ASTVผู้จัดการ – “กรณ์” ชี้ศาลปกครองพิพากษาแผนบริหารจัดการน้ำที่พ่วงกับ พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านให้รัฐดำเนินการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่งผล “เมกะโปรเจกต์น้ำ” ถึงทางตัน-ขัดระเบียบสำนักนายกฯ ยัน พ.ร.ก.หมดอายุ 30 มิ.ย.นี้ เตือน ขรก.คลังอย่าหลงเซ็น มิฉะนั้นอาจหมดอนาคตไปด้วย
ช่วงบ่ายวันนี้ (27 มิ.ย.) หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟ้องรัฐบาลให้เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ แต่ละแผนงาน ในแต่ละโมดูล โดยมีคำพิพากษาให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57(2) มาตรา 67(2) โดยให้นำแผนบริหารจัดการน้ำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ แต่ละแผนงาน ในแต่ละโมดูล เนื่องจากมีโครงการบริหารจัดการน้ำที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง อาทิ โครงการแก้มลิง เพราะการที่ให้บริษัทเอกชนผู้รับจ้างไปรับฟังความคิดเห็นอาจได้ผลที่เบี่ยงเบนและไม่ตรงกับความเป็นจริง
นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้โพสต์ข้อความในแฟนเพจเฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij โดยใช้หัวข้อ “จบได้แล้ว...พ.ร.ก.เงินกู้ 350,000 ล้าน” ระบุว่า คำพิพากษาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายาม “มัดมือชก” เรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท มาตั้งแต่แรก ยัดเยียดโครงการที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีความเหมาะสม ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีความรอบคอบทางการคลัง และสุดท้าย ไม่มีส่วนร่วมโดยประชาชนตามกฎหมาย
“วันนี้ชัดเจนแล้วว่าเดินหน้าต่อไปไม่ได้จนกว่าจะให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ และเป็นตัวพิสูจน์ชัดเจนว่าโครงการนี้ไม่เคยมีความ “เร่งด่วน” ที่จะต้องใช้เงินถึงกับต้องหลีกเลี่ยงขั้นตอนรัฐสภาด้วยการออกพระราชกำหนด
“วันนี้ศาลปกครองกลางสั่งว่ายังดำเนินการต่อไปไม่ได้จนกว่าจะผ่านขั้นตอนการฟังเสียงประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการกู้เงินนั้นทำไม่ได้ เพราะจะขัดต่อระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการบริหารโครงการและการจ่ายใช้เงินกู้ฯ ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกโดยรัฐบาลนี้เอง” นายกรณ์กล่าว
นอกจากนี้ นายกรณ์ ยังชี้ด้วยว่าการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากขัดแย้งกับระเบียบสำนักนายกฯ ข้อ 15 ที่ระบุว่า
ข้อ 15 เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการแล้ว ให้ดําเนินการดังต่อไปนี้
(1) ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการส่งแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินกู้ต่อสํานักงบประมาณ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และจัดสรรวงเงินกู้ตามที่ได้รับอนุมัติ
(2) ให้กระทรวงการคลังโดยสํานักงานบริหารหนี้สาธารณะพิจารณาจัดหาเงินกู้ให้แก่หน่วยงาน เจ้าของโครงการตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยให้สํานักงบประมาณส่งข้อมูลตาม (1) ให้แก่สํานักงานบริหารหนี้สาธารณะเพื่อประกอบการพิจารณาจัดหาเงินกู้
“พูดง่ายๆ ก็คือกระทรวงคลังจะกู้ไม่ได้จนกว่าสำนักงบฯจะอนุมัติแผนการใช้เงินของโครงการต่างๆ ดังนั้นเมื่อศาลสั่งว่าโครงการยังอนุมัติไม่ได้ และจากวันนี้ไปไม่มีใครยืนยันได้ว่าโครงการจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ได้หรือไม่ หรือจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร สำนักงบฯ ก็ไม่สามารถจะพิจารณาการใช้เงินได้ กระทรวงการคลังก็ “จัดหาเงินกู้” ด้วยการกู้หรือลงนามในสัญญากู้ไม่ได้เช่นเดียวกัน
“ที่สำคัญอำนาจการกู้ตาม พ.ร.ก.อัปยศนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ครับ พรุ่งนี้จึงเป็นวันสุดท้ายที่กฎหมายยังมีผลบังคับใช้ต่อไปได้ สุดท้าย พ.ร.ก.ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยืนยันมาโดยตลอดว่ามีความพร้อมดำเนินการทันทีก็พบจุดจบแค่นี้ ขอสิทธิกู้ 350,000 ล้าน ใช้ไปได้ไม่กี่พันล้านในเวลาหนึ่งปีครึ่ง
“ส่วนโครงการต่างๆ ถ้าดีจริง เมื่อผ่านทุกขั้นตอนตามกฎหมาย ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ด้วยการใช้เงินในระบบงบประมาณปกติ ตามที่เราแนะนำไปแต่แรกและเสมอมา
ผมมั่นใจว่าต้องมีการพยายามกดดันข้าราชการกระทรวงคลังให้เดินหน้ากู้เงินก่อนกฎหมายหมดอายุ ใครจะลงนามอะไรก็คิดดูให้ดีนะครับ เพราะกฎหมายนี้จบแล้ว อย่าให้อนาคตผู้ลงนามต้องจบไปด้วย” นายกรณ์ กล่าวเตือน