xs
xsm
sm
md
lg

“พงศ์เทพ” เล็งไล่ออกเด็กตีกัน หวังเชือดไก่ให้อาชีวะดู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พงศ์เทพ” โยนหินถามที่ประชุมฯ บี้เด็กตีกันออกจาก ร.ร.เชื่อเชือดไก่ให้ลิงดูให้ไม่กล้าทำตาม ย้ำไม่ใช่การลอยแพเด็ก แต่ต้องจัดระบบการศึกษาอื่นรองรับ ไม่ให้ปั่นหัวคนอื่น ด้าน ผอ.รพ.จิตเวชราชสีมาฯ เผยผลวิจัยพบเด็กอาชีวะมีปัญหาด้านพฤติกรรม 10% ครึ่งหนึ่งป่วยจิตเวช Conduct Didorder ชอบทำนอกกรอบกติกาสังคม เหตุปรับตัวเข้ากับเพื่อนและสังคมไม่ได้ ย้ำบำบัดได้ที่ต้นเหตุ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (29 เม.ย.) ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป เอสเซนเชียล วสุ กทม. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำยุทธศาสตร์เชิงรุก การป้องกันและแก้ปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ว่า ขณะนี้ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรที่จบสายอาชีวศึกษาจำนวนมาก จึงต้องมีการผลิตบุคลากรทางสายอาชีวะมากขึ้น แต่ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผู้ปกครองลังเลที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษา นั่นคือปัญหาการทะเลาะวิวาท เพราะฉะนั้น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไขกันอย่างจริงจัง ซึ่งตนได้เสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณาด้วยว่าในกรณีที่เด็กไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เด็กคนก่อเหตุออกจากโรงเรียน เพราะหากมีการดำเนินการจริงจังกับเด็กกลุ่มนี้ ก็จะมีผลทำให้นักเรียนคนอื่นรับทราบว่าถ้าเด็กคนใดไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท ก็จะไม่สามารถเรียนต่อในโรงเรียนแห่งนี้ต่อไปได้ และเมื่อเด็กที่ก่อเหตุออกพ้นสถานศึกษาไปแล้วก็จะไม่สามารถที่จะไปกระตุ้นให้เด็กคนอื่นไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทได้อีก

ผมได้ฝากให้ที่ประชุมได้ขบคิดไว้ว่าจะใช้มาตรการนี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะส่วนตัวผมมองว่ามีคนที่พร้อมจะเลียนแบบการกระทำที่ผิดๆ อยู่ ดังนั้น ถ้าเด็กเห็นตัวอย่างว่าเมื่อไปก่อเหตุแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับผู้กระทำผิด เด็กก็จะทำตาม แต่ถ้าหากเด็กหัวโจกไปก่อเหตุแล้วไม่สามารถอยู่ที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ได้ อย่างน้อยก็ปั่นหัวคนอื่นต่อไปไม่ได้ แต่เราก็ต้องจัดระบบการศึกษาในรูปแบบอื่นให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาด้วย แต่จะต้องไม่ไปอยู่ในสังคมที่ทำให้คนอื่นได้กระทำการตามแบบอย่าง ซึ่งการระดมความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ ศธ.จะนำไปทำยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาท และจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป” นายพงศ์เทพ กล่าว

ด้าน นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า ได้ทำโครงการวิจัยปัญหาเด็กตีกันมาประมาณ 7 ปี พบว่า พฤติกรรมเด็กตีกันในเด็กบางรายนั้น เป็นอาการของโรคจิตเวชประเภท Conduct Didorder ซึ่งเด็กที่เป็นโรคจิตเวชประเภทนี้ จะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนออกจากไปกรอบ กติกาสังคม ต่อต้านสังคม รวมถึงมีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรงด้วย ซึ่งจากการสุ่มตรวจสอบและทำการคัดกรองนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาที่มีปัญหาในด้านพฤติกรรม ออกมาพบจะพบเด็กกลุ่มเสี่ยงประมาณ 10% ซึ่งในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นโรคจิตเวชประเภทดังกล่าว

“จากการศึกษาแล้วจะพบว่าเด็กที่เป็นโรคจิตเวช ประเภท Conduct Didorder ไม่ได้เพิ่งเป็นในตอนโต แต่จะเริ่มเบี่ยงเบนมาตั้งแต่วัยเด็กแล้ว ซึ่งสาเหตุของโรคนี้มาจากการที่เด็กปรับตัวเข้ากับสังคมเพื่อนไม่ได้ การเรียนไม่ทันเพื่อน ทั้งนี้ เราจะพบว่าเด็กประถมจำนวนมากเป็นโรคสมาธิสั้น ขณะที่บางรายมีระดับสติปัญญาทึบกว่าเกณฑ์ มีปัญหาในการเรียนบางวิชา หรือเด็ก LD (Learnning disability) รวมๆ แล้วมีประมาณ7% ของเด็กทั้งหมด เด็กกลุ่มนี้จะเรียนไม่ทันเพื่อน ทำให้มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับเพื่อนตามมา สุดท้ายแล้วเด็กก็จะแยกตัวออกจากสังคม มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ ตามมา รวมทั้งพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าวด้วย ขณะที่ ระบบการศึกษาไทยนั้น เด็กเก่งมักไม่เรียนต่อสายอาชีพ โรงเรียนอาชีวศึกษา จึงกลายเป็นที่รวมของเด็กเบี่ยงเบนไป เมื่อเด็กเหล่านี้มารวมตัวกัน ก็พยายามแสดงพลังให้สังคมหันมามองเขา แต่เด็กไม่รู้จะทำอะไร นอกจากการใช้ความรุนแรง ไม่อยากให้มองว่า เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กเลว เพราะหลายคนนั้นป่วยทางจิต น่าสงสาร แต่ครู ผู้ปกครองไม่รู้มาก่อน จึงไม่ได้นำตัวไปบำบัดรักษา” นพ.พิทักษ์พล กล่าว

นพ.พิทักษ์พล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากที่ตนได้ทำการศึกษาร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แห่งหนึ่งมาเป็นเวลา 1 ปี พบว่าการคัดกรองนักเรียนมาบำบัดกับนักจิตวิทยา เวลาผ่านไปสักรระยะจะพบว่าพฤติกรรมดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ววิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ แก้ปัญหาที่สาเหตุ คือ รักษาอาการสมาธิสั้น ส่วนเด็กที่ปัญหาเรียนไม่ทัน ครูต้องนำตัวมาสอนเสริมเพิ่ม เมื่อเด็กเรียนทันเพื่อนแล้ว ปัญญาการปรับตัวเข้ากับเพื่อนไม่ได้ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคจิตเวชก็จะหมดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น