xs
xsm
sm
md
lg

สตูลเปิดเวที “ภูมิปัญญาเล็กๆ เด็กวิจัย” สร้างการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล - จังหวัดสตูล จัดเวทีสาธารณะการศึกษาสตูล “ภูมิปัญญาเล็กๆ เด็กวิจัย” เพื่อสนับสนุนในเรื่องการศึกษาของเด็กไทย การจัดการเรียนรู้แนวใหม่โดยใช้แบบการวิจัยมาเป็นหนึ่งในการเรียน

วันนี้ (7 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เด็กนักเรียนประถมจาก 13 แห่งในจังหวัดสตูล ออกมาถ่ายทอดผลงานการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย ที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์หาเหตุผลด้วยตนเอง ในเวทีการจัดเวทีสาธารณะการศึกษาสตูล “ภูมิปัญญาเล็กๆ เด็กวิจัย” ซึ่งจัดขึ้นที่สนามโรงเรียนวัดหน้าเมือง ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยสตูล (สกว.) และโรงเรียนเครือข่ายวิจัย จ.สตูล

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่เป็นหนึ่งภาควิชาเรียนของนักเรียน ซึ่งมีโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสตูล 13 โรง ประกอบด้วยหัวข้อ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก : อปท. กับการจัดการศึกษา หัวข้อ ปฐมวัย : เรื่องที่หนูอยากเรียน ประถมศึกษา : บริบทโรงเรียนกับชุมชน ประถมศึกษา : หลักสูตรมาตรฐานสากล มัธยมศึกษา : โอกาสเด็กขยายโอกาสและการตอบโจทย์ศาสนา เสวนาศิษย์เก่า : การใช้ประโยชน์จากกระบวนการ และหัวข้อกระบวนการวิจัยตอบโจทย์การศึกษาได้อย่างไร โดยที่ผ่านมา พบว่านักเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด.ญ.ฮาวาลิน นาคสุข นักเรียนชั้น ป.6/5 โรงเรียนอนุบาลสตูล หนึ่งในนักเรียนโรงเรียนเครือข่ายวิจัย จ.สตูล กล่าวว่า เริ่มแรกจะสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว และนำเสนอในห้องเรียนเพื่อเลือกประเด็นที่ดีที่สุดในการทำวิจัย สรุปห้อง ป.6/5 ลงมติที่จะวิจัยเรื่องวิธีลดขยะ เพราะปริมาณขยะในโรงเรียนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และต้องการแก้ปัญหาตรงนี้ กระบวนการทำวิจัยต่างทำให้แนวคิด วิธีคิดค้น การจัดลำดับความสำคัญ กล้าแสดงออก และได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ

นายหรน หัสมา ที่ปรึกษา สกว. ท้องถิ่นสตูล ระบุว่า สกว.ตอนนี้มีบทบาทที่สนับสนุนในเรื่องการศึกษาของเด็กไทย การจัดการเรียนรู้แนวใหม่โดยใช้แบบการวิจัยมาเป็นหนึ่งในการเรียน เพราะที่ผ่านมา การศึกษาไทยภายใต้การดูแลของ สพฐ.หรือกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมานั้น ยังต้องมีการปรับปรุง แต่เมื่อมีการนำวิจัยไปให้เด็กเรียนรู้ทำนั้น พบว่าเด็กๆ มีการพัฒนาได้ดี รู้จักคิด รู้จักจำ เด็กมีทักษะการพัฒนาการเรียนดีขึ้นเห็นได้ชัด

นายหรน หัสมา ที่ปรึกษา สกว.ท้องถิ่นสตูล กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบการเรียนการสอนของทางกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมา ไม่มีความต่อเนื่องกับรายวิชาที่เรียน เช่น วิชาภาษาไทย 1 คาบ ต่อด้วยภาษาอังกฤษเรียนต่ออีก 1 คาบ ทำให้เด็กคิดและจดจำไม่ทัน พอเรียนวิชานี้ต้องมาเปลี่ยนไปอีกหนึ่งวิชา ความจำ และทักษะก็ไม่สามารถจดจำได้อย่างกะทันหัน แตกต่างการวิจัยที่นำไปต่อยอดในกระบวนการศึกษา ที่นำไปใช้ให้กับเด็กๆ เหมือนกับการวิจัยของผู้ใหญ่ที่มี 10 ขั้นตอน แต่นำมาประยุกต์การสอนเด็ก ผลตอบรับเด็กทำได้ มีความจำดี มีความคิดดี กล้าแสดงออกอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลต่อเวลาสอบเด็กมีความจำเป็นเลิศทำให้ผลคะแนนการเรียนดีขึ้น

นายหรน หัสมา กล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นข่าวเรื่องการยุบโรงเรียนที่ทางกระทรวงศึกษาธิการอ้างว่า โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งทั่วประเทศไม่มีคุณภาพทางการศึกษา ทั้งเรื่องบุคลากรน้อย อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เพียงพอ การนำเด็กไปเรียนที่โรงเรียนที่พร้อมกว่าเด็กจะพัฒนาที่ดีขึ้น บอกเลยว่าไม่จริง เพราะโรงเรียนขนาดเล็กเด็กๆ ที่น้องต่ำกว่า 60 คน ยังมีการพัฒนาได้ หากกระทรวงศึกษาธิการเห็นความสำคัญเด็กไทยจริง มีการนำบุคลากรครูไปพัฒนาในเชิงรูปแบบการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ก็สามารถต่อยอดให้เด็กมีคุณภาพดีได้ เหตุผลการยุบโรงเรียนมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่กระทรวงศึกษาธิการที่ทำไปแล้วก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน ยังสอดคล้องกับ นายหุดดีน อุสมา ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มองว่า การศึกษาของเด็กไทย ที่มุ่งพัฒนาให้เด็กแค่ทำข้อสอบให้ได้อย่างเดียวถือว่าไม่ผ่าน โดยมุมมองบอกว่า หากไม่มีการคิดนอกกรอบในการพัฒนาการศึกษาได้ จะทำให้การศึกษาไทยต่ำลงอย่างแน่นอน ส่วนสำคัญการศึกษาไทย ผู้ใหญ่มักโทษว่าระบบการศึกษาที่ทำให้การเรียนเด็กคุณภาพต่ำลง จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะบุคลากรเท่านั้นต้องมีคุณภาพที่ดีขึ้น และต้องมีการพัฒนาต่อไป จนเป็นร่างในกระบวนการสอนของเด็ก เพราะที่ผ่านมา ครูทำหน้าที่สอนตามกระทรวงศึกษาบังคับมา เด็กจะได้อะไรบ้างในแต่ละวิชา น้อยคนที่จะเอาใจใส่เด็ก ซึ่งเด็กเหล่านี้ไปเรียนหนังสือพอหมดคาบก็กลับไม่มีการมาต่อยอด และนี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาเด็กไทยต่ำลง ซึ่งจริงๆ แล้วเราต้องเริ่มพัฒนาบุคคลระดับผู้บริหารให้ดีก่อน ซึ่งเชื่อว่าต่อไปการศึกษาเด็กไทยจะดีขึ้น

 
 




กำลังโหลดความคิดเห็น