xs
xsm
sm
md
lg

“ศาลปกครอง” สั่งรัฐบาลทำประชาพิจารณ์โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (ภาพจากแฟ้ม)
ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟ้องรัฐบาลให้เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ แต่ละแผนงาน ในแต่ละโมดูล



วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง เมื่อเวลา 14.30 น.ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับชาวบ้านรวม 45 รายยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 เพื่อขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3 .5 หมื่นล้านบาทและสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันจัดให้มีการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 และสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 85 และมาตรา 87 และพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 60 มาตรา 63 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5ประกอบมาตรา 11 ให้ครบถ้วนก่อนการดำเนินโครงการ

โดยศาลฯได้ตั้งประเด็นวินิจฉัยรวม 3 ประเด็น 1. ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบแหล่งกำเนินมลพิษ และส่งเสริมสิทธิหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพย์ยากรธรรมชาติให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ยั่งยืนและเกิดความมั่นคงทางนิเวศ และได้จดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชน ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับความเดือนร้องเสียหายจากการกระทำ หรือการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง4 ส่วนผู้ฟ้องที่ 2 -45 ก็ถือว่าเป็นผู้ได้รับความเดือนร้อนเสียหาย ที่มีสิทธิฟ้องคดีเช่นกัน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา57 ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียนของประชาชน ซึ่งในคดีนี้ผู้ฟ้องดังกล่าว ก็ได้โต้แย้งไว้ในเรื่องสิทธิข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นคดีไว้

ส่วนประเด็นที่ 2 การจัดทำแผนแม่บทฯ ของกยน.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในแผนแม่บทฯ ได้ระบุรายละเอียดของแผนที่จะดำเนินการ เช่น ในหัวข้อ 3.4.6 แผนงานให้กำหนดพื้นที่รับน้ำรองติดกัน และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง ตั้งแต่เขื่อนหลักในพื้นที่ภาคเหนือตลอดจนสองฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประชาชนในวงกว้างหลายพื้นที่ ประกอบกับมีการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อดำเนินการตามแผนแม่บทฯ ที่มีลักษณะจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผังเมืองและกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งมีลักษณะเป็นการวางผังเมืองและกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา57 วรรค2 แต่ในคดีนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกฯและกยน. ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ได้ดำเนินการหรือมีแผนที่จะจัดให้มีการบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ก่อนการจัดทำแผนแม่บทฯ แต่อย่างใด จึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญฯกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

ประเด็นที่ 3 ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติในการที่จะดำเนินการต่างๆตามแผนแม่บทฯหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดที่จะดำเนินการตามข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) ตามโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยแล้ว เห็นได้ว่า ถ้าดำเนินการตามโครงการดังกล่าวจริงจะต้องมีการใช้พื้นที่ที่เป็นป่าไม้และที่ดินซึ่งประชาชนอยู่อาศัยรวมทั้งใช้ประกอบอาชีพ ดังนั้นทำให้เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะต้องมีการศึกษาประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน รวมทั้งให้องค์กรอิสระที่ประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

โดยแม้ว่าทีโออาร์ดังกล่าวจะกำหนดให้เอกชนผู้รับจ้างทำหน้าที่ศึกษาด้านต่างๆและจัดให้มีรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ผลอาจเบี่ยงเบนหรืออาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเอกชนผู้รับจ้างดังกล่าวเป็นผู้ได้ทำสัญญารับจ้างออกแบบและก่อสร้างกับรัฐไปแล้ว ซึ่งจะเป็นปกติวิสัยในทางธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งหลายที่จะคำนึงผลกำไรสูงสุดเป็นสำคัญ จึงอาจพยายามให้ผลการศึกษาดังกล่าวออกมาในลักษณะที่ให้มีการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เป็นที่ไม่มั่นใจในความถูกต้องและความน่าเชื่อถืออีกทั้ง ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมของกฎหมายที่กำหนดให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 อีกด้วย

การที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 กำหนด ข้อกำหนดทีโออาร์ให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ทั้งที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง4 ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 แม้ว่าขณะยื่นฟ้องจนถึงระหว่างที่ศาลมีคำพิพากษา จะยังอยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกเอกชนผู้ที่จะมาเป็นคู่สัญญาและยังไม่มีการออกแบบ รวมทั้งการก่อสร้างจริง ที่จะทำให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ต้องจัดให้มีการศึกษาและรับฟังความเห็นของประชาชนเสียก่อน แต่เมื่อมีข้อกำหนดทีโออาร์ไว้ชัดแจ้งว่าให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ จึงเป็นที่เล็งเห็นได้ว่า เมื่อมีการทำสัญญาขึ้นแล้วย่อมเกิดการกระทำที่ถือว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ละเลยต่อหน้าที่อย่างแน่แท้ โดยที่โครงการดังกล่าวถือได้ว่ามีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับรัฐบาลเห็นว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีการกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการไว้แล้ว หากปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไปย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงเป็นกรณีที่ศาลจะมีคำบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ปฏิบัติตามกฎหมาย

จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และ 67 วรรค 2 ด้วยการนำแผนแม่บทฯไปดำเนินการจัดให้มีการบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงตามสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน และดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้มีการศึกษาและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามสิทธิชุมชนก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน (โมดูล)

อย่างไรก็ตามมีตุลาการเสียงข้างน้อย 2 เสียงมีความเห็นแย้งคือ นายตรีทศ เจ้าของสำนวน และนายวินัย รุ่งรักสกุล ที่เห็นแย้งเฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย ในเรื่องสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องที่ 2-45 ว่าไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้อง และประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 แต่ตุลาการเสียงข้างน้อยทั้งสอง ยังคงเห็นด้วยกับเสียงใหญ่ ที่ควรมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 จะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยหน่วยงานหรือผู้ที่มีความเป็นกลางก่อนจะมีการจ้างออกแบบและก่อสร้างแต่ละแผนงาน

ทั้งนี้ในการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ ฝ่ายผู้ฟ้องคดีนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯเดินทางมารับฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้อง ไม่ได้เดินทางมา คงมีเพียง อัยการผู้แทนในการต่อสู้คดี เดินทางมาฟังคำพิพากษา และนายวิทยา ผลประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) พร้อมคณะรวมทั้งตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วมสังเกตการณ์

ด้านนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เป็นไปตามที่คาดหวังและพอใจในคำพิพากษาทั้งหมด โดยประเด็นใหญ่คือให้รัฐ ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะเริ่มเซ็นสัญญากับบริษัทผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการดำเนินการคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2 ปี ซึ่งวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.) สมาคมจะนำคำพิพากษาไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตรวจสอบ นายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะผู้บริหารโครงการว่ากระทำการ เข้าข่ายละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 หรือไม่ ส่วน หากรัฐบาลยื่นอุทรคำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ทางสมาคมฯก็ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลในวันนี้

ขณะที่นายวิทยา ผลประไพ ผอ. สำนักเลขาธิการ สบอช กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินการต่อจากนี้อยู่ที่คณะผู้บริหาร ซึ่งจะได้เสนอแนวทางให้รัฐดำเนินการตามคำพิพากษาศาล โดยประเด็นเร่งด่วนคือเรื่องการรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภาครัฐจะเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบศึกษา มีตัวแทนภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ ศึกษาผลกระทบ

ส่วนนายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล กล่าวว่า คำพิพากษาที่ออกมาเป็นไปตามที่คาด ซึ่งไม่ได้ทำให้รัฐจะต้องชะลอ หรือยุติโครงการ โดยโครงการไหนที่ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็เดินหน้าไป ส่วนโครงการไหนที่ต้องทำรัฐก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ใช่เอกชน และกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนไม่ต้องรับผิดชอบหรือเสียค่าปรับ หากดำเนินการในแต่ละแผนงานไม่เสร็จตามเวลา ที่ร่างสัญญากำหนดไว้ เนื่องจากจะไม่มีการเซ็นสัญญาก่อนตามแผนงานเดิม สุดท้ายการดำเนินโครงการลักษณะนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นผลดีกับประชาชน เพราะจะนำไปสู่การแยกสัญญาตามที่กบอ.เสนอ และคณะกรรมการป.ป.ช.ก็เห็นด้วย และเราก็จะได้ร่างที่หัวไปทาง หางไปอีกทาง จนอาจไม่สามารถบอกได้ว่านี่คือโครงการแผนบริหารจัดการน้ำ

นายปรเมศวร์ มินศิริ แกนนำกลุ่มไทยฟลัด พิมพ์ข้อความในทวิตเตอร์ @iwhale ระบุว่า ชัยชนะยกที่ 1 ของประชาชนได้มาแล้ว ยกต่อไปต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ชี้ขั้นตอนการจัดจ้างแบบไม่มีราคากลาง มีความผิดตาม พ.ร.บ.ทุจริต ทั้งนี้ รัฐบาลทำเสียเวลาไปหนึ่งปีครึ่ง แทนที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการน้ำ กลับกีดกันมาตลอด จะเอาแต่เอกชน จนมาถึงวันนี้ต้องโทษรัฐบาล ศาลสั่งให้ไปทำอีไอเอ รับฟังประชาชนใช้เวลาหนึ่งปีขึ้นไป อย่าเพิ่งรีบไปกู้เงิน เสียดายดอกเบี้ย รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษา 8 พันล้านอย่ารีบจ้าง







สำหรับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้แก่ มาตรา 57 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ

ส่วนมาตรา 67 ระบุว่า สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง
กำลังโหลดความคิดเห็น