xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โจรจับโจรหรือ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดเกิดการทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่จดทะเบียนเกษตรกรที่แจ้งตัวเลขเกินความจริง โดยการสุ่มตรวจได้เพียง 10% เนื่องจากขาดกำลังคน รวมทั้งมีการนำข้าวเปลือกมาเวียนเทียนในโครงการ เพราะขั้นตอนการสีแปรข้าวต้องเก็บที่โรงสีประมาณ 50 วัน เพราะข้าวมีจำนวนมากเกินความสามารถในการสีแปรของโรงสี จึงมีมติให้รับข้าวได้ 50 เท่าของความสามารถของโรงสี”

นั่นคือ รายละเอียดการชี้แจงตัวเลขการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา

เธอยืนยันว่า “ตัวเลขขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวใน 3 ฤดูกาลผลิต คือ ฤดูกาลผลิต 2554/55, ฤดูกาลผลิต 2555 และฤดูกาลผลิต 55/56 เบื้องต้นตัวเลขขาดทุน 220,968 ล้านบาท หากรวมการดำเนินการถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวเลขการขาดทุนอาจมากกว่าที่ประมาณการจากฝ่ายต่างๆ ที่มีการปิดตัวเลขวันที่ 31 มกราคม 2556 โดยใช้วงเงินกว่า 4.96 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายคืนให้ ธ.ก.ส.”

“การคำนวณตัวเลขต้นทุนการขายข้าว ต้องใช้ราคาขายข้าวต่ำสุดกับสูงสุดจาก 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคำนวณ เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้แจ้งตัวเลขต้นทุน”

เธอยังอธิบายอีกว่า อ.ต.ก.และ อคส. แจ้งบัญชีข้าวสารแปรรูป 24% จากที่ควรจะได้ข้าว 59-61 % ทำให้ไม่สามารถคำนวณตัวเลขได้ จึงต้องรอตัวเลขจากหน่วยงานดังกล่าวอีกครั้ง ส่วนตัวเลขข้าวค้างสต็อกของรัฐบาล 11 ล้านตัน แต่ อ.ต.ก.และ อคส. ระบุว่า มีข้าวค้างสต็อก 18 ล้านตัน

ที่ผ่านมาได้ทวงถามตัวเลขการขายข้าวแล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่า เป็นความลับ โดยมีผู้ทราบข้อเท็จจริงเพียง 3 คน คือ รมว.พาณิชย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถนำตัวเลขดังกล่าวมาคำนวณปิดบัญชี โดยเฉพาะสัญญาขายข้าว 10 ล้านตัน เป็นสัญญาขายข้าวให้กับส่วนใด”รองปลัดกระทรวงการคลัง ย้ำถึงข้อเท็จจริงจากการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว

โดยสรุปก็คือ รัฐบาลขาดทุนไปแล้วมากกว่า 2.2 แสนล้านบาท โดยมีการ “โกง”กันทุกขั้นตอนการรับจำนำข้าว

แปลไทยเป็นไทยก็คือ โกงกันตั้งแต่นักการเมือง ยันเจ้าหน้าที่ และโรงสี

ข้อมูลการโกง ยังได้รับการขยายความจาก รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

โดยขมวดปมไปที่ข้าวหายไป 2.5 ล้านตัน ที่ไม่สามารถลงบัญชี เพราะเกิดการโกงกันขึ้น

เขาบอกผ่าน“ASTV ผู้จัดการ”ว่า การที่รัฐบาลสั่งตรวจสอบโกดังข้าวของโรงสีที่อยู่ในโครงการรับจำนำข้าว ที่มีอยู่ประมาณ 2,500 แห่งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากการพบว่าข้าวหายไปไม่ได้ลงบัญชี 2.5 ล้านตัน ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2556 จนมาถึงช่วงที่ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯได้รับมอบหมายจาก ครม. ให้เข้าไปดูแลปัญหาโครงการจำนำข้าว หลังถูกกล่าวหาขาดทุนกว่า 2 แสนล้านบาท จนพบว่าไม่ได้ส่งบัญชีข้าว 2.5 ล้านตัน จึงได้สั่งให้ตรวจสอบสต็อกข้าวตามโกดังต่างๆ
         

“ข้าวที่ไม่ได้นำเข้าบัญชีนี้ อันที่จริงทราบว่ามีสูงถึง 2.9-3 ล้านตัน โดยการแอบเอาไปขาย และนำไปหมุน โดยผู้มีอำนาจระดับสูงอยู่เบื้องหลัง ดูได้จากการออกประกาศ กฎ ระเบียบใหม่ ที่เอื้อให้มีการทุจริต”เขาย้ำช่องโหว่ที่เปิดให้มีการโกงกันมหาศาล

ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว ข้าวที่รับจำนำมาจะต้องแปรสภาพเป็นข้าวสารภายใน 7 วัน แต่อยู่ๆ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการจำนำข้าวได้มีคำสั่งเปลี่ยนการแปรสภาพข้าวเปลือกโดยไม่กำหนดเวลา เปิดช่องให้นำข้าวไปขาย และหมุนเวียนได้

ขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังได้ออกประกาศให้สามารถนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านได้ทุกเดือน จากเดิมที่ให้นำเข้าได้ช่วงที่ไม่ใช่ฤดูการผลิต เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาภายในประเทศ ไม่ให้สูงเกินไป

“การออกประกาศในลักษณะเช่นนี้ ทำให้มีการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีคุณภาพต่ำ มาสวมแทนข้าวที่มีคุณภาพดีของไทย หลังจากแอบนำไปขายแล้ว ซึ่งทราบว่าข้าวของไทยขายได้กิโลกรัมละ 16 บาท แต่ข้าวของเขมร ขายกิโลกรัมละ 12 บาท กินส่วนต่างกิโลฯละ 4 บาท”
       

นั่นหมายความว่า “เงินส่วนต่าง 4 บาท ถ้า 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) ก็เท่ากับ 4,000 บาท เอา 2.5 ล้านตัน ที่ไม่ได้นำเข้าบัญชีมาคูณ (2,500 กิโกกรัม คูณด้วย 4) ก็จะเป็นเงินสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท แต่ตัวเลขที่แท้จริงที่หายไป 2.9-3 ล้านตัน ก็จะได้ส่วนต่างถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ที่มีการทุจริต นี่แค่ฤดูการผลิตเดียวปี 2555/2556 แต่รัฐบาลชุดนี้ทำโครงการจำนำข้าวมาแล้ว 3 รอบ”

“แต่เชื่อว่าการตรวจสอบโกดังข้าวหากพบการทุจริต โกดังที่นำข้าวจากเขมรมาสวมไม่ทัน ก็คงจับได้แค่ปลาซิว ปลาสร้อย สาวไม่ถึงผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง ส่วน ป.ป.ช. จะดำเนินการกับผู้มีอำนาจได้หรือไม่ ผมไม่อยากคิด”

แต่การให้ข้อเท็จจริงเหล่านั้น กลับไม่มี “สำนึกความเป็นผู้นำ”จากนายกรัฐมนตรี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับท้าทายว่า“ก็ให้คุณสุภา พิสูจน์ออกมาเป็นรายละเอียดเลยดีกว่าไหม”

แทนที่จะขยายความข้อมูลของ สุภา เพื่อให้สังคมไทยเห็นใจ เพราะข้อมูลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวล้วนอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว

เธอกลับบอกว่า“วันนี้ต้องเรียนว่า สื่อมวลชนก็เห็นการตรวจสต็อก เราตรวจพร้อมกันทั่วประเทศกว่า 2,000 โรงสี ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเราบ้าง ซึ่งจากการตรวจทั้งหมด จุดที่เจอประมาณ 26 จุด เราก็รอขั้นตอนของตำรวจในการสืบค้น ถ้ามีหลักฐานการทุจริตทุกจุดก็เอาหลักฐานมา”

“ดิฉันพร้อมที่จะดำเนินคดี และพร้อมตรวจสอบให้หมด ขอเป็นอย่างนั้นดีกว่า เพราะจริงๆ เราเองพูดภาพรวมอาจทำให้คนกังวล ถ้าพูดเป็นรายละเอียดเลย ว่ามีจุดไหนที่ตรวจสอบแล้วมีประเด็น เราก็พร้อมให้เจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจ ถ้าผิดก็พร้อมดำเนินคดี ตรงนั้นพร้อมอยู่แล้ว” นายกฯ ท่องหนังสือมาพูดตามบทเหมือนปกติ

แม้กระทั่ง วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรฯ ตอบโต้ทันทีว่า

" ถ้าคุณสุภามีหลักฐานไม่สามารถเก็บไว้ได้ เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ที่ต้องนำหลักฐานเหล่านั้นมาแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินคดี แต่ถ้าพูดลอยๆ ใครๆ ก็พูดได้ ซึ่งผมสันนิษฐานว่า เขาเคยเห็นว่ามีการดำเนินคดี แล้วก็คาดการณ์ว่า กระบวนการนี้มันมีช่องว่างเกิดขึ้นในการทุจริตได้ พอพูดออกมาแบบนี้ ก็กลายเป็นส่งผลกระทบว่า ทั้งโครงการนี้มีการทุจริตจนรับไม่ได้เลย แต่คิดว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น "

นั่นหมายความว่า พฤติกรรมกลับกลอกของรัฐบาล โดยเปลี่ยนแปลงราคารับจำนำข้าว กลับไปกลับมา ยิ่งตอกย้ำขบวนการสวาปามมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในขณะที่มี บุญทรง เตริยาภิรมย์ นั่งทำหน้าาที่ รมว.พาณิชย์อยู่ ได้มีการประชุมนัดพิเศษ มีมติให้ปรับปรุงรายละเอียดโครงการรับจำนำฤดูการผลิตนาปรังปี 2556 ที่กำลังดำเนินการอยู่ ให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% จากราคา 1.5 หมื่นบาท/ตัน เหลือ 1.2 หมื่นบาท/ตัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป และจำกัดวงเงินเข้าสู่โครงการไม่เกินรายละ 5 แสนบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2556

แต่หลังจาก กิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งทำหน้าที่ประธานแทนบุญทรง ก็พลิกมติ กขช. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556

โดยกขช. มีมติให้คงราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ความชื้น 15% ไว้ที่ 15,000 บาทต่อตัน และข้าวชนิดอื่นๆ ให้กลับมาที่ราคาเดิม แต่จะรับจำนำเฉพาะปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุไว้ในใบรองรับเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนหน้าเท่านั้น และวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครัวเรือน โดยโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปีการผลิต 2556 จะสิ้นสุดฤดูการผลิตในวันที่ 15 กันยายนนี้ ส่วนเกษตรกรภาคใต้ จะสิ้นสุดฤดูการผลิตในวันที่ 30 พฤศจิกายน

ข้ออ้างการปรับเปลี่ยนราคา โดยคำนึงถึงความสมดุล 4 ด้าน คือ 1. การสร้างความสมดุลการดูแลเกษตรกร 2. การดำเนินการตามกลไกตลาด 3. การรักษาวินัยการเงินการคลัง และ 4. การดูแลเกษตรกรรายย่อย

ฟังดูดี แต่เป็นแค่ลิเกโรงใหญ่ของขบวนการโจรจับโจรเท่านั้นเท่านั้น !!


กำลังโหลดความคิดเห็น