xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ยื่นศาลฯคุ้มครองชั่วคราว ระงับแก้ม.68 สั่งสภาถอนร่าง-พร้อมยุบ6พรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- พันธมิตรฯ แถลงการณ์ ซัดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ลุอำนาจ มุ่งแสวงหาประโยชน์พวกพ้อง ล้างความผิดอาญา ลั่นค้านนิรโทษ"นช.แม้ว" อย่างถึงที่สุด สับแก้รัฐธรรมนูญทำลายหลักการพิทักษ์กฏหมาย พร้อมยื่นศาลรธน. คุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับร่างแก้ ม.68 วาระ 2 จนกว่าจะวินิจฉัย ขอให้สั่งถอนร่าง พร้อมยุบ 6 พรรค เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ส่ง "สุวัตร- ปานเทพ" ยื่นช่วงบ่าย ด้าน“จารุพงศ์”ยัน เดินหน้า“ปรองดอง-นิรโทษฯ”อ้างทำตามข้อเสนอ “คอป.-กมธ.ปรองดอง”ปัด ทำเพื่อ“แม้ว”คนเดียว ขณะที่รองปธ.สภา ออกรับหน้าแทนรัฐบาล ยันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่เกี่ยวการเงิน และจะยื่นตีความไม่ได้ เผยดันเข้าระเบียบวาระไปแล้ว ขณะที่ฝ่ายค้านเชื่อ พท.เล่นละครตบตา เตือนนายกฯ อยากอยู่ครบวาระ ต้องสั่งถอนจากสภา

วานนี้ (27 พ.ค.) ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษก และแกนนำรุ่นที่ 2 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 3/2556 เรื่อง หยุดยั้งการล้มล้างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและพวกพ้องโดยระบุว่า

"ตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2556 ค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง และ คัดค้านกฎหมายกู้เงินมหาศาลสร้างหนี้สินให้กับชาติ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556 และมีมติมอบหมายให้ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการและนักกฎหมายเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติม และหากพบประเด็นหรือช่องทางเพิ่มเติมหรือบทลงโทษต่อผู้ที่กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อเนื่องจนถึงที่สุดนั้น

บัดนี้เมื่อปรากฏอย่างชัดเจนว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีความลุแก่อำนาจ ไม่ฟังเสียงประชาชน มุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องมากขึ้น มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างใหญ่หลวง ในการจำนำข้าว, มีการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่กำหนดราคากลาง ขาดความโปร่งใส และใช้งบประมาณเกินความจำเป็นโดยไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม, เดินหน้ารับอำนาจศาลโลกในการตีความคดีปราสาทพระวิหาร ทั้งๆที่ประเทศไทยไม่ต่ออายุปฏิญญาการรับอำนาจศาลโลกโดยบังคับมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2505, การไม่กระจายงบประมาณลงสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ, และปล่อยให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไปทุกหย่อมหญ้า ฯลฯ เราจึงขอให้กำลังใจภาคประชาชนทุกกลุ่มที่ได้แสดงออกและเคลื่อนไหวการกระทำของรัฐบาลที่ล้มเหลวและฉ้อฉลในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้นพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ ยังได้เหิมเกริม ลุแก่อำนาจ เดินหน้าในการออกกฎหมายเพื่อลบล้างความผิดให้กับตัวเองและพวกพ้องในคดีความอาญาร้ายแรงโดยไม่ฟังเสียง และไม่สนใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว ตลอดจนยังปล่อยให้มีการเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกความผิดให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย ซึ่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า เราจะคัดค้านการออกกฎหมายล้างความผิดให้กับนักโทษชายทักษิณ และพวกอย่างถึงที่สุด แม้ว่าในชั้นนี้จะยังไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระดังกล่าวก็ตาม

และเราขอเตือนไปยังพรรคเพื่อไทยอีกครั้งหนึ่งว่า หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังคงเดินหน้าพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไปโดยไม่ฟังเสียงผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มอื่นๆ เช่นนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็จะคัดค้านในเรื่องดังกล่าวอย่างถึงที่สุด โดยให้ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เพียงฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม กรณีเร่งด่วนในปัจจุบัน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 นั้น นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแสดงเจตนาอย่างชัดเจนที่จะลด และลิดรอน สิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้ประชาชนมีสิทธิยื่นคำร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านอัยการสูงสุดตามมาตรา 68 ได้เฉพาะเพียงแค่หมวดที่ 3 อันหมายถึง สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเท่านั้น และนั่นหมายความว่า หากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งอยู่ในหมวดที่ 15 เพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประชาชนจะไม่สามารถยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ไม่ว่าจะผ่านอัยการสูงสุด หรือไม่ก็ตาม จึงย่อมเท่ากับเป็นการทำลายหลักการสำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อันเป็นหน้าที่ของประชาชนที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม หากแม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ในหมวดที่ 3 ก็ยังต้องยื่นต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอัยการต่างได้รับผลประโยชน์และตำแหน่งจากการเป็นคณะกรรมการในกิจการรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาลกลายเป็นผู้ขัดขวางไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิยื่นคำร้องต้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการลดอำนาจประชาชน และเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายรัฐบาล หลีกเลี่ยงและขัดขวางกระบวนการตรวจสอบจากประชาชนไม่ให้เข้าถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังกล่าวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงไม่เห็นด้วยและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้มีผู้ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวและศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องดังกล่าวแล้ว แต่คณะทนายและนักวิชาการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่าภายหลังจากการยื่นของกลุ่มบุคคลต่างๆแล้ว พรรคเพื่อไทยยังมีพฤติกรรมอื่นๆ ตามมาที่สะท้อนให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะต้องการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่เคารพหลักนิติรัฐ และหลักการถ่วงดุลอำนาจโดยตุลาการ เช่น การเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับพวกพ้องที่ผู้ที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาร้ายแรง, การออกแถลงการณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ, โฆษณาชวนเชื่อใส่ร้ายป้ายสีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยข้อความอันเป็นเท็จ, การสไกป์ของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ทั้งในเวทีคนเสื้อแดงและการมีอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทย, การปล่อยให้มีมวลชนข่มขู่และกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้พิจารณาคดีความที่รัฐบาลได้กระทำความผิด ฯลฯ ตัวอย่างพฤติกรรมที่ปรากฏเป็นหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเหล่านี้เป็นการดำเนินการที่เป็นขบวนการเพื่อทำลายการแบ่งแยกและการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หาได้เป็นหนทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีความเห็นว่าจำเป็นต้องยื่นคำร้องโดยอ้างอิงหลักฐานและพยานแวดล้อมเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นดังกล่าว เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ในการพิจารณาคดีครั้งนี้ โดยคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังต่อไปนี้

1. มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะมีการเร่งรัดจะให้รีบผ่านร่างรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68) ดังกล่าว ใช้เป็นกฎหมาย เพื่อจะนำไปสู่การลงมติในวาระที่สาม ของร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ที่ค้างอยู่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ จึงมีการเปิดประชุมวิสามัญในวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 และอาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาระที่สอง จึงขอให้มีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาระที่สอง ไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

2. การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 311 คน เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช .... ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาเพื่อให้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการใช้สิทธิที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นอันตกไป

3. การที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แล้วบรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือสิทธิที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553

4. การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 311 คน ผู้ เสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา แล้วนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ บรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 311 คน ออกแถลงการณ์ต่อต้านและไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 311 คน จึงเป็นการใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ จึงขอให้วินิจฉัยสั่งการให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้เลิกกระทำการดังกล่าว โดยสั่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาถอนร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวออกจากการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่สองหรือวาระที่สาม และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาไม่บรรจุเรื่องร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวาระที่สอง หรือวาระที่สาม หรือถอนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวออกจากระเบียบดังกล่าวในวาระที่สอง หรือวาระที่สาม

5. การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 374 คน ดังกล่าว ลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

6. วินิจฉัยสั่งการให้ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองเหล่านี้ต่างเสนอกฎหมายและออกแถลงการณ์ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

7. วินิจฉัยสั่งการให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารของพรรคดังกล่าว ทุกพรรค เป็นระยะเวลาห้าปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง เพราะพรรคการเมืองเหล่านี้ต่างเสนอกฎหมายและออกแถลงการณ์ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

8. ให้ยุติการกระทำของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดและมีคำสั่งให้การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันมิอาจกระทำได้

ทั้งนี้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงมีมติให้ยื่นคำร้องดังกล่าว โดยมอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำรุ่นที่สองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปยื่นคำร้องดังกล่าวในวันเดียวกันนี้ ในเวลาประมาณ 13.30 น. - 14.00 น."

ขณะเดียวกันนายสุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ได้มีกลุ่มคณะบุคคล 4 กลุ่มยื่นคำร้องตามมาตรา 68 หลังจากยื่นแล้วเกิดเหตุการณ์ที่ตามคือ รัฐสภาไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการไม่ยอมรับอำนาจศาลนั้นก็ทำให้เห็นว่า อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ โดยนิติบัญญัติ ร่วมกับบริหาร คัดค้านอำนาจตุลาการ เมื่อย้อนหลังไปคราวที่แล้ว ที่ยื่นคำร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ายื่นแก้ทั้งฉบับนั้นทำไม่ได้ หากไม่ทำประชาพิจารณ์ ดังนั้นจะต้องแก้ทีละมาตรา ขณะที่รบ.ยังคงดึงดั้นวาระ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ พร้อมโหวตเมื่อไรก็ได้ แต่ก่อนที่จะโหวตตามมาตรา 291 วาระ 3 จึงแก้มาตรา 68 เพื่อไม่ให้ปฏิบัติเพื่อไม่ให้สามารถคัดค้านกันได้ ซึ่งคราวที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ยังไม่ได้แก้ไข ยังมองเจตนาไม่ออก ขณะที่นายสมศักดิ์ ไปแถลงต่อศาล ว่าไม่มีวัตถุประสงค์จะแก้อย่างนั้น แต่ขนาดนี้เห็นชัดแล้วว่า การที่แก้มาตรา 68 ซึ่งครั้งที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า หากส.ส.-ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญเมื่อไร มีสิทธิยื่นคำร้องตลอดเวลาในทุกขั้นตอน จึงยื่นแก้ม. 68 เพื่อไม่ไห้ขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญได้ ซึ่งจะให้ได้ว่าเจตนาชัดเจน

ขณะที่เหตุใดถึงต้องร้องตามภาคประชาชน ที่ยื่นเรื่องร้องไปแล้ว นายสุวัฒน์ ระบุว่า พบว่ามีการกระทำใหม่เกิดขึ้น และคำร้องของบางกลุ่มขาดข้อมูล จึงรวบรวมเป็นคำร้องฉบับนี้ซึ่งสมบูรณ์ที่สุด เติมเต็มคำร้องฉบับอื่นที่ขาด พร้อมทั้งมีหลักฐาน และได้ยื่นเรื่องไต่สวนฉุกเฉินเพื่อไม่ให้มีการประชุม นี้ก็คือสาระที่แกนนำพันธมิตรมีความคิดที่จะให้ทำ โดยตนได้ร่างคำร้องเรียบร้อย จะไปยื่นเวลาบ่ายโมง วันเดียวกันนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการรวมมวลชนอื่น ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลเพื่อกดดันหรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า ในแถลงการณ์ฉบับนี้ชัดเจน คือให้กำลังใจมวลชนทุกกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของชาติ ปละเป็นการออกคำเตือนรัฐบาลในเรื่องการตรากฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการล้างผิด พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก ขณะเดียวกันเป็นการใช้สิทธิของประชาชนในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจากกลุ่มมวลชน ว่าการกระทำที่มีการแก้ไขมาตรา 68 ไม่ได้เป็นไปตามวิธีทางที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งเราได้แถลงชัดเจนให้กำลังใจกลุ่มอื่น

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เงื่อนไขตอนนี้ที่จะชุมนุม นายปานเทพ กล่าวตอบว่า ถึงเวลานี้ยังไม่มีวาระเข้าสู่การประชุม แม้มีวาระเข้าสภา แต่ก็ไม่มีการประชุมจริง เราทำได้ในเวลานี้คือออกสัญญานเตือนรัฐบาล ถ้าหากยังเดินหน้าต่อไป ก็ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้านพล.ต.จำลอง ศรีเมือง กล่าวต่อว่า การยื่นคำร้องในครั้งนี้ จะมีผลให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้นอย่างแน่นอน ตามคำร้องขอทั้ง 8 ข้อ การทำอย่างนี้เป็นขั้นตอนที่เหมาะสมที่สุด ของการช่วยชาติบ้านเมืองที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยการพิจารณาของพันธมิตรที่ผ่านมา การจะกระทำการมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยประสบความสำเร็จทุกขึ้นตอน ครั้งนี้เราก็เชื่อว่าจะเช่นนั้นอีก เราได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด และการพิจารณาแต่ละขั้นตอนนั้นก็เป็นการพิจารณาตามแต่ละสถานการณ์ ไม่สามารถจะคาดล่วงหน้าได้รับรองว่าพันธมิตรฯ ประชุมและตัดสินใจรวดเร็ว ทั้งนี้ยังหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาคำร้องของพันธมิตรฯ พร้อมกับคำร้องของกลุ่มบุคคลที่ยื่นไปก่อนหน้านี้

** ร้องศาลรธน.เบรกแก้มาตรา 68

ต่อมาเวลา 15.30 น. นายปานเทพ และนายสุวัตร ได้เดินทางไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 ของประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา 312 คน เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรรคเป็นเวลา 5 ปีหรือไม่ โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ นำคำร้องดังกล่าวไปรวมพิจารณากับ 4 คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับ และมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นสำนวนเดียวก่อนหน้านี้

นายปานเทพ กล่าวว่าการมายื่นคำร้องครั้งนี้ไม่ถือว่าช้าเกินไป แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะประชุมในวันที่ 29 พ.ค. เพื่อพิจารณาว่า จะกำหนดกระบวนวิธีพิจารณาอย่างไร เพราะคำร้องที่ยื่นเป็นการเติมเต็มให้กับ 4 คำร้อง ที่ศาลฯรับวินิจฉัยไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีการชี้ให้เห็นถึงพฤติการณ์ต่างๆ ของแกนนำพรรคเพื่อไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เห็นถึงเจตนาของการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 ว่าจะนำไปสู่การล้มเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องของการจิตนาการ หรือเป็นการคาดการณ์ไปก่อนล่วงหน้า

นายปานเทพ ยังกล่าวอีกว่า พันธมิตรฯเห็นว่าการที่กรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จะมีการแก้มาตราดังกล่าว โดยกำหนดเงื่อนเวลาให้อัยการพิจารณา กรณีมีคำร้องว่ามีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ และหากพ้นระยะเวลาแล้วอัยการดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ผู้ที่พบเห็นการกระทำสามารถยื่นตรงให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้นั้น ไม่ได้ถือว่า เป็นการคงสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนเพราะในทางคดีหากพิจารณาล้าช้าไปเพียงวันเดียวก็ทำให้เกิดความเสียหายได้ อีกทั้งเรื่องของการกำหนดระยะเวลานั้นเป็นการกำหนดเฉพาะในหมวดที่ 3 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการกระทำตามหมวดอื่น เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่อยู่ในหมวดที่15 ประชาชนจะไม่มีสิทธิยื่นคำร้องได้เลย ไม่ว่าจะผ่านอัยการสูงสุดหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นที่กรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ออกมาระบุ ว่า ที่แก้ไขมาตรา 68 นั้นไม่ได้ เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน

รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า สำหรับการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 29 พ.ค.นั้น จะเป็นการพิจารณาว่า คำชี้แจงของผู้ถูกร้องใน 4 คำร้องที่รับไว้พิจารณาวินิจฉัยส่งมานั้นครบถ้วน มีหลักฐานเพียงพอให้วินิจฉัยได้เลยหรือไม่ หรือศาลจะต้องไต่สวนเพิ่มเติม หากจะไต่สวนเพิ่มเติมจะใช้วิธีการใด ส่วนคำร้องที่กลุ่มพันธมิตรฯยื่นมาใหม่ แม้จะมีลักษณะเดียวกับ 4 คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย ก็ถือว่าเป็นคำร้องใหม่ ที่ต้องให้ตุลาการประจำคดีเป็นผู้พิจารณาก่อนว่า สมควรจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่าในการประชุมคณะตุลาการ วันที่ 29 พ.ค.นี้ จะมีการเสนอคำร้องดังกล่าวของกลุ่มพันธมิตรให้ที่ประชุมได้พิจารณาหรือไม่

** หัวหน้าพท.ยันเดินหน้านิรโทษ-ปรองดอง

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสต่อต้านรัฐบาลในโซเชียลมีเดีย น่าจะเกิดจากการที่มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารผลักดันเรื่องเหล่านี้ เพราะพรรคเพื่อไทยได้รับปากไว้แล้วว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย มีการทำกับดักไว้เยอะมาก องค์กรอิสระมีที่มาไม่ชอบ จึงต้องเดินหน้า

"การเคลื่อนไหวของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเดินหน้า ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คอป.) และคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฏร ว่าจากเหตุการณ์ต่างๆตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมา ถ้าหากไม่มีการแก้ไขอะไรเลย ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ อีกก็ได้ จึงต้องทำให้แผลที่เกิดขึ้นได้รับการสมานแผลที่ดี ส่วนจะใช้ตัวยาอะไรนั้นก็ว่ากันไป” นายจารุพงศ์ กล่าว

สำหรับกรณีที่มีการต่อต้าน เพราะเป็นการทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว นายจารุพงศ์ กล่าวว่า บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย เราจะแก้ให้เป็นประชาธิปไตย แต่ฝ่ายตรงบิดเบือนเอาเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องคนๆ เดียว ที่ถูกรัฐประหาร ทั้งๆ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีตามกติกา พรรคตรงข้ามจะไม่พูดเรื่องนี้เลยเหรอ พรรคตรงข้ามทำตัวเหมือนเป็นแนวร่วมเผด็จการ ด้วยการเปลี่ยนประเด็นที่เราจะแก้เพื่อประชาธิปไตย มาเป็นแก้เพื่อคนๆ เดียว นี่เป็นวาทะกรรม เหมือนจำลองพาคนไปตาย

“นั่นคือการหลอกลวง ของจริงคือเราต้องการเดินหน้าเพื่อแก้กติกาบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้แก้เพื่อคนๆเดียว” นายจารุพงศ์ กล่าว

เมื่อถามว่า กลุ่มต่อต้านรัฐบาล ที่ไม่ได้อยู่ในสังคมโซเชียล ทางกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานบ้างหรือไม่ นายจารุพงศ์ กล่าวว่า เรามีการหาข่าวอยู่ ได้รับรายงานว่ามีความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้อยู่ แต่รายละเอียดยังเปิดเผยไม่ได้ ส่วนการเคลื่อนไหวนี้จะเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือไม่นั้น เชื่อว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเพราะเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง

**"เจริญ"ยันร่าง พรบ.ปรองดองไม่เกี่ยวการเงิน

นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในฐานะรักษาการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนได้สั่งให้บรรจุ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เข้าระเบียบวาระการประชุมสภาแล้ว ซึ่งยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ตามที่ฝ่ายค้านระบุ เนื่องจาก 1. ไม่เข้าข่ายการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน 2. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิธีการบริหารเงินแผ่นดิน และ 3. ไม่เกี่ยวข้องกับการโอนงบประมาณแผ่นดิน

ส่วนการที่ฝ่ายค้านจะยื่นตีความร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น ทำไม่ได้เพราะตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจประธานสภา เป็นผู้วินิจฉัยว่าเกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่และหากยังมีปัญหา เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระก็เสนอให้ประธานสภาฯ เรียกประชุมประธานคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ เพื่อหาข้อยุติเรื่องดังกล่าวได้

ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไป จากการพิจารณาของสภาก่อนนั้น นายเจริญ กล่าวว่า เป็นสิทธิตามกฎหมายที่ส.ส.จะยื่นร่างกฎหมายได้ เมื่อยื่นแล้วก็ต้องพิจารณาไปตามข้อบังคับ เปิดสภาแล้วจะพิจารณาหรือไม่ ก็อยู่ที่สภาฯ จะยกเว้นเรื่องใดก็ต้องแล้วแต่ที่ประชุม

ส่วนการที่จะนำร่างพ.ร.บ.ปรองดอง กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปรากการ พรรคเพื่อไทย มาพิจารณารวมกัน นั้นก็ต้องดูหลักการ และเนื้อหา แต่ส่วนตัวเห็นว่ารวมกันลำบาก และควรนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของร.ต.อ.เฉลิม เป็นหลัก แล้วนำร่างของนายวรชัย มารวมน่าจะเป็นไปได้มากกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม

** "เสื้อแดง"ไม่เอาร่าง ปรองดอง

นายณัทพัช อัคฮาด น้องชายน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่19พ.ค.53 ระหว่างการชุมนุมทางการเมือง กล่าวถึงความเห็นที่แตกต่างจากฝ่ายการเมือง ระหว่างกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านพรบ.ปรองดอง ของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้นิรโทษกรรมทุกฝ่ายว่า ข้อหารือของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตยังยืนยันเหมือนเดิม ไม่ต้องการให้นิรโทษคนผิด คนสั่งฆ่าประชาชน ในวันที่ 30พ.ค.กลุ่มญาติจะมีการแถลงข่าวต่อท่าทีในเรื่องนี้ ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ และจะมีเซอร์ไพร์สเล็กๆภายในงานด้วย การออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือปรองดอง ควรเริ่มมาจากประชาชน ไม่ใช่จากฝ่ายการเมือง ที่ไปแอบร่างกฎหมายและมายื่นกันเอง โดยไม่มาถามญาติ ครอบครัวผู้เสียชีวิตว่าวันนี้เขาพร้อมให้อภัยทุกฝ่ายทุกสีเสื้อแล้วหรือยัง ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะเป็นเหยื่อไปตลอด แต่พวกคุณไม่เคยมองประชาชนอยู่ในสายตา อย่าให้วันหนึ่งเราไม่มองคุณในสายตาบ้าง นอกจากนี้ที่เราออกมาคัดค้านไม่ให้นิรโทษผู้สั่งการหรือทหาร ก็เพราะไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานครั้งต่อไป

**แนะ"ยิ่งลักษณ์"เบรกร่าง ปรองดอง

นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ว่า วันนี้ส.ส.พรรครัฐบาลเองยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่มีความชัดเจนในการพิจารณากฎหมายลักษณะดังกล่าว คำถามคือวันนี้รัฐบาลมีเป้าหมายอย่างไร
“เราอยากเห็นรัฐบาลแสดงให้สังคมเห็นชัดว่ามีความประสงค์อย่างไร เพราะรัฐบาลเป็นคนที่กำหนดได้ว่าจะเดินไปทางไหน กฎหมายปรองดอง นิรโทษกรรม เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสงบในสังคม ถ้ารัฐบาลยังอยากบริหารงบ 2ล้านล้านบาท แล้วสร้างรากฐานให้กับประเทศ ถ้าถามใจนายกฯ คงไม่เห็นด้วยที่เป็นอย่างนี้ อะไรที่ทำให้บรรยากาศรุ่มร้อนรัฐบาลไม่น่าไปสุมไฟ ถ้ารัฐบาลอยากลดเงื่อนไขความร้อนแรงไม่ให้คนอื่นหาเหตุมาต่อต้านก็ไม่ควรสร้างบรรยากาศให้อีกฝ่ายออกมา โดยนายกฯควรไปบอกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้หยุด” นายศุภชัย กล่าว

ด้าน นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหน.พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย และ ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ของร.ต.อเลิม อยู่บำรุง เป็นเรื่องที่รู้กันในพรรค และเป็นการเล่นละครตบตาคนเสื้อแดง โดยให้ส.ส.เสื้อแดง ออกมาต่อต้านกฎหมายของ ร.ต.อ.เฉลิม และสุดท้ายจะรับหลักการร่างของนายวรชัย เพียงร่างเดียว แต่ในชั้นแปรญัตติจะนำเนื้อหาในร่างของร.ต.อ.เฉลิม หรือร่างอื่นๆ ที่บรรจุในระเบียบวาระสภาก่อนหน้านี้มาไว้ในร่างของนายวรชัย แน่นอน

นายบุญจง กล่าวต่อว่า แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นตนเชื่อว่า การจะรับหลักการร่างของนายวรชัย ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งจะต้องเกิดการขัดขวางทั้งในและนอกสภา โดยเฉพาะมีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะต้องการให้ผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติก่อน และหากใครที่หลงผิด และเกิดการกระทำผิดก็ให้ไปต่อสู้คดีในชั้นศาลเพื่อลดโทษต่อไป

**เชื่อกม.สุดซอย-หัวเชื้อ โผล่สมัยประชุมหน้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า กฎหมายล้างผิดตามที่พรรคเพื่อไทยพยายามสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อประชาชน ซึ่งฝ่ายค้านขอเตือนว่า อย่าเพิ่งตายใจว่ารัฐบาลจะไม่สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แต่จะสนับสนุนเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย จนกว่าจะถึงวันพิจารณากฎหมายดังกล่าว เพราะที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ทำได้ทั้งนั้น เช่น ประกาศนโยบายหาเสียงว่า จะไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่วันนี้มีกฎหมายค้างวาระอยู่ในสภาถึง 5 ฉบับแล้ว ยังไม่ร่วม ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่เตรียมเข้าสู่สภาเป็น 6 ฉบับ หรือการพิจารณาสร้างความปรองดอง ที่สัญญาว่าจะจัดสานเสวนา โดยองค์กรที่เป็นกลาง กลับใช้กลไกรัฐบาลดำเนินการ โดยไม่ปฏิบัติตามที่สัญญาไว้ หรือแม้แต่ที่บอกว่าเมื่อออกกฎหมายจะไม่เอาเงินคืน ไม่มีทาง เป็นเรื่องหลอกเด็ก เพราะได้คืบต้องเอาศอก และกฎหมายล้างผิดอาจจะถูกใช้เป็นหัวเชื้อ นำไปสู่การล้างผิดแบบสุดซอย ด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจะต้องติดตามต่อไป แต่ไม่ว่าจะเป็นฉบับหัวเชื้อ หรือฉบับสุดซอย ก็ทำลายหลักนิติธรรมเหมือนกัน สังคมต้องจับตา และถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องคัดค้านตั้งแต่การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ของนายวรชัย โดยขอให้จับตาในวันที่ 7 ส.ค. ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษรรม อย่างแน่นอน เพราะได้ถูกบรรจุอยู่ในวาระที่ 1 ของสมัยประชุมสภาสามัญทั่วไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การคัดค้านของเราจะทำหน้าที่ในสภาฯ อย่างเต็มที่ ส่วนการจัดสานเสวนาที่ ครม. มีมติมานานแล้ว แต่กลับมีการจัดเวทีขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย. เชื่อว่าล็อกสเปกคำตอบไว้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น