xs
xsm
sm
md
lg

ย่างสด 4 ผู้ต้องขังไทรน้อย ทวงสิทธิความเป็นมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


โดยผู้กองตั้ง

เกิดเหตุน่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อใกล้รุ่งสางของวันที่ 7 ก.ค.เมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าของโรงพักสถานีตำรวจภูธรไทรน้อย จ.นนทบุรี ได้เกิดระเบิดขึ้น โดยเปลวเพลิงได้ลุกลามไปทั่วบริเวณ ซึ่งเป็นห้องควบคุมไฟฟ้าอยู่ที่ชั้น 1 และอยู่ติดกับห้องควบคุมผู้ต้องขัง แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่โรงพักทั้ง 5 นายในคืนเกิดเหตุ จะพยายามใช้อุปกรณ์ถังดับเพลิงเข้าดับไฟ แต่ไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ จึงรีบประสานเรียกรถดับเพลิงเข้ามาช่วยเหลือ

ผ่านไป 2 ชั่วโมง หลังเปลวเพลิงสงบลง เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าไปตรวจสอบที่ห้องขัง พบศพผู้ต้องหาชายทั้งหมดถูกไฟคลอกอยู่ภายในห้องขัง ได้แก่ 1.นายเจิด สรงภู่ อายุ 45 ปี ผู้ต้องหาคดีครอบครองอาวุธปืน 2.นายวสันต์ ศรศิลป์ อายุ 21 ปี ผู้ต้องหาคดีขับขี่รถยนต์ขณะเมาสุรา 3.นายวิสุทธิ์ คงยืน อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาคดีครอบครองยาบ้า 44 เม็ด 4.นายจิรพงษ์ วงศ์อนันต์ อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาคดีมีสารเสพติดในร่างกาย

โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าผู้ต้องขังทั้ง 4 ราย น่าจะเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ และจากการสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ ทราบว่า ขณะที่กำลังเข้าเวรอยู่นั้น ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดที่บริเวณห้องควบคุมไฟฟ้าอยู่ที่ชั้น 1 ซึ่งติดกับห้องควบคุมผู้ต้องขังและห้องเก็บของกลาง จากนั้นก็เห็นประกายไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็ว และกลุ่มควันก็พวยพุ่งออกมาจากห้องควบคุมไฟจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามนำถังดับเพลิงเข้าไปฉีดควบคุม แต่ก็ไม่สามารถสกัดเพลิงไว้ได้ แม้จะพยายามเข้าไปช่วยผู้ต้องขังทั้ง 4 คน แต่เปลวเพลิงโหมกระหน่ำ ประกอบกับกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาอย่างรวดเร็ว ไฟฟ้าดับทั้งโรงพัก มีควันจากไฟไหม้ฟุ้งกระจาย ทำให้ไม่มีใครกล้าฝ่าเปลวเพลิงเข้าไปช่วยเหลือผู้ต้องขัง

หลังเกิดเหตุได้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีกระลอก เมื่อญาติผู้ต้องหาที่เสียชีวิต ได้ตะโกนด่าทอการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ต้องหาได้ บางรายถึงกับกระโดดเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยความโมโห พร้อมทั้งตั้งคำถามและเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะพวกเขาเชื่อว่าหากเจ้าหน้าที่จริงใจที่จะช่วยเหลือ น่าจะไขกุญแจทันก่อนที่เปลวไฟจะลุกไหม้มาถึงห้องขังได้ทันเวลา

หลังเกิดเหตุนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย ต่างผลัดเปลี่ยนกันไปตรวจเยี่ยมที่เกิดเหตุ เพื่อหวังเยียวยาให้ความช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบเช่นกันว่า จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้จะมีการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงตามขั้นตอน แต่ในส่วนด้านการดูแลและเยียวยาครอบครัวของผู้ต้องขัง ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนจะให้ดำเนินการช่วยเหลือทุกเรื่องที่เดือดร้อนและติดขัดก่อน โดยในขณะนี้สำนักงานตำรวจภาค 1 ได้ให้การช่วยเหลือไปแล้วครอบครัวละ 50,000 บาท ขณะนี้ กก.ตร.สภ.ไทรน้อย ได้มอบเงินช่วยเหลืออีก 600,000 บาท กาชาดจังหวัดนนทบุรีช่วยเหลือ 20,000 บาท และเงินส่วนตัวของ ผบ.ตร.อีก 20,000 บาท โดยเงินที่ได้รับทั้งหมดนี้จะทำการนำไปช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของผู้ต้องขังที่ถูกไฟคลอกตายทั้งหมด

นอกจากนี้ ผบ.ตร.มีโทรสารในราชการถึงหัวหน้าหน่วยทุกหน่วยใน ตร.ที่ 0007.22/2843 ระบุว่าจากเหตุเพลิงไหม้ที่ สภ.ไทรน้อย ซึ่งสาเหตุเบื้องต้นสันนิษฐานเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร นำมาสู่ความสูญเสีย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนต่อตำรวจ ดังนั้นเพื่อให้การบริหารแก้ไขเหตุการณ์ของหน่วยงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความเชื่อมั่น จึงให้ปฏิบัติดังนี้ 1.กำชับให้ตรวจสอบระบบไฟฟ้ารวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในอาคารสถานี ที่ตั้ง ให้ปลอดภัยอยู่เสมอ ให้ประสานเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าเพื่อตรวจสอบซ่อมแซม 2.ตรวจสอบอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมใช้งาน 3.หัวหน้าสถานีตำรวจ และหัวหน้างานป้องกันปราบปราม ต้องซักซ้อมการปฏิบัติให้การช่วยเหลือผู้ถูกควบคุม หรือถูกคุมขัง โดยกำหนดขั้นตอนการช่วยเหลือได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เช่น จัดเก็บกุญแจห้องควบคุมไว้ในที่ที่สามารถหยิบฉวยได้ทันที การเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมไปควบคุมในที่ที่ปลอดภัย 4.กำหนดลำดับความสำคัญของเอกสาร วัสดุ สิ่งของที่ต้องเคลื่อนย้ายก่อนหลัง รวมทั้งกำหนดตัวบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุ บช.บก.และ สภ.ต้องจัดทำแผนเผชิญเหตุในหารบริหารเหตุการณ์ พร้อมซักซ้อมทุก 6 เดือน ผบช.และ ผบก.ต้องอำนวยการในการประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง และซักซ้อมการปฏิบัติอย่างจริงจัง สรุปเป็นรายงานการปฏิบัติในรอบปีเพื่อรับการตรวจราชการของจเรตำรวจต่อไป

การเยียวยาให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังที่เสียชีวิต รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ต่างอะไรจากวัวหายแล้วล้อมคอก ซึ่งขัดกับหลักสิทธมนุษยชนที่ให้ความสำคัญกับชีวิตมากกว่าการเยียวยากันในภายหลัง

นอกจากนี้มีเว็บบอร์ดได้แสดงความเห็นผ่านโลกไซเบอร์ หลากหลายแต่ล้วนตำหนิในการทำหน้าที่ของตำรวจในวันเกิดเหตุที่ละเลย หรือให้ความสำคัญในชีวิตของผู้ต้องหา อาทิเช่น

หม้อแปลงฯ ที่อยู่นอกอาคารของโรงพักระเบิด แค่วิ่งไปควบคุมผู้ต้องหาและเปิดห้องขัง เพื่อหนีไฟไหม้ใช้เวลาอย่างมากสุดไม่น่าจะเกิน 10-15 นาที

เจ้าหน้าที่มี 5 นาย ผู้ต้องหา 4 คน ถ้าจะทำจริงๆ ก็ทำได้ค่ะ กลัวแต่ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ทำเท่านั้นเอง แต่แอบซะใจ... ที่ญาติผู้ต้องหากระโดดถีบตำรวจ

น่าจะไขกุญแจให้ออกมาก่อน ตำรวจก็มีเยอะไม่น่าหลบหนีไปได้หรอก หรือถ้าหนีก็มีประวัติ บางคนคดีไม่ใหญ่โตอะไรมากมาย แล้วมาตายแบบนี้ก็ น่าสงสารนะ

คิดดูสิ รู้ตัวอยู่ว่าหนีออกไปไม่ได้ และกำลังจะต้องตาย โคตรน่ากลัวเลย สาธุชาตินี้ชาติหน้า ขอไม่ตายกับไฟ กับน้ำเลย ทรมาน

ผมว่าน่าจะจับสิบเวรกับร้อยเวรมาขังบ้างนะ นี่หรือเขาเรียกว่าตำรวจของประชาชน

ต่อไปผิดเล็กผิดน้อยอย่าให้มันจับ สู้มันไปเลย เอาเป็นเหตุไปอ้างได้ว่า..ถ้ามันจับไปมันอาจเอาไปรมควันจนตายได้
สันดานเอ้ย. สิบเวรถือกุญแจห้องขัง ระเบียบก็รู้อยู่ว่าเหตุไฟไห้ม ข้าศึกโจมตีต้องปล่อยผู้ต้องหาและมันก็ไม่มีความผิดด้วย
ชั่วช้ามากเลย

ด้านกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถึงกรณีไฟไหม้สถานีตำรวจไทรน้อย จ.นนทบุรี ว่าถือเป็นเหตุการณ์สลดใจสร้างความวิตกกังวลให้แก่ญาติและผู้ต้องขังในสถานีตำรวจทั่วประเทศ แทบไม่น่าเชื่อว่า อัคคีภัยเกิดขึ้นในโรงพัก ซึ่งมีตำรวจประจำ 24 ชั่วโมงนั้น และให้ถือเป็นกรณีตัวอย่างในการปฏิรูปห้องขังในสถานีตำรวจทั้งหมด 1,460 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาค

พร้อมระบุว่าผู้ต้องหาทุกคนมีหลักสิทธิมนุษยชนคุ้มครองเหมือนคนทั่วไป ที่สำคัญคือ การตรวจสอบว่าระบบการป้องกันอุบัติเหตุ หรืออุบัติภัยต่างๆ ของห้องขังในโรงพักไทรน้อยเป็นอย่างไร ใครคือผู้รับผิดชอบในการถือกุญแจมีกี่คน ได้ทำหน้าที่เฝ้าคุมผู้ต้องหาอย่างระมัดระวังหรือไม่ ตามมาตรฐานของห้องขังในสถานีตำรวจทั่วโลก ต้องมีการระวังภัยอย่างดี อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตลอดเวลา หรือมีกล้องวงจรปิดติดตั้งเพื่อเฝ้าดู 24 ชั่วโมง ไม่ให้คลาดสายตา ญาติควรจะฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งและอาญาเพื่อเรียกค่าเสียหาย และให้มีการสืบสวนเบื้องลึกทำเป็นคดีตัวอย่าง ให้โรงพักอื่นๆ ไม่ประมาทเลินเล่อแบบนี้อีก” อีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือได้คือ “กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ” กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีเงินกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม เช่น ช่วยฟ้องคดีความ หรือเงินเยียวยากรณีเป็นแพะในคดีอาญา หรือได้รับลูกหลงจากการปฏิบัติงานของตำรวจ ฯลฯ

นักสิทธิมนุษยชน กล่าวอีกว่า โดยทั่วไปแล้วประเทศที่พัฒนาแล้วจะแบ่งห้องขังแยกเป็น 3 ส่วน คือ เด็ก ผู้หญิง และผู้ชาย ไม่ขังหลายคนในห้องเดียวกันจนแออัด มีอุปกรณ์ดับเพลิงวางอยู่ใกล้เคียง มีไฟบอกทางประตูฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่แบ่งหน้าที่ดูแลชั้นนอกหรือชั้นในอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ต้องขัง เช่น กรณีต่อสู้ทำร้ายกันเอง ฆ่าตัวตาย ฯลฯ

นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่าถือเป็นเหตุการณ์ตัวอย่าง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควรมีมาตรการป้องกันภัยและปกป้องสิทธิของผู้ต้องหาให้ดีขึ้นกว่านี้ เช่น ต้องมีการปรับปรุงห้องคุมขังให้ได้มาตรฐาน ให้มีความปลอดภัยรัดกุม ตนมองว่า เจ้าหน้าที่ไม่ควรจะละเลยในเรื่องนี้ เพราะผู้ต้องหาบางรายที่ถูกคุมขังนั้น อาจได้รับเพียงลหุโทษ แต่ต้องมาถูกไฟไหม้เช่นนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาอย่างมาก

“ประเทศไทยควรจะต้องมีห้องคุมขังในโรงพักอยู่ แต่ควรที่จะมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยและคุณภาพห้องขังที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ถือกุญแจห้องขังนั้น หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ต้องให้อำนาจการตัดสินใจในการไขกุญแจเพื่อนำผู้ต้องหาหนีจากไฟไหม้ โดยที่ไม่ต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนด้วย แต่ทั้งนี้ต้องทำให้รัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาก่อเหตุเผาโรงพัก เพื่อหลบหนีได้” นายปริญญา กล่าว

ไม่ว่าผลการตั้งคณะกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติเวร จะสรุปออกมาว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือความประมาทเลินเล่อ คงไม่สามารถไขข้อสงสัยในเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา ที่ขัดกับหลักกฎหมายสากลที่ระบุว่าเมื่อยังไม่มีคำพิพากษาผู้ต้องหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

เหตุการณ์ไฟไหม้โรงพักไทรน้อย จบด้วย 4 ผู้ต้องหาถูกย่างสดภายในห้องขัง จึงถือเป็นตราบาปอีกยุคหนึ่งของ ตร.ไทย ที่สังคมต้องจดจำไปอีกนานวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น