เจ้าคณะภาค 10 ธรรมยุต ระบุ หลวงปู่เณรคำอวดเป็นพระอรหันต์ต่อประชาชนผิดธรรมวินัย อาบัติปาราชิก อ้อมแอ้มไม่ฟันธง คลิปหลวงปู่เณรคำว่าผิดหรือไม่ผิด ด้าน ผู้ช่วยสำนักเลขาฯสังฆราช ชี้ ชาวอีสานเข้าใจชื่อ เณรคำ เป็นชื่อเณรที่มีฤทธิ์ในตำนาน พระหลายวัดอ้างในรูปแบบ “ร่างทรง”
วันนี้ (26 มิ.ย.) พระธรรมฐิติญาณ(ศรีจันทร์) เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย จ.ร้อยเอ็ด ในฐานะเจ้าคณะภาค 10 ธรรมยุต ที่กำกับดูแลหลวงปู่เณรคำ กล่าวถึงกรณีคลิปหลวงปู่เณรคำ หรือพระวิรพล สุขผล เทศน์ บอกว่าเห็นสวรรค์ คุยกับพระอินทร์ว่า เข้าข่ายอวดอุตริมนุสธรรมหรือไม่นั้น หากเห็นจริงก็ถือว่าไม่อวดอุตริฯ หากเห็นไม่จริงก็ถือว่า อวดอุตริฯ เหมือนกรณีหลวงตาบัว ท่านเห็นจริงรู้จริง ถือว่า ไม่ได้อวดอุตริฯ ถ้าไม่รู้จริงแล้วพูดออกมาถือว่า อวดอุตริฯ ส่วนการตรวจสอบว่า เห็นจริงหรือไม่จริง ก็ต้องไปดูแนวทางปฏิบัติของหลวงปู่เณรคำประกอบว่าเป็นไปอย่างไร
เมื่อถามว่าหากอวดอุตริมนุสธรรมมีโทษถึงขั้นไหน พระธรรมฐิติญาณ กล่าวว่า การอวดอุตริมนุสธรรม มีโทษถึงขั้นอาบัติหนัก คือ อาบัติปาราชิก ส่วนเรื่องเทศน์ทางคลิป หรือมีภาพรังสีแผ่ว่ามีบารมีสูงสุดของหลวงปู่เณรคำออกมานั้น หากทำได้จริงถือว่าไม่ผิด หากทำไม่ได้แต่ไปสร้างเรื่องว่าทำได้ถือว่าผิด ซึ่งการตรวจสอบก็ต้องดูแนวทางปฏิบัติของท่านว่า เป็นไปตามหลักของพระพุทธศาสนาหรือไม่
ถามต่อว่า การพูดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ต่อประชาชนผิดหรือไม่ พระธรรมฐิติญาณ กล่าวว่า ถ้าท่านเป็นไม่ผิด หากไม่เป็นผิด แต่ในพระธรรมวินัยได้กำหนดไว้ว่า พระอรหันต์พูดกับพระภิกษุด้วยกันได้ แต่ห้ามพูดกับอนุปสัมบัน คือ คนที่ไม่เป็นพระ ถือว่าผิดพระธรรมวินัย ส่วนเรื่องการตั้งสำนักสงฆ์ของวัดป่าขันติธรรม จะใช้คำว่าสำนักสงฆ์ไม่ได้ ต้องใช้คำว่า ที่พักสงฆ์ หากยังไม่มีการขออนุญาตจัดตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่วัดป่าขันติธรรมเขียนไว้ว่า สำนักสงฆ์ อาจจะใช้ตามภาษานิยม ซึ่งเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะต้องอยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบอีกครั้ง
พระราชรัตนมงคล ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ในฐานะอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีพระสงฆ์หลายรูป ได้นำคำว่า เณรคำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่เณรคำ ที่มีกรณีเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งอยากจะชี้ให้พุทธศาสนิกชน เห็นว่า คำว่า เณรคำ เป็นชื่อบุคคลในตำนานว่า เป็นเณรที่มีอิทธิฤทธิ์ เป็นความเชื่อของคนโบราณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบันไม่มีอยู่จริง ซึ่งพระหลายรูปมักนำมาอ้างในลักษณะร่างทรงของคนในตำนานว่า เป็นเณรคำ อย่างเช่น ในจังหวัดสกลนครก็มีการอ้างว่าเป็นหลวงปู่เณรคำอยู่หลายรูป เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ต่างๆ มีผู้ที่อ้างเป็นหลวงปู่เณรคำหลายรูป เช่น หลวงปู่เณรคำ ปัญญาพโล หลวงปู่เณรคำ สุคันโท เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้เข้าไปดูใน www.luangpunenkham.com ของพระวิรพล สุขผล หรือหลวงปู่เณรคำ แห่งวัดป่าขันติธรรม ก็ได้กล่าวอ้างที่มาของชื่อ หลวงปู่เณรคำไว้ว่า เมื่อครั้ง พระเดชพระคุณท่าน หลวงปู่เณรคำ ท่านไปจาริกธุดงค์อยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พุทธศาสนิกชนพากันไปกราบคารวะนมัสการและได้มองเห็นองค์หลวงปู่ ซึ่งท่านนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ในกลดบางๆ เป็นพระแก่ชรา แต่พอท่านเปิดกลดออกมาก็กลายเป็นเณรน้อยออกไปบิณฑบาต ขากลับจากบิณฑบาต พุทธศาสนิกชนบางคน ได้มองเห็นองค์หลวงปู่ท่านเป็นพระแก่ชรา อายุราว 80 ถึง 90 ปี ผมหงอก หลังค่อม เหี่ยวย่น หนังยาน บางคนฝันเห็นพระเดชพระคุณท่าน หลวงปู่เณรคำ ไปยืนอยู่บนหัวเตียงเดี๋ยวเป็นเณรน้อยอายุน้อยๆ เดี๋ยวก็กลายเป็นพระที่แก่ชรามาก ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มมีคนเรียก ตามสิ่งที่เขาเห็น “หลวงปู่” หรือ “หลวงปู่เณรคำ” ฉัตติโก อ่านว่า ฉัตติโก