการเป็นผู้ครอบครองสิทธิใน content ที่ปรากฏเป็นตัวอย่างในกรณีของการไปประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาย่อมไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต หากแต่ยังต้องสามารถ generate content ให้ “อยู่และโดน” ด้วย

ความเป็นไปที่เกิดขึ้นจากมิติมุมมองของสังคมไทยในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปสู่ 3G- 4G ยังขยายบริบทไปสู่ข้อเท็จจริงในเชิงสังคมวิทยา และมิติในเชิงวัฒนธรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

“ฮอร์โมน เดอะซีรีส์” กำลังผลิตสร้าง sub-culture ของกลุ่มวัยรุ่นให้กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักสำหรับผู้คนในวงกว้าง ซึ่งไม่ใช่เพราะเนื้อหาโดนๆ แรงๆ เท่านั้น ที่ทำให้กลุ่มคนในวัยคุณพ่อคุณแม่ ต้องหันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะโดยทั่วไปฟรีทีวีก็มีละครที่มีเนื้อหาสาหัสไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพียงแต่เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้เฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น

หากแต่เป็นเพราะในหลายกรณีช่องห่างของวัยกำลังถูกทดสอบว่าจะร้าวแยกลึกลงไป หรือจะรักษาตัวคงสภาพในรูปแบบใดได้บ้าง

ประเด็นปัญหาที่ดูเหมือนจะทำให้คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ถูกร้องทักให้ต้องหันมาดูละครซีรีส์เรื่องนี้ร่วมกับกุลบุตรกุลธิดาอยู่ที่ว่า สื่อมีความสามารถและอิทธิพลทางความคิดต่อบุตรหลานมากกว่าผู้เป็นพ่อแม่ หรือผู้ปกครองไปโดยปริยาย

ทั้งที่เรื่องราวใน “ฮอร์โมน” ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ผู้ปกครองแต่ละคนไม่เคยผ่านประสบการณ์แต่อย่างใด

ความไม่สามารถในการสื่อสารหรือถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่หรือผู้ปกครองไปสู่บุตรหลานโดยตรง แต่ต้องมารอให้ ละครซีรีส์ “ฮอร์โมน” ทำหน้าที่เป็น edu-tainment อย่างที่หลายบ้านกำลังทำอยู่ คงเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจไม่น้อยสำหรับนักวิชาการบางกลุ่ม

แม้ว่าเนื้อหาสาระในละครเรื่องนี้ จะมีประเด็นในเชิงสังคมและตีแผ่แง่มุมชีวิตในช่วงวัยรุ่นเบียดแทรกอยู่ในแต่ละบทแต่ละตอนของซีรีส์ทั้งประเด็นว่าด้วยการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การใช้ยาเสพติด การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง หรือยกพวกตีกัน รวมถึงการกล่าวถึงประพฤติกรรมไม่เหมาะสมของผู้คนรอบข้างทั้งที่เป็นพ่อแม่หรือแม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นครูอาจารย์

ภาพลักษณ์ของ “ฮอร์โมน” อาจจะเป็นละครวัยรุ่นและมีเป้าหมายเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นชัดเจน หากแต่ในความเป็นจริง ซีรีส์เรื่องนี้กลับกำลังสะท้อนภาพกว้างของสังคมไทยที่หลงตัวเอง ขาดวุฒิภาวะ และสุ่มเสี่ยงได้อย่างตรงไปตรงมาและหนักแน่นที่สุดโดยที่ยังไม่มีใครออกมาวิพากษ์ในทางลบ

ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มคนที่มีทัศนะตรงข้ามและมีความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ “ล้าหลัง” ในมิติของเทคโนโลยี หรือมีข้อจำกัดในช่องทางที่จะรับสารจาก “ฮอร์โมน”นี้

ขณะเดียวกัน ภาพสะท้อนที่ถูกนำเสนอผ่านบทของตัวละครในซีรีส์ “ฮอร์โมน” แต่ละรายล้วนฉายภาพความไม่สมบูรณ์ที่ประกอบส่วนเป็นสังคมไทยได้อย่างแยบคายและเป็นจริงอย่างยากจะปฏิเสธ

ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับละคร “ฮอร์โมน” เรื่องนี้ กล่าวไว้อย่างน่าฟังเมื่อไม่นานมานี้ว่า อยากให้ เปิดใจในการดู เพราะเขาอยากจะสื่อสารปัญหา หากประเมินว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหา แต่ไม่ประสงค์จะฟันธง หรือสรุปในว่า วิธีทางออกหรือการแก้ปัญหามันคืออะไร เพราะผมรู้สึกว่า ถ้าเราเข้าใจปัญหา แล้ว เราน่าจะมีวิธีการในการหาทางออกหรือการแก้ปัญหา ได้ด้วยวิธีการเราเอง

สอดรับกับที่ Anton Chekhov เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้วว่า “บทบาทของนักเขียนและศิลปินไม่ได้อยู่ที่การแก้ปัญหา หากแต่ต้องนิยามปัญหาและบอกกล่าวต่อสังคม”

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า “ฮอร์โมน” ตั้งประเด็นคำถามให้สังคมไว้อย่างไร และใครจะเป็นผู้ให้คำตอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น