xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

เมื่อมีแนวคิดปฏิรูปการศึกษาครั้งใด ประเทศไทยเต็มไปด้วยความเจ็บปวดทุกครั้ง...คำกล่าวนี้สะท้อนภาพการศึกษาไทยที่เป็นอยู่ด้วยปัจจัยแห่ง “ความเสี่ยง (Risk)” และ “ภัยคุกคาม (Treat)” โดยรัฐ (รัฐบาลทุกยุคสมัย) ซึ่งเป็นความเสี่ยงและภัยคุกคามต่อการศึกษา เหตุผลสำคัญอันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการศึกษาที่ไม่เสถียรและส่งผลกระทบวงกว้าง

แนวคิดและนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ยุคปัจจุบันให้ดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องขึ้น 2 คณะ เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและการออกแบบร่างหลักสูตรใหม่ ตำราเรียนแห่งชาติ ซึ่งจากการประชุมร่วมหลายครั้ง ได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็น จุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 รวมทั้งได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับหลักสูตรขั้นพื้นฐานของต่างประเทศ เช่น ฟินแลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์และประเทศอื่นๆ ได้บทสรุปค่อนข้างตรงกันว่าประเทศไทยควรจะมีหลักสูตรใหม่ยกเครื่องเนื้อหาการเรียนรู้ได้แล้ว ดังเหตุผลสำคัญ ด้านความล้าสมัยของหลักสูตรและการใช้เวลาเรียนหนังสือของเด็กไทยสูงเป็นอันดับสองของโลก คือ 1,000-1,200 ชั่วโมงต่อปี รองจากประเทศในทวีปแอฟริกาที่สูงที่สุด 1,400 ชั่วโมง ในขณะที่เกือบทุกประเทศมีเวลาเฉลี่ยการเรียน 600-800 ชั่วโมงต่อปีและสิ่งสำคัญสูงสุดคือเด็กไทยเรียนหนัก ส่วนครูสอนหนัก

แต่ผลสัมฤทธิ์เกือบท้ายสุดในโลก จนเกิดภาวะเครียดกดดัน ไม่มีความสุขกับการเรียนรู้ตลอดระยะเวลา ในทางกลับกันหลายประเทศจัดเนื้อหาการเรียนรู้ตามพัฒนาการและวัยของเด็ก โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาจะเรียนเพียง 3-4 กลุ่มสาระแล้วค่อยเพิ่มเติมมากขึ้นตามลำดับจนครบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งวิธีการเรียนรู้นั้นหลายประเทศส่งเสริมให้มีการเรียนรู้นอกห้องเรียน ชุมชน แหล่งเรียนรู้สำคัญในรูปแบบโครงงาน (Project Base) ยกเว้นประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ใช้เวลาเรียนรู้อยู่ในโรงเรียนกับครูและหนังสือเกือบ 100% จากจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของปัญหาต่างๆ ด้านการบริหารหลักสูตรและการจัดการศึกษา จึงกลายเป็นข้อเสนอนำมาสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กไทยใหม่ ให้ตรงกับความจำเป็น ความต้องการและปัญหาความท้าทายของประเทศไทยในโลกทศวรรษที่ 21 โดยมีแนวคิดการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยให้มีการยกร่างหลักสูตรใหม่สู่พิมพ์เขียวภายใน 6 เดือน ต่อจากนั้นจะให้สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน รับเป็นเจ้าภาพต่อไป

จากข้อสรุปการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวางเป็นเวลานาน ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการเรียนรู้เนื้อหา 8 กลุ่มสาระที่มีแต่เดิมลง และยกเครื่องโครงสร้างเนื้อหาใหม่เป็น 6 กลุ่มสาระประสบการณ์ดังต่อไปนี้

1. ภาษาและวัฒนธรรม (Language and Culture)

2. กลุ่มสาระเรียนรู้ STEMS (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกร และคณิตศาสตร์)

3. การดำรงชีวิตและโลกของงาน (Work Life)

4. ทักษะสื่อและการสื่อสาร (Media Skill and Communication)

5. สังคมและมนุษยศาสตร์ (Society and Humanity)

6. อาเซียนภูมิภาคและโลก (ASEAN Region and World)

ร่างพิมพ์เขียวโครงสร้าง 6 กลุ่มสาระประสบการณ์นี้ ให้ระบุกำกับเวลาเรียนรู้ไม่เกิน 800 ชั่วโมงต่อปี เพิ่มกระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project Base) ทุกระดับชั้น เน้นกระบวนการประชาธิปไตยและคุณธรรม จริยธรรมเพิ่มมากขึ้นด้วย

จากแนวนโยบายและความประสงค์ให้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เหลือ 6 กลุ่มสาระ ตามสภาพปัญหาและความดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเห็นด้วยกับหลักการและแนวคิด แต่ทั้งนี้มีข้อเสนอเพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ โดยคิดเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ถือเป็นธรรมชาติของการศึกษา ย่อมที่มีผลกระทบกับวงกว้างหลายมิติ ควรกระทำอย่างรอบคอบและมิควรมองข้ามความเสี่ยงและภัยคุกคาม ซึ่งขอเสนอให้พิจารณาทบทวนและหามาตรการป้องกันระยะสั้นและยาว ก่อนการดำเนินการระหว่างการดำเนินการและหลังการดำเนินการจัดทำหลักสูตรใหม่ ดังต่อไปนี้

1. มาตรการป้องกันภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาของรัฐ ลักษณะนโยบายการศึกษาแบบประชานิยมเน้นวัตถุนิยมนำหน้าของรัฐบาลทุกยุคสมัย

2. มาตรการความล้มเหลวในการนำหลักการที่ดีสู่ภาคปฏิบัติ

3. มาตรการสร้างความเข้าใจถึงกระบวนทัศน์ของการปฏิรูปหลักสูตร ที่มิใช่แค่เปลี่ยนแปลงตัวหนังสือในกระดาษเท่านั้น แต่ควรปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการบริหารจัดการควบคู่กันไป

4. มาตรการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับความล้มเหลวของหลักสูตรเก่า ตั้งแต่หลักสูตรปี 2544 และหลักสูตรปี 2551 ที่สร้างค่านิยมใหม่แบบเสี่ยง แล้วหันกลับมาใช้แนวคิดหลักสูตรเป็นกลุ่มประสบการณ์ตามหลักสูตรเก่า ปี 2521 และปี 2533

5. มาตรการกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นอยู่ ในการจัดการศึกษา ซึ่งแปลกแยกชีวิตจริงออกจากการเรียนรู้

6. มาตรการทบทวนการกระจายอำนาจเพื่อบริหารการศึกษาสู่หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น ยังไม่สะท้อนการต่อยอดการบริหารการศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาสู่ความเป็นเลิศยังมีข้อจำกัด เพราะยังรออำนาจใหญ่จากส่วนกลางให้สั่งการหรือบังคับบัญชาอยู่

7. มาตรการทบทวนถึงมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ สำหรับการประเมินคุณภาพภายในและภายนอก ที่เป็นไปคนละทิศทาง

8. มาตรการปรับปรุงการทดสอบวัดผลระดับชาติไม่สะท้อนศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง

9. มาตรการป้องกันและสร้างค่านิยมให้สถาบันการศึกษา ไม่ควรอิงกับการเมือง โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาภาคท้องถิ่น ฯลฯ

ผู้เขียนคิดเห็นว่าข้อเสนอเหล่านี้ เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษาในระบบ ควรคำนึงและกระทำอย่างรอบคอบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยความฝันและความหวังลึกๆ ว่า การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งจัดการกระทำเฉลี่ย 10 ปี/ครั้ง หวังว่าในคราต่อไป ผู้เขียนจะได้อ่านและรับฟังการข้อมูลที่ดี มิใช่ข้อมูลการกล่าวอ้างความล้มเหลวของการใช้หลักสูตรการศึกษาแต่ละวงรอบที่ผ่านมา เพื่อเป็นสาระสำคัญสู่การปรับปรุงหลักสูตร เพราะหากการณ์ยังเป็นเช่นนั้น ยังมีการกล่าวอ้างความล้มเหลวของการจัดการศึกษาตามหลักสูตรเก่าๆ นั่นเท่ากับว่า รัฐโดยเจ้าภาพ (รัฐบาลทุกยุคสมัย) ได้สร้างความบอบช้ำและความเสียหายต่อพลเมืองของชาติในมิติทางการศึกษา และคงพยากรณ์ได้ว่าการศึกษาไทย จะยังคงเป็นไปตามวัฏจักรตามคำกล่าวของ นายแพทย์ประเวศ วะสี ปราชญ์อาวุโสทางการศึกษาไทย ที่กล่าวไว้ให้ขบคิดอย่างลึกซึ้งว่า การศึกษาไทย สร้างความทุกข์ให้กับคนทั้งแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น