xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พรีเมียร์ลีก อสมท สมการธุรกิจ “แม้ว-วิชัย” “สุธรรม-จักรพันธุ์” รับลูก??!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 “วิชัย ทองแตง” และ “จูเนียร์-วัชร วัชรพล” สองหุ้นส่วนใหญ่ซีทีเอช
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลังเป็นปริศนาที่ไม่สามารถไขความจริงได้ออกจากกรณีที่ บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ซีทีเอช ที่เกิดจากการผนึกกำลังของ “วิชัย ทองแตง” และ “จูเนียร์-วัชร วัชรพล” ทุ่มเม็ดเงินคาดว่าซึ่งคาดว่าตกอยู่ที่ในราวประมาณ7,000- 9,000 ล้านบาทและเมื่อรวมภาษีและค่าใช้จ่ายทั้งหมดตัวเลขอาจสูงถึง 10,000 ล้านบาท คว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน “ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก” ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุดของแฟนบอลชาวไทยสำเร็จ เพราะไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า ซีทีเอชจะแสวงหากำไรอย่างไรให้คุ้มค่ากับเม็ดเงินร่วมหมื่นล้านที่ใช้

ในที่สุด “คำตอบ” ก็ได้เฉลยออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อ “นายสุธรรม แสงประทุม” อดีตคนเดือนตุลา อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยและหลายกระทรวงที่วันนี้ผันตัวไปรับใช้นายใหญ่จนได้ดิบได้ดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ประธานกรรมการบมจ.อสมท หรือบอร์ด อสมท พร้อมๆ กับนายจักรพันธุ์ ยมจินดา ประกาศนโยบายออกมาหน้าตาเฉยว่า ต้องการให้ช่อง 9 หรือ อสมท ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกต่อจากซีทีเอช 3 ฤดูกาล (2013-2016) จากซีทีเอช ในราคา 480 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 160 ล้านบาท สำหรับการถ่ายทอดสดฤดูกาลละ 17 แมทช์

งานนี้ เล่นเอากูรูหรือโคตรเซียนถึงกับอ้าปากค้างกันเลยทีเดียวกับโมเดลธุรกิจที่ออกมาในรูปนี้ เฉกเช่นเดียวกับ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจเคเบิ้ลทีวีของตระกูลเจียรวนนท์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานที่ต้องร้องอ๋อถึงบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดได้ในฉับพลันทันที

เนื่องเพราะเป็นที่รับรู้กันว่า นายวิชัยหรือทนายความคนดังผู้นี้มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ นช.ทักษิณ ชินวัตรเพียงไร

ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่าสังคมจะตั้งข้อสงสัยว่า นี่คือโมเดลในทางธุรกิจที่ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสม และโมเดลนี้ก็เป็นเหมือนนโยบายของรัฐบาลทุกเรื่องที่ผ่านมาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันว่า ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ อสมทและซีทีเอชคือ ทักษิณคิด วิชัยตั้งบริษัท โดยมีสุธรรมและจักรพันธุ์ที่ถูกพรรคเพื่อไทยส่งเข้ามาเป็นประธานและรองประธานบอร์ด อสมท รับลูก แม้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท จะตั้งป้อมค้านเพราะพบเงื่อนงำที่ไม่ชอบมาพากลและไม่เห็นวี่แววว่า อสมท จะสามารถมีกำรี้กำไรให้คุ้มกับเม็ดเงินที่เสียไปได้จากไหน

CTH -อสมท โมเดลธุรกิจขั้นเทพ ทำไมต้องเป็น อสมท?

นั่นคือคำถามที่สำคัญและน่าสนใจที่สุดของเรื่องราวทั้งหมด เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีในประเทศไทยมีมากมายหลายช่อง ไม่ว่าจะเป็นช่อง3 ช่อง5 ช่อง7 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส

แต่ถ้าหากตรวจสอบรายละเอียดตลอดรวมถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างละเอียดและตัวละครที่แสดงนำแล้วก็จะเข้าใจสาเหตุที่เป็นช่อง 9 ได้อย่างไม่ต้องมีคำถาม

ทั้งนี้ สงครามยกแรกของการช่วงชิงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน “ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก” ของประเทศอังกฤษเริ่มต้นขึ้นและจบลงด้วยการที่บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ซีทีเอชสามารถคว้าลิขสิทธิ์โดยเฉือนชนะคู่แข่ง บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน), จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และ อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ทุกคนก็ยังไม่เห็นโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนว่านายวิชัย ทองแตงจะบริหารจัดการช่องเคเบิ้ลช่องนี้ให้รอดพ้นจากภาวะขาดทุนได้อย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิขสิทธิพรีเมียร์ลีกที่แฟนฟุตบอลต่างลุ้นว่าจะจัดแพคเกจออกมาอย่างไร ต้องเสียค่ากล่องรับสัญญาณราคาเท่าไหร่และจะเทียบเท่าหรือเหนือกว่าทรูฯ ที่ตรงไหน เพราะต้องยอมรับว่านายวิชัยไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านนี้มาก่อน แถมหลังจากนั้นยังมีปัญหากับผู้ถือหุ้นที่กอดคอร่วมก่อตั้งบริษัทกันมาอย่างกลุ่มเคเบิลไทย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิ้ลท้องถิ่นอีกต่างหาก เพียงแต่รับรู้ว่าตัวนายวิชัยและนายวัชรมี วิทยายุทธ์ในระดับที่ไม่ธรรมดา

กล่าวสำหรับตัวนายวิชัยนั้นชัดเจนยิ่งว่าเขามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ นช.ทักษิณ ชินวัตรเป็นอย่างมาก เพราะเขาคือทนายความที่ว่าความให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีในคดีซุกหุ้น เมื่อปี พ.ศ. 2544 ด้วยข้อแก้ต่างที่เรียกว่า “บกพร่องโดยสุจริต” และเป็นการปลดล็อกสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณก้าวไปสู่จุดสูงสุดด้านการเมืองในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ได้สำเร็จ ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมาชื่อของวิชัย ทองแตงก็โดดเด่นขึ้นมาในสังคม

ขณะเดียวกันก็เป็นที่ยอมรับเช่นกันว่า วิชัย ทองแตงคือมือไม้หรือ “นอมินี” ของ นช.ทักษิณการทำธุรกิจ ปี พ.ศ. 2542 วิชัย ทองแตงได้เข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลศิครินทร์ เข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลเปาโล ในปี พ.ศ. 2543 โดยดีลธุรกิจที่หลายคนยังไม่ลืมก็คือการกว้านซื้อหุ้นของโรงพยาบาลพญาไท จนสามารถก้าวขึ้นไปเป็นหุ้นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ การเข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลจำนวนมาก ทำให้สังคมพุ่งเป้าว่า เขาคือนอมินีให้ตระกูลชินวัตร เพราะเป็นการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทักษิณที่มีนโยบายชัดเจนจะทำให้ประเทศไทยเป็น “เมดิคัล ฮับ”

เฉกเช่นเดียวกับโมเดลธุรกิจที่เกิดขึ้นกับซีทีเอชและจบลงที่ช่อง 9 ซึ่งมิได้แตกต่างจากกรณีอื่นๆ เลย และคงไม่ผิดจากความเป็นจริงถ้าจะกล่าวว่า ซีทีเอชและวิชัยคือธุรกิจและขุนพลที่ทำงานให้กับระบอบทักษิณ ไม่เช่นนั้นคำตอบคงไม่ใช่ที่ อสมท

แน่นอน การที่ซีทีเอชหันหัวมาสู่ช่อง 9 เหตุผลมีเพียง 2 ประการคือ

หนึ่ง-ไม่สามารถเจรจาตกลงกับสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ได้เนื่องจากตั้งราคาเอาไว้สูงเกินไป

กรณีนี้นายสุวิทย์ มิ่งมล รักษาการคณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์เอาไว้ชัดเจน 3 ประการว่า 1. ตามสัญญาที่ ซีทีเอช ทำกับเจ้าของลิขสิทธิ์ มีข้อกำหนดที่จะต้องมีการถ่ายทอดสดทาง"ฟรีทีวี" นอกเหนือระบบเพย์ทีวี และก่อนที่จะเจรจากับอสมท ทางซีทีเอช ได้เจรจากับฟรีทีวี ช่องอื่นมาก่อน แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะราคาลิขสิทธิ์ที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นสหภาพฯ ตั้งข้อสังเกต เหตุใด อสมท จึงต้องรับมาถ่ายทอดสดและไม่มีการต่อรองราคา 2. สัญญาที่ อสมท จะทำกับ ซีทีเอช ครอบคลุมระยะเวลาถึง 3 ปี แต่ในขณะนี้ จากการยืนยันของฝ่ายบริหาร ระบุว่าการขายโฆษณาครอบคลุมค่าใช้จ่าย และจะมีกำไรใน "ปีแรก" เท่านั้น แต่สำหรับในอีก 2 ปีจากนี้ ยังไม่มีรูปธรรมใดๆ ในการทำตลาด และ 3. เม็ดเงินที่หน่วยงาน หรือบริษัทเอกชน จะนำมาสนับสนุน อสมท กับกิจกรรมถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เป็นเม็ดเงินก้อนใหม่จริงหรือไม่ หรือเป็นการโยกเม็ดเงินจากเดิมที่หน่วยงานหรือ บริษัทต่างๆ จะนำมาสนับสนุนกิจกรรมอื่นของ อสมท อยู่แล้ว

สอง- ช่อง 9 หรืออสมท แม้จะเป็นบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่สถานะก็คือความเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้น ดังนั้น รัฐบาลจึงสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันและแต่งตั้งคนของตนเองเข้าไปเป็นบอร์ดและเป็นไม้เป็นมือในการควบคุมได้

อ้ายอีหน้าไหนจะปฏิเสธว่านายสุธรรมและนายจักรพันธุ์ไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่คนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และไม่ใช่คนของระบอบทักษิณ

จากเหตุผลทั้งสองข้อผนวกกับข้อแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานฯ ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าทำไมต้องเป็น อสมท และโดยข้อเท็จจริงแล้วมีความเป็นไปได้สูงยิ่งว่า อสมท ถูกกำหนดเอาไว้ในสมการหรือโมเดลธุรกิจของซีทีเอชมาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่เช่นนั้นแล้วซีทีเอชคงไม่ตั้งราคาลิขสิทธิ์เอาไว้สูงเวอร์จ นฟรีทีวีช่องอื่นๆ สู้ไม่ไหว ทั้งๆที่ซีทีเอชเองก็รู้อยู่เต็มอกว่างานนี้เล่นตัวไม่ได้มากนักเพราะตามข้อสัญญาที่ซีทีเอชทำไว้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีนอกเหนือจากเพย์ทีวี

มิหนำซ้ำนอกจากจะต้องไม่ยอมซื้อและจ่ายเงินแพงๆ แล้วยังจะต้องเรียก เก็บเงินค่าถ่ายทอดสดจากซีทีเอชเสียด้วยซ้ำไป ยิ่งรู้ว่าเจรจากับช่องอื่นๆ ไม่ สำเร็จด้วยแล้ว ยิ่งต้องเล่นตัวให้หนัก ไม่ใช่ประกาศจะซื้อแถมไม่ต่อรองสักคำ แม้นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท จะได้ข้อสรุปจากการใให้ฝ่ายการตลาดไปศึกษาความเป็นไปได้ว่าการซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าวไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน แต่นายสุธรรมและนายจักรพันธุ์ก็ยังพยายามทุกวิถีทางที่จะให้เซ็นสัญญาให้ได้ ซึ่งผิดวิสัยการทำธุรกิจ

ขณะเดียวกันนอกจากนายวิชัยนายสุธรรมและนายจักรพันธุ์แล้ว บุุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่ไม่อาจกล่าวถึงก็คือจูเนียร์-วัชร วัชรพล ทายาทรุ่นที่สามของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ถือหุ้นในอัตราส่วนที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่านายวิชัยเท่าใดนัก

แน่นอนความเป็นทายาทไทยรัฐที่กระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์กับซีทีเอช ทำให้จูเนียร์เองก็ต้องตอบคำถามกับสังคมว่า สมมติว่าดีลจบลงอย่างที่นายใหญ่ต้องการ หนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลและมียอดจำหน่ายมากที่สุดจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร จะเปลี่ยนไปจนกู่ไม่กลับเหมือนค่ายประชาชื่นหรือไม่

สุธรรม-จักรพันธุ์โชว์พาว เดินหน้าปิดจ็อบ

กระนั้นก็ดีท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ดังขรมออกมาจาก อสมท เพื่อหยุดยั้งความพยายามที่จะกินรวบของฝ่ายที่รับงานมาด้วยการยื่นข้อเรียกร้องให้บอร์ด อสมทเปลี่ยนจากการเสียค่าโง่ซื้อลิขสิทธิ์มาเป็นระบบไทม์แชร์ริ่งที่ อสมท ได้รับประโยชน์มากกว่า รวมทั้งทำหนังสือในนามกลุ่มพนักงานยื่นต่อนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล อสมท ให้พิจารณาเปลี่ยนตัวนายสุธรรมและนายจักรพันธุ์ให้พ้นจากตำแหน่ง แต่ดูเหมือนว่า เสียงคัดค้านจะไม่มากพอที่จะง้างกล้วยและอ้อยที่กำลังจะเข้าปากช้างได้

“มีการเสนอแนวคิดดังกล่าวจริง เนื่องจากต้องการดึงรายการดีๆ มาดึงดูดลูกค้าให้มากขึ้น เพราะช่องซบเซามานาน โดยฟุตบอลอังกฤษเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูง แต่เรื่องนี้ยังเป็นแค่แนวคิดเท่านั้น ยังไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด ซึ่งจะดำเนินการหรือไม่ ต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ดก่อน ที่ผ่านมาช่อง 9 ง่อยเปลี้ยเสียขามานาน จึงคิดปรับปรุงให้มีรายการดีๆ เข้ามาเสริม แต่เมื่อเสนอแนวคิดที่หนักๆ แบบนี้ ก็มีบางส่วนคัดค้านเป็นธรรมดา โดยอาจเห็นว่ามีความเสี่ยงขาดทุน ซึ่งเรื่องนี้ต้องเจรจากับทางซีทีเอชอีกครั้ง ยืนยันว่าจะเน้นผลประโยชน์ขององค์กรและประชาชนเป็นหลัก หากคิดแล้วขาดทุนก็จะไม่ทำ"

นั่นคือเหตุผลที่นายสุธรรมกล่าวอ้างและชี้แจงถึงความไม่ชอบมาพากลในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจากซีทีเอช แถมยังด้านหน้าจวกหม้อข้าวที่จ่ายเงินเดือนให้กับตัวเองอีกต่างหากว่าง่อยเปลี้ยเสียขา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.56 นายจักรพันธุ์ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสำนัก โดยไม่ได้แจ้งนายเอนก เพื่อประชุมเตรียมความพร้อมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 2013-2014 จากนั้นนายสุธรรมและนายจักรพันธุ์ได้เชิญรักษาการกรรมการสหภาพ บมจ.อสมท มาพูดคุยเรื่องนี้เกือบ 2 ชั่วโมง โดยแจ้งว่ามีกำไรแน่นอน และหาโฆษณา มีรายได้แน่ 170 ล้านในปีแรก ส่วนอีก 2 ปีค่อยว่ากัน

ส่วนเมื่อถามว่าเหตุใดจึงไม่เปิดชี้แจงกับลูกจ้างและพนักงานก่อน แล้วค่อยนำเสนอที่ประชุมบอร์ด อสมท พิจารณา นายจักรพันธุ์อ้างว่ารอไม่ได้ เดี๋ยวเซ็นสัญญาไม่ทันเพราะ กำหนดวันสุดท้ายคือวันที่ 30 มิ.ย.นี้

“ไม่ต้องห่วง มีกำไรแน่นอน ผมยืนยัน พวกคุณไม่ต้องห่วง ถ้าเสียหายผิดพลาด ผมจักรพันธุ์รับผิดชอบเองครับ” นายจักรพันธุ์กล่าว

25 มิถุนายน นายสุธรรม กล่าวภายหลังจากการประชุมบอร์ด อสมท ว่า ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการดำเนินงานไว้ โดยให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมารวม 4 คน ประกอบด้วย นายจักรพันธุ์ ยมจินดา รองประธานกรรมการ, นายสุรชัย โฆษิตเสรีวงศ์ กรมการ, นายยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการ และนายธนะชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าวจะต้องทำการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า อสมท ควรจะเลือกคู่แข่งอย่างไร และสิ่งที่ อสมท จะได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างไรบ้าง โดยหลังจากศึกษาเสร็จแล้วจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ เวลา 16.30 น.

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางเบื้องต้นไว้ 2 แนวทางในการดำเนินการเรื่องซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าว คือ แนวทางที่ 1 จะใช้ทางเลือกเดิมที่เจรจากันมาตั้งแต่เริ่มแรก คือให้ อสมท ซื้อลิขสิทธิ์ฝ่ายเดียว มูลค่า 495 ล้านาท รวม 3 ปี รวม 17 แมตช์ต่อปี แต่ให้จ่ายปีละ 165 ล้านบาท แล้ว อสมท สามารถหาโฆษณาเองได้และรายทั้งหมดเป็นของ อสมท

แนวทางที่ 2 จะใช้วิธีการแบบที่เรียกว่า เรเวนิวแชริ่ง หรือการแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) โดยที่ทาง อสมท จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี สามารถถ่ายทอดสดได้ 17 คู่ต่อปีเหมือนเดิม ส่วนการหาโฆษณานั้นให้ทาง อสมท รับผิดชอบ และแบ่งรายได้กัน สัดส่วน อสมท 65% และซีทีเอช 35% โดย อสมท ได้รับสิทธิถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีช่อง 9 รวม 17 แมตช์ต่อฤดูกาล และสิทธิการถ่ายทอดสดทางวิทยุเพื่อจัดกิจกรรมทั่วประเทศ

นอกจากนี้ คณะทำงานจะต้องไปทำการเจรจาต่อรองกับซีทีเอชเพื่อที่จะพิจารณาเลือกถ่ายทอดสดคู่ใดบ้าง อีกทั้งยังต้องไปเปรียบเทียบโอกาสการทำรายได้ ระหว่างผังรายการเดิม กับการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยว่ามีโอกาสในการสร้างรายได้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

นายสุธรรมกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีความสนใจแนวทางที่ 2 เพราะจะทำให้การจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถูกลง อีกทั้งทำให้เราสามารถเลือกคู่ถ่ายทอดสดได้ด้วย เพราะอย่างน้อยเป็นแบบแบ่งรายได้ เพราะฉะนั้นทางซีทีเอชก็ต้องมีส่วนได้ส่วนเสียเหมือนกัน รวมทั้งยังลดแรงกดดันจากสหภาพแรงงานของ อสมท ได้ด้วยระดับหนึ่ง ซึ่งคาดว่าการประชุมในวันที่ 4 เดือนหน้าน่าจะได้ข้อสรุป เพื่อที่จะได้เซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์จากซีทีเอชภายในเดือนกรกฎาคมทันที

สำหรับการทดลองขายโฆษณาในช่วงก่อนหน้านี้ หรือพรีเซลของ อสมท พบว่ามีสปอนเซอร์ให้

แม้ดูเหมือนว่าจะละล้าละลังอยู่บ้างด้วยการแก้เกมเพื่อลดกระแส ทว่า สถานการณ์อาจไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนัก และมีความเป็นไปได้ว่า สุดท้าย อสมท ก็ต้องถ่ายทอดพรีเมียร์ลีกอยู่ดี

ด้านแหล่งข่าวจากที่ประชุมกิจการสัมพันธ์ที่เป็นการพบกันระหว่างบอร์ด ผู้บริหาร และตัวแทนพนักงานอสมท คือ สหภาพฯนั้น ในที่ประชุมสหภาพได้ซักถามอย่างละเอียดถึงโครงการดังกล่าวว่า จะทำกำไรให้กับองค์กรได้หรือไม่อย่างไร โดยผู้ช่วยสำนักการขาย บมจ.อสมท ยืนยันเพียงว่า มีเอเจนซี่สนใจลงโฆษณาจากการสอบถามเบื้องต้นแค่ 70 ล้านเท่านั้น ทำให้พนักงานสอบถามนายจักรพันธุ์ว่า ในเมื่อตัวเลขเป็นเช่นนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่นายจักรพันธุ์ได้ยืนยันว่า มีสปอนเซอร์ที่สนใจคือ เอไอเอส และ ปตท.ซึ่งน่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาทำให้ได้กำไรในปีแรก

ขณะที่ตัวแทนพนักงานได้สอบถามว่าตัวเลขที่กล่าวถึงมีการตกลงกันแล้วหรือไม่อย่างไร นายจักรพันธุ์กลับตอบคำถามไม่ได้ การซักถามกินเวลานานโดยเฉพาะเหตุผลสองข้อหลักที่อสมท.ไม่ควรไปนำเงิน 480 ล้านบาทไปซื้อลิขสิทธิ์ในครั้งนี้คือ 1. ซีทีเอชมีสัญญาผูกมัดจะต้องหาช่องฟรีทีวีลง ดังนั้นอสมทจึงเป็นต่อในการเจรจามากกว่าเพราะซีทีเอชได้รับการปฎิเสธจากทุกช่องมาแล้ว 2.อสมทกำลังจะลงทุนในเรื่องทีวีดิจิตอลซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยในฝ่ายบริหารอาจต้องก็เงินมากถึงพันล้านบาท 3. โอกาสที่จะได้กำไรจากโครงการดังกล่าวแทบไม่มีเพราะตัวเลขโฆษณาที่จะต้องขายเพื่อให้ได้คุ้มทุนยังสูงถึง 5 แสนบาทต่อนาที ซึ่งคำถามทั้งหมดนายจักรพันธุ์ไม่สามารถตอบคำถามได้ และ มีอารมณ์ฉุนเฉียวโดยถามกลับว่า “ได้ข่าวว่ามีพนักงานจะไล่ผมเหรอใครจะไล่ผม”

สตง.เตือนซื้ออุปกรณ์พัฒนาเว็บ ข้อบ่งชี้แดนสนธยากำลังจะกลับมา

ไม่เพียงแต่กรณีการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจากซีทีเอชเท่านั้น อสมท ในยุคนี้ยังมีเรื่องฉาวโฉ่ให้ต้องตรวจสอบอีกหนึ่งเรื่อง นั่นคือ โครงการจัดซื้ออุปกรณ์การติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการสร้างสรรค์และพัฒนาเว็บไซต์ของส่วนงานธุรกิจสื่อใหม่ 1 ระบบ เป็นเงินกว่า 12 ล้านบาท ที่บริษัท ดิจิตอล มีเดียส์ อินเทอร์เฟช จำกัด เป็นผู้ขายให้ เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้ส่งหนังสือถึงนายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ให้เร่งรีบไปจัดการเนื่องเพราะตรวจพบร่องรอยของความไม่ถูกต้อง

โดยหนังสือของ สตง. ระบุว่า สตง.พบว่าการจัดซื้อดังกล่าวของ อสมท เป็นการจัดทำสัญญากับบริษัทคู่สัญญาสูงกว่างบประมาณปกติ (งบลงทุน) เพราะเดิมงบลงทุนอนุมัติ 11,550,000 บาท แต่ก่อนการจัดซื้อ มีการขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพิ่มเป็น 12,267,550 บาท สูงกว่าเดิม 717,550 บาท และจากการสุ่มตัวอย่างราคาในตลาด รวมทั้งเทียบราคากับบริษัทคู่แข่งที่มีสินค้าเหมือนกัน สเปกเดียวกัน 11 รายการ พบว่ามีราคาสูงเกินกว่าปกติทั่วไป โดย อสมท ซื้อในราคารวม 2,760,000 บาท แต่จากการสุ่มได้ราคาเพียง 1,422,906 บาท มีส่วนต่างมากถึง1,337,649 บาท หรือเกือบ 50% และยังพบว่าบริษัท ดิจิตอลฯ ยังส่งมอบอุปกรณ์ที่มีคุณลักษณะไม่ตรงตามสัญญากำหนดอีก 4 รายการ

“สตง.ได้เสนอแนะให้ อสมท ดำเนินการดังนี้ คือ 1. แต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย 717,550 บาท และหากมีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่สุจริตเห็นควรให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป รวมทั้งเอาผิดบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาด้วย” รายงาน สตง.ระบุ

มีรายงานอีกว่า กรณีดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในหมู่พนักงาน อสมท ว่าอาจช่วยเหลือกันอีกครั้ง และไม่อยากเห็นเป็นมวยล้มต้มคนดู เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่สามารถเอาผิดใครได้ ทำให้ อสมท เสียผลประโยชน์มหาศาล ถูกครหาว่าเป็นแดนสนธยา

และทั้งหมดนั้นคือเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นใน อสมท ยุคที่มีนายสุธรรม แสงประทุมและนายจักรพันธุ์ ยมจินดาเป็น 2 หัวเรือใหญ่ ซึ่งสังคมต้องจับตามองใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น