xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเครียด!ศาลสั่งประชาพิจารณ์-งบน้ำ3.5แสนล.สะดุด

เผยแพร่:

ASTVผู้จัดการรายวัน- ศาลปกครองกลาง พิพากษาโครงการเมกะโปรเจกต์น้ำ 9 โมดูล 3.5 แสนล้าน ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามรธน. สั่งรัฐต้องฟังความเห็นประชาชน -ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนทำสัญญา ชี้ปล่อยเอกชนรับฟัง หวั่นเบี่ยงเบนไม่ตรงความจริง “เอ็นจีโอ”พอใจ เล็งยื่นปปช.ฟันนายก- สปน.ฐานะละเลยฯ รัฐดิ้นพล่าน!“ปู”รู้ผลเครียด “ปลอด”สั่ง "ธงทอง"ถกทีมกม.วันนี้ ยังอุ๊บ! อุทธรณ์หรือไม่ “กรณ์”โพสต์“ปู”หมดสิทธิ์กู้

วานนี้ (27 มิ.ย.) ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและ อุทกภัย (กบอ.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ปฏิบัติหน้าที่ร่วมการนำแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ จำนวน 9โครงการ 10แผนงาน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง ตาม ม.57 วรรคสอง และ ม.67 วรรคสอง ตามสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน และสิทธิชุมชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะดำเนินการจ้างเอกชนออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน ส่วนคำขอที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับชาวบ้านรวม 45 ราย ขอให้มีการสั่งเพิกถอนแผนงานดังกล่าวให้ยก

สำหรับคดีนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับชาวบ้านรวม 45 รายยื่นได้ฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและ อุทกภัย (กบอ.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้อง 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง ว่าร่วมกระทำการกำหนดแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบลบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งพิกถอนแผนงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในการจัดทำแผนดังกล่าวพบว่า แต่ละแผนงานก่อสร้างแต่ละโมดูลจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องตัดไม้ สร้างเขื่อน และประชาชนต้องย้ายออกจากเพื่อนำพื้นที่ไปใช้รองรับน้ำหลาก จึงเป็นโครงการที่เข้าข่ายที่รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง โดยในข้อเท็จจริง ไม่พบว่านายกรัฐมนตรีและผู้ถูกฟ้องทั้งหมด ได้มีการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างทั่วถึงมาก่อน และในกรณีที่จะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพนั้น ก็ให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ เพราะหากให้เอกชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียดำเนินการผลที่ออกมาก็ย่อมอาจเบี่ยงเบนไปในทางที่จะเป็นประโยชน์กับเอกชนเอง

ด้านฝ่ายผู้ฟ้องคดีนายศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวว่า เป็นไปตามที่คาดหวังและพอใจในคำพิพากษาทั้งหมด วันที่28 มิ.ย.นี้ สมาคมจะนำคำพิพากษาไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตรวจสอบ นายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะผู้บริหารโครงการว่ากระทำการ เข้าข่ายละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 หรือไม่ ส่วน หากรัฐบาลยื่นอุทรคำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ทางสมาคมฯก็ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลในวันนี้
นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล กล่าวว่า เป็นไป ตามที่คาด ซึ่งไม่ได้ทำให้รัฐจะต้องชะลอหรือยุติโครงการ โดยโครงการไหนที่ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็เดินหน้าไป ส่วนโครงการไหนที่ต้องทำรัฐก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ใช่เอกชนและกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนไม่ต้องรับผิดชอบหรือเสียค่าปรับหากดำเนินการในแต่ละแผนงานไม่เสร็จตามเวลา ที่ร่างสัญญากำหนดไว้ เนื่องจากจะไม่มีการเซ็นสัญญาก่อนตามแผนงานเดิม สุดท้ายการดำเนินโครงการลักษณะนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นผลดีกับประชาชน เพราะจะนำไปสู่การแยกสัญญาตามที่กบอ.เสนอ และคณะกรรมการป.ป.ช.ก็เห็นด้วย และเราก็จะได้ร่างที่หัวไปทาง หางไปอีกทาง จนอาจไม่สามารถบอกได้ว่านี่คือโครงการแผนบริหารจัดการน้ำ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 15.30 น. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) พร้อมด้วยนายธงทอง ได้เข้าหารือกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรายงานคำสั่งของศาลปกครองกลางให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งการเข้าพบดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 15 นาที

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีสีหน้าเครียดเล็กน้อย แต่ระบุว่ายังยืนยันให้เดินหน้าโครงการต่างๆในการบริหารจัดการน้ำต่อไป โดยให้ฝ่ายกฎหมายของ สบอช.พิจารณาว่าโครงการบริหารจัดการน้ำในโมดูลหรือเรื่องใดที่ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของคำสั่งศาลปกครอง ก็ให้เดินหน้าต่อได้ทันที ทั้งนี้ นายปลอดประสพ ได้ชี้แจงว่าน่าจะเดินหน้าโครงการต่างๆได้เกือบทั้งหมด และรัฐบาลมีแนวคิดที่จะจัดนิทรรศการใหญ่เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับแต่ละโครงการในแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาสถานที่จัดงาน เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งลักษณะคล้ายการทำประชาพิจารณ์โดยจะชี้รายละเอียดในแต่ละโมดูลให้ได้ทราบ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 08.00 น. นายปลอดประสพ และนายธงทอง เรียกประชุมคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ สบอช. ที่ห้องทำงานของนายปลอดประสพ ชั้น 3 ตึกสบอช. (ตึกแดง 1) ทำเนียบรัฐบาล เพื่อศึกษาและหารือถึงรายละเอียดคำตัดสินของศาลปกครองกลาง.

นายธงทอง กล่าวว่า โดยรวมแล้วรัฐบาลน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ในประเด็นเรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึงนั้นจะทำแน่ และต้องขอดูถ้อยคำและรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ ในวันที่ 28 มิ.ย.จะมีการประชุมคณะทำงานภายในด้านกฎหมาย เพราะมีประเด็นข้อกฎหมายที่อยากจะวิเคราะห์และศึกษาให้ถี่ถ้วนรอบคอบก่อน ส่วนจะอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางหรือไม่ คงเร็วเกินไป

ส่วนกรณีนายศรีสุวรรณ จะยื่นให้ ปปช. เพื่อเอาผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง นายธงทอง กล่าวว่า เป็นภารกิจหน้าที่รับผิดชอบที่ทุกคนจะพิจารณาตามความรับผิดชอบในบทบาทของแต่ละคน

ส่วนจะทำให้โครงการล่าช้าหรือไม่ นายธงทอง กล่าวว่า หากข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นแน่นอนว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการทำงาน แต่การรับฟังความคิดเห็นประชาชนก็จะต้องดำเนินการแน่ แต่ในขั้นตอนจะเป็นอย่างไรคิดว่าต้องใช้เวลาแน่ ส่วนจะกระทบต่อพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะต้องดูแล แต่ในสัญญาที่จะต้องทำกับเอกชนนั้นขอดูข้อเท็จจริงตามคำสั่งของศาลปกครอง

“เท่าที่ผมอ่านคำพิพากษาเบื้องต้นไม่คิดว่าคำสั่งศาลปกครองกลางครั้งนี้จะทำให้โครงการนี้ถึงกับต้องล้มพังพาบไปโดยสิ้นเชิง แต่บางส่วนจะต้องทำเติมให้มีความสมบูรณ์ บางส่วนเดินหน้าได้ เช่น เรื่องคลังข้อมูลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องของการเก็บสถิติ การวางระบบ และการตรวจติดตาม ตรงนี้ไม่มีผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมแน่ จึงคิดว่าเดินได้ จะว่าไปขรุขระประการใดคงนึกไม่ออก” นายธงทอง กล่าว
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะมีมากขึ้น ถ้ารัฐบาลผลีผลามเซ็นสัญญาจ้าง โดยยังไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายกำหนด และต่อมามีปัญหาในข้อกฎหมาย อาจต้องชดเชยความเสียหาย จะทำให้เสียเงินประชาชนได้โดยเปล่าประโยชน์

ดังนั้นรัฐบาลควรปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลจะดีกว่า ไม่ควรลงนามในสัญญาแล้วยื่นอุทธรณ์ไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ในพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5แสนล้านบาท มีกำหนดว่ารัฐบาลจะต้องเซ็นสัญญากู้เงินภายในวันที่ 30 มิ.ย.แต่ถ้าไม่มีความพร้อมและเวลาล่วงเลยมาจนถึงที่กฎหมายกำหนด รัฐบาลก็ไม่มีอำนาจในการกู้ ส่วนโครงการที่วางไว้ ยังคงทำได้ โดยเสนอกลับมาขอใช้ในระบบงบประมาณปกติ หรือออกกฎหมายใหม่ ตนเห็นว่า ถ้าไม่พร้อม ก็ไม่จำเป็นที่จะเร่งกู้มากอง เพราะ1ปี 6เดือนที่ผ่านมา พิสูจน์ชัดว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่ผ่านขั้นตอนที่ต้องทำในโครงการต่างๆ ที่จะกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า เราจะยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ เนื่องจากทำผิดกฎหมาย

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “จบได้แล้ว...พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5แสน ล้าน” ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายาม 'มัดมือชก' เรื่องพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทมาแต่แรก มาถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะศาลปกครองกลางสั่งว่ายังดำเนินการต่อไปไม่ได้จนกว่าจะผ่านขั้นตอนการฟังเสียงประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการกู้เงินนั้นทำไม่ได้ เพราะจะขัดต่อระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการบริหารโครงการและการจ่ายใช้เงินกู้ฯ ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกโดยรัฐบาลนี้เอง

กระทรวงคลังจะกู้ไม่ได้จนกว่าสำนักงบฯจะอนุมัติแผนการใช้เงินของโครงการต่างๆ และจากวันนี้ไปไม่มีใครยืนยันได้ว่าโครงการจะผ่านขั้นตอนต่างๆได้หรือไม่ หรือจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร สำนักงบฯก็ไม่สามารถจะพิจารณาการใช้เงินได้ กระทรวงการคลังก็ จัดหาเงินกู้ ด้วยการกู้หรือลงนามในสัญญากู้ไม่ได้เช่นเดียวกัน สุดท้าย พ.ร.ก.ที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันมาโดยตลอดว่ามีความพร้อมดำเนินการทันทีก็พบจุดจบแค่นี้ ขอสิทธิกู้ 3.5แสนล้านบาท ใช้ไปได้ไม่กี่พันล้านบาทในเวลาหนึ่งปีครึ่ง ผมมั่นใจว่าต้องมีการพยายามกดดันข้าราชการกระทรวงคลังให้เดินหน้ากู้เงินก่อนกฎหมายหมดอายุ ใครจะลงนามอะไรก็คิดดูให้ดี เพราะกฎหมายนี้จบแล้ว อย่าให้อนาคตผู้ลงนามต้องจบไปด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น