xs
xsm
sm
md
lg

พระอรหันต์ปลอม : ผู้ทำลายพระสัทธรรม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ภิกขุ หรือภิกษุ มีความหมายตามตัวอักษรว่า ผู้ขอ ทั้งสองคำ แต่ที่เขียนต่างกันก็ด้วยคำแรกเป็นภาษามคธ หรือที่รู้กันทั่วไปว่าภาษาบาลี ส่วนคำหลังเป็นภาษาสันสกฤต ทั้งสองคำเป็นคำเรียกขานนักบวชชายในพระพุทธศาสนา โดยมีการแต่งกายด้วยผ้านุ่งหรือที่เรียกว่าสบง และผ้าห่มหรือจีวรสีเหลือง มีศีล 227 ข้อเป็นข้อปฏิบัติ และใน 227 ข้อนี้เป็นทั้งข้อห้าม คือถ้าทำผิดหรือล่วงละเมิดแล้วมีโทษเรียกว่าต้องอาบัติ และข้ออนุญาตอันเป็นส่วนที่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าทำจะต้องทำตามที่อนุญาตเท่านั้น จะกระทำต่างออกไปไม่ได้

แต่ในภาษาไทยเรียกนักบวชว่าพระ และได้นำคำนี้มารวมกับคำว่าภิกษุ จึงได้คำใหม่ว่า พระภิกษุ ส่วนที่มีคำว่า สงฆ์ เพิ่มเข้ามานั้น หมายถึงภิกษุที่รวมกันตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปเรียกว่า สงฆ์

นักบวชหรือภิกษุในพระพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็นระดับชั้น โดยอาศัยการมีกิเลสและการละกิเลสได้บางส่วนหรือทั้งหมด ดังนี้

1. สมมติสงฆ์ หมายถึงผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา และรักษาศีล 227 ข้อ แต่ยังไม่ได้บรรลุธรรมอันวิเศษใดๆ เป็นเพียงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ และพยายามฝึกจิตเพื่อหลุดพ้นจากกิเลสอันได้แก่ภิกษุทั่วๆ ไปที่ท่านได้พบเห็นอยู่

2. อริยสงฆ์ ได้แก่พระภิกษุผู้มีศีลสมบูรณ์ สำรวมอินทรีย์ และละกิเลสได้บางส่วน ไปจนถึงหลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง แบ่งออกเป็นคู่ได้ 4 คู่ และเรียงเป็นรายบุคคลจะได้ 8 ดังนี้

2.1 โสดาปัตติมรรค และโสดาปัตติผล

2.2 สกทาคามิมรรค และสกทาคามิผล

2.3 อนาคามิมรรค และอนาคามิผล

2.4 อรหัตตมรรค และอรหัตตผล

พระอริยบุคคลทั้ง 8 หรือ 4 คู่นี้เองที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก คือทำบุญแล้วได้บุญมาก และจากพุทธพจน์นี้เองจึงกลายเป็นเหตุให้พระป่าหรือแม้พระบ้านหรือคามวาสีบางรูปนำเอาความเป็นพระอริยบุคคลไปอวดอ้างเพื่อให้คนศรัทธาเลื่อมใส หวังแสวงหาลาภสักการะดังที่ปรากฏเป็นข่าวในสังคมเป็นระยะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทุกครั้งที่มีการอวดอ้างในลักษณะนี้ ก็จะมีคนพากันแห่แหนไปหาและบริจาคเงินทอง แต่ครั้นเวลาผ่านไปไม่นานนักความเป็นอริยะจอมปลอมก็ปรากฏ และทำลายศรัทธาที่เคยมีมาคงเหลือแต่ความเสื่อม และในบางรายถึงกับถูกขับไล่ไสส่งก็มีมาแล้วหลายราย และจะไม่ขอนำมาเล่าในที่นี้

แต่ที่นำเรื่องนี้มาเขียนก็เนื่องมาจากว่าเวลานี้ได้มีเรื่องเก่าเกิดขึ้นอีกครั้ง ในกรณีของหลวงปู่เณรคำ ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

อะไรทำให้พระภิกษุอวดอ้างคุณวิเศษ เช่นเป็นอริยบุคคล และการอวดอ้างในลักษณะนี้ในครั้งพุทธกาลเคยมีมาหรือไม่ และได้มีการแก้ปัญหานี้อย่างไร

เริ่มด้วยประเด็นแรก คือมูลเหตุที่พระภิกษุอวดอ้างคุณวิเศษทั้งที่มีมาในอดีตและที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานก็มีอยู่ประการเดียวคือ ลาภสักการะที่ไหลมาเทมาเพราะการอวดอ้างที่ว่านี้ จะเห็นได้จากกรณีของพระภิกษุกลุ่มหนึ่งซึ่งมีพฤติกรรมอ้างคุณวิเศษเพื่อหวังให้เกิดลาภสักการะ และเป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่ 4 โดยมีเรื่องย่อๆ ดังนี้

สมัยหนึ่งเมื่อพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ เรือนยอดในป่ามหาวันใกล้กรุงเวสาลี มีภิกษุกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความชอบพอเป็นเพื่อนกัน จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งวัดคุมุทา และ ณ เวลานั้นได้เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ประชาชนอดอยากแร้นแค้นในแคว้นวัชชี (ซึ่งมีกรุงเวสาลีเป็นเมืองหลวง) ภิกษุทั้งหลายมีความลำบากด้วยเรื่องอาหารบิณฑบาต จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี

บางรูปเห็นว่า ควรแนะนำกิจการงานของคฤหัสถ์บางรูปเห็นว่า ควรทำหน้าที่ทูต (คือนำความข้างนี้ไปบอกข้างนั้น นำความข้างนั้นมาบอกข้างนี้ คล้ายบุรุษไปรษณีย์) บางรูปเห็นว่าควรใช้วิธีสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟังว่าภิกษุรูปนี้มีคุณวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ได้ฌานที่ 1 ฌานที่ 2 เป็นต้น จนถึงว่าได้เป็นโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์มีวิชา 3 มีอภิญญา 6 และทุกรูปเห็นด้วยว่าวิธีประการสุดท้ายดี จึงเที่ยวสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟัง จึงได้รับการเลี้ยงดูจากคฤหัสถ์ชาวริมฝั่งวัดคุมุทาเป็นอย่างดี มีผิวพรรณผ่องใส เอิบอิ่ม เมื่อออกพรรษาแล้วจึงเก็บเสนาสนะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ กรุงเวสาลี

ณ เวลาเดียวกันนี้ได้มีพระภิกษุจากที่อื่นมาเฝ้าด้วย แต่ปรากฏว่าภิกษุทุกรูปล้วนแต่มีร่างกายซูบผอม ผิวพรรณไม่งดงาม มีเส้นเอ็นปรากฏให้เห็น เมื่อเปรียบกับภิกษุจากริมฝั่งวัดคุมุทาแล้วแตกต่างกัน พระพุทธเจ้าทรงถามทุกข์สุข และทรงทราบเรื่องนั้น จึงได้ตรัสติเตียนและเรียกประชุมภิกษุทั้งหลายตรัสเรื่องโจร 5 จำพวกเปรียบเทียบกับภิกษุ และ 1 ใน 5 จำพวกก็คือภิกษุผู้อวดคุณวิเศษที่ไม่มีจริง เชื่อว่าเป็นยอดมหาโจรในโลก เพราะบริโภคก้อนข้าวของชาวบ้านด้วยอาการแห่งขโมย

ครั้นแล้วทรงติเตียนภิกษุชาวริมฝั่งแม่น้ำวัดคุมุทาด้วยประการต่างๆ พร้อมทั้งทรงบัญญัติห้ามอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติปาราชิก (คือขาดจากความเป็นภิกษุ) ถึงแม้ออกไปแล้วรู้ตัวสารภาพผิดก็ไม่พ้นผิด

ท่านผู้อ่านลองย้อนเรื่องของภิกษุชาวริมฝั่งแม่น้ำวัดคุมุทา แล้วลองไปเทียบเคียงกับประวัติของหลวงปู่เณรคำในส่วนที่เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากคำบอกเล่าทั้งจากหลวงปู่เณรคำผ่านทางการเขียนหนังสือ หรือการเทศน์ ก็พอจะอนุมานได้ว่าเหมือนกันหรือต่างกันกับเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร และถ้าพบว่าเหมือนกันก็อนุมานในเชิงตรรกะได้ว่า บรรดาผู้ใกล้ชิดหลวงปู่เณรคำออกมาพูดเรื่องอภินิหารของหลวงปู่เพื่ออะไรถ้าไม่ใช่เพื่อให้เกิดลาภสักการะ และถ้าเป็นเรื่องจริงตามที่เป็นข่าว ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ก็ดี ทางคณะธรรมก็ดี จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร จะรักษาพระวินัยซึ่งเป็นศาสนาแทนพระพุทธเจ้าด้วยการจัดการตามแนวทางพระวินัยหรือไม่อย่างไร ขอให้ท่านผู้อ่านที่เป็นพุทธแท้ และเข้าถึงธรรมคอยดูต่อไปว่าเรื่องจะจบลงในลักษณะคลื่นกระทบฝั่งเหมือนกับเรื่องของพระดังหลายๆ รูปที่ผ่านมาหรือไม่ ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอรหันต์เทียมมีอยู่จริง และกำลังท้าทายฝ่ายปกครองสงฆ์อยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น