xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางประเทศไทย : ส.ว. ไทยและคนไทยในย่านกรุงวอชิงตัน

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

หลังจากจัดให้พบกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ดังรายงานไว้ในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมาคมไทย ดี ซี ฟอรั่ม (Thai D C Forum) ได้จัดให้คนไทยในย่านกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พบกับ ส.ว.ไทย เมื่อคืนวันที่ 8 มิถุนายน ส.ว. เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภานำโดย ส.ว.รสนา โตสิตระกูล ซึ่งไปศึกษาดูงานในเมืองหลวงของสหรัฐอเมริกาและมหานครนิวยอร์ก ส.ว. แต่ละท่านได้เล่าเรื่องราวคร่าวๆ ในการเยี่ยมองค์การสหประชาชาติและธนาคารโลกเพื่อรับรู้งานขององค์การทั้งสองเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามความฉ้อฉลในประเทศสมาชิก ในฐานะผู้ร่วมฟังและเป็นนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาซึ่งเคยทำงานในธนาคารพัฒนาเอเชียและธนาคารโลกกว่าสองทศวรรษ ขอนำภูมิหลังและบริบทต่างๆ มาเล่าเพื่อเสริมเรื่องราวของ ส.ว.เป็นบางเรื่อง

เรื่องแรกได้แก่ความฉ้อฉลซึ่งตอนนี้นักพัฒนาหลายคนยอมรับแล้วว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดของการพัฒนา แต่ความพยายามที่จะป้องกันและปราบปรามร่วมกับรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนามีปัญหามากเนื่องจากคนในรัฐบาลมักเป็นตัวการเสียเอง ธนาคารโลกเองพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าฉ้อฉล หรือ Corruption โดยตรงเพื่อมิให้เกิดการเผชิญหน้ากันทันทีเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ หากเลี่ยงไปใช้คำที่มีความคลุมเครืออยู่บ้างคือ Governance ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ธรรมาภิบาล

ในระหว่างที่ผมทำงานอยู่ในธนาคารโลก การติดตามเรื่องความฉ้อฉลยังไม่เข้มข้นเช่นในปัจจุบัน แต่ผมแน่ใจแล้วว่ามันเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ครั้งหนึ่งจึงได้ลองคำณวนความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีของความฉ้อฉลกับดัชนีของความด้อยพัฒนา ผลปรากฏว่ามันมีความสัมพันธ์กันสูงมาก รายละเอียดอาจหาได้ในบท “ต้นแค/เสาเข็ม” ของหนังสือเรื่อง “ไอเอ็มเอฟ ไอเอ็มเอฟ ไอเอ็มเอฟ” ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.org

การเห็นความสำคัญของการป้องกันและปราบปรามความฉ้อฉลส่งผลให้องค์การสหประชาชาติร่างสนธิสัญญาเกี่ยวกับการติดตามเรื่องธรรมาภิบาลขึ้นมา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลไทยยังไม่ยอมเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาฉบับนี้ทั้งที่ประกาศออกมาเสมอว่าจะต่อต้านความฉ้อฉลจนถึงที่สุด

ส.ว.บางท่านพูดถึงความสำคัญของธรรมาภิบาลทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องนี้แทบจะไม่มีใครพูดถึงเมื่อเทียบกับเรื่องธรรมาภิบาลทางด้านการเมืองอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของการบริหารบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย

เรื่องธรรมาภิบาลทางด้านเศรษฐกิจนี้กำลังมีปัญหาทั่วโลกด้วยเหตุปัจจัย 2 ด้าน นั่นคือ ด้านแรก โดยธรรมชาติของวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีซึ่งมีประวัติราว 1 หมื่นปี ทุกครั้งที่เทคโนโลยีเกิดใหม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง ผู้ที่เป็นเจ้าของและเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่จะมีรายได้แบบก้าวกระโดด ในขณะที่คนส่วนใหญ่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ฉะนั้น จะเห็นว่าเมื่อเกิดเทคโนโลยีดิจิตอลซึ่งนำไปสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ หรือโลกไร้พรมแดน ผู้มีเทคโนโลยีอยู่ในมือเช่น บิล เกตส์ และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีตั้งแต่วัยเบญจเพศ

ด้านที่สอง ระบอบประชาธิปไตยได้เปิดช่องให้ผู้มีทรัพย์มากๆ เข้าไปก้าวก่ายในกระบวนการเมืองได้สำเร็จ เมื่อคนกลุ่มน้อยนี้เข้าไปมีอิทธิพลทางด้านการเมือง พวกเขาก็พยายามทำกฎเกณฑ์ให้เบี่ยงเบนไปในทางเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มของตนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ กฎเกณฑ์ทางด้านการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติของไทยจึงเอียงไปทางเอื้อประโยชน์ต่อคนรวยที่เข้าถึงกระบวนการทางการเมือง เรื่องพลังงานและการขุดเจาะน้ำมันในเมืองไทยถูกหยิบยกมาอ้างเป็นตัวอย่างโดยเฉพาะ

ประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียมนี้ นอกจากมันจะมีปัญหาเรื่องการขาดธรรมาภิบาลทางด้านการเป็นเจ้าของ หรือหุ้นส่วนในบริษัทผู้ได้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันแล้ว มันยังมีปัญหาเรื่องข้อมูลซึ่งประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้อีกด้วย ตอนนี้ประเทศมีทรัพยากรอยู่ที่ไหนและเท่าไรจึงถกเถียงกันแบบไม่รู้จบ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในขณะนี้เทคโนโลยีใหม่ได้ทำให้สหรัฐฯ สามารถดูดก๊าซธรรมชาติขึ้นมาได้ปริมาณมหาศาล มันส่งผลให้สหรัฐฯ มีก๊าซธรรมชาติเหลือใช้จนต้องส่งออกไปขายในตลาดโลก ทั้งที่เมื่อไม่นานมานี้สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าปีละมากๆ

เมืองไทยอาจได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่อย่างมีนัยสำคัญในวันข้างหน้า แต่มันอาจทำให้ปัญหาเรื่องความไม่กระจ่างทางข้อมูลพอกพูนขึ้นหากโครงสร้างทางการบริหารจัดการทรัพยากรยังคงอยู่ในแนวปัจจุบัน
ผู้ไปร่วมฟังวุฒิสมาชิก
สิ่งแวดล้อมถูกหยิบยกมาพูดในอันดับต่อไปเนื่องจาก ส.ว.ท่านหนึ่งมีภูมิหลังทางด้านนี้โดยเฉพาะ แต่การพูดนั้นจำกัดอยู่ในด้านประสบการณ์จากการได้รับการร้องเรียนจากท้องถิ่นซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น เนื่องจากผมสนใจได้ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษมาเป็นเวลาราว 45 ปี จึงได้พยายามสอบถามเรื่องนี้หลังจากการพูดบนเวทียุติลงแล้ว แต่พูดคุยกันได้ไม่มากเนื่องจากขาดเวลา จึงได้เสนอให้คณะทำงานของกรรมาธิการดาวน์โหลดหนังสือทางด้านสิ่งแวดล้อมเล่มล่าสุดของผมเรื่อง “ธาตุ 4 พิโรธ : โจทย์ที่ต้องมีคำตอบ” จากเว็บไซต์ www.bannareader.org มาพิจารณาใช้เป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับ ส.ว.หนังสือเล่มนี้ได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เขียนไว้มาเสนอโดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านด้วยกันคือ ดิน น้ำ ลมหรืออากาศ และไฟซึ่งได้แก่เรื่องพลังงานเช่นน้ำมันปิโตรเลียม

หลังจากนั้น ส.ว.ได้พูดถึงเรื่องสำคัญยิ่งอีก 2 เรื่อง นั่นคือ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลและเรื่องความเห็นต่างระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกำลังนำไปสู่ความพยายามของรัฐบาลที่จะเข้าไปก้าวก่ายในงานของ ธปท.

สำหรับผม โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลกับการเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประเด็นสำคัญในอันดับต้นๆ แต่บนเวทีเมื่อคืนวันที่ 8 มิถุนายน เวลามีจำกัดจนไม่สามารถขยายความให้ครอบคลุมมากไปกว่าในส่วนที่ ส.ว.พูดถึงสั้นๆ

ในด้านโครงการรับจำนำข้าว ส.ว.แน่ใจว่าตอนนี้รัฐบาลขาดทุนนับแสนล้านบาทแล้ว แต่พยายามปิดบังความจริง รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลโดยอ้างว่าเป็นความลับของทางราชการ รัฐบาลจะทำต่อไปเพราะไม่มีทางออกนอกจากการโกหก


ผมมองว่า โครงการรับจำนำข้าวนี้อาจมีผลกระทบร้ายแรงในสองด้านด้วยกันคือ ด้านแรกเกี่ยวกับการเงินซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้วและจะมีต่อไปตราบใดที่รัฐบาลยังไม่ล้มเลิกโครงการและราคาที่รับจำนำสูงกว่าราคาในตลาดโลก รัฐบาลคงไม่ยกเลิกโครงการเพราะมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายซึ่งประชาชนมักเสพติดในเวลาอันรวดเร็ว

ในเรื่องราคา เท่าที่ผ่านมา ราคาที่รัฐบาลรับจำนำสูงกว่าราคาในตลาดโลกเกือบสองเท่าส่งผลให้ขาดทุนมหาศาล นอกจากนั้น ยังมีข้าวนับสิบล้านตันตกค้างอยู่ในโกดังอีกด้วย ทั้งนี้เพราะเอกชนซึ่งมีเครือข่ายอยู่ในตลาดโลกมักไม่ช่วยนำไปขายหากไม่สามารถซื้อจากรัฐบาลได้ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดโลก รัฐบาลพยายามขายในรูปของรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่ทำได้เพียงจำกัด ณ วันนี้ ไม่มีทีท่าว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะขยับสูงขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญจากระดับที่เป็นมาในช่วงเวลา 3 ปี ราคาน่าจะขึ้นลงอยู่ในวงแคบๆ ต่อไปนอกจากฝนฟ้าจะทำลายแหล่งผลิตธัญญาหารสำคัญๆ ของโลก ฉะนั้น คาดได้ว่าการขาดทุนมหาศาลของโครงการรับจำนำข้าวจะดำเนินต่อไป

ด้านที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำลายกลไกตลาดเสรีโดยมีรัฐบาลเข้ามาผูกขาดในตลาดข้าว ความเลวร้ายของด้านนี้อาจไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดนักในเวลาอันสั้น การที่รัฐบาลรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกย่อมส่งผลให้พ่อค้าเอกชนสู้ไม่ได้ พวกเขาต้องเลิกกิจการไปยกเว้นพวกที่รับสีข้าวและเก็บข้าวไว้ในโกดัง เป็นไปได้สูงว่า กลุ่มที่รับงานจากรัฐบาลนี้จะเป็นเครือข่ายของคนในรัฐบาลและได้ค่าบริหารจัดการชั้นเยี่ยม เพียงเวลาอันไม่นาน การผูกขาดตลาดข้าวของรัฐบาลไทยก็จะไม่ต่างกับการผูกขาดตลาดมะพร้าวของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในสมัยของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ฟิลิปปินส์เคยส่งออกสินค้ามะพร้าวมากที่สุดในโลก แต่สูญเสียตำแหน่งนั้นภายในเวลาอันสั้นหลังจากรัฐบาลเข้าไปผูกขาด การผูกขาดตลาดมะพร้าวทำลายฟิลิปปินส์ฉันใด การผู้ขาดข้าวของรัฐบาลไทยก็จะทำลายเมืองไทยฉันนั้น

ในด้าน ธปท. ส.ว.บอกว่า รัฐบาลพยายามเข้าไปก่าวก่ายโดยส่งนักวิชาการของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการของธนาคาร การก้าวก่ายนี้จะมีผลในด้านการเสียความเป็นอิสระทางด้านการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.นอกจากนั้น ยังมีความพยายามที่จะนำเงินสำรองของชาติออกไปบริหารจัดการโดยรัฐบาลอีกด้วย เท่าที่ผ่านมา ความพยายามเข้าไปก้าวก่ายในด้านหลักๆ ยังไม่ประสบผลสำเร็จ รัฐบาลจะพยายามอย่างเข้มข้นขึ้นในช่วงนี้เนื่องจากเมธีบริกรซึ่งเป็นประธานกรรมการจะต้องเกษียณเมื่ออายุครบ 70 ปีในตอนต้นเดือนสิงหาคมที่จะมาถึง

ในประวัติการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ แม้รัฐบาลที่ผ่านๆ มาจะมีความฉ้อฉล แต่ความฉ้อฉลนั้นไม่ถึงกับนำไปสู่การทำลายวินัยทางการคลังและไม่เข้าไปก้าวก่ายในการทำงานของ ธปท. จนนำไปสู่การทำลายวินัยทางการเงิน ในสมัยที่เมืองไทยยังตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการแบบแทบจะสัมบูรณ์โดยมีมาตรา 17 ของธรรมนูญปกครองประเทศปี 2502 ที่อาจใช้เด็ดหัวใครก็ได้ ผู้นำรัฐบาลยังไม่ทำอะไรที่จะนำไปสู่การเสียวินัยทางการคลังและการเงิน ตรงข้าม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้แต่งตั้ง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้คุมทั้งด้านการคลังและการเงินเพราะเห็นว่าฝ่ายหลังมีทั้งความสามารถและความซื่อตรง รากฐานที่อาจารย์ป๋วยวางไว้ส่งผลให้การบริหารจัดการทางการคลังและการเงินของไทยเป็นที่ยอมรับนับถือของต่างชาติมาเป็นเวลานาน กระนั้นก็ตาม เรายังประสบความล้มละลายในปี 2540

ในช่วงนี้ มีแนวโน้มสูงว่ารัฐบาลอาจจะเสียวินัยทางการคลังจากโครงการประชานิยมต่างๆ และการกู้เงินจำนวนมหาศาล เรื่องการกู้ 3.5 แสนล้านบาทมาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำนั้นเป็นที่รับรู้กันอยู่และเริ่มนำไปใช้จ่ายแล้วทั้งที่ยังมีความไม่กระจ่างทางด้านโครงการ นอกจากนั้นยังมีการกู้ในแนวเขียนเช็คเปล่าให้รัฐบาลและนักการเมืองนำไปถลุงได้อีก 2.2 ล้านล้านบาท นี่คือตัวอย่างของการเริ่มเสียวินัยทางการเงิน ในอันดับต่อไป การเข้าไปก้าวก่ายใน ธปท. ทำให้เสียวินัยทางการเงินโดยการพิมพ์ธนบัตรออกมาให้รัฐบาลปิดงบประมาณเมื่อไร เมื่อนั้นเมืองไทยจะเดินลงเหวทันที เรื่องนี้มีตัวอย่างซึ่งผมนำมาเสนอบ่อยครั้งรวมทั้งในหนังสือเรื่อง “ประชานิยม : ทางสู่ความหายนะ”

ส่วนทางด้านการนำเงินสำรองของชาติออกมาบริหารจัดการเองนั้นจะมีค่าเท่ากับนำเงินส่วนนั้นออกมาถลุงกันในหมู่นักการเมือง กลไกในเรื่องนี้ผมได้อธิบายไว้หลายครั้งในหลายเวทีรวมทั้งในคอลัมน์นี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ขอนำบทที่พิมพ์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 มาเสนออีกครั้ง (ขอเรียนว่าเรื่องราวในแนวนี้มีรวมไว้ในหนังสือชื่อ “เมื่อคิดให้ดีไทยนี้ฉลาด” ด้วย)

“วิธีถลุงทุนสำรองของชาติ”

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน คอลัมน์นี้พูดคร่าวๆ ถึงเรื่องราวของอาร์เจนตินาว่าใช้ทุนสำรองของชาติอย่างไรในกระบวนการใช้นโยบายประชานิยมจึงทำให้ประเทศล้มละลาย (รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือชื่อ “ประชานิยม: ทางสู่ความหายนะ” ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์) วันนี้จะพูดถึงกลวิธีที่การก่อตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติจะถูกใช้เพื่อถลุงทุนสำรองของไทยพร้อมกับทำให้นักการเมืองและพวกพ้องมั่งคั่งได้อย่างไร การที่รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้แสดงความกระเหี้ยนกระหือรือดังกับกระสือเห็นเวจอุจจาระที่จะให้มีการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติก็เพราะพวกเขามองเห็นโอกาสทองที่จะสนองความละโมบของเจ้านายซึ่งอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พร้อมกับของตัวเองและพวกพ้อง พวกเขาต้องรีบทำให้เร็วที่สุดเพราะไม่มั่นใจในความยืนยาวของการครองอำนาจ หากตั้งกองทุนฯ เสร็จก่อนหมดอำนาจ พวกเขาก็จะสามารถถลุงทุนสำรองของชาติสืบต่อไปได้อีกนาน

กระบวนการจะเริ่มต้นด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยคนของพวกเขาขึ้นมาศึกษาและร่างกรอบ กฎหมายและข้อบังคับของกองทุนฯ ซึ่งจะนำเงินส่วนหนึ่งจากทุนสำรองของชาติมาบริหารจัดการ ตอนนี้ทุนสำรองของชาติมีอยู่เกือบสองแสนล้านดอลลาร์ พวกเขาอาจนำมาใส่ไว้ในกองทุนฯ สักครึ่งหนึ่งก็ได้และจะทำทุกอย่างเพื่อสร้างความแน่ใจว่ากฎเกณฑ์ที่จะเกิดขึ้นมีช่องโหว่พอที่พวกเขาจะนำเอาไปใช้ในการถลุงเงินของกองทุนฯ

ในขณะเดียวกัน พรรคพวกของนักการเมืองก็จะก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการเงินขึ้นมาพร้อมๆ กับบริษัทที่จะทำกิจการทางด้านสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและทำเหมืองแร่โดยเฉพาะเหมืองทองคำ บริษัทเหล่านั้นมักจะมีสัญชาติของเกาะต่างๆ ที่มีชื่อว่าเป็นแหล่งหลบภาษีของมหาเศรษฐีขี้ฉ้อ เช่น เกาะเคย์แมนและเกาะบาฮามาส์ที่เจ้านายของพวกเขาใช้มาก่อน บริษัทเหล่านั้นอาจเป็นการร่วมทุนระหว่างคนไทยในต่างประเทศกับชาวต่างชาติซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นชาวตะวันออกกลางจากบางประเทศที่มีน้ำมันจำนวนมากโดยเฉพาะจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เมื่อผ่านกฎหมายก่อตั้งกองทุนได้แล้วก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารชั้นสูง คนพวกนี้ส่วนมากจะมาจากพรรคพวกของนักการเมืองและเจ้านายของพวกเขา แต่ละคนจะได้ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์สูงมาก หลังจากนั้นผู้บริหารชั้นสูงก็จะจ้างพนักงานของกองทุนฯ ซึ่งก็จะมาจากลูกหลานของนักการเมือง ญาติพี่น้องและพวกพ้องของพวกเขาอีกเช่นกัน

ขั้นต่อไปได้แก่การจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการเงินที่พรรคพวกของนักการเมืองก่อตั้งขึ้นมาด้วยค่าจ้างสูงให้เข้ามาช่วยหาทางลงทุนให้แก่กองทุนฯ ส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่สูงมากนั้นจะถูกนำมาปันกับผู้บริหารบางคนของกองทุนฯ บริษัทที่ปรึกษาจะขมีขมันค้นคว้าหาทางลงทุนจนในที่สุดจะพบบริษัทที่พลพรรคของนักการเมืองและเจ้านายตั้งขึ้นไว้ตามเกาะต่างๆ ว่าเป็นหนทางลงทุนที่จะมีกำไรสูงมาก จึงเสนอให้กองทุนฯ นำเงินก้อนใหญ่ๆ ไปซื้อหุ้นและร่วมทุนกับบริษัทเหล่านั้นเพื่อสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและทำเหมืองทองคำแล้วกองทุนฯ ก็ทำตาม

การลงทุนของกองทุนฯ จะได้รับการสนับสนุนและกล่าวขวัญถึงอย่างต่อเนื่องว่าน่าจะสร้างกำไรได้ดีมากจากสื่อพิมพ์และโทรทัศน์บางแห่งอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่งจึงเริ่มมีรายงานว่ากองทุนฯ สูญเงินที่นำไปลงไว้ในกิจการต่างๆ อย่างมีเงื่อนงำ กิจการบางอย่างจะล้มละลายเนื่องจากหาทองคำและน้ำมันไม่พบในปริมาณมากพอ ในขณะเดียวกันจะมีรายงานจากสื่ออีกส่วนหนึ่งซึ่งชี้ให้เห็นความมั่งคั่งของคณะกรรมการ ผู้บริหารชั้นสูงของกองทุนฯ และพลพรรคของนักการเมืองและเจ้านายที่อยู่ในต่างประเทศโดยเฉพาะในด้านการเป็นอยู่แบบหรูหราไม่ต่างกับมหาเศรษฐี การถกเถียงกันอย่างเข้มข้นเพื่อหาคนรับผิดชอบจะตามมา แต่ในที่สุดก็จะหาคนมาลงโทษไม่ได้

เนื่องจากภาพอันแสนเลวร้ายที่ฉายมานี้มีความเป็นไปได้สูงมาก สื่อจึงรายงานว่าเกิดการต่อต้านจากหลายฝ่ายรวมทั้งจากคณะกรรมการและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย หากคณะกรรมการและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต่อต้านแนวคิดที่จะตั้งกองทุนฯ ชนิดหัวชนฝา เราจะเห็นว่าอีกไม่นานจะมีการเปลี่ยนตัวบุคคลในองค์กรนั้นเฉกเช่นการเปลี่ยนตัวข้าราชการผู้ใหญ่ในองค์กรอื่น เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

หากถามว่าการเขียนเช่นนี้ก็เพื่อจะชี้โพรงให้กระรอกใช่ไหม ขอตอบว่าไม่ใช่เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมาย่อมแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดแล้วว่า นักการเมืองเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญในด้านการใช้กลโกงและมีจุดมุ่งหมายในการเล่นการเมืองเพียงอย่างเดียว นั่นคือ จะทำอย่างไรให้ตัวเองและเพื่อนพ้องน้องพี่ร่ำรวยแม้จะด้วยการละเมิดกฎหมายและศีลธรรมจรรยาก็ตาม”

(สำหรับหนังสือเรื่อง “ประชานิยม : ทางสู่ความหายนะ” ซึ่งบทความอ้างถึงว่าอยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์นั้น ในขณะนี้สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊คได้จัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว)
ส.ว.รสนาและคณะมอบของที่ระลึกให้ผู้นำกลุ่มคนไทยในย่านกรุงวอชิงตัน คุณธัชพงศ์ จันทรปรรณิก
เนื่องจากคณะ ส.ว.คงเห็นว่าเรื่องที่นำเสนอนั้นค่อนข้างหนักจึงจบรายการด้วยการเล่านิทานโดย ส.ว.ประสาร มฤคพิทักษ์ ซึ่งมีพรสวรรค์ในการเล่านิทานจนทำให้ผู้ฟังหัวเราะกันแบบงอกลิ้ง ผมสังเกตว่า บรรดา ส.ว. เองก็หัวเราะกันอย่างทั่วถึงทั้งที่คงได้ยินนิทานเรื่องนี้มาก่อนแล้วที่นครนิวยอร์ก เนื้อหาของนิทานตามที่ ส.ว.ประสารเล่ามีดังนี้

นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งได้ปราศรัยในสถานที่ไม่แจ้งว่า “หลังจากประธานาธิบดีมาเลเซียกลับจากประเทศซิดนีย์ ได้เดินทางมาพบดิฉันที่จังหวัดหาดใหญ่ เมื่อเสร็จภารกิจ ดิฉันได้เดินทางไปราชการต่อที่อำเภอขน-อม ดิฉันขอเรียนให้ทราบว่า เมื่อเดือนพฤศจิกาคมปีที่แล้ว ที่ทำเนียบรัฐบาล ดิฉันได้มีโอกาส Overcome นางฮิลลารี คลินตัน ในช่วงนั้นเองรัฐสภาได้อนุมัติ พ.ร.ก.เงินกู้เป็นเงิน ห้าหมื่นสามแสนเก้าร้อยสิบแปดล้านบาท ดิฉันมีแผนที่จะใช้เงินจำนวนนี้ไปแก้ปัญหาน้ำโดยจะซื้อเรือดำน้ำไปดันน้ำ จะต้องเอาหินไปถมทะเลที่จังหวัดสิงห์บุรี และแน่นอนดิฉันจะต้องสร้างเขื่อนคอ-นก-รีต เพื่อเก็บกักน้ำ และไม่ลืมที่จะปลูกหญ้าแพรกที่พนังเขื่อนเพื่ออุ้มดินและชะลอน้ำด้วยนะคะ ดิฉันขอเรียนให้ทราบเท่านี้ Thank you three times.”
กำลังโหลดความคิดเห็น