พันธมิตรฯ แถลงการณ์ ซัดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลุอำนาจมุ่งแสวงหาประโยชน์พวกพ้อง ล้างความผิดอาญา ลั่นค้านนิรโทษ "นช.แม้ว" อย่างถึงที่สุด สับแก้รัฐธรรมนูญทำลายหลักการพิทักษ์กฏหมาย พร้อมยื่นศาลรธน.คุ้มครองชั่วคราวให้ระงับร่างแก้ม.68 วาระ2 จนกว่าจะวินิจฉัย ขอให้สั่งถอนร่าง พร้อมยุบ 6 พรรค เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ส่ง "สุวัตร- ปานเทพ" ยื่นบ่ายนี้
วันนี้ (27 พ.ค.) ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำรุ่นที่ 2 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 3/2556เรื่อง หยุดยั้งการล้มล้างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและพวกพ้องโดยระบุว่า "ตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2556 ค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง และ คัดค้านกฎหมายกู้เงินมหาศาลสร้างหนี้สินให้กับชาติ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556 และมีมติมอบหมายให้ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการและนักกฎหมายเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติม และหากพบประเด็นหรือช่องทางเพิ่มเติมหรือบทลงโทษต่อผู้ที่กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อเนื่องจนถึงที่สุดนั้น
บัดนี้เมื่อปรากฏอย่างชัดเจนว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีความลุแก่อำนาจ ไม่ฟังเสียงประชาชน มุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องมากขึ้น มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างใหญ่หลวงในการจำนำข้าว, มีการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่กำหนดราคากลาง ขาดความโปร่งใสและใช้งบประมาณเกินความจำเป็นโดยไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม, เดินหน้ารับอำนาจศาลโลกในการตีความคดีปราสาทพระวิหารทั้งๆที่ประเทศไทยไม่ต่ออายุปฏิญญาการรับอำนาจศาลโลกโดยบังคับมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2505, การไม่กระจายงบประมาณลงสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ, และปล่อยให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไปทุกหย่อมหญ้า ฯลฯ เราจึงขอให้กำลังใจภาคประชาชนทุกกลุ่มที่ได้แสดงออกและเคลื่อนไหวการกระทำของรัฐบาลที่ล้มเหลวและฉ้อฉลในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้นพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ ยังได้เหิมเกริม ลุแก่อำนาจ เดินหน้าในการออกกฎหมายเพื่อลบล้างความผิดให้กับตัวเองและพวกพ้องในคดีความอาญาร้ายแรงโดยไม่ฟังเสียงและไม่สนใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว ตลอดจนยังปล่อยให้มีการเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกความผิดให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตรเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย ซึ่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า เราจะคัดค้านการออกกฎหมายล้างความผิดให้กับ่นักโทษชายทักษิณและพวกอย่างถึงที่สุด แม้ว่าในชั้นนี้จะยังไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระดังกล่าวก็ตาม
และเราขอเตือนไปยังพรรคเพื่อไทยอีกครั้งหนึ่งว่าหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังคงเดินหน้าพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไปโดยไม่ฟังเสียงผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มอื่นๆเช่นนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็จะคัดค้านในเรื่องดังกล่าวอย่างถึงที่สุดโดยให้ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เพียงฝ่ายเดียว
อย่างไรก็ตามกรณีเร่งด่วนในปัจจุบัน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 นั้น นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแสดงเจตนาอย่างชัดเจนที่จะลด และลิดรอน สิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้ประชาชนมีสิทธิยื่นคำร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผ่านอัยการสูงสุดตามมาตรา 68 ได้เฉพาะเพียงแค่หมวดที่ 3 อันหมายถึงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเท่านั้น และนั่นหมายความว่าหากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งอยู่ในหมวดที่ 15 เพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประชาชนจะไม่สามารถยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญได้เลยไม่ว่าจะผ่านอัยการสูงสุดหรือไม่ก็ตาม จึงย่อมเท่ากับเป็นการทำลายหลักการสำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญอันเป็นหน้าที่ของประชาชนที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามหากแม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ในหมวดที่ 3 ก็ยังต้องยื่นต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอัยการต่างได้รับผลประโยชน์และตำแหน่งจากการเป็นคณะกรรมการในกิจการรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาลกลายเป็นผู้ขัดขวางไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิยื่นคำร้องต้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการลดอำนาจประชาชน และเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายรัฐบาล หลีกเลี่ยงและขัดขวางกระบวนการตรวจสอบจากประชาชนไม่ให้เข้าถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังกล่าวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงไม่เห็นด้วยและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้มีผู้ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวและศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องดังกล่าวแล้ว แต่คณะทนายและนักวิชาการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่าภายหลังจากการยื่นของกลุ่มบุคคลต่างๆแล้ว พรรคเพื่อไทยยังมีพฤติกรรมอื่นๆ ตามมาที่สะท้อนให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะต้องการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่เคารพหลักนิติรัฐ และหลักการถ่วงดุลอำนาจโดยตุลาการ เช่น การเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับพวกพ้องที่ผู้ที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาร้ายแรง, การออกแถลงการณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ, โฆษณาชวนเชื่อใส่ร้ายป้ายสีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยข้อความอันเป็นเท็จ, การสไกป์ของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ทั้งในเวทีคนเสื้อแดงและการมีอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทย, การปล่อยให้มีมวลชนข่มขู่และกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้พิจารณาคดีความที่รัฐบาลได้กระทำความผิด ฯลฯ ตัวอย่างพฤติกรรมที่ปรากฏเป็นหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเหล่านี้เป็นการดำเนินการที่เป็นขบวนการเพื่อทำลายการแบ่งแยกและการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หาได้เป็นหนทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีความเห็นว่าจำเป็นต้องยื่นคำร้องโดยอ้างอิงหลักฐานและพยานแวดล้อมเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นดังกล่าว เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ในการพิจารณาคดีครั้งนี้ โดยคำร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังต่อไปนี้
1. มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะมีการเร่งรัดจะให้รีบผ่านร่างรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68) ดังกล่าว ใช้เป็นกฎหมาย เพื่อจะนำไปสู่การลงมติในวาระที่สาม ของร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ที่ค้างอยู่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ จึงมีการเปิดประชุมวิสามัญในวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 และอาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาระที่สอง จึงขอให้มีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาระที่สอง ไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
2. การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 311 คน เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช .... ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาเพื่อให้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการใช้สิทธิที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นอันตกไป
3. การที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แล้วบรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือสิทธิที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553
4. การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 311 คน ผู้ เสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา แล้วนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ บรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 311 คน ออกแถลงการณ์ต่อต้านและไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 311 คน จึงเป็นการใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ จึงขอให้วินิจฉัยสั่งการให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้เลิกกระทำการดังกล่าว โดยสั่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาถอนร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวออกจากการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่สองหรือวาระที่สาม และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาไม่บรรจุเรื่องร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวาระที่สอง หรือวาระที่สาม หรือถอนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวออกจากระเบียบดังกล่าวในวาระที่สอง หรือวาระที่สาม
5. การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 374 คน ดังกล่าว ลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
6. วินิจฉัยสั่งการให้ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองเหล่านี้ต่างเสนอกฎหมายและออกแถลงการณ์ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
7. วินิจฉัยสั่งการให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารของพรรคดังกล่าว ทุกพรรค เป็นระยะเวลาห้าปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง เพราะพรรคการเมืองเหล่านี้ต่างเสนอกฎหมายและออกแถลงการณ์ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
8. ให้ยุติการกระทำของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดและมีคำสั่งให้การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันมิอาจกระทำได้
ทั้งนี้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงมีมติให้ยื่นคำร้องดังกล่าว โดยมอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำรุ่นที่สองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปยื่นคำร้องดังกล่าวในวันเดียวกันนี้ในเวลาประมาณ 13.30 น. - 14.00 น."
ขณะเดียวกันนายสุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ได้มีกลุ่มคณะบุคคล 4 กลุ่มยื่นคำร้องตามมาตรา 68 หลังจากยื่นแล้วเกิดเหตุการณ์ที่ตามคือ รัฐสภาไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการไม่ยอมรับอำนาจศาลนั้นก็ทำให้เห็นว่า อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ โดยนิติบัญญัติ ร่วมกับบริหาร คัดค้านอำนาจตุลาการ เมื่อย้อนหลังไปคราวที่แล้ว ที่ยื่นคำร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ายื่นแก้ทั้งฉบับนั้นทำไม่ได้ หากไม่ทำประชาพิจารณ์ ดังนั้นจะต้องแก้ทีละมาตรา ขณะที่รบ.ยังคงดึงดั้นวาระ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ พร้อมโหวตเมื่อไรก็ได้ แต่ก่อนที่จะโหวตตามมาตรา 291 วาระ 3 จึงแก้มาตรา 68 เพื่อไม่ให้ปฏิบัติเพื่อไม่ให้สามารถคัดค้านกันได้ ซึ่งคราวที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ยังไม่ได้แก้ไข ยังมองเจตนาไม่ออก ขณะที่นายสมศักดิ์ ไปแถลงต่อศาล ว่าไม่มีวัตถุประสงค์จะแก้อย่างนั้น แต่ขนาดนี้เห็นชัดแล้วว่า การที่แก้มาตรา 68 ซึ่งครั้งที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า หากส.ส.-ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญเมื่อไร มีสิทธิยื่นคำร้องตลอดเวลาในทุกขั้นตอน จึงยื่นแก้ม. 68 เพื่อไม่ไห้ขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญได้ ซึ่งจะให้ได้ว่าเจตนาชัดเจน
ขณะที่เหตุใดถึงต้องร้องตามภาคประชาชน ที่ยื่นเรื่องร้องไปแล้ว นายสุวัฒน์ระบุว่า พบว่ามีการกระทำใหม่เกิดขึ้น และคำร้องของบางกลุ่มขาดข้อมูล จึงรวบรวมเป็นคำร้องฉบับนี้ซึ่งสมบูรณ์ที่สุด เติมเต็มคำร้องฉบับอื่นที่ขาด พร้อมทั้งมีหลักฐาน และได้ยื่นเรื่องไต่สวนฉุกเฉินเพื่อไม่ให้มีการประชุม นี้ก็คือสาระที่แกนนำพันธมิตรมีความคิดที่จะให้ทำ โดยตนได้ร่างคำร้องเรียบร้อย จะไปยื่นเวลาบ่ายโมง วันนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการรวมมวลชนอื่น ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลเพื่อกดดันหรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า ในแถลงการณ์ฉบับนี้ชัดเจน คือให้กำลังใจมวลชนทุกกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของชาติ ปละเป็นการออกคำเตือนรัฐบาลในเรื่องการตรากฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการล้างผิด พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก ขณะเดียวกันเป็นการใช้สิทธิของประชาชนในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจากกลุ่มมวลชน ว่าการกระทำที่มีการแก้ไขมาตรา 68 ไม่ได้เป็นไปตามวิธีทางที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งเราได้แถลงชัดเจนให้กำลังใจกลุ่มอื่น
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าเงื่อนไขตอนนี้ที่จะชุมนุม นายปานเทพ กล่าวตอบว่า ถึงเวลานี้ยังไม่มีวาระเข้าสู่การประชุม แม้มีวาระเข้าสภา แต่ก็ไม่มีการประชุมจริง เราทำได้ในเวลานี้คือออกสัญญานเตือนรัฐบาล ถ้าหากยังเดินหน้าต่อไปก็ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ด้านพล.ต.จำลอง กล่าวต่อว่า การยื่นคำร้องในครั้งนี้ จะมีผลให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้นอย่างแน่นอน ตามคำร้องขอทั้ง 8 ข้อ การทำอย่างนี้เป็นขั้นตอนที่เหมาะสมที่สุด ของการช่วยชาติบ้านเมืองที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยการพิจารณาของพันธมิตรที่ผ่านมา การจะกระทำการมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยประสบความสำเร็จทุกขึ้นตอน ครั้งนี้เราก็เชื่อว่าจะเช่นนั้นอีก เราได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด และการพิจารณาแต่ละขั้นตอนนั้นก็เป็นการพิจารณาตามแต่ละสถานการณ์ ไม่สามารถจะคาดล่วงหน้าได้ รับรองว่าพันธมิตรประชุมและตัดสินใจรวดเร็ว ทั้งนี้ยังหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องของพันธมิตร พร้อมกับคำร้องของกลุ่มบุคคลที่ยื่นไปก่อนหน้านี้