xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยผันผวนตปท.เทขายปรับพอร์ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – อย่าคาดหวังทริกเกอร์ ฟันด์ พยุงหุ้นไทยพ้นปากเหว โบรกฯเชื่อต่างชาติยังขายปรับพอร์ตอีก 1-2 หมื่นล้านบาท ส่อฉุดวอลุ่มเทรดหดตัวจาก5หมื่นล้าน/วัน หลังหลายองค์ประกอบช่วยกำหนดฤกษ์ ให้เป็นฤดูกาลขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชีย ที่รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท คาดระยะสั้นดัชนีจะทรงตัว ก่อนปรับฐาน แถม พร้อมยกกรณีมูดี้ส์จ่อหั่นเครดิตไทย จะมีผลรุนแรงซ้ำเติมตลาดหุ้น หากเกิดขึ้นจริง เหตุจะทำให้ภาครัฐมีปัญหาต้นทุนเพิ่มในโครงการกู้เงินล็อตใหญ่

ตลาดหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7มิ.ย.) ดัชนีหลักทรัพย์พลิกกลับมาปิดบวก 26.03 จุด อยู่ที่ระดับ 1,516.24 จุด หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.75% มูลค่าการซื้อขายกว่า 52,002.95 ล้านบาท โดยรวมตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.ดัชนีปรับลดลง 133.53 จุด หรือ 8.8% ซึ่งปัจจัยหลักที่กดดันดัชนีหุ้นไทย หนีไม่พ้นความกังต่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3) ของสหรัฐฯ ที่อาจถูกยุติ หรือลดวงในการซื้อพันธบัตรลงในไม่ช้า จนเกิดกระแสดึงเงินกลับเพื่อรองรับ และเกิดกระแสการปรับพอร์ตลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพียงแค่ 7วันแรกของเดือนมิถุนายน มีการขายสุทธิออกไป 20,889.91 ล้านบาท และตั้งแต่ต้นปียอดการขายสุทธิมากถึง 41,982.17 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการซื้อขายสุทธิ แยกตามประเภทนักลงทุน ยังพบว่านักลงทุนสถาบัน เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มียอดซื้อสะสมตั้งแต่ต้นปี 51,638.17 ล้านบาท โดยในเดือนมิถุนายนนี้ ซื้อสะสมเข้ามา 10,033.31 ล้านบาท
นอกจากนี้ การรีบาวด์กลับขึ้นมา 26 จุดของดัชนีหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิ.ย. หลายฝ่ายเชื่อเกิดจากเม็ดเงินของกองทุน ทริกเกอร์ ฟันด์ เข้ามาซื้อในตลาด ทำให้ช่วยหนุนดัชนีกลับขึ้นมาได้ในระดับสูง และคาดการณ์กันว่าในสัปดาห์นี้ (10-14มิ.ย.)ยังมีเม็ดเงินจากกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ อีกหลายกองจะเข้ามาลงทุนในหุ้น หลังจากราคาปรับตัวลงไปมาก แต่ประเมินว่าอาจจะไม่สามารถช่วยต้านทานให้ดัชนีปรับขึ้นไปได้มากนัก หากนักลงทุนต่างประเทศยังเทขายสุทธิต่อเนื่องหลายล้านบาทต่อวันเช่นนี้
***กรุงศรีฯมองหลายหุ้นน่าสะสมช่วงนี้
นายกษมพนธ์ เหมนิลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี แสดงความคิดเห็นโดยรวมของภาวะตลาดหุ้นไทยว่า จากสถานการณ์หุ้นไทยในรอบ 11 วันที่ผ่านมา ดัชนีลดลงอย่างต่อเนื่องจากจุดสูงสุดในรอบ18ปีที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 1,650 จุด เมื่อ 21พ.ค. ซึ่งหลังจากนั้นมาลดลงมาถึง 160 จุดหรือ 10% มีการหลุดแนวรับสำคัญ 1,500 จุด ซึ่งเป็นแนวรับที่สำคัญในเชิงจิตวิทยา อีกทั้งเป็นแนวรับที่สำคัญในเชิงทางเทคนิคและการลงทุนระยะกลาง และ เป็นแนวรับในเชิง Perspective P/E Ratio ของตลาดหุ้นไทยโดยรวมปีนี้อยู่ที่ 15 เท่า ซึ่งเท่ากับ 1,500 จุด ทำให้เป็นการหลุดลงมาในแนวรับที่มีนัยยะสำคัญ
โดยมองว่า เป็นผลมาจากปัจจัยหลัก 3 ส่วน คือ 1.จากการคาดการณ์ปรับลด GDP โลก ที่ผ่านมา 2. เป็นการตอบสนองถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของไทย ที่สะท้อนออกมาในเชิงลบ มากกว่าเชิงบวก เพราะทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะชะลอตัวลง และอาจจะไม่เข้าเป้าหมายที่จะปรับประมาณการของทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดไว้ 3.นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิอย่างมากและต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นแรงกดสำคัญต่อดัชนี และอีกประเด็น คือ ข่าวเรื่อง มูดี้ส์ จะปรับลดเครดิตเรตติ้งของไทยในเรื่องการค้าข้าว ซึ่งถือว่าสร้างผลกระทบค่อนข้างรุนแรง
“จากตรงนี้ไปจะต้องมองการปรับตัวของตลาดหุ้นไทย ในระยะสั้นๆดัชนีจะทรงตัวนิ่งๆไปสักระยะนึง ซึ่งเป็นการดีที่นักลงทุนจะได้เข้ามาเลือกซื้อหุ้น ทำให้หุ้นหลายตัวมีความน่าสนใจ จากที่เคยมองว่าแพงมากๆและไม่มีตัวไหนซื้อขาย แต่ตอนนี้เริ่มมีนักลงทุนเริ่มมีการกลับมาซื้อในหลายๆตัว สำหรับการลงทุนระยะกลาง 3-6 เดือน หรือ 1 ปีขึ้นไป”

***เลิกQEไม่น่ากลัวเท่ามูดี้ส์หั่นเครดิต
ผอ.ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี ให้ความเห็นต่อว่า แนวโน้มจากนี้ไปจะต้องกลับมามองถึงปัจจัยหลักๆคือ แนวโน้มการยกเลิกมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ซึ่งเปรียบเสมือนว่าสหรัฐฯกำลังป่วยและ QE คือยารักษา ซึ่งการยกเลิก QE เป็นสัญญาณบอกว่าอาการป่วยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงถือว่าเป็นข่าวดีที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกในระยะกลางและระยะยาว แต่ในระยะสั้นสภาพคล่องในตลาดอาจจะหดถดถอยลง จากวงเงินที่เคยเทรดในระดับ 50,000 ล้านบาทก็อาจจะหายไป ดังนั้นต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)วันที่ 18-19 มิ.ย. ว่าจะสรุปออกมาในแนวทางไหน เพราะถ้ายกเลิกมาตรการ QE คาดการว่าเศรษฐกิจในปี2557 ก็จะดีขึ้น
ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ สถานการณ์การเมืองไทยต่อภาวะการเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งประเด็นที่จะต้องจับตาถ้าหากมูดี้ปรับลดเครดิตความน่าเชื่อถือของไทยลง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินบาทอย่างมาก จะนำไปสู่การไหลออกของเงิน เพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท ดังนั้นเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างมาก
ประเด็นที่ 3 คือการปรับลดการถือครองหุ้น ในภาคของเอเซียที่ต่างชาติถือครองและซื้อขาย เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นใหญ่ๆคือดาวโจนส์ แนสแด็ก นิกเกอิ โดยในเดือนพฤษภาคม ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นมาเกือบ 2% เยอรมนีปรับตัวขึ้นมา 5.5% นิกเกอิทรงตัวและปรับตัวลดลงไปที่ 0.6% และของไทยติดก็ติดลบ 2.2% และยังลดลงต่อเนื่องไปแตะที่ระดับ 4.6% ด้านดัชนีนิกเกอิ ในเดือนมิถุนายนเองก็ปรับตัวลดลงไป 7.2% ดาวโจนส์ก็ปรับตัวลดมา 0.5% แนสแด็กก็ปรับตัวลดลงมา 3% เพราะฉะนั้นในภาพของการดิ่งลงของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก สะท้อนถึงการไหลออกของแหล่งเงินทุนทั่วโลก ซึ่งตลาดหุ้นไทยจะกระทบเป็นอันดับที่ 2 รองจากตลาดหุ้นญี่ปุ่น อันเป็นผลพวงมาจากมาตรการ QE ของสหรัฐ
“แนวโน้มต่อจากนี้ จากกรณีที่หุ้นลงแรงและขึ้นแรง ในเชิงเทคนิคแนวรับสำคัญจะอยู่ที่ 1,480 จุด ซึ่งถ้าหากดีดกลับขึ้นมาได้อาจจะกลับขึ้นไปที่ระดับ 1,600 จุดได้ แต่ถ้ามีปัจจัยอะไรที่มากระทบแรงเช่นข่าวมูดี้ส์ปรับลดเครดิตเรตติ้ง ดัชนีก็อาจจะร่วงลงเร็วกว่า 60 จุดหรือกลับไปยืนที่ 1,420 จุดได้”

***แนะลงทุนหุ้นกลุ่มอนาคตไกล
สำหรับกลยุทธ์ลงทุน บล.กรุงศรี เรียกว่า “การลงทุนในหุ้นกลุ่มอนาคตไกล 3 กลุ่มหลัก” เพราะเมื่อตลาดลงแรงหุ้นกลุ่มเหล่านี้จะปรับลดลงไปก่อน ซึ่งอันดับ 1 คือกลุ่มธนาคาร 2 พลังงาน และ 3 สื่อสาร โดยหุ้นกลุ่มธนาคารจะมีราคาที่น่าสนใจมากตอนนี้ แต่ต้องจับตาดูการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯจะสรุปออกมาเช่นไร โดยดูอัตราการว่างงานน่าจะอยู่ที่ 7.5% คงไม่มีการลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจากเป้าหมายที่จะชะลอมาตรการ QE ลง แต่สาระสำคัญคือตัวเลขแต่ละตัวที่ผ่านมาของสหรัฐฯคือตัวเลขที่ดีแสดงถึงการฟื้นตัว ซึ่งจะตอบสนองต่อตลาดหุ้นในวันจันทร์หรือสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป แต่กรณีข่าวของมูดี้ส์ ยังเป็นความกังวลของนักลงทุนไทยมากที่สุดในขณะนี้

***ASPเชื่อเป็นฤดูกาลทำกำไร
ด้านบล.เอเชียพลัส ระบุว่าโดยสรุปจากการฟื้นตัวของภาคแรงงานและเศษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ FED ปรับลดมาตการผ่อนคลายทางการเงินลง ในการประชุม FED ครั้งถัดไปคือ 29-30 ต.ค. นี้ ซึ่งหากผลการประชุมได้ทยอยลดลงตามที่ตลาดคาด เชื่อว่าไม่น่าจะสร้างแรงกดดันให้กับตลาดมากไปกว่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่เชื่อว่ามีการถอนออกไปหมดสิ้น เสียครั้งเดียว
ด้านฝั่งประเทศพัฒนาแล้วในแถบเอเชียพบว่า ค่าเงินยังมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะเงินรูปีย์ ของอินเดียที่อ่อนค่าสูงถึง 7.3%ในช่วง1เดือนเศษ ตามด้วยค่าเงินบาท ประมาณ 6.7% (เทียบกับระดับที่แข็งค่าสุดที่ 28.61 บาทต่อดอลลาร์) ในสถานการณ์ถือว่าเป็นการปรับตัวของเศษฐกิจโลก และ การปรับฐานของตลาดหุ้น เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมในการทำกำไรของตลาดหุ้นไทยซึ่งในปี 2556 คาดการณ์ EPS ไว้ที่หุ้นละ 104.67 บาทต่อหุ้น ดัชนีในช่วงสิ้นปี 2556 น่าจะแกว่งในกรอบ 1,465.38-1570 จุด ดังนั้นอาจเป็นไปได้ที่ดัชนีจะลงไปทำจุดต่ำที่ 1,465 จุดภายในเดือน มิ.ย. และมองว่า ณ จุดนี้จะเป็นโอกาสดีในการเข้าสะสมหุ้น โดยเน้นหุ้นที่ Global ผสม Domestic Plays พร้อมให้น้ำหนักการลงทุนที่ 40%
“ยังมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อไป ตามตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค และโดยรวมสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยต่างชาติได้เทขายหุ้นออกมาแล้ว ประมาณ 50% ของยอดสูงสุด (1.06 แสนล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2554 - 4 ก.พ. 2556) ซึ่งขายสุทธิเป็นยอดรวม 5.5 หมื่นล้านบาท (ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2556 - ปัจจุบัน) แต่ยังมีโอกาสที่ต่างชาติจะขายออกมาอย่างหนักอีก 10%-20% จากยอดสะสมสูงสุด หรือประมาณ 1-2หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับที่เคยขายอย่างหนักเมื่อ เม.ย. 2553 และ ต.ค ประมาณ 7 หมื่นล้านบาททั้งสองครั้ง ก่อนจะเข้าสู่รอบการซื้อถัดไป ส่วนนักลงทุนสถาบันวานนี้ได้ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ราว 1.7 พันล้านบาท แต่คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะยังเห็นแรงซื้อจากนักลงทุนกลุ่มนี้ต่อไปจาก Trigger Fund ถึง 6 กอง ที่จะทยอยปิดการขายในสัปดาห์หน้าอีก”
กำลังโหลดความคิดเห็น