สพฐ.ยอมอ่อน ย้ำปี 57 ไม่ยุบ ร.ร.ขนาดเล็กแม้แต่โรงเดียว เว้นแต่ ร.ร.ที่ไม่มี นร.จะเรียนแล้ว เผยเตรียมแผนเคลื่อนย้าย นร.เรียนรวมกันกว่าพันโรง ด้าน “พงศ์เทพ” ตั้งแล้ว กก.ร่วมภาครัฐประชาสังคม ดึง “สิริกร มณีรินทร์” อดีต รมช.ศึกษาฯ นั่งเก้าอี้ประธาน ขณะที่ กลุ่มสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ยกโขยงเปิดเวทีเสวนาหน้า ศธ.อีกครั้ง โดยมี “ชินภัทร” ออกไปรับหน้า
วันนี้ (30 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น.ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ผู้ปกครองและนักเรียนของโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนบ้านเรียน ประมาณ 200 คน ภายใต้การนำของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน รวมตัวกันเพื่อเคลื่อนขบวนมาตั้งเวทีที่บริเวณหน้าประตูกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในเวลา 13.30 น.เพื่อยื่นแถลงการณ์เรียกร้องให้ ศธ.ชะลอการยุบรวม ยุบเลิก โรงเรียนขนาดเล็กพร้อมเปิดทางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่งในเวลาต่อมาประมาณ 14.00 น. นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้ลงไปพบกับกลุ่มแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อรับฟังปัญหา พร้อมชี้แจงข้อซักถามต่างๆ แก่ผู้ร่วมชุมนุมด้วย
โดย นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน ให้สัมภาษณ์ ว่า ภายหลังจากมีข่าวว่า ศธ.จะยุบรวม ยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลใจอย่างมาก เกิดความโกลาหลในชุมชน ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในกรณีที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ สั่งการให้ตั้งกรรมการร่วมภาคราชการและประชาสังคม มากำหนดนโยบายและแนวทางพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กร่วมกัน ดังนั้น ในวันนี้ทางสมาคมสภาการศึกษาฯ จึงระดมตัวแทนจาก 4 ภาค เดินทางมายัง ศธ.เพื่อทวงถามความชัดเจนเรื่องนโยบายโรงเรียนขนาดเล็กอีกครั้ง โดยจุดยืนของสมาคมต้องการให้ ศธ.ชะลอการยุบรวม ยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็กไว้ก่อน รอให้มีการจัดตั้งกรรมการร่วม ขึ้นมากำหนดนโยบายเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
“อยากให้ชะลอการยุบรวมไปก่อนและมาสร้างความเข้าใจกับชุมชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมาร่วมจัดการศึกษา ไม่ใช่ใช้วิธีการยุบรวมโรงเรียน และใช้รถตู้ในการขนส่งเด็ก ซึ่งเป็นวิธีที่แย่ที่สุดและอยากให้ นายชินภัทร ทำตามที่พูดไว้ในการประชุมร่วมกันที่ ศธ.ซึ่งมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมาว่าการยุบโรงเรียนจะเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่ทุกวันนี้การยุบรวมโรงเรียนก็ยังมีการทำอยู่ตลอดเวลา พวกเราจึงมารวมตัวอีกครั้ง” นายชัชวาลย์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ถึง นายชินภัทร จะพูดเช่นนั้น แต่สถานการณ์ในพื้นที่กลับเป็นตรงกันข้าม ยังคงมีการดำเนินการของเขตพื้นที่การศึกษาที่ขัดขวางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น การไม่ยินยอมให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก การไม่ยอมส่งคนที่มีความตั้งใจจริงมาเป็น ผอ.โรงเรียนขนาดเล็ก เป็นต้น
นายชัชวาลย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมสภาการศึกษาฯ ได้จัดเวทีเสวนารับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ 5 เวทีระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค.โดยมีผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้จัดการศึกษาประเภทต่างๆ ทั้งของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น รวมถึงการศึกษาทางเลือกเข้าร่วม และได้นำความคิดเห็นจากเวทีเสวนาดังกล่าวมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ซึ่งทั้ง 5 เวที ต่างต้องการให้มีการปลดล็อกการจัดการศึกษาโดยลดข้อจำกัดและสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างหลากหลาย ได้แก่ 1.ให้รัฐเลิกผูกขาดการจัดการศึกษา แล้วส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา รัฐปรับลดบทบาทมาทำหน้าที่กำกับนโยบายและติดตามผลแทน 2.ปลดล็อกการจัดการศึกษาด้วยการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางให้ยืดหยุ่นและก่อให้เกิดหลักสูตรการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สอดคล้องกับบริบทสังคมและความแตกต่างของผู้เรียน 3.ปลดล็อกการวัดและประเมินผลด้วยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และการประกันคุณภาพการศึกษา สร้างระบบวัดผลที่มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของสถานศึกษา ผู้เรียนและบริบทสังคมมาแทน และ 4.ปลดล็อกอุปสรรคของการศึกษาทางเลือก ด้วยการจัดตั้งสถาบันการพัฒนาการจัดการศึกษาตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
ด้าน นายชินภัทร กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศ 182 เขต ยกเว้น กทม.ส่งข้อมูลพร้อมแผนพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 3,500 โรง มายัง สพฐ.เพื่อสรุปเป็นแผนพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวม เสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ มี สพป.ส่งข้อมูลมาแล้ว 179 เขตหรือประมาณ 98% ทั้งนี้ ในรายงานที่แต่ละเขตพื้นที่ส่งมา พบว่า ในปีการศึกษา 2557 จะไม่มีการยุบรวม ยุบเลิก โรงเรียนขนาดเล็กซักแห่ง ยกเว้นโรงเรียนที่ไม่มีตัวป้อน คือ ไม่มีนักเรียนแล้ว ซึ่งจากรายงานพบว่ามี 3 สพป.ที่มีโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีตัวป้อนแล้ว เบื้องต้นยังไม่ทราบจำนวน โรงเรียนกลุ่มนี้เมื่อยุบเลิกแล้วจะนำอาคาร สถานที่ไปใช้ประโยชน์อื่น ซึ่งเป็นการบูรณาการภารกิจในพื้นที่ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์การเรียนรู้ กศน.เป็นต้น ดังนั้นพื้นที่เหล่านี้ สพฐ.จะยังไม่ส่งคืนราชพัสดุ เพราะยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นอกจากโรงเรียนที่ยุบเลิก เพราะไม่มีตัวป้อนแล้ว ที่เหลือแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกประมาณ 2,200 โรง เป็นโรงเรียนที่จะไม่มีการยุบเลิก ยุบรวม และไม่มีเคลื่อนย้ายนักเรียนไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่นๆ อยู่ในช่วงเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ซึ่งขณะนี้ทางเขตพื้นที่การศึกษาได้เข้าไปดูแลแล้ว ในกลุ่มนี้มีโรงเรียนขนาดเล็ก 300 โรง ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษที่ไม่สามารถรวมกับใครได้อย่างแน่นอน ต้องคงไว้ไม่สามารถยุบรวม ยุบเลิกได้ ได้แก่ โรงเรียนที่ตั้งบนภูเขา บนเกาะ ซึ่งกระจายตามภูมิภาคต่างๆ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เหลืออีกกว่า 1,000 โรงนั้น เป็นโรงเรียนที่เหลือเด็กน้อย จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายนักเรียนมาเรียนรวมกัน โดยผ่านการจัดการ 4 วิธี ได้แก่ 1.เคลื่อนย้ายนักเรียนมาเรียนรวมกันทุกชั้น มีจำนวน 648 โรง 2.เคลื่อนย้ายนักเรียนมาเรียนรวมกันรวมบางช่วงชั้น คือ การนำนักเรียนแต่ละช่วงชั้นแบ่งเป็นชั้นประถมต้นและประถมปลาย แยกไปควบรวมเรียนกับโรงเรียนอื่น จำนวน 484 โรง 3.เคลื่อนย้ายนักเรียนมาเรียยนรวมกันบางชั้น คือ การนำนักเรียนบางชั้นที่มีจำนวนน้อย เคลื่อนย้ายไปเรียนกับโรงเรียนอื่น มีจำนวน 781 โรง และ 4.เคลื่อนย้ายนักเรียนมาเรียนร่วมกันในบางวิชา จำนวน 377 โรง ซึ่งบางโรงเรียนอาจใช้วิธีเคลื่อนนักเรีนหลายรูปแบบร่วมกัน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ในวันเดียวกัน นายพงศ์เทพ ได้ลงนามคำสั่ง ศธ.ที่ สพฐ.345/2556 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และมีเลขาธิการ กพฐ.เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการ อาทิ นายประแสง มงคลสิริ เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ศ.ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ และนายสุนันท์ เทพศรี คณะกรรมการ กพฐ.เป็นต้น โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการทำงาน และการแก้ไขปัญหา รวมถึงการจัดรับฟังความคิดเห็น และติดตามประเมินผล และรายงานผล นอกจากนี้แผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่เขตพื้นที่เสนอมายัง สพฐ.ก็จะต้องเสนอให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาเห็นชอบด้วย