xs
xsm
sm
md
lg

อะไรคือความล้มเหลวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

นับตั้งแต่เริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2554 ระยะเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรประสบความล้มเหลวในการบริหารประเทศอย่างสิ้นเชิง เป้าหมายหลักของนโยบายที่ระบุว่า “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” กลับเกิดผลลัพธ์ไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามทั้งสิ้น สิ่งที่ปรากฏขึ้นจนเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะคือ การทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ “มีรายได้ลดลง มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น และมีการขยายหนี้สินอย่างต่อเนื่อง”

กล่าวให้ชัดเจนก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้ ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยากจนลง ต้องแบกรับหนี้สินของประเทศอย่างทั่วหน้าชั่วลูกชั่วหลาน ทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนเกิดค่านิยมการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย บริโภคเสพสุขเฉพาะหน้าอย่างเกินพอดี และไม่สนับสนุนการออมแก่ประชาชน

ในอีกด้านหนึ่ง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างความยากจนอย่างทั่วหน้าแก่ประชาชนทั่วไปคือ การทำให้กลุ่มคนส่วนน้อยอันเป็นพวกพ้องตนเอง อันได้แก่ นักการเมือง นักธุรกิจ และหัวคะแนนระดับท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้เครือข่ายอุปถัมภ์ของรัฐบาลร่ำรวยเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล นั่นคือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ขยายช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมออกไปจนยากที่จะผสานกลับคืนมาได้

กรณีการลดลงของรายได้เกิดขึ้นในกลุ่มเกษตรจำนวนมหาศาล เช่น เมื่อ ปี 2554 ชาวสวนยางพาราขายยางแผ่นดิบได้เฉลี่ยประมาณ 137.50 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2555 ราคายางแผ่นดิบลดลงเหลือ 96.90 บาทต่อกิโลกรัม เงินชาวสวนยางหายไปถึง 40.60 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2556 ราคายางแผ่นดิบลดลงเหลือประมาณ 84 บาทต่อกิโลกรัม เงินหายไปอีก 12.90 บาทต่อกิโลกรัม

ระยะเวลาเกือบสองปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำให้รายได้ของชาวสวนยางลดลงถึง 53.5 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 38.90 สมมติว่าเมื่อสองปีที่แล้วชาวสวนยางมีรายได้ 200,000 บาทต่อปี ณ ปัจจุบันพวกเขามีรายได้เหลือเพียง 122,200 บาทเท่านั้น เงินหายไปถึง 77,800 บาท

อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นนโยบายที่ลดรายได้ของประชาชนได้อย่างไร กรณีชาวสวนยางเป็นเพียงกรณีหนึ่งเท่านั้น ยังมีเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นที่ประสบชะตากรรมเดียวกันกับชาวสวนยางอย่างมหาศาล เช่น ชาวสวนปาล์ม

ในปี 2554 ราคาปาล์มเฉลี่ย 5.62 บาทต่อกิโลกรัม ต่อมาในปี 2555 ลดลงเหลือ 4.90 บาท และในปี 2556 ราคาเฉลี่ยเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมก็ลดลงไปอีกเหลือเพียง 3.66 บาทต่อกิโลกรัม เงินชาวสวนปาล์มหายไปถึงร้อยละ 34.87 ดังนั้นหากในปี 2554 ชาวสวนมีรายได้ 200,000 บาทต่อปี ณ ปัจจุบันพวกเขาจะมีรายได้เหลือเพียง 130,260 บาท เงินหายไปถึง 69,740 บาท

รัฐบาลอาจแก้ตัวว่า แม้ว่าเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นๆจะมีรายได้ลดลง แต่ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่การทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นหาได้เกิดจากฝีมือการบริหารรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะการทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นคนละเพียงไม่กี่บาท กลับทำให้รัฐบาลต้องขาดทุนไปถึงสองแสนกว่าล้านบาท และเงินที่ขาดทุนนั้นมาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้สินจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลเป็นจำนวนมหาศาล

สำหรับกลุ่มที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากนโยบายค่าแรงวันละ 300 บาทได้รับผลกระทบนานัปการ เพื่อนผู้ใช้แรงงานส่วนหนึ่งของพวกเขาต้องถูกเลิกจ้างกลายเป็นคนว่างงาน อีกส่วนหนึ่งก็ต้องเผชิญหน้ากับการปรับลดสวัสดิการในสถานที่ทำงานลง และอีกส่วนหนึ่งก็ต้องแบกรับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นจากนายจ้าง และเมื่อเผชิญหน้ากับภาวะเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพงขึ้นแทบทุกชนิด จึงเท่ากับว่าค่าแรงที่ได้เพิ่มขึ้นไม่ทำให้รายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเลย

ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์นอกจากจะไม่สนับสนุนประชาชนให้รู้จักการประหยัดอดออมแล้ว ยังใช้นโยบายกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเกินฐานและความจำเป็นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากนโยบายรถคันแรก ซึ่งทำให้มีคนซื้อรถใหม่เป็นจำนวนมากถึงล้านกว่าคัน ทำให้แต่ละคนมีหนี้สินหลายแสนบาทตามราคารถยนต์ที่ตนเองไปซื้อมา

ในท้ายที่สุดก็จะมีคนจำนวนมากที่ไม่อาจผ่อนรถได้ ต้องกลายสภาพเป็นคนล้มละลายสูญสิ้นความน่าเชื่อถือทางการเงิน และจะส่งผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินของพวกเขาในอนาคต บางคนอาจแก้ปัญหาหนี้สินจากการซื้อรถโดยการทำผิดกฎหมาย กลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป

รัฐบาลยังทำให้รายจ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด โดยการเตรียมขึ้นราคาน้ำมันดีเซล และแก๊สหุงต้มในเร็วๆนี้ และเมื่อสินค้าทั้งสองขึ้นราคาผลกระทบที่ตามมาคือ จะทำให้สินค้าอุปโภค บริโภคอื่นๆต้องปรับราคาขึ้นตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ราคาข้าวราดแกง ข้าวผัดกระเพรา และอาหารตามสั่งอื่นๆที่เป็นอาหารหลักสำหรับการยังชีพของประชาชนคนเดินดินทั่วไป ซึ่งเคยขึ้นราคามาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปีแรกๆของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงจะปรับราคาขึ้นอีกภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า และรายจ่ายของประชาชนก็คงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

รัฐบาลยังมีแผนในการทำให้รายจ่ายด้านสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นด้วย โดยร่วมมือกับบริษัทยาข้ามชาติบ่อนทำลายองค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้เป็นเพราะองค์การเภสัชกรรมกำลังเตรียมการผลิตยาราคาถูกที่มีความจำเป็นต่อการรักษาโรคหลายชนิด ซึ่งจะทำให้บริษัทยาข้ามชาติสูญเสียประโยชน์อย่างมหาศาล ดังนั้นรัฐบาลจึงให้คณะกรรมการองค์การเภสัชทำการปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัช ผู้ที่มีความสามารถและมีการทำงานที่เสียสละต่อประเทศชาติอย่าง นพ. วิฑิต อรรณเวชกุล ออกไปให้พ้นเส้นทาง

ด้านเรื่องของการขยายโอกาสนั้นปรากฏว่ารัฐบาลได้กระทำในทางที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือรัฐบาลได้ทำลายโอกาสของประชาชนไทยไปอย่างย่อยยับในหลายด้าน เช่น การทำลายโอกาสและคุณภาพทางการศึกษา และการทำลายศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ของประเทศ

แนวทางการทำลายโอกาสและคุณภาพการศึกษาที่ชัดเจนที่สุดคือ การกำหนดนโยบายให้ยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็ก ผลที่ตามมาคือเด็กนักเรียนตัวเล็กๆนับแสนคนต้องเดินทางไปเรียนในโรงเรียนที่ไกลจากบ้านมากขึ้น จากการศึกษาวิจัยของหลายๆประเทศพบว่า ยิ่งนักเรียนต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้นเท่าไร สมาธิในการเรียนก็จะลดลงเพราะต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้คุณภาพในการเรียนลดลงด้วย ทั้งยังทำให้โอกาสของเด็กในการใช้เวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวลดลงไปด้วย บิดาและมารดาของเด็กก็ต้องมีภาระมากขึ้นด้วย และที่สำคัญชีวิตของเด็กต้องมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากการเดินทาง และแน่นอนที่สุดว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากนโยบายยุบโรงเรียนคือบริษัทผลิตรถตู้ เพราะรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณนับพันล้านบาทสำหรับซื้อรถตู้รับส่งนักเรียนเอาไว้แล้ว

การทำลายศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์คือ การบั่นทอนการศึกษาวิจัยแสวงหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การลดการให้ทุนการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และการบั่นทอนขวัญกำลังใจในการทำงานของบรรดานักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยไม่เพิ่มเงินเดือน และไม่ให้ค่าตอบแทนพิเศษตามความสามารถ อีกทั้งยังตัดงบประมาณของ สวทช.ลงอย่างมหาศาล จากที่ สวทช.เสนอ 4 หมื่นล้านบาท รัฐบาลให้เพียง 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น การลดลงของงบประมาณย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการวิจัยและการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ

นอกจากจะไม่ขยายโอกาสให้แก่ประชาชนและประเทศแล้ว สิ่งที่รัฐบาลทำคือ การขยายหนี้สินจำนวนมหาศาล ที่เห็นอย่างชัดเจนแล้วคือ หนี้โครงการจัดการน้ำจำนวน 3.5 แสนล้านบาท หนี้จากการขาดทุนนโยบายจำนำข้าวอีก 2.6 แสนล้านบาท และที่อยู่ระหว่างเตรียมการอีก 2.2 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ขยายหนี้สินจนท่วมประเทศ และประชาชนต้องแบกรับภาระเหล่านี้ไปชั่วลูก ชั่วหลานกว่าจะมีการใช้หนี้ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก่อเอาไว้

หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังคงบริหารประเทศต่อไป เราไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะพูดได้ว่า รัฐบาลจะไม่สร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีก จากประสบการณ์ที่เห็นในช่วงสองปีนี้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในปีหน้า หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์คงบริหารประเทศอยู่ รัฐบาลก็คงจะกู้เงินสร้างหนี้ให้แก่คนไทยและประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

การทำให้ประชาชนมีรายได้ลดลง มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น การขยายหนี้สิน และการทำลายระบบสังคมไทยอย่างรอบด้านโดยทำให้ มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น การทำให้โอกาสและคุณภาพการศึกษาลดลง การทำลายโอกาสการเข้าถึงยาที่มีราคาถูก และการทำลายการวิจัยและบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ นอกจากเป็นตัวบ่งชี้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ประสบความล้มเหลวในการบริหารประเทศอย่างสิ้นเชิงแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยรวม และยังเป็นการบ่งชี้ถึงการทำลายศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาวอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น