นักวิชาการ ผู้สร้างศาสตร์ห้องเรียนแห่งอนาคต ชี้ระบบการศึกษาไทยห่วยแตก ปฏิรูปกี่ครั้งก็ไม่สำเร็จ ครูก็ยังก่อหนี้ท่วมตัว แม้มีรายได้เพิ่มจากค่าวิทยฐานะแล้ว เหตุประเทศไทยเลียนแบบต่างชาติ ทำครูไทยเป็นง่อย ปรับเปลี่ยนวิธีสอนไม่เป็น เสนอ 5 วิธีปฏิวัติทั้งระบบ-ครู-นักเรียน-หลักสูตร จี้รัฐต้องกล้าหาญดึงเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน “พัฒนาคน-โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา” ทันโลกยุคใหม่ ติงอย่าดีแต่ “หาเสียง-หาเงิน” เชื่ออีก 10 ปีคนไทยคุณภาพเยี่ยม!
“Special Scoop” ได้นำเสนอสกู๊ปข่าว “แฉนโยบาย ศธ.ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ” ไปแล้ว 3 ตอน ซึ่งสะท้อนความผิดพลาดในนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ทำให้การศึกษาไทยเดินมาสู่ภาวะตกต่ำสุดขีด ทั้งคุณภาพและจริยธรรมคนเป็น “ครู” ไปจนถึงคุณภาพ “นักเรียน” อันเป็นผลพวงจากความผิดพลาดของระบบ
วันนี้คนไทยเกิดคำถามต่อระบบการศึกษาที่มีปัญหาเป็นจำนวนมาก
เมื่อปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ผล จึงอาจต้องเปลี่ยนมาเป็นการปฏิวัติ ซึ่งเป็นการรื้อระบบเดิมทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนถ่ายสู่ระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า
ตอนที่ 4 ของสกู๊ปชุด “แฉนโยบาย ศธ.ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ” จะนำเสนอแนวคิดปฏิวัติการศึกษาของนายวิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการศึกษาอิสระ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์การศึกษา www.eduzones.com และทำวิจัยพัฒนา “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ โดยใช้วิธีการเรียนแบบ Creativity-Based Learning (การเรียนการสอนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นฐาน) กับนักเรียนชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย ทั่วประเทศ ซึ่งได้ผลน่าพอใจ จนมีการนำไปใช้ในการเรียนการสอนจริงในปัจจุบัน
นายวิริยะแสดงความคิดเห็นต่อระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันว่า คุณภาพการศึกษาไทยวัดได้จากผลคะแนน ไม่ว่าจะเป็นการสอบ O-NET หรือการสอบวัดผลพิซา (PISA) ที่ใช้วัดความสามารถความเข้าใจในโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ซึ่งไม่ว่าจะวัดโดยมิติใดหรือโดยสถาบันใด การเรียนของเด็กไทยล้วนแล้วแต่ติดอันดับรั้งท้ายของโลกทั้งสิ้น ทั้งที่ศักยภาพการแข่งขันด้านอื่นๆ ของประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร
หากโลกมี 10 อันดับ ความสามารถในการแข่งขันด้านอื่นๆ ของไทยจะอยู่ประมาณอันดับที่ 4.5 ของโลก ขณะที่ความสามารถทางการศึกษาของเด็กไทยกลับตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 9 ซึ่งถือว่าเรามีปัญหาแน่ๆ!
“ผมยังไม่คิดว่ามีปัญหานะ ถ้าเด็กของเราสอบได้คะแนนน้อยแต่สังคมดี เช่น เด็กมีจิตใจงดงาม มีการยับยั้งชั่งใจ โดนหลอกยาก มีเมตตา รู้จักแบ่งปันกัน ยาเสพติดลดลง เด็กไม่ตีกัน ฯลฯ หากสังคมดี คะแนน O-NET จะต่ำ ก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่วันนี้เราเห็นจากสื่อต่างๆ กันอยู่ว่า คุณภาพเยาวชนของเราต่ำลง”
เขาวิเคราะห์ว่า รากเหง้าที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยตกต่ำมาจาก 2 เหตุใหญ่ที่ต้องรีบแก้! คือ 1. ตัวระบบ และ 2. ตัวครู
ระบบการศึกษาห่วย เพราะ “ก๊อป” มาทั้งดุ้น
นายวิริยะอธิบายต่อไปว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นเหตุให้คุณภาพเยาวชนไทยตกต่ำลงไป เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการศึกษาเป็นของตนเองมาตั้งแต่แรก
สมัยก่อนวัดเป็นสถานที่ให้การศึกษากับคนไทย โดยเน้นสอนคนให้เป็นคน แต่ต่อมาประเทศไทยไปเลียนแบบการจัดการศึกษาจากต่างประเทศ ยึดการวิจัยที่ศึกษาจากเด็กต่างชาติ โดยไม่มีการปรับเข้ากับความเป็นคนไทย การศึกษาไทยจึงเบลอมาถึงทุกวันนี้
“พอไปก๊อบปี้การศึกษามาจากคนอื่น เราจึงเบลอว่า ไปๆ มาๆ แล้วคนไทยคืออะไร ความรู้ของไทยคืออะไร แล้วเด็กจะภูมิใจในความเป็นไทยเมื่อไร แม้จะบังคับให้เด็กเคารพธงชาติกี่ครั้งต่อวันก็ไม่มีทางรักชาติขึ้นมาได้ เพราะชาติไม่รักและให้โอกาสเขาเหมือนเมื่อก่อน วันนี้สังคมไทยให้โอกาสอะไรกับเด็กบ้าง โรงเรียนให้ความรักกับเด็กหรือไม่ เรามีแต่เอาการศึกษาไปวัดแยกเด็กออกเป็น 2-3 กลุ่ม แยกเป็นกลุ่มเด็กฉลาด กลุ่มเด็กโง่ เชิดชูเด็กทำข้อสอบเก่ง แต่เด็กอีกเป็นล้านคนที่ทำข้อสอบไม่ได้ กลายเป็นคนโง่ไป ทั้งที่เขาไม่ได้โง่ เขาเพียงแต่ทำข้อสอบไม่ได้ เขาเป็นคนธรรมดาที่ถูกตัดสินโดยระบบการศึกษาแบบฝรั่ง” นายวิริยะกล่าว
นอกจากนั้น การเลียนแบบโดยไม่มีการปรับใช้ให้เข้ากับตัวเอง ยังทำให้ “ระบบการศึกษาไทย” อยู่ในภาวะแก้ไขลำบากด้วย
“เราก๊อบปี้การศึกษามาเป็น 100 ปี แต่เพิ่งมาคิดปฏิรูปในปี 2542 เมื่อปฏิรูปออกมาก็สับสนงงงวย เพราะคนไม่เคยมีการศึกษาเป็นของตัวเอง ไปลอกมา 100 ปี พอประกาศว่าต้องคิดของตัวเองใหม่ ผู้ปฏิบัติที่เคยสอนแบบเดิม เคยสอบแบบเดิม ก็เกิดอาการงง ทำไม่เป็น เพราะไปลอกเขามา ไม่ได้คิดเอง”
ขณะที่รูปแบบการศึกษาของชาติอื่น หลายประเทศมีการเลียนแบบเช่นกัน แต่ไม่ทั้งหมด กลยุทธ์ของชาติที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบการศึกษาจะใส่ความเป็นตัวเองลงไปด้วย เช่น ประเทศญี่ปุ่นสอนให้เด็กรักชาติ ครูใส่ความรักให้กับเด็กทำให้คนญี่ปุ่นรักกัน หรือเกาหลียุคแรกสอนให้คนทุ่มเทจริงจัง แต่ยุคหลังเปลี่ยนมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์สอนให้คนเคารพกฎกติกา มีวินัย สิงคโปร์จึงกลายเป็นประเทศใสสะอาด คอร์รัปชันต่ำที่สุดอันดับหนึ่งของโลก
“ส่วนประเทศไทยที่เคยมีลักษณะนอบน้อมถ่อมตน มีน้ำใจ มีเมตตา เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นคนโอ้อวดจองหอง ขี้โมโห มีความยับยั้งชั่งใจต่ำ มีน้ำใจเฉพาะตอนช่วยน้ำท่วมออกทีวี” นายวิริยะกล่าว
“เด็กออกกลางคัน” พุ่งสูง รับค่านิยมจัดการศึกษาผิด
ผลร้ายที่สุดของการเลียนแบบการศึกษามาโดยไม่ได้ปรับใช้คือ ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยต้องออกจากโรงเรียนกลางคันก่อนจบชั้น ม.3
สอดคล้องกับตัวเลขการสำรวจข้อมูลสภาวะการศึกษาไทยในเวทีโลกปี 2555 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งพบว่า เด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาชั้น ป.1 ในปี พ.ศ. 2542 อยู่ถึงชั้น ม.3 ในปี พ.ศ. 2550 เพียงร้อยละ 81.1 เท่านั้น โดยมีเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันมากถึง 204,018 คน และอยู่ถึงชั้น ม.6 ในปี พ.ศ. 2553 เพียงร้อยละ 57.7 หรือหายไปจากระบบการศึกษาถึง 460,766 คน ขณะเดียวกันผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ก็รายงานว่าประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสมากถึง 5 ล้านคน
ปัญหาเกิดจากการตั้งธงผิดว่า การศึกษาคือโรงเรียน, มหาวิทยาลัย และใบปริญญา ดังนั้น ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยจึงไม่มีการดูแลเด็กกลุ่มที่อยู่นอกระบบ ผู้บริหารด้านการศึกษาและครูบาอาจารย์ต่างวุ่นวายอยู่กับการศึกษาในโรงเรียน เช่น การเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งที่แท้จริงแล้วการศึกษาคือการให้ชีวิตคน
“การศึกษาคือการทำให้สภาพชีวิตดีขึ้น วันนี้หากคนจบ ป.4 ถ้าการศึกษาไม่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นแสดงว่าเป็นการศึกษาที่ห่วยแตก การศึกษาที่ดีต้องตอบโจทย์ได้ว่าเด็ก ป.4 ควรรู้เรื่องอะไร สาระที่อัดแน่นเกินไปตั้งแต่เด็กอาจทำให้เขาถูกตัดสินว่าโง่ จนต้องออกจากระบบ ทั้งที่ความเป็นจริงเด็กอาจจะต้องช่วยพ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยว จนไม่มีเวลาท่องจำเหมือนคนอื่น สิ่งที่เด็กได้คือความช้ำใจ กลายเป็นเด็กโง่ๆ เด็กห่วยแตกที่ครูละเลย” นายวิริยะกล่าว
“ครูยุคใหม่” ต้องสอนแบบกระตุ้นต่อมคิด-วิเคราะห์
ปัจจัยต่อมาที่บั่นทอนคุณภาพเยาวชนไทยลงไปคือ รูปแบบการสอบที่วัดการท่องจำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนายวิริยะระบุว่า การสอบแบบให้ท่องจำไปตอบแบบนักท่องระดับชาติอาจจะเหมาะสมกับปริมาณข้อมูลที่มีจำกัดในอดีต แต่ปัจจุบันข้อมูลวิ่งเร็วมาก มีข้อมูลมาใหม่ตลอดเวลา หากเด็กใช้เวลาไปกับการท่องจำเสียหมด เด็กก็จะมีเวลาค้นคว้าน้อยลง
“วิธีการสอนแบบเดิมใช้ไม่ได้กับข้อมูลสมัยใหม่ การสอนแบบเดิมคือการสอนแบบบอก ครูบอกให้เด็กเชื่อ แต่วันนี้หากเราฝึกให้เด็กเชื่อจะกลายเป็นผลเสียกับเด็กเอง เพราะสังคม Marketing จะอัดให้เด็กอ้วก เช่น หลอกให้เด็กสีผิวธรรมดาอยากขาวอยากผอม ขาวขนาดนี้ถึงจะสวย ผอมจนกว่าบริษัทรวยถึงจะสวยได้ ดังนั้นเราจึงสอนให้เด็กเชื่อไม่ได้แล้ว แต่ต้องสอนให้เด็กคิด กระตุ้นให้อยากรู้ เขาจะได้ค้นคว้า แล้วค่อยให้คิด”
วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีเดียวกับการสอนใน “ห้องเรียนแห่งอนาคต” หลักสูตรที่เขาทำวิจัยการสอนแบบ Creative Based Learning หรือการเรียนโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นฐาน ซึ่งเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนวิธีสอนจะช่วยดึงจิตวิญญาณครูกลับมาได้ โดยเฉพาะกลุ่มครูรุ่นใหม่ไฟแรงที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนครู
“2-3 ปีจากนี้คนจะอยากเป็นครูเพิ่มอีกมาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องค่าตอบแทน ค่าตอบแทนครูจะสูงขึ้น กอปรกับสถานะอาชีพดี เป็นที่นับถือในสังคม ดังนั้นครูใหม่ไฟแรงที่บรรจุเข้ามาใหม่จะมีเยอะขึ้น และกลุ่มครูตอนนี้จะมีลักษณะเปรียบเป็นขนมชั้น คือกลุ่มตรงกลางไม่ค่อยมี มีกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่มคือ 1. กลุ่มที่กำลังจะเกษียณอายุ อายุ 50 ปีขึ้นไป และ 2. กลุ่มครูวัยรุ่น เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ” นายวิริยะระบุ
อย่างไรก็ดี ครูเคยเป็นอาชีพที่ถูกมองว่ามีรายได้น้อย สวนทางกับปริมาณหนี้ที่มีช่องทางให้ครูกู้หนี้ยืมสินได้เป็นจำนวนมาก อาทิ สหกรณ์ออมทรัพย์, สินเชื่อสำหรับครูจากธนาคารต่างๆ, สินเชื่อโครงการกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ, โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ต่างๆ, บัตรเครดิต และเงินกู้นอกระบบ โดยในปี 2555 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผยว่า จากการรวบรวมยอดหนี้ครูจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ ซึ่งให้ดอกเบี้ยต่ำแก่ครูพบว่า ยอดหนี้ครูทั้งระบบมีสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาทจากจำนวนครูทั้งหมดประมาณ 1.4 ล้านคน
เมื่อหนี้สินท่วมหัวครู จึงเกิดข้ออ้างในการเอาเวลาสอนหนังสือไปหารายได้พิเศษมาเยียวยาสภาพคล่องของพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ ผลิตผลที่ได้จากระบบการศึกษาจึงมีคุณภาพแบบตามมีตามเกิด
ทว่าในวันนี้ ปัญหาหนี้สินครูได้รับการแก้ไข ทั้งจากนโยบายเพิ่มอัตราเงินเดือนครูและการจ่ายค่าวิทยฐานะจำนวนมาก ทำให้อาชีพครูไม่ใช่อาชีพที่มีรายได้น้อยอีกต่อไป
5 แนวทางปฏิวัติระบบการศึกษาไทย
ดังนั้น ครูจึงหมดข้ออ้างที่จะทำงานด้วยวิธีการเดิม โดยนายวิริยะเผย 5 ข้อเสนอให้ครูปรับวิธีสอนและออกข้อสอบเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยทั้งระบบ ประกอบด้วย
1. ครูต้องเปลี่ยนแปลงการสอนเป็นการสอนเพื่อให้เด็กคิด มีทักษะในการคิดสร้างสรรค์และการสื่อสาร นอกจากนั้นครูต้องออกข้อสอบใหม่ ไม่ใช้ข้อสอบปรนัย ก.ข.ค.ง. แม้จะต้องเพิ่มงบประมาณในการหาคนมาตรวจเท่าไรก็ต้องทำ เพราะการออกข้อสอบปรนัยไม่สามารถฝึกให้เด็กคิดสร้างสรรค์และนำเสนอความคิดเห็นได้
2. ระบบการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนวิธีการรับ ไม่วัดชีวิตเด็กด้วยการสอบเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มการวัดคุณลักษณะของแต่ละสาขาวิชาเข้าไปด้วย เช่น มีเกณฑ์วัดว่ามหาวิทยาลัยควรรับคนแบบไหนไปเป็นตำรวจ คนแบบไหนควรเข้าไปเรียนแพทย์
“คุณอยากได้คนเรียนแพทย์ที่เป็นอย่างไร ก็ต้องมีจิตใจเมตตา ไม่ใช่แพทย์ที่มีแต่ใจนักการค้า การวัดเรื่องคุณธรรมวัดยาก แต่เราไม่เอาอุปสรรคเป็นตัวตั้ง เราต้องเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง จากการพัฒนาโครงการห้องเรียนแห่งอนาคต ผมเปลี่ยนระบบการศึกษาตั้งแต่ ป.1 นอกจากจะบันทึกคะแนนแต่ละวิชาอย่างจริงจัง ก็ต้องบันทึกเรื่องคุณลักษณะของเด็กด้วยโดยมีช่องให้ครูเลือกกรอก 2 ช่อง เช่น เด็กซื่อสัตย์ หรือต้องพัฒนา, เด็กมีความอดทน หรือต้องพัฒนา, เด็กมีน้ำใจ หรือต้องพัฒนา, เด็กรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือต้องพัฒนา เป็นต้น”
ครูจะทำหน้าที่บันทึกคุณลักษณะของเด็กแต่ละชั้นจนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และส่งข้อมูลทั้งหมดเข้าไปที่มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปเป็นตัววัดอีกอันหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกเด็กที่จะเข้าไปเรียนในระดับอุดมศึกษา
3. ครูต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นการสอนน้อยๆ แต่กระตุ้นให้เด็กอยากรู้และเกิดการค้นคว้าโดยรัฐต้องลงเม็ดเงินสนับสนุนให้เกิดระบบการค้นคว้าในโรงเรียนอย่างจริงจัง ทั้งระบบอินเทอร์เน็ต และแหล่งเรียนรู้ เช่น สร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ 1 ศูนย์สำหรับกลุ่มโรงเรียนในละแวกเดียวกันประมาณ 5-10 โรง เป็นต้น
มีเรื่องน่ารู้มากมายที่ไม่อยู่ในข้อสอบ แต่เด็กไทยยังไม่รู้ รัฐต้องจริงจังสนับสนุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาเพื่อให้การศึกษาสามารถพัฒนาต่อไปได้ โดยที่ครูทำได้จริง ไม่ใช่การสั่งให้ครูทำ แล้วครูทำไม่ได้
“การลงทุนเช่นนี้เรียกว่าลงทุนทีเดียวประเทศพัฒนาภายใน 10 ปี ประเทศนี้จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีการพัฒนาคุณภาพของคน ทำให้คนเห็นอะไรแปลกๆ ไม่ไปจุดธูปไหว้ คนเข้าใจคณิตศาสตร์ก็ไม่เล่นหวย เพราะรู้ว่าเล่นแล้วขาดทุนทั้งชาติ ยาเสพติดน้อยลงเพราะเด็กไม่เชื่อ เด็กโดนหลอกยาก มีความยับยั้งชั่งใจ เพราะถูกฝึกให้หาข้อมูล” นายวิริยะกล่าว
4. เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาโดยเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ หลักสูตรการศึกษาไทยเป็นหลักสูตรที่ประหลาด เป็นหลักสูตรในฝันที่เป็นไปไม่ได้ เพราะอัด 8 สาระเข้าไปในหัวเด็กตั้งแต่ ป.1
ในความเป็นจริง เด็ก ป.1 ไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมาก เขาต้องรู้เรื่องตัวเอง เรียนจบแล้วชีวิตดีขึ้น มีความสุขที่ได้ไปโรงเรียน เรียนอย่างสนุกสนาน เห็นอกเห็นใจเพื่อน บ้านใครมีปัญหาก็ออกไปให้กำลังใจพ่อแม่เพื่อน เป็นการศึกษาที่เน้นเรื่องจิตใจก่อน
การปฏิรูปหลักสูตรต้องเป็นการปฏิรูปวิธีการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเนื้อหาบทเรียนแต่ละบทเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการต้องรู้ว่าเด็กแต่ละช่วงชั้นควรรู้เรื่องอะไร และให้ครูในแต่ละพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเรียนรู้เรื่องนั้นๆ
นอกจากนั้น ต้องเป็นความรู้ที่ใช้ได้ คือเด็กต้องรู้ว่าจะเอาไปใช้ได้อย่างไร เช่น วิชาเคมีทำให้น้ำสะอาดขึ้น ร่างกายสะอาดขึ้น ไปซื้อเครื่องสำอางต้องรู้ว่ามีส่วนประกอบจากอะไร มีอันตรายต่อผู้ใช้หรือไม่ ผู้เรียนก็จะไม่โดนหลอก เพราะการศึกษาทำให้มีสติมากขึ้น
สิ่งสำคัญคือ ต้องฝึกให้รู้จักสติ ฝึกอดทนอดกลั้น ฝึกทำงานร่วมกัน เน้นการฝึกไม่ใช่การสอน ครูเป็นผู้ฝึก เด็กเป็นผู้กระทำ กระทำซ้ำๆ จนเกิดความรู้สึกดี การปฏิรูปหลักสูตรก็จะประสบความสำเร็จ
5. ครูต้องให้ใจกับเด็กทุกคนในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเก่งหรือเด็กไม่เก่ง เด็กทุกคนต้องการความรัก ความรักของครูจะทำให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยน เติบโตเป็นคนดีของสังคม ขณะที่ระบบการประเมินตำแหน่งอาจารย์ควรยกเลิกทั้งหมด เพื่อให้ครูมีเวลาให้เด็กมากขึ้น
ขณะที่การสอนในปัจจุบันเป็นการสอนแบบระบบอุตสาหกรรมที่สอนเด็กทีละ 60 คน และให้ทำเหมือนๆ กัน ทำข้อสอบแบบเดียวกัน แล้วยังเอาข้อสอบแบบเดียวกันทั้งประเทศไปวัด เพื่อผลิตคนไทป์เดียวกันออกมาในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานของอุตสาหกรรม แต่การศึกษาไม่ใช่อุตสาหกรรม มาตรฐานในอุตสาหกรรม ไม่สามารถใช้ในการศึกษาได้ การศึกษาเป็นศิลปกรรมในการสร้างมนุษย์ที่แตกต่างกัน เราต้องดึงศักยภาพที่แท้จริงของเด็กออกมา ไม่ใช่สร้างให้คนทุกคนเหมือนกันหมด ด้วยข้อสอบแบบเดียวกัน
เขาบอกด้วยว่า แม้กระทั่งเด็กห้องเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน และไม่ต้องวัดว่าใครได้มากได้น้อยกว่ากัน เพราะเราไม่ได้เอาการศึกษามาเป็นเครื่องมือแข่งขัน แต่จะเอาการศึกษามาพัฒนาเด็ก
แนะรัฐกู้เงินมาสร้างคน “10 ปี” คุณภาพเยี่ยม
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาระบบการศึกษากำหนดให้ครูสอนหนังสือตามหลักสูตร ภารกิจหลักของครูคืออัดความรู้ให้กับเด็ก โดยที่ครูไม่เคยมีหน้าที่อื่น เมื่อปฏิรูปการศึกษาในปี พ.ศ. 2542 ครูได้รับนโยบายให้สอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่มีใครบอกวิธีทำว่าครูจะต้องทำอย่างไร การปฏิรูปการศึกษาจึงล้มเหลวมาตลอด
“ครูรุ่นใหญ่ไม่ได้มีความสุขกับการเห็นการศึกษาไทยเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยทำการปฏิรูปการศึกษามา 10 กว่าปี กระทรวงศึกษาฯ บอกว่าเด็กต้องเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เด็กมีความเป็นตัวเอง แล้วส่งนโยบายมาที่ครู ครูบาอาจารย์ก็งงว่าจะต้องทำอย่างไร การออกข้อสอบจะออกอย่างไร วัดอย่างไร ก็ไม่ชัดเจน ครูจึงทำไม่ได้”
นายวิริยะเล่าอีกว่า เท่านั้นยังไม่เท่าไร สักพักหนึ่งกระทรวงเอาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เข้าไปวัดคุณภาพสถานศึกษา ครูก็ทำไม่ได้ ใครเข้ามาวัดอะไรก็ทำๆ ส่งไป ใครทำได้ก็ทำใครทำไม่ได้ก็ทำข้อมูลใส่เข้าไปให้ท่านสบายใจ ท่านอยากได้อะไรก็ทำให้ ขณะที่ครูบางคนเลือกที่จะเพิกเฉย เพราะเบื่อสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายตามนักการเมืองที่เข้ามาใหม่ตลอดเวลา
“แต่ก่อนครูสอนหนังสือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ แต่ปัจจุบันครูต้องไปเสิร์ฟน้ำ ทำบัญชี จบพละต้องไปสอนคณิตศาสตร์ รัฐบาลบอกว่าเราจะลงทุนทางการศึกษาให้เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ จะมีคุณภาพได้อย่างไร ในเมื่อครูคนหนึ่งยังต้องสอน 3 วิชา และยังเอาคะแนนโอเน็ตมาวัดครู ครูก็ปล่อยเด็กลอกข้อสอบเลย คะแนนจะได้ออกมาสูง กระทรวงอยากได้อะไรก็ตามใจ แต่ฉันจะทำของฉันไปอย่างนี้ ดังนั้นต่อให้มีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติใหม่อีก 10 ฉบับก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
อีกทั้งปัญหาการวัดผลด้วยข้อสอบปรนัยที่มีชอยส์ให้เลือกเพียงแค่ 4 ข้อ แทบจะไม่สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้ ซึ่งสาเหตุที่เป็นข้อสอบปรนัย 4 ชอยส์ทั้งประเทศ เพราะคนตรวจข้อสอบมีจำนวนน้อย โรงเรียนจะบรรจุครูเพิ่มก็มีงบประมาณไม่พอ จึงต้องแก้ปัญหาครูตรวจไม่ไหวด้วยการใช้ข้อสอบปรนัยแทน
“ไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ดูข่าวเกี่ยวกับภาครัฐ รัฐบาลไปกู้เงินเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าทำไมจึงไม่กู้เงินมาสร้างคนบ้าง ในเมื่อสร้างวัตถุมาเต็มประเทศ แต่จิตใจคนกลับต่ำลงๆ”
เขาบอกอีกว่า การลงทุนกับการทำให้การศึกษาดีขึ้นอาจจะไม่เห็นผลภายใน 3-4 ปี แต่ถ้าเริ่มทำอย่างจริงจังภายใน 10 ปี ประเทศไทยจะได้เป็นประเทศพัฒนาแล้วสักที หลังจากเป็นประเทศกำลังพัฒนามานาน เนื่องจากลงทุนพัฒนาแต่ด้านวัตถุ แต่ไม่มีการพัฒนาคุณภาพของคนอย่างจริงจังเลย
“ปัจจุบันรัฐบาลลงทุนกับระบบการศึกษาเพียงแค่ปีละไม่กี่แสนล้าน ซึ่งไม่เพียงพอ แค่จ่ายเงินเดือนครูก็หมดแล้ว หรือถ้ามีการพัฒนาอย่างอื่นก็ติดพัฒนาวัตถุ ได้วงเงินก็นำไปสร้างตึก แต่ครูยังสอนเหมือนเดิม เด็กเรียนกับการบอกจดเหมือนเดิม เด็กไม่ได้พูดไม่ได้นำเสนอความคิดเห็น การมีการศึกษาภาคบังคับจึงเหมือนเด็กโดนบังคับให้มาเรียน ขณะที่นักการเมืองก็หาเสียงกับนโยบายการศึกษาภาคบังคับ การทำการศึกษาของนักการเมืองมีเพียง 2 เรื่องเท่านั้นคือ “หาเสียง” กับ “หาเงิน”
ดังนั้น หนทางเดียวที่รัฐจะแก้ปัญหาในระบบการศึกษาไทยได้สำเร็จ คือการหันกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างคนมากขึ้น โดยรัฐต้องอัดงบประมาณที่มากพอสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาทั่วประเทศ อาทิ ระบบอินเทอร์เน็ต และศูนย์วิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดระบบการค้นคว้าในโรงเรียนที่ครูและนักเรียนสามารถทำตามนโยบายได้จริง
จากนั้นค่อยมานั่งลุ้นกันอีกครั้งว่า “คะแนนสอบ” ของเด็กไทยจะขึ้นไปอยู่อันดับที่เท่าไรของโลก