ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เกิดเหตุน่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อใกล้รุ่งสางของวันที่ 7 ก.ค. เมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าของโรงพักสถานีตำรวจภูธรไทรน้อย จ.นนทบุรี ได้เกิดระเบิดขึ้น โดยเปลวเพลิงได้ลุกลามไปทั่วบริเวณซึ่งเป็นห้องควบคุมไฟฟ้าอยู่ที่ชั้น 1 และอยู่ติดกับห้องควบคุมผู้ต้องขัง แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่โรงพักทั้ง 5 นายในคืนเกิดเหตุ จะพยายามใช้อุปกรณ์ถังดับเพลิงเข้าดับไฟ แต่ไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ จึงรีบประสานเรียกรถดับเพลิงเข้ามาช่วยเหลือ
ผ่านไป 2 ชั่วโมง หลังเปลวเพลิงสงบลง เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าตรวจสอบที่ห้องขังพบศพผู้ต้องหาชายทั้งหมดถูกไฟคลอกอยู่ภายในห้องขัง ได้แก่ 1.นายเจิด สรงภู่ อายุ 45 ปี ผู้ต้องหาคดีครอบครองอาวุธปืน 2.นายวสันต์ ศรศิลป์ อายุ 21 ปี ผู้ต้องหาคดีขับขี่รถยนต์ขณะเมาสุรา 3.นายวิสุทธิ์ คงยืน อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาคดีครอบครองยาบ้า 44 เม็ด 4.นายจิรพงษ์ วงศ์อนันต์ อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาคดีมีสารเสพติดในร่างกาย
โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าผู้ต้องขังทั้ง 4 ราย น่าจะเสียชีวิตจากขาดอากาศหายใจ และจากการสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ ทราบว่า ขณะที่กำลังเข้าเวรอยู่นั้น ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดที่บริเวณห้องควบคุมไฟฟ้าอยู่ที่ชั้น 1 ซึ่งติดกับห้องควบคุมผู้ต้องขังและห้องเก็บของกลาง จากนั้นก็เห็นประกายไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็ว และกลุ่มควันก็พวยพุ่งออกมาจากห้องควบคุมไฟจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามนำถังดับเพลิงเข้าไปฉีดควบคุม แต่ก็ไม่สามารถสกัดเพลิงไว้ได้ แม้จะพยายามเข้าไปช่วยผู้ต้องขังทั้ง 4 คน แต่เปลวเพลิงโหมกระหน่ำ ประกอบกับกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาอย่างรวดเร็ว ไฟฟ้าดับทั้งโรงพัก มีควันจากไฟไหม้ฟุ้งกระจาย ทำให้ไม่มีใครกล้าฝ่าเปลวเพลิงเข้าไปช่วยเหลือผู้ต้องขัง
หลังเกิดเหตุญาติผู้ต้องหาที่เสียชีวิตได้ตะโกนด่าทอการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ต้องหาได้ บางรายถึงกับกระโดเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยความโมโห พร้อมทั้งตั้งคำถามและเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะพวกเขาเชื่อว่าหากเจ้าหน้าที่จริงใจที่จะช่วยเหลือ น่าจะไขกุญแจทันก่อนที่เปลวไฟจะลุกไหม้มาถึงห้องขังได้ทันเวลา
ทั้งนี้ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนายได้ผลัดเปลี่ยนกันไปตรวจเยี่ยมที่เกิดเหตุ เพื่อหวังเยียวยาให้ความช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบเช่นกันว่า จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้จะมีการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงตามขั้นตอน แต่ในส่วนด้านการดูแลและเยียวยาครอบครัวของผู้ต้องขังถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนจะให้ดำเนินการช่วยเหลือทุกเรื่องที่เดือดร้อนและติดขัดก่อน โดยในขณะนี้สำนักงานตำรวจภาค 1 ได้ให้การช่วยเหลือไปแล้วครอบครัวละ 50,000 บาท ขณะนี้ กก.ตร.สภ.ไทรน้อย ได้มอบเงินช่วยเหลืออีก 600,000 บาท กาชาดจังหวัดนนทบุรีช่วยเหลือ 20,000 บาท และเงินส่วนตัวของ ผบ.ตร.อีก 20,000 บาท โดยเงินที่ได้รับทั้งหมดนี้จะทำการนำไปช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของผู้ต้องขังที่ถูกไฟคลอกตายทั้งหมด
นอกจากนี้ผบ.ตร.มีโทรสารในราชการถึงหัวหน้าหน่วยทุกหน่วยใน ตร.ที่ 0007.22/2843 ระบุว่าจากเหตุเพลิงไหม้ที่ สภ.ไทรน้อย ซึ่งสาเหตุเบื้องต้นสันนิษฐานเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร นำมาสู่ความสูญเสีย ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนต่อตำรวจ ดังนั้นเพื่อให้การบริหารแก้ไขเหตุการณ์ของหน่วยงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความเชื่อมั่น จึงให้ปฏิบัติดังนี้ 1.กำชับให้ตรวจสอบระบบไฟฟ้ารวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในอาคารสถานี ที่ตั้ง ให้ปลอดภัยอยู่เสมอ ให้ประสานเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าเพื่อตรวจสอบซ่อมแซม 2.ตรวจสอบอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมใช้งาน 3.หัวหน้าสถานีตำรวจ และหัวหน้างานป้องกันปราบปราม ต้องซักซ้อมการปฏิบัติให้การช่วยเหลือผู้ถูกควบคุม หรือถูกคุมขัง โดยกำหนดขั้นตอนการช่วยเหลือได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เช่นจัดเก็บกุญแจห้องควบคุมไว้ในที่ที่สามารถหยิบฉวยได้ทันที การเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมไปควบคุมในที่ที่ปลอดภัย 4. กำหนดลำดับความสำคัญของเอกสาร วัสดุ สิ่งของที่ต้องเคลื่อนย้ายก่อนหลัง รวมทั้งกำหนดตัวบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุ บช. บก.และ สภ.ต้องจัดทำแผนเผชิญเหตุในหารบริหารเหตุการณ์ พร้อมซักซ้อมทุก 6 เดือน ผบช.และ ผบก.ต้องอำนวยการในการประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง และซักซ้อมการปฏิบัติอย่างจริงจัง สรุปเป็นรายงานการปฏิบัติในรอบปีเพื่อรับการตรวจราชการของจเรตำรวจต่อไป
อย่างไรก็ตาม การเยียวยาให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังที่เสียชีวิต รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ต่างอะไรจากวัวหายแล้วล้อมคอก ซึ่งขัดกับหลักสิทธมนุษยชนที่ ให้ความสำคัญกับชีวิตมากกว่าการเยียวยาในภายหลัง
ด้วยเหตุดังกล่าวตามเว็บบอร์ดต่างๆ จึงมีผู้แสดงความเห็นตำหนิในการทำหน้าที่จองตำรวจในวันเกิดเหตุที่ละเลยหรือให้ความสำคัญในชีวิตของผู้ต้องหา อาทิ หม้อแปลงฯ ที่อยู่นอกอาคารของโรงพักระเบิดแค่วิ่งไปควบคุมผู้ต้องหาและเปิดห้องขัง เพื่อหนีไฟไหม้ใช้เวลาอย่างมากสุดไม่น่าจะเกิน10-15นาที
เจ้าหน้าที่มี 5 นาย ผู้ต้องหา 4 คน ถ้าจะทำจริงๆก็ทำได้ค่ะ กลัวแต่ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ทำเท่านั้นเอง แต่แอบซะใจ... ที่ญาติผู้ต้องหากระโดดถีบตำรวจ
น่าจะไขกุญแจ ให้ออกมาก่อน ตำรวจก็มีเยอะไม่น่าหลบหนีไปได้หรอก หรือ ถ้าหนีก็มีประวัติ บ้างคนคดีไม่ใหญ่โตอะไรมากมาย แล้วมาตายแบบนี้ก็ น่าสงสารนะ
คิดดูสิ รู้ตัวอยู่ว่าหนีออกไปไม่ได้ และกำลังจะต้องตาย โคตรน่ากลัวเลย สาธุชาตินี้ชาติหน้า ขอไม่ตายกับไฟ กับน้ำเลย ทรมาน
ผมว่าหน้าจะจับสิบเวรกับร้อยเวนมาขังบ้างนะ นี่หรือเขาเรียกว่าตำรวจของประชาชน
ต่อไปผิดเล็กผิดน้อยอย่าให้มันจับ สู้มันไปเลย เอาเป็นเหตุไปอ้างได้ว่า..ถ้ามันจับไปมันอาจเอาไปรมควันจนตายได้
สันดานเอ๊ย. สิบเวรถือกุญแจห้องขัง ระเบียบก็รู้อยู่ว่าเหตุไฟไห้ ข้าศึกโจมตีต้องปล่อยผู้ต้องหาและมันก็ไม่มีความผิดด้วยชั่วช้ามากเลย
ด้านกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถึงกรณีไฟไหม้สถานีตำรวจไทรน้อย จ.นนทบุรี ว่าถือเป็นเหตุการณ์สลดใจสร้างความวิตกกังวลให้แก่ญาติและผู้ต้องขังในสถานีตำรวจทั่วประเทศ แทบไม่น่าเชื่อว่า อัคคีภัยเกิดขึ้นในโรงพัก ซึ่งมีตำรวจประจำ 24 ชั่วโมงนั้น และให้ถือเป็นกรณีตัวอย่างในการปฏิรูปห้องขังในสถานีตำรวจทั้งหมด 1,460 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาค
พร้อมระบุว่าผู้ต้องหาทุกคนมีหลักสิทธิมนุษยชนคุ้มครองเหมือนคนทั่วไป ที่สำคัญคือ การตรวจสอบว่าระบบการป้องกันอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยต่างๆ ของห้องขังในโรงพักไทรน้อยเป็นอย่างไร ใครคือผู้รับผิดชอบในการถือกุญแจมีกี่คน ได้ทำหน้าที่เฝ้าคุมผู้ต้องหาอย่างระมัดระวังหรือไม่ ตามมาตรฐานของห้องขังในสถานีตำรวจทั่วโลก ต้องมีการระวังภัยอย่างดี อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตลอดเวลา หรือมีกล้องวงจรปิดติดตั้งเพื่อเฝ้าดู 24 ชั่วโมง ไม่ให้คลาดสายตา ญาติควรจะฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งและอาญาเพื่อเรียกค่าเสียหายและให้มีการสืบสวนเบื้องลึกทำเป็นคดีตัวอย่าง ให้โรงพักอื่นๆ ไม่ประมาทเลินเล่อแบบนี้อีก
นอกจากนี้ อีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือได้คือ “กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ” กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีเงินกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม เช่น ช่วยฟ้องคดีความ หรือ เงินเยียวยากรณีเป็นแพะในคดีอาญา หรือได้รับลูกหลงจากการปฏิบัติงานของตำรวจ ฯลฯ
นายปริญญา ศิริสารการ กรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่าถือเป็นเหตุการณ์ตัวอย่าง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควรมีมารตรการป้องกันภัยและปกป้องสิทธิของผู้ต้องหาให้ดีขึ้นกว่านี้ เช่น ต้องมีการปรับปรุงห้องคุมขังให้ได้มาตรฐาน ให้มีความปลอดภัยรัดกุม ตนมองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ควรจะละเลยในเรื่องนี้ เพราะผู้ต้องหาบางราย ที่ถูกคุมขังนั้น อาจได้รับเพียงลหุโทษ แต่ต้องมาถูกไฟไหม้เช่นนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาอย่างมาก
“ประเทศไทยควรจะต้องมีห้องคุมขังในโรงพักอยู่ แต่ควรที่จะมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยและคุณภาพห้องขังที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ถือกุญแจห้องขังนั้น หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ต้องให้อำนาจการตัดสินใจในการไขกุญแจเพื่อนำผู้ต้องหาหนีจากไฟไหม้ โดยที่ไม่ต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนด้วย แต่ทั้งนี้ต้องทำให้รัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาก่อเหตุเผาโรงพัก เพื่อหลบหนีได้”นายปริญญา กล่าว
ไม่ว่าผลการตั้งคณะกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติเวร จะสรุปออกมาว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือความประมาทเลินเล่อ คงไม่สามารถไขข้อสงสัยในเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาที่ขัดกับหลักกฎหมายสากลที่ระบุว่าเมื่อคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ผู้ต้องหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
เหตุการณ์ไฟไหม้โรงพักไทรน้อย จบด้วย 4 ผู้ต้องหาถูกย่างสดภายในห้องขัง จึงถือเป็นตราบาปอีกยุคหนึ่งของตร.ไทย ที่สังคมต้องจดจำไปอีกนานวัน
คำถามมีอยู่ว่าแล้วนายตำรวจใหญ่แห่งจังหวัดนนทบุรีที่ชื่อ พล.ต.ต. ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ในฐานะ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นนทบุรี หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โอ๋ สืบ 6” จะแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร หรือ “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงไม่จัดการลงโทษทางวินัย
บรรยายรูป 1.โรงพักสถานีตำรวจภูธรไทรน้อย จ.นนทบุรี เกิดเหตุหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด โดยเปลวเพลิงได้ลุกลามไปทั่วบริเวณซึ่งเป็นห้องควบคุมไฟฟ้าอยู่ที่ชั้น 1 และอยู่ติดกับห้องควบคุมผู้ต้องขัง
2.ผู้ต้องขัง 4 รายถูกไฟคลอกเสียชีวิตภายในห้องขัง
3.พล.ต.ต. ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นนทบุรี