xs
xsm
sm
md
lg

เหมือนจงใจจะให้เกิดความย่อยยับประเทศ

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


เรื่องการทำงบประมาณสมดุลมีการพูดถึงทุกรัฐบาลเมื่อมีการจัดทำงบประมาณประจำปี รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่าประเทศไทยจะเข้าสู่การทำงบประมาณสมดุลในอีก 4 ปี สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็บอกว่าในอีก 4 ปีประเทศไทยจะทำงบประมาณแบบสมดุลได้ มาถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอาอีกแล้ว โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกอีกประเทศจะเข้าสู่งบประมาณสมดุลในปี 2560

โดย 12 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยพบว่า ไม่มีปีไหนที่จะทำงบประมาณแบบสมดุลได้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิสรายงานไว้ใน “แนวโน้มเครดิตของมูดีส์” ฉบับวันที่ 3 มิ.ย. 2556 ว่า ความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554-2555 และความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยที่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป บอกว่าเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะบรรลุเป้าหมายทำงบประมาณสมดุลในปี 2560 จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของไทย ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ Baa1 แบบมีเสถียรภาพ

ที่จริงแล้วการขาดทุนจากการบริหารงานของรัฐบาลเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากการขาดทุนนั้นเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชนและเกษตรกรของประเทศ การขาดดุลแบบเกินความพอเพียง เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง นักวิชาการ สื่อมวลชนและผู้คนที่หลากหลาย ออกมาท้วงติง ก็ยังดันทุรังที่จะทำนโยบายจำนำข้าวต่อ คนทั่วไปประมาณการได้ว่ามีการขาดทุนจากการจำนำข้าว จากข้าวที่เหลือที่ขายไม่ออก การหมุนเวียนการจำนำข้าวมีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านนำมาสวมสิทธิ มีการฉ้อฉลของคนวงในที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าวมโหฬาร การขาดทุนอีกแบบที่ไม่ได้นับรวมไว้ คือการป่วยไข้ของประชาชนที่ซื้อข้าวเน่ามาบริโภค พบว่าแม่บ้านซื้อข้าวชนิดถุง 5 กิโลกรัม จะเอามาต้มให้สุนัขราคาถุงละ 99 บาท จากราคาถุง 170 บาท สามารถเป็นได้ 2-3 กรณี

กรณีแรกคือคนขายรับข้าวมาที่ต้นทุนต่ำ นั่นคือรัฐบาลขายข้าวขาดทุนจากที่รับจำนำไว้ กรณีที่ 2 เป็นข้าวที่ผ่านการคอร์รัปชันนำมาขายที่ราคาต่ำ อีกกรณีคือข้าวเน่าจึงขายออกมาที่ราคาต่ำ หากเป็นกรณีหลัง แม้จะนำมาต้มให้สุนัข สุนัขอาจจะป่วยไข้ขึ้นมาได้ คนโรงสีดูด้วยประสบการณ์ได้ว่า ข้าวนั้นคุณภาพดีหรือไม่ดี แต่ชาวบ้านทั่วไปจะไปรู้ได้อย่างไร หากจะนำไปส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายนำส่งแล็บและค่าแล็บก็จะสูงกว่าราคาข้าวที่ซื้อมาอีก

ร่วมกันหยุดคอร์รัปชันเป็นเพียงวาทกรรมและพิธีกรรม ของผู้นำและผู้บริหารระดับสูงของประเทศ เป็นมิจฉาวจีและมิจฉากรรม เป็นกรรมของคนทั้งประเทศการกระทำไม่ได้ร่วมกันหยุดคอร์รัปชัน แต่เป็นไปในทางตรงกันข้าม คอร์รัปชันเป็นเรื่องสำคัญที่นำความเสียหายมาสู่ประเทศ

บทความนี้ไม่ได้ตั้งใจจะมานำเสนอเรื่องงบประมาณและเรื่องจำนำข้าว ซึ่งนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติมาก แต่จะมานำเสนอเรื่องเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้นในตลาดเงินและตลาดเงินตรา ที่นำความย่อยยับมาสู่ระบบเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง

การมาของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายในตลาดเงินที่น่าฉงนในหลายเรื่อง

หลังการพังทลายของตลาดหุ้นไทยในปี 2521 ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย เศรษฐกิจล้มลง คนตกงาน ค่าเงินบาทเสียหาย ต้องลดค่าเงินบาท และต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งแรกเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงครั้งแรกของประเทศไทยเช่นกัน

ทำให้เกิดโครงการ 4 เมษายน 2527 คือการเข้าควบกิจการ 25 ไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ และเป็นที่มาของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 2528 (Financial Institutions Development Fund - FIDF)

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีหน้าที่ 2 อย่าง อย่างแรกคือการสะสางปัญหาหนี้เสีย และเงินฝากของผู้ฝากเงิน ที่เกิดขึ้นจากการล้มลงของบริษัทไฟแนนซ์และเครดิตซองซิเอร์ อย่างที่สองคือหาทางป้องกันไม่ให้วิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาอีก โดยกองทุนฟื้นฟูฯได้เงินจากรัฐบาลสมทบตั้งเป็นกองทุนในครั้งแรก และมีรายได้ค่าธรรมเนียมเงินฝากจากสถาบันการเงิน

แต่เนื่องจากไม่ได้มีการแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ต้นเหตุของปัญหายังคงอยู่ งานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก ปัญหาหนักกว่าเดิม การนำระบบ Maintenance margin และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปลายปี 2536 ทำให้ Hedge fund ลาก SET index ขึ้นไปสูงสุดที่ 1,750 จุดในต้นปี 2537 แล้วถล่มทุบลงมา ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย เศรษฐกิจล้มลง สถาบันการเงินล้มลงทั้งระบบ คนตกงาน ค่าเงินบาทเสียหายหนักกว่าครั้งแรก ต้องลอยค่าเงินบาท และต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งที่ 2

ทำให้เกิดโครงการ 14 สิงหาคม 2541 คือการประกาศยุติการดำเนินงาน 54 สถาบันการเงิน สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Deposit Protection Agency - DPA) ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2551 รายได้ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รายได้ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มาจากการสมทบเงินทุนจากกระทรวงการคลังในช่วงต้น และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากจากสถาบันการเงินเอกชน

จะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาหลังการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ต่างกัน เพียงแต่รายละเอียดและชื่อของโครงการเท่านั้นที่แตกต่างกัน ออกมาในรูปแบบของการแก้ปัญหาปลายเหตุแบบเดียวกัน

ปัญหาของโครงการคล้ายกัน โครงการ 4 เมษายน 2527และโครงการ 14 สิงหาคม 2541 แตกต่างกันเฉพาะรายละเอียด

ชื่อกองทุนแม้ชื่อจะต่างกัน คือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 2528 กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่งานหลักใหญ่คือ จัดการกับเงินฝากของผู้ฝากเงินของสถาบันการเงินที่ล้มลง ซึ่งเป็นเงินของผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งจัดการกับหนี้สินที่มีกับสถาบันการเงิน

สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่ล้มลง แต่มุ่งที่จะคุ้มครองเงินฝากอย่างเดียว

ดูแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะมูลค่าของความเสียหายสูงมาก อย่างไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศใดก็ตาม ดังเช่นที่เกิดกับประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2000 และเกิดขึ้นกับยูโรโซนในปี 2008

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินคือตัวอย่างของความล้มเหลวทางวิสัยทัศน์และปรัชญาในการแก้ปัญหาระบบวิกฤตเศรษฐกิจที่ล้มลง (Systemic run) แต่ประเทศไทยกลับตั้งหน่วยงานที่มีวิสัยทัศน์ปรัชญาคล้ายๆ กันขึ้นมาแก้ปัญหาอีก และความรับผิดชอบก็ลดลง โดยไม่ใส่ใจว่าต้นเหตุอะไรที่ทำให้สถาบันการเงินล้มลง โดยมุ่งไปคิดที่จะคุ้มครองเงินฝากอย่างเดียว ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ สุดท้ายก็ต้องมาออกพันธบัตร (สร้างหนี้ เพิ่มหนี้สาธารณะ) ชดใช้ผู้ฝากเงินอยู่ดี ซึ่งจะมีมูลค่าที่สูงกว่าในอดีตมาก

หากว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แก้ปัญหาแบบปลายเหตุ สถาบันคุ้มครองเงินฝากยิ่งคิดแก้ปัญหาปลายเหตุมากขึ้นไปอีก

ปี 2541 สรุปหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไว้ 1.392 ล้านล้านบาทมีข้อตกลงกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลัง โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ชำระดอกเบี้ย กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชำระหนี้เงินต้นระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา คือระหว่างปี 2541 - 2553 ธนาคารแห่งประเทศไทยชำระดอกเบี้ย 249,898 ล้านบาท หรือประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี กระทรวงการคลังชำระหนี้เงินต้น 604,477 ล้านบาท หรือประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี และยังมีหนี้คงเหลือ 1.142 ล้านล้านบาท

รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้โอนหนี้ที่เหลือทั้งหมดประมาณ 1 ล้านล้านบาท กลับไปให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยบริหารจัดการ โดยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ กลับมามีรายได้จากค่าธรรมเนียมเงินฝากจากธนาคารเอกชน ธนาคารรัฐและหุ้นกู้อีก

ผู้เขียนยังนึกภาพไม่ออก หรือมีข้อกำหนดหรือไม่ สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากจากสถาบันการเงินอยู่หรือไม่ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้กลับมาเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากจากสถาบันการเงินเอกชนอีก จะไม่เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากซ้ำซ้อนกันหรืออย่างไร กลับกลายมาเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ธนาคารทั้งระบบมากขึ้น

ไม่มีความตั้งใจที่จะใช้หนี้ การโอนหนี้กลับไปให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แม้ไม่ต้องใช้งบประมาณจากกระทรวงการคลัง ภาษีของประชาชนมาร่วมใช้หนี้แต่นักวิชาการต่างวิจารณ์กันว่าเป็นการซุกหนี้เพื่อที่จะทำให้เพดานหนี้ไม่มีปัญหา เพื่อที่จะทำการกู้ยืมเงินได้มากขึ้นจึงเป็นที่มาการกู้เงินอภิมหาโปรเจกต์ต่างๆ เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนไม่ใช่คนธรรมดาจะคิดได้ แต่น่าจะเป็นคนที่ผิดธรรมดาหรือคนวิกลจริตคิด แล้วผู้บริหารระดับสูงไปรับมาทำ

แม้หนี้จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ยังไม่มีความตั้งใจที่จะชำระหนี้ แล้วหนี้เงินกู้ 3-4 ล้านล้านบาท จะมีความตั้งใจที่จะใช้หนี้ได้อย่างไร ที่กำหนดไว้ว่าจะชำระหนี้หมดในปีนั้นปีนี้ เป็นเพียงมุสาวจี ที่เป็นจริงทำไม่ได้ มันจะเป็นตัวเสริมให้วิกฤตครั้งที่ 3 รุนแรงและเลวร้ายมากกว่าที่เคยเป็นมา และจะไม่มีปัญญาที่จะใช้หนี้ได้หมด ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศในเวลานี้ วจีก็บอกว่าพอเพียง แต่การกระทำยิ่งกว่าเกินความพอเพียง

เข้าสู่ประชาคมอาเซียน AEC ที่โฆษณาชวนเชื่อทุกเช้าสายบ่ายค่ำ ก็คือการเกินความพอเพียงโดยตรง เศรษฐกิจของประเทศที่เหมาะสม ไม่ได้อยู่ที่กระตุ้นความเจริญ กระตุ้นจีดีพี ซึ่งสร้างความมั่งคั่งแก่ทุนสามานย์และศักดินาสามานย์กระจุกเดียว แต่อยู่ที่การคิดสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบ เพื่อที่คนส่วนใหญ่ได้ใช้ทรัพยากรด้วยกันโดยทั่วถึง

รายงานสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติเริ่มจากปี 2008 ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากเป็นช่วงที่เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

การรายงานสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ จะต้องเริ่มแสดงให้เห็นจากปี 2006 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิที่ระดับ 50-80 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทุกวันนี้ทุนสำรองดังกล่าวสูงขึ้นถึง 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงระหว่างปี 2006-2008 ที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในเวลาเดียวกัน จากระดับ 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐเป็น 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐด้วย เป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน

จะต้องรู้สาเหตุช่วงเวลาดังกล่าวว่า ระหว่างปี 2006 - 2008 ทำไมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและค่าเงินบาทจึงได้เพิ่มขึ้นรุนแรงเช่นนั้น เมื่อรู้สาเหตุแล้วจะได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ถูกต้อง การออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้าเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2006 เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แล้วประสบความพ่ายแพ้ เนื่องจากวันที่เอามาตรการดังกล่าวมาใช้ ตลาดหุ้นตกในช่วงเวลาซื้อขายระหว่างวัน 140 จุด และต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวในวันเดียว

ปี 2013 มีการแทรกแซงดอกเบี้ยนโยบาย โดยให้ลดดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 0.50 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ระดับ 0.75 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้เงินทุนไหลเข้า และไม่ให้บาทแข็งค่าขึ้น

ซึ่งหากลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75 เปอร์เซ็นต์ ดอกเบี้ยออมทรัพย์ก็จะต้องถูกลดลง 0.75 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ก็จะทำให้ดอกเบี้ยออมทรัพย์เหลือ 0 (ศูนย์) เปอร์เซ็นต์ ความจริงอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์และดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวก็ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศอยู่แล้ว วิธีการเช่นนี้ยิ่ง (เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ) ทำให้เงินบาทของระบบมีค่าน้อยลงไปอีก คนไทยและประเทศไทยจะยากจนลงไปอีก

การไม่ทราบแต่แรกตั้งแต่ปี 2006 ว่าทำไมเงินทุนจึงไหลเข้า และบาทจึงแข็งค่าขึ้น การคิดลดดอกเบี้ยนโยบาย จึงเป็นเพียงการสะเปะสะปะของการแก้ปัญหามหภาคทางการเงิน โดยไม่ทราบต้นเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงต่อทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและค่าเงินบาทว่าเป็นอย่างไร

การไหลเข้าออกของเงินทุนมีต้นเหตุมาจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรเป็นสำคัญ ทำให้ค่าเงินบาทและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปตามการเก็งกำไรดังกล่าว

ตลาดหุ้นเป็นสิ่งผิดปกติของโลกทุนนิยม เป็นแหล่งอบายมุขที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตต่อระบบ เป็นที่หาประโยชน์ของทุนนิยมสามานย์จากทรัพยากรของโลก เอารัดเอาเปรียบโลก ทรัพยากรของโลกจะตกไปเป็นของคนส่วนน้อย จะทำให้ทุนนิยมสามานย์และศักดินาสามานย์ ซึ่งเป็นคนเพียงกระจุกเดียวของโลกมั่งคั่งขึ้น แต่สังคมเสื่อมลงและวุ่นวายมากขึ้น คนส่วนใหญ่ของโลกเดือดร้อน ทุกข์เข็ญลำเค็ญเพิ่มขึ้นและยากจนลง ยิ่งเปิดตลาดอนุพันธ์ ยิ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดอบายมุขมากขึ้น ทำให้ Hedge fund โลกมากอบโกยทรัพยากรจากประเทศไทยและคนไทยได้ง่ายขึ้น

กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จำนำข้าวทุกเม็ดที่ขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท กู้เงินเพื่อสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท การพักหนี้ดี ฯลฯ ไม่ได้เกิดจากความคิดของคนธรรมดา เป็นความคิดจากคนที่สมองและจิตใจที่ผิดปกติ เป็นการกู้เงินที่เกินความพอเพียง จะซ้ำเติมให้วิกฤตรอบใหม่รุนแรงมากอย่างเหลือเชื่อ รุนแรงมากกว่าวิกฤตทางการเงิน จนต้องเข้าโครงการ IMF เมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา

จำนำข้าวทุกเม็ดที่ขาดทุนปีละ 2.6 แสนล้านบาท หากนำมาใช้หนี้สาธารณะหรือหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะช่วยใช้หนี้สาธารณะและหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้มาก

อย่างที่เกริ่นไว้ในชื่อบทความเหมือนจงใจจะให้เกิดความย่อยยับประเทศ ความจริงไม่ใช่เหมือน.. แต่เป็นการจงใจจะให้เกิดความย่อยยับกับประเทศโดยตรงยิ่งประเทศย่อยยับมากเท่าใดเขายิ่งพอใจมากเท่านั้น กล่าวไปไยว่าทำไมจิตใจถึงดำอำมหิตกับประเทศชาติเช่นนี้ พูดกันไม่รู้เรื่องหรอก เราจะพูดกับคนวิกลจริตรู้เรื่องได้อย่างไร?

http://twitter.com/indexthai2

indexthai2@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น