xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นเฟดลดวงเงินส่งซิกตปท.ขายหุ้น31บาทเงินไหลเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ครึ่งปีหลังหุ้นไทยยังผันผวนหนัก อย่าประมาทแรงขายต่างชาติ แม้เพิ่งกลับมาซื้อ1หมื่นล้านใน 2วัน กูรูเตือนแค่จบรอบแรก รอบสองกำลังมา หลังโกยไปแล้วร่วม1แสนล้านบาทจากเงินต้นทุน-กำไรส่วนต่าง และกำไรค่าเงิน ชี้เมื่อเฟดปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตร จะเป็นสัญญาณให้ต่างชาติเทขาย เพื่อขนเงินกลับออกไปอีก โดยรวม12เดือนจากนี้การเคลื่อนย้ายเงินลงทุน จะฉุดสภาพคล่องวูบ แนะจับตาทิศทางค่าเงินบาท กับดัชนีหุ้นชอบวิ่งสวนทาง ล่าสุดกลับมาระดับ 31บาท/เหรียญ จุดเริ่มต้นเงินนอกทะลักเข้าหุ้นไทยปีก่อน

ดัชนีหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (24-28มิ.ย.) เริ่มฟื้นตัวในแดนบวก แต่ยังมีความผันผวนที่รุนแรงไม่เลิก แม้จะรับรู้ต่อกรณีการเตรียมลดวงเงินซื้อพันธบัตร และเตรียมถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3) ของธนาคารสหรัฐ (เฟด) มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยการปรับตัวขึ้นของดัชนีในแต่ละวัน แกว่งตัวทั้งขึ้นและลงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า30-40 จุด อีกทั้งพบว่าแทบทั้งหมดยังเป็นการเข้าซื้อของนักลงทุนประเทศทุกกลุ่ม ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มเห็นแรงซื้อกลับคืนมาบ้างเล็กน้อย จากก่อนหน้าที่เทขายไม่หยุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด เมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. 2556พบว่ามีช่วงเวลาที่ชัดเจนของการถอยออกจากมาตรการ QE ...แล้ว โดยคาดว่าสามารถยุติได้ประมาณในช่วงกลางปี 2557 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ลดต่ำลงจนเข้าใกล้ร้อยละ 7.0 จากร้อยละ 7.6 ในปัจจุบัน แต่การคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะปรับตัวลงไปที่ร้อยละ 6.5 หรือต่ำกว่า ขณะที่ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 2.5

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตลาดจะต้องรอความชัดเจนและประเมินต่อไป ก็คือ ระดับของการลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรต่อเดือน ซึ่งยังคงขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ซึ่งจะทำให้การปรับตัวของตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก ยังอาจต้องเผชิญกับความผันผวนตามกระแสความคาดหวังของตลาดที่ต้องการรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้นจากเฟด โดยประเมินว่า เฟดน่าจะเดินหน้าชะลอมาตรการ QE ตามกรอบเวลาที่วางไว้ แต่หากสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความอ่อนแอ เฟดคงต้องปรับแผนการถอยมาตรการ QE ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

สำหรับหลายๆ ประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย โจทย์ที่ต้องเตรียมรับมือในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ก็คือ ทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระบวนการถอย QE ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีผลเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงิน และระดับสภาพคล่อง รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ส่วนภาคเอกชน ผู้ที่ต้องการระดมทุนใหม่ หรือต้องการ Rollover หนี้ก้อนเดิมก็คงต้องเตรียมวางแผนการระดมทุนให้สอดคล้องกับสภาพตลาดมากขึ้น

นายสุรศักดิ์ ธรรมโม คณะกรรมการ การลงทุน บลจ.ฟินันซ่า จำกัด ได้จัดทำรายงานประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนของโลกและไทย ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า อันเป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายการขยายตัวที่ 7 % ต่อปี จากนี้เป็นต้นไป ขณะที่การฟื้นตัวของสหรัฐฯจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่วิกฤตที่ยังดำเนินต่อไปในยุโรป อีกทั้งต้องจับตาดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ เพราะในเอเชียนั้น การขยายตัวเศรษฐกิจเริ่มอ่อนตัวลง

ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือ การเริ่มกระบวนการยุติการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด ซึ่งประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะอยู่ที่ระดับ 0 % ไปจนถึงปีพ.ศ. 2558 และเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนั้น แต่นักลงทุนจะปรับพอร์ตโฟลิโอก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งได้เริ่มเห็นแล้วตั้ง 21 พ.ค. 56 ที่ผ่านมาที่ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าจะลดขนาดวงเงินผลคือ ดัชนีหุ้นทั่วโลก ได้ทยอยปรับลดลงมาก

“จากนี้ไป จะเกิดความผันผวนของการลงทุนในระดับสูง สามารถสังเกตจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความผันผวนนี้ จากทิศทางค่าเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเริ่มปรับค่าแข็งค่าขึ้นก่อน ซึ่งมีสัญญาณชัดเจนมาตั้งแต่ปลายไตรมาสแรก”

ส่วน กระบวนการยุติ QE สามารถจำแนกได้ดังนี้ 1. ลดขนาดวงเงินQE หรือลดการสร้างสภาพคล่อง จากปัจจุบันเดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญ และอาจจะลดเหลือ 6.5 หมื่นล้านเหรียญ ในช่วงกันยายนปีนี้ 2.การยุติวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเด็ดขาด หรือยุติการสร้างสภาพคล่อง จะเกิดขึ้นได้เมื่ออัตราการว่างงานจะต้องลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 7 % หรือใกล้เคียง 7 % ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงกลางปีหน้า และ3. เฟดเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ซึ่งนำไปสู่การดึงสภาพคล่องที่ เฟดสร้างขึ้นกลับมาสู่เฟดผ่านการเพิ่มต้นทุนทางการเงิน ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี2558

“ตลาดหุ้นและราคาสินทรัพย์เสี่ยงตลอด 4 - 5 ปีหลังปี 2551 เป็นต้นมา ปรับขึ้นมากจากผลของนโยบาย QE ที่เฟดสร้างสภาพคล่องและเติมเข้าสู่ระบบการเงินทุกๆเดือน นำไปสู่การเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในทุกสินทรัพย์ เมื่อสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณลดและยุติการสร้างสภาพคล่อง จึงเป็นที่มาของการที่ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกผันผวนตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. ส่วนญี่ปุ่น แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น ตั้งแต่ต้นปีจะเริ่มมาตรการ QE แต่วงเงินกระตุ้นดังกล่าวต่ำกว่าการสร้างสภาพคล่องของสหรัฐฯ อีกทั้งเงินเยน มีสัดส่วนในการซื้อขายในธุรกรรมระหว่างประเทศไม่ถึง 20 % จึงไม่ส่งผลกว้างขวางไปทั่วโลก แต่จะส่งผลต่อภูมิภาคเอเชียมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ”

โดยสรุปแล้ว คาดว่าจะเห็นความผันผวนตั้งแต่หลังวันที่ 19 มิ.ย. 56 เป็นต้นไป โดยเงินเหรียญสหรัฐ จะเริ่มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและกดดันให้เงินทุนสหรัฐที่ไปลงทุนต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นหุ้นประเทศเกิดใหม่ พันธบัตรประเทศเกิดใหม่ จะถูกปรับลดการลงทุนและนำเงินกลับมา ก่อนที่เงินจะแข็งค่าขึ้นในระดับที่สูงและส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศขาดทุนในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะเดียวกัน ประเมินว่าความผันผวนของการลงทุนอาจจะสูงกว่าปัจจุบัน โดยราคาหลักทรัพย์และราคาสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศต่างๆ จะผันผวนจากภาวะเงินทุนไหลออก และจะได้แรงกดดันจากการเทขายของนักลงทุนต่างประเทศต่อเนื่อง จนกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆกับเงินเหรียญสหรัฐ จะมีแนวโน้มคงที่ เช่นเดียวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่จะผันผวนมากขึ้น

รอบทำกำไรใหม่กำลังเริ่ม

นักวิเคราะห์รายหนึ่ง กล่าวว่า การปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสิ่งที่น่าสนใจคือดัชนีที่เพิ่มขึ้น 87.81 จุดในช่วงการซื้อขายตั้งแต่วันที่25-28มิ.ย.นั้น มีเพียง 27.52 จุด หรือ2วันสุดท้ายของสัปดาห์เท่านั้น ที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิรวมกัน 10,797.34 ล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติจะกลับมา หลังดัชนีและราคาหุ้นไทยปรับตัวลงไปมากตั้งแต่ 21พ.ค. ซึ่งหมายถึงรอบการเทขายทำกำไร2ต่อจากส่วนต่างราคาหุ้น และการอ่อนค่าของเงินบาทได้จบลงแล้ว

โดยมีการประเมินว่าเมื่อรวมต้นทุนที่ลงทุนในหุ้น กับกำไรจากส่วนต่างและกำไรจากเงินบาทอ่อนค่า เม็ดเงินที่นักลงทุนต่างชาติขนกลับไปจากตลาดหุ้นไทยเพียงระยะเวลา 1เดือนนั้นน่าจะสูงถึง 1แสนล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติกำลังจะเริ่มนำต้นทุนเดิมที่นำออกไปทยอยเข้ามาเก็บหุ้นไทยในราคาถูกอีกครั้ง เพื่อรอขายทำกำไรเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่จะถูกกดดันจากเม็ดเงินทุนภายนอกที่จะทยอยไหลกลับเข้ามากดดันให้แข็งค่าอีกรอบ เพื่อรอเวลาโดนเทขายทำกำไร2ต่ออีกรอบ

“โดยรวมตั้งแต่21พ.ค. ต่างชาติขายออกมาแล้วกว่า8หมื่นล้านบาท สถาบันเข้าไปรับกว่า 7หมื่นล้าน รายย่อยรับไปอีก1.3 หมื่นล้านบาท สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นขึ้นมาเยอะ รายย่อยมีการเทขายปรับพอร์ตหลังจากเข้าช้อนซื้อไว้เยอะช่วงก่อนหน้านี้ จนบางรายแทบไม่เหลือเงินลงทุน แต่ยังไว้ใจไม่ได้ รอบความผันผวนของFund Flow ยังไม่จบ เมื่อการทยอยลดวงเงินซื้อพันธบัตรในQE เกิดขึ้น จะเป็นเหมือนสัญญาณให้นักลงทุนต่างชาติขายเพื่อทำกำไรและขนทั้งเงินต้น-กำไรกลับสหรัฐฯอีกรอบ และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าสภาพคล่องจะถูกดูดออกไปหมด นั่นคือเมื่อเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในปี2558เฟดจะยุติQE กลางปีหน้าจริง แต่ไม่ได้หมายถึงเงินในสภาพคล่องออกไปด้วย ยอดซื้อสะสมของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ปี2535 มีมากถึง3.6 แสนล้านบาท ช่วงปี51 เคยขายออกไปถึง 1.6 แสนล้านบาท ก่อนทยอยซื้อกลับเข้ามา 1.37แสนล้านบาท แล้วทำไมในรอบนี้จะไม่มีโอกาสเทขายลงถึงระดับนั้นได้อีก และอย่าลืมทริกเกอร์ฟันด์ ซึ่งเมื่อถึงเป้าหมายก็จะทำการขายออกมาด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทย กับค่าเงินบาท/เหรียญสหรัฐ พบว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี2555 นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี (28ธ.ค.) ค่าเงินอยู่ที่ 30.620 บาท/เหรียญ ขณะที่ดัชนีอยู่ที่ 1,391.93จุด ต่อมาเมื่อเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นจนถึงระดับ 28.580 บาท/เหรียญ ส่วนดัชนีอยู่ที่1,545.45จุด เมื่อวันที่ 19มี.ค.56 และเริ่มอ่อนตัวมาที่ระดับ 29.830 บาท/เหรียญ ขณะที่ดัชนีอยู่ที่ 1,643.40จุด ในวันที่20พ.ค. ก่อนที่ประธานเฟดจะส่งสัญญาณยุติQE เมื่อวันที่ 21พ.ค. จนทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงหนัก ขณะที่ค่าเงินบาท อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ เริ่มจาก30.740 บาท/เหรียญ เมื่อ วันที่13มิ.ย. และ31.080 บาท/เหรียญ เมื่อวันที่ 24มิ.ย. และอยู่ในระดับ31.00 บาท/เหรียญ จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. ซึ่งใกล้เคียงกับเมื่อครั้งที่เม็ดเงินต่างชาติเริ่มเข้าซื้อหุ้นไทยเมื่อปีที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น