xs
xsm
sm
md
lg

พีระ ตันติเศรณี...กับขยะใต้พรมที่สงขลา / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
การเสียชีวิตของนายพีระ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครเมืองสงขลา ในค่ำคืนของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ปีที่ผ่านมา ณ ถนนนครใน ใจกลางเมืองสงขลา โดยมีกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธสงครามทั้งปืนคาร์บิน ปืน M.16 ถล่มยิงเขากว่า 30 นัดตายคาที่ ณ หน้าสำนักงานของเครือข่ายภาคพลเมืองที่ชื่อว่า “สงขลาฟอรัม” ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 97 บนถนนนครใน ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่กลางใจเมืองเก่าของจังหวัดสงขลา ในระหว่างที่เขาไปร่วมประชุมปรึกษาหารือกับภาคพลเมืองในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นวิถีปกติที่เขาทำอยู่เป็นประจำ ไม่ว่ากรณีการไม่เห็นด้วยกับการจะนำป่าสนสันทรายชายหาดไปเป็นสถานที่สร้างกระเช้าลอยฟ้า การไม่อนุญาตให้บริษัทเอกชนขยายการก่อสร้างหลุมเก็บสารวัสดุกัมมันตรังสีกลางใจเมือง หรือการที่เขาไม่เห็นด้วยกับการขยายแปลงขุดเจาะน้ำมัน ฯลฯ
 
แม้ว่าวันนี้คดีความกรณีที่เขาถูกฆ่าจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นที่เรียบร้อย หมายถึงศาลมีการออกหมายจับจำเลยในคดี ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มมือปืน และผู้จ้างวานฆ่า และฝ่ายตำรวจได้ทำการจับกุม และมีการมอบตัวได้ยกชุด วันนี้คดีอยู่ในกระบวนการของศาล แต่สิ่งสำคัญที่จะนำเสนอในวันนี้ก็คือ ปัญหาหลายอย่างของสงขลาที่นายพีระ ได้พยายามเก็บกวาด แต่มันก็ยังซุกอยู่ใต้พรม
 
หลังจากเกิดการฆ่านายพีระ มีคำถามตามมามากมายว่าคนดีๆ อย่างนายพีระ และการฆ่ากันด้วยอาวุธสงคราม ดูไปแล้วก็ไม่ต่างจากหนังไทยที่ผู้ร้ายซึ่งเป็นเจ้าพ่อ สมุนเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลลากเอาปืนผาหน้าไม้ออกมาข่มขู่เข่นฆ่าประชาชน เพราะที่ผ่านๆ มามีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเสมอๆ ในจังหวัดสงขลา แต่ครั้งนี้เป็นความโชคร้ายของผู้ร้ายในคดีนี้ เพราะคนที่เขาลงมือฆ่าเป็นถึงนายกเทศมนตรีแห่งเทศบาลนครสงขลา
 
มีคำถามตามมามากมายว่า คนดีๆ อย่างนายพีระ มีศัตรูทางการเมืองที่ขัดแย้งกันรุนแรงขนาดไหน ทำไมถึงต้องฆ่ากันชนิดหวังผลว่าจะต้องตายสถานเดียว อาวุธสงครามร้ายแรงจึงถูกนำมาปฏิบัติการในใจกลางเมือง โดยผู้ลงมือหาได้เกรงกลัวต่อกฎหมายของบ้านเมืองแต่ประการใด จากการติดตามข้อมูลขยะที่นายพีระ ต้องการปัดกวาดก็พบว่า มีอยู่ 2-3 เรื่องคือ
 
1.การลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามทะเลสาบสงขลา ในบริเวณแหลมสนอ่อนข้ามไปฝั่งหัวเขาแดง ซึ่งการก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการทำลายทิวทัศน์ และโค่นป่าสนสันทรายไปจำนวนหนึ่ง นายพีระ ได้ประกาศคัดค้านโครงการก่อสร้างดังกล่าวอย่างแข็งกร้าว แต่ด้วยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) การลุกขึ้นมาคัดค้านของนายพีระ กระทำในฐานะผู้บริหารเทศบาลที่เป็นที่ตั้งของโครงการ และขัดแย้งกับแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เพราะนายพีระ ต้องการให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นแหล่งพักผ่อน เป็นปอดของเมือง ไม่อยากให้มีสิ่งก่อสร้างใดๆ รุกรานพื้นที่
 
2.การลุกขึ้นมาประกาศคัดค้านการขยายแปลงขุดเจาะน้ำมันของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซี.อี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด สาขาประเทศไทย) ที่ได้รับสัมปทานแปลงสำรวจเพิ่มในทะเลอ่าวไทยหมายเลข จี 5/43 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในสมัยที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ และมีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 จากปี 2546
 
เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา นายพีระ ก็รับรู้ว่าผลพวงจากการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดสงขลา ที่มีหลุมขุดเจาะที่ชื่อว่าแหล่งบัวบาน A-D ได้ส่งผลต่ออาชีพการทำประมงของชุมชนประมงชายฝั่ง และไร้คนรับผิดชอบ บริษัทใช้งบประมาณปิดปาก และลดการเคลื่อนไหวของชาวประมงด้วยการจ่ายค่าชดเชยในการสูญเสียอาชีพครอบครัวให้แก่ชาวประมงครอบครัวละไม่ถึง 2,000 บาท/เดือน ในขณะเดียวกัน ก็ใช้เงื่อนไขลดแรงกดดันจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ติดชายฝั่ง ตั้งแต่อำเภอระโนด จดอำเภอเทพา รวม 28 องค์กร ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละองค์กร ซึ่งในปี 2555 ที่ผ่านมา แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ไปเฉลี่ยองค์กรละ 15 ล้านบาท ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ก็รับไปกว่า 400 กว่าล้านบาท
 
สงขลาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีชายหาดที่สะอาดสวยงาม ไม่ว่าหาดชลาทัศน์ หาดสมิหรา หรือแหลมสนอ่อน ความกังวลในเรื่องขบวนการขุดเจาะน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อชายหาด ทำให้นายพีระ ประกาศคัดค้านอย่างแข็งขัน และสิ่งที่เขากังวลก่อนเสียชีวิตก็เป็นจริง เพราะชายหาดมหาราชในอำเภอสทิงพระ ก็ได้รับผลกระทบจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน มีคราบน้ำมันเกลื่อนชายหาด โดยกลไกรัฐไม่สามารถควบคุม หรือหาคนรับผิดชอบไม่ได้
 
3.นายพีระ ไม่เห็นด้วยที่จะให้นำวัตถุกัมมันตรังสีไว้ในกลางใจเมืองสงขลา ซึ่งเขาพบว่าบริษัทบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด (Schlumberger Overseas S.A Limited ) ได้นำวัตถุกัมมันตรังสีที่บริษัทได้แจ้งการครอบครองสารกัมมันตรังสีที่ร้ายแรงจำพวกโคบอลต์ 60 CO-60, CS-137, TH-232, BA-133, AN-241 รวม 77 รายการ ซึ่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้อนุญาตไว้ตั้งแต่ 24 ธันวาคม 2554-23 ธันวาคม 2556 โดยอนุญาตให้บริษัทเก็บสารกัมมันตรังสีต่างๆ ดังกล่าวเก็บไว้ที่บ้านเลขที่ 30 ถ.ไทรงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ได้ทำการเช่าที่ดินเลขที่ 79 และ 315 ซึ่งมีพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 93 ตร.วา ในการจัดเก็บสารพิษมาแล้วกว่า 30 ปี และที่ร้ายไปกว่านั้น ในพื้นที่บ้านหลังดังกล่าวมีการก่อสร้างถังเก็บสารเคมีชนิดฝังดินที่มีอยู่แล้วถึง 11 บ่อ
 
เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปได้สร้างความตกใจให้แก่ผู้คนในสังคม และคนในเขตอำเภอเมืองสงขลาเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมา มีน้อยคนมากที่จะรู้ว่าพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวจะเป็นสถานที่จัดเก็บสารพิษอันตราย นายพีระ ตระหนักดีว่าในบริเวณใกล้เคียงรอบๆ สถานที่เก็บสารกัมมันตรังสีดังกล่าวนั้นประกอบด้วย ชุมชนที่หนาแน่น (ชุมชนวัดตีนเมรุ) อยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนมัธยม โรงเรียนอนุบาล ที่มีกุลบุตรกุลธิดาของคนสงขลาต้องใช้ชีวิตในบริเวณดังกล่าวไม่ต่ำกว่าหมื่นๆ คน
 
ความพยายามของนายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ผู้ที่ล่วงลับไปเฉพาะร่าง แต่จิตวิญญาณ และเจตนาดีต่อสังคมของเขายังดำรงอยู่ ขยะที่หมักหมมอยู่ในเมืองสงขลาหลายๆ กองที่เขาพยายามกวาดเอาออกไปกำจัด และลุกขึ้นมาขัดขวางขยะกองใหม่ๆ ที่กำลังจะถูกลมพายุแห่งทุนสามานย์พัดพาเข้ามาในเมืองเล็กๆ อย่างสงขลา แรงเสียดทานจากกรณีต่างๆ ดังกล่าวทำให้เขาต้องสังเวยด้วยชีวิตของเขา 
 
หลังจากเขาเสียชีวิตไป เครือข่ายพลเมืองของจังหวัดสงขลา ได้ยื่นเรื่องการจัดการวัตถุกัมมันตรังสีที่บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด ที่ได้นำมาเก็บในพื้นที่ดังกล่าว ต่อสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผผ 10/629 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ในเอกสารส่วนหนึ่งระบุว่า
 
“สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้พิจารณาอนุญาตให้มีการครอบครอง หรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีในประเทศไทยรวม 888 ราย และอยู่ในจังหวัดสงขลา 29 แห่ง”
 
แต่ก็ไม่ยอมบอกว่า นอกจากที่บริษัทชลัมเบอร์ที่บ้านเลขที่ 30 ถ.ไทรงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา แล้ว แห่งอื่นๆ อยู่ที่ไหน???
 
นี่คือขยะใต้พรมอีกกองที่คนสงขลาต้องตามหา และกวาดออกไปด้วยตัวของเราเอง หรือจะยอมให้ฝ่ายต่างๆ ปัดความรับผิดชอบดังที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป ก็ลองคิดกันดูนะครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น