xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สหฟาร์ม”ล้มทั้งยืน เจอพิษค่าแรง-อาหารสัตว์-ขยายเกินตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ประธานสหฟาร์ม
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนักของบริษัท สหฟาร์ม ผู้ผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่ของไทยสร้างความตระหนกต่อผู้ที่ได้ยิน เนื่องจากที่ผ่านมา ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ประธานกรรมการ สหฟาร์ม ประกาศขยายการลงทุนโครงการชำแหละไก่และแปรรูปขนาดใหญ่ที่เพชรบูรณ์ รวมทั้งเตรียมขยายโรงงานที่จังหวัดเชียงราย เพื่อให้มีกำลังการชำแหละไก่ให้ได้ 1 ล้านตัว/วัน และสร้างคฤหาสน์สุขาวดี บนพื้นที่ 80 ไร่ติดริมทะเล ก่อนถึงพัทยา

แต่ถ้าคนที่อยู่ในแวดวงการผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกไก่ คงไม่แปลกใจมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมา สหฟาร์มมีการขยายการลงทุนเกินตัวตั้งแต่การเลี้ยงลูกไก่ โรงชำแหละโดยขยายไปที่เพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ในช่วงจังหวะขาลงพอดี โดยเฉพาะในปี 2555 นับเป็นปีที่แย่ที่สุดอีกปีหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้รองจากวิกฤตไข้หวัดนก เนื่องจากราคาอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 30%ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองแล้ว ยังเจอพิษนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน ทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รวมทั้ง ค่าไฟฟ้าเอฟทีที่สูงขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้การส่งออกไก่แปรรูปไปต่างประเทศได้เงินบาทน้อยลง ล้วนเป็นปัจจัยลบกดดันให้สหฟาร์มต้องเผชิญปัญหาการขาดทุนอย่างหนักในปีที่แล้ว ลามมาจนถึงขณะนี้ จนต้องมีการปิดโรงงานที่ลพบุรีและเพชรบูรณ์

ปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไก่ในไทยเจอด้วยกันทั้งสิ้น แต่สิ่งที่สหฟาร์มหนักกว่าค่ายอื่นๆ ทำให้คนในแวดวงธุรกิจต่างพุ่งเป้าปัญหาใหญ่มาจากการบริหารงานภายในองค์กร และการขยายงานที่เกินตัว ไม่ถูกกาลเทศะ การอ่อนประสบการณ์ของผู้บริหารเจนเนอเรชั่นใหม่ที่เข้ามาดูแล

แหล่งข่าววงการผู้เลี้ยงไก่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา โรงเชือดไก่สหฟาร์มต้องหยุดสลับกันระหว่างเพชรบูรณ์และลพบุรี เนื่องจากไม่มีไก่เป็นมาให้เชือด เพราะลูกเล้า (คอนแทรก ฟาร์มมิ่ง)ของสหรัฐหยุดป้อนไก่ให้ หลังจากสหฟาร์มค้างเงินเป็นเวลาหลายเดือนตั้งแต่ปีก่อน ทำให้มีการเรียกร้องไปยังผู้ว่าราชการลพบุรี แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด

จนบางรายต้องหันไปเลี้ยงไก่ให้กับค่ายอื่นๆแทน ส่วนบางฟาร์มก็ยังเลี้ยงอยู่ แต่ร่นเวลาการจับไก่เข้าโรงเชือดให้สั้นขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารสัตว์ ทำให้น้ำหนักไก่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถส่งออกเป็นไก่ชิ้นส่วนได้ ต้องขายเป็นไก่เล็กในประเทศแทนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าตลาดส่งออกของสหฟาร์มบางรายต้องหันมาสั่งซื้อจากผู้ผลิตค่ายอื่นแทน ทั้งซีพีเอฟ เบทาโกร ทำให้ออเดอร์ส่งออกไก่แปรรูปไปต่างประเทศปีนี้ขายล่วงหน้าไปหมดแล้ว เรียกได้ว่า “ส้มหล่น”จากการสะดุดของสหฟาร์ม

จากปัญหาการค้างจ่ายแก่ลูกเล้า ก็ลามมายังการค้าจ่ายเงินเดือนพนักงาน และลูกจ้างคนงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพม่า ซึ่งมีการเรียกร้องให้บริษัทฯเร่งจ่ายเงินค่าแรงที่ค้างอยู่พร้อมขู่เผาโรงงานด้วย ทำให้ผู้บริหารโรงงานต้องเข้ามาเคลียร์และสัญญาจะทยอยจ่ายเงินที่ค้างให้ภายในกลางเดือนนี้บางส่วน พร้อมกับปิดโรงงานชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือน

ขณะเดียวกันก็เกิดเพลิงไหม้โรงเชือดไก่ที่ลพบุรีเมื่อคืนวันที่ 6 ก.ค. หลังจากมีกระแสข่าวการขู่เผาจากคนงานต่างด้าว

ทำให้มีการคาดคะเนว่าสหฟาร์มมีหนี้สินต่างๆรวมทั้งสิ้นหลักหมื่นล้านบาท และเม็ดเงินที่ต้องใช้ในการฟื้นธุรกิจให้กลับมาเดินได้อีกครั้งต้องใช้หลายพันล้านบาท และคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่สหฟาร์มจะกลับมาใหญ่ได้เหมือนในอดีต เพราะเกษตรกร ซัปพลายเออร์ และลูกค้ายังขยาดอยู่

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ธุรกิจไก่แปรรูปในครึ่งปีหลังนี้จะดีขึ้นกว่า 6 เดือนแรกปี 2556 เนื่องจากราคาอาหารสัตว์อ่อนตัวลงมา และราคาไก่เป็นก็ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 46-47 บาท/กิโลกรัม ดีขึ้นจากปีก่อนที่ราคาไก่เป็นอยู่ที่ 30 กว่าบาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับราคาที่ผู้ประกอบการมีกำไรเหมาะสม แต่เนื่องจากธุรกิจนี้มีความเสี่ยงทำให้แบงก์ขยาดที่จะปล่อยสินเชื่อ

ด้านสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้สหฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็น “ธนชาต-กรุงไทย” ก็มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ต่าง ยอมรับตั้งสำรองหนี้ทั้ง 100% ธนาคารธนชาติ ระบุว่าได้รับโอนกิจการของสหฟาร์มมาทั้งหมดเมื่อเดือนตุลาคม 2554 โดยปีที่ผ่านมา ได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและมีการตั้งสำรองลูกหนี้กลุ่มนี้ในจำนวนที่รวมกับมูลค่าหลักประกันครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมดไว้ตั้งแต่ปีก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วนธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหฟาร์มอีกรายหนึ่ง มองว่า ธุรกิจไก่ยังเป็นธุรกิจที่ไปได้ แต่ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่แย่ของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งปัญหาของสหฟาร์ม มีทั้งปัญหาโครงสร้างการเงิน และปัญหาบริหาร โดยธนาคารพร้อมที่จะปล่อยกู้เพิ่มเติม โดยสหฟาร์มต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ และแบงก์จะไม่มีการแฮร์คัทหนี้ด้วย

ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ประธานสหฟาร์ม ยอมรับว่า บริษัทกำลังเร่งแก้ปัญหาวิกฤตสภาพคล่อง โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารกรุงไทย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยังไม่สามารถบอกจำนวนมูลค่าหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมด พร้อมกับเร่งแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยจะขายสินทรัพย์บางส่วน และดึงพันธมิตรตะวันออกกลางเข้ามาร่วมทุนด้วย คาดว่าใน 2เดือนสหฟาร์มจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้จะมีข้อสรุปในรูปแบบใด รวมทั้งเม็ดเงินที่จะให้สินเชื่อเพิ่มจะเพียงพอให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ รวมถึงการขายทรัพย์สินและดึงพันธมิตรเข้ามาจะทันเวลากับเส้นตายที่เคยให้ไว้กับคนงานต่างด้าวที่จะจ่ายค่าแรงค้างจ่ายในวันที่ 15 ก.ค.หรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น