อดีตประธานผันน้ำลงทะเลฯ ชี้รัฐบาล-เอกชน ยิ้มร่ารับคำสั่งศาล เหตุเดินหน้าโครงการน้ำได้ทันที โดยไม่ต้องเซ็นสัญญา แถมรัฐต้องรับผิดชอบประชาพิจารณ์ ทั้งที่ทีโออาร์ให้ผู้ประกอบการทำ ห่วงเดินหน้าแผนงานเปะปะ ทำเละทั้งระบบ แนะล้มโครงการทบทวนใหม่ อีกด้านนายกฯ เครียดหลังศาลมีคำสั่ง เรียกประชุม กบอ.พรุ่งนี้
วันนี้ (27 มิ.ย.) นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้รัฐบาลนำแผนบริหารจัดการน้ำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนจะดำเนินการจ้างออกแบบแต่ละแผนงานว่า จากการร่วมรับฟังการพิพากษาที่ศาลปกครอง ซึ่งผลออกมาตรงกับที่ตนได้คาดการณ์มาก่อนหน้านี้ และเชื่อว่าคำสั่งในลักษณะทำให้รัฐบาลยังสามารถเดินหน้าดำเนินโครงการได้ต่อไป โดยที่รัฐบาลและผู้ประกอบการซึ่งได้รับคัดเลือกจากการประกวดราคาได้ประโยชน์
นายอุเทน อธิบายต่อว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้รัฐบาลทำการรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยที่ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จนั้น ส่งผลให้โครงการสามารถดำเนินได้ต่อ และไม่มีการชะลออย่างที่เข้าใจ เพราะในทีโออาร์ระบุว่ากระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชนเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่ได้รับงาน แต่เมื่อศาลสั่งให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ ก็เท่ากับมาทำงานแทนผู้ประกอบการที่ได้รับงาน ทำให้งานในสัญญาลดลง โดยที่งบประมาณที่รัฐบาลต้องจ่ายเท่าเดิม ทั้งๆ ที่รัฐบาลก็มารับผิดชอบค่าใช้จ่ายการทำประชาพิจารณ์แทน
“สิ่งที่ผู้ประกอบการเป็นห่วงก่อนหน้านี้ คือขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่อาจทำให้โครงการล่าช้า แต่เมื่อรัฐบาลมารับผิดชอบตรงนี้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ โดยยังไม่ต้องลงนามในสัญญา เหมือนว่ารัฐบาลทำงานฟรีๆ กับทางผู้ประกอบการ ทั้งที่ในทีโออาร์ระบุว่าหากทำงานเกินเวลาที่กำหนด จะต้องมีการปรับผู้ประกอบการ”
นายอุเทน กล่าวอีกว่า อีกทั้งหากรัฐบาลใช้ข้ออ้างในการทำสัญญาตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แนะนำให้แยกสัญญาในแต่ละแผนงาน ก็อาจทำให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากจะทำให้แผนงานไหนที่ผ่านขั้นตอนประชาพิจารณ์แล้วก็เดินหน้าได้ทันที แต่เมื่อทำงานไปแล้ว แต่ละแผนงานอาจจะมีการปรับเปลี่ยน และไม่สอดคล้องกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหาย และจะกระทบกับงบประมาณที่ตั้งไว้
“อย่างเรื่องคลังข้อมูลตามแผนงาน A6 และ B4 ถ้าทำไปก่อนแล้วสุดท้ายแต่ละแผนงานที่แต่ละบริษัทได้รับไป เกิดมีเหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนไม่ตรงตามกรอบแนวคิด ก็จะได้ระบบสัตว์ประหลาด แบบมีหูเป็นลิง จมูกเป็นแมว ตัวเป็นกระต่าย ออกมามันก็ดูไม่ได้” นายอุเทน ระบุ
นายอุเทน เสนอด้วยว่า ในความเป็นจริงเมื่อศาลมีคำสั่งออกมาแบบนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะทบทวนโครงการ โดยการยกเลิกแผนงานทั้งหมด ซึ่งอาจจะทำเฉพาะส่วนของคลังข้อมูลตามแผนงาน A6 และ B4 เพื่อนำมาเป็นแผนแม่บทในการวางแผนส่วนอื่นๆ หากทำเช่นนี้ก็จะได้กรอบแผนงานที่ชัดเจน และประหยัดงบประมาณไปได้มาก
อีกด้านหนึ่ง ความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เมื่อเวลา 13.00 น. Mr.Cesar Cernuda ประธานบริษัท ไมโครซอฟท์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคณะเข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า และเวลา 13.30 น.เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของประเทศ และเมื่อเวลา 14.00 น.นายกฯ เรียกประชุมรัฐมนตรี ผู้ที่เกี่ยวข้องโครงการรับจำนำข้าวหารือ ซึ่งเป็นช่วงเดียวที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ชะลอการทำสัญญา โครงการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ พร้อมสั่งให้รัฐบาลทำอีไอเอและรับฟังเสียงประชาชน ซึ่งทันทีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้ารายงานคำสั่งศาลปกครองกลาง
นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทราบข่าวคำสั่งศาลปกครองกลางผ่านทางทวิตเตอร์ นายกฯ มีสีหน้าเครียดเล็กน้อย แต่ยังคงยืนยันให้เดินหน้าโครงการต่อโดยให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโมดูลใดหรือเรื่องใดที่ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของคำสั่งศาลปกครองให้เดินหน้าต่อได้ทันที ซึ่งนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กบอ.ชี้แจงว่าน่าจะเดินหน้าได้เกือบทั้งหมดของโครงการ
อย่างไรก็ตาม นายธีรัตถ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีแนวคิดจัดนิทรรศการใหญ่ชี้แจงเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ พร้อมระบุขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจาณาหาสถานที่ ซึ่งจะเป็นการให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับประชาชน ลักษณะคล้ายการทำประชาพิจารณ์โดยจะชี้รายละเอียดในแต่ละโมดูลให้ได้ทราบ และนายกฯ ได้สั่งให้เรียกประชุม กบอ.ด่วน ในวันที่ 28 มิ.ย.เวลา 08.00 น.ที่ตึก กบอ.