xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ส.ส.ทรท.ชี้ยุบโรงเรียนเล็กขัด รธน.-จี้ ศธ.ถามตัวเองควรมีต่อหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พะเยา - ศึกษานิเทศก์ สพท.เมืองกว๊านพะเยา เขต 2 เผย ถ้าต้องยุบโรงเรียนตามนโยบายจะมีโรงเรียนหายไปถึง 60-70% เชื่อชุมชนค้านสุดตัว ขณะที่ครูเก่าอดีต ส.ส.ไทยรักไทยฟันธงขัด รธน. บอกถ้า ศธ.ไม่มีความสามารถ ต้องพิจารณาตัวเองว่าควรมีหรือไม่

วันนี้ (27 พ.ค.) นายวัชระ ศรีคำตัน ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 กล่าวถึงนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า หากต้องยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 40 คนนั้น เขต 2 จะมีโรงเรียนหายไปร้อยละ 60-70 แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย โดยส่วนตัวมองได้สองประเด็นที่เป็นเหตุผลว่าควรหรือไม่ควรยุบ คือ ด้านความคุ้มค่า และคุ้มทุนทางธุรกิจ หากบางโรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง 40 คน เปิดประถมศึกษาอย่างน้อยต้องมี 7 ห้องเรียน ห้องละ 5-6 คน ขณะที่ต้องใช้ครูผู้สอนประจำชั้นทุกห้องเรียน และถ้าจะยุบห้องเรียน เช่น ป.1-2 ป.3-4 ป.5-6 ไปเรียนด้วยกันก็ไม่ได้ เพราะเนื้อหาและระดับความรู้แตกต่างกัน หรือในบางโรงเรียนมีครูผู้สอน 4-5 คน ไม่มีเวลาสอนเพราะต้องวิ่งทำผลงาน อบรม ปล่อยให้นักเรียนศึกษาจากการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ ทำให้การศึกษาไม่มีคุณภาพ เหตุผลข้างต้นเห็นควรต้องยุบรวม

แต่หากพิจารณาในประเด็นที่สอง คือ ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน ซึ่งการก่อเกิดเป็นโรงเรียนนั้น ผู้ปกครองและผู้สูงอายุในพื้นที่ได้เคยร่วมกันบริจาคที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียน เป็นแหล่งความรู้ของลูกหลานในหมู่บ้าน และผูกพันดูแลกันและกันเสมอมา หากจะยุบ ชุมชนก็คัดค้านไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะลูกหลานอาจจะต้องไปเรียนที่ห่างไกล เดินทางลำบาก กลัวจะไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่สามารถจะยุบรวมได้

นายเกรียงไกร ไชยมงคล อดีตข้าราชการครู และอดีต ส.ส.พะเยา เขต 3 พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า การสั่งให้ยุบโรงเรียนไม่ว่าจะขนาดใดก็ตามถือว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตนคิดว่าต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาระบบการศึกษาไทย คือ การจัดการศึกษาที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีการประเมินผลต่อเนื่องเป็นระบบ ส่วนเรื่องที่รัฐบาลมีแนวนโยบายจะให้ยุบแล้วจะจัดงบประมาณมาจัดหารถตู้ให้บริการรับส่งนั้น ก็ไม่เป็นจริง ดังนั้นควรยุติประเด็นการยุบรวมได้แล้ว และหันไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

“ผมคิดว่าหาก ศธ.ไม่มีความสามารถหรือศักยภาพพอที่จะจัดการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพ อาจจะต้องทบทวนตัว ศธ.เองว่าสมควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เพราะแต่ละปีงบประมาณที่ใช้ด้านการบริหารก็ไม่น้อย หรือหากผู้บริหารไม่มีความรอบรู้ด้านการจัดการศึกษา ควรให้บุคลากรที่มีความรู้และชำนาญด้านการศึกษาขึ้นเป็นผู้บริหารดีกว่า ไม่ควรนำการเมืองมาแทรกแซงระบบการศึกษา ทำให้มีผลกระทบต่อนักเรียนทั่วประเทศ”
กำลังโหลดความคิดเห็น