xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถล่มรัฐบาลศึกอภิปรายงบฯ 57 พุ่งเป้าเปิดแผลเก่า “จำนำข้าว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- มีคำยืนยันแบบเอาหัวเป็นประกันจากฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร-วิปรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย แล้วว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญระหว่าง 29-31 พ.ค. 2556 นี้ จะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาเฉพาะ“ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557” วงเงิน 2,525,000 ล้านบาทเท่านั้น ไม่มีการสอดไส้อะไรเข้ามาให้สภาฯ พิจารณาเป็นพิเศษ

ไม่ว่าจะเป็น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง พ.ศ…ของ 42 ส.ส.เพื่อไทย นำโดย วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ -ร่างพระราชบัญญัติปรองดองพ.ศ… 6 มาตรา ของเฉลิม อยู่บำรุง และ 150 ส.ส.เพื่อไทย ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ตามข่าวยื่นกันไปเมื่อ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่ส่วนอื่นที่หลายคนจับจ้องจะมีพ่วงเข้าไปด้วยหรือไม่ ก็พบว่ายาก เพราะอย่าง ร่าง พระราชบัญญัติ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนามคมขนส่งของประเทศ จำนวน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลพยายามเร่งมาก่อนหน้านี้ ก็พบว่าให้เร่งยังไงก็เสร็จไม่ทันสัปดาห์หน้าแน่นอนแล้ว สุดท้ายก็ต้องไปเอาเข้าสภาฯวาระ 2 และ 3 ช่วงเปิดสภาเดือนสิงหาคม
การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 57 ซึ่ง 5 หน่วยงานแรกที่ได้รับงบมากสุดเรียงตามลำดับคือ

1.กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 481,337.8 ล้านบาท 2. กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 328,755.4 ล้านบาท 3. กระทรวงการคลัง วงเงิน 229,355.6 ล้านบาท 4.กระทรวงกลาโหม วงเงิน 184,737.5 ล้านบาท 5. กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 106,436.3 ล้านบาท

สรุปว่าเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา วิปรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ข้อตกลงกันแล้วว่า จะให้ประชุมกัน 3 วัน โดยวันที่ 29-30 พฤษภาคม เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00-24.00 น. ส่วนในวันที่ 31 พฤษภาคม เริ่มเวลา 09.00-12.00 น. โดยรัฐบาลและฝ่ายค้านจะได้เวลาในการอภิปรายและชี้แจงฝ่ายละ 15 ชั่วโมงรวม 30 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาการประท้วง ซึ่งในการพิจารณาจะมีการถ่ายถอดสดทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุตลอดทั้ง 3 วัน

เบื้องต้นดูแล้ว ดีกรีการอภิปรายงบฯ 57 ของส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ลำพังแค่ประชาธิปัตย์พรรคเดียวก็มีส.ส.ประสงค์ขอใช้สิทธิ์อภิปรายปาเข้าไปแล้ว 70 คน ยังไม่รวมกับพรรคฝ่ายค้านอื่นอย่าง ภูมิใจไทย ที่คงทำให้เป็นการอภิปรายที่คงเข้มข้นพอสมควร

ยังไม่ทันไร ประชาธิปัตย์ ก็อุ่นเครื่องบอกเวทีแห่งนี้รับรองไม่จืดชืด จะมีการอภิปรายการจัดสรรงบประมาณบางหน่วยงานพาดพิงไปถึงรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงบางคนทั้งเรื่องปัญหาการบริหารงานในกระทรวง -การตั้งข้อสังเกตุเรื่องการจัดสรรงบที่อาจไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในหน่วยงานนั้นๆ -การท้วงติงตั้งข้อสังเกตุว่า การจัดสรรงบบางโครงการ หรือบางหน่วยงานอาจเปิดช่องให้เกิดความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายเงิน และจะมีการอภิปรายติดตามทวงถามเรื่องค้างคากันไว้ระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านกับรัฐมนตรีบางคน ที่ยังมีบัญชีค้างเก่ากันอยู่

ชนิดแม้ไม่ดุดันเท่าศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็เข้มข้นกว่าการถามกระทู้สดกลางสภาฯแน่นอน
อย่างที่เห็นแน่นอนแล้วก็คือ รอบนี้ฝ่ายค้านประกาศจะทุบแผลเก่าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเรื่อง “โครงการรับจำนำข้าว”ผ่านการอภิปรายงบฯ 57 ที่จะอยู่ในส่วนของกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ แน่นอน

เจ้าเก่ารายเดิมอย่าง น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก ประชาธิปัตย์ ที่แจ้งเกิดตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องโครงการรับจำนำข้าวมาแล้ว เมื่อปี 55 จนผู้คนทั้งประเทศรู้จักตัวละครในคำซักฟอกของหมอวรงค์ อย่าง บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด- เสี่ยเปี๋ยง-เสี่ยโจว -ไอ้ปาล์ม

อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบฯ 57 นพ.วรงค์ ก็ออกมาตีปี๊ปบอกกันแต่เนิ่นๆ ให้จับตาจะมีการขุดซีรี่ส์โครงการรับจำนำข้าวภาคสอง ต่อเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจปีที่แล้วมาซัดกลางสภาฯ ให้ฮือฮาอีกรอบ หลังเคยทำมาเมื่อปีที่แล้ว

“ทีมงานของพรรคเตรียมจะเปิดโปงถึงเส้นทางความไม่โปร่งใสเพิ่มเติม จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว ที่ได้อภิปรายความไม่ชอบมาพากลในเรื่องการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ที่ครั้งที่แล้วชื่อสู่หลักประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ครั้งนี้ถือเป็นภาคต่อเนื่องซึ่งจะใช้ชื่อว่า ไรซ์ เอพิโซด ทู หรือ ฉีกหน้ากากจอมบงการ”

ได้ฟังก็ชักจะมันแล้ว หวังว่าหมอวรงค์คงมีทีเด็ดจริงมาแฉกลางสภาฯ ยิ่งตอนนี้ พบว่าโครงการรับจำนำข้าวก็กำลังกลับมามีปัญหา น้ำลดตอผุดให้เห็นเรื่อยๆ

อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวปรากฏออกมาว่า ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องของเม็ดเงินที่จะเอาไปรับซื้อข้าวเปลือกทุกเมล็ดจากเกษตรกร เพราะทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แสดงเจตจำนงที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลกู้เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องในโครงการอีก 90,000 ล้านบาทอีกต่อไป แล้วอยากให้รัฐบาลไปหาแหล่งเงินกู้ใหม่ แล้วยังไม่นับรวมอีกหลายปัญหาคั่งค้าง เช่น การระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่ล่าช้า ไม่สามารถกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าจะขายข้าวได้เมื่อไร มูลค่าเท่าใด ก็เชื่อว่าปัญหาโครงการรับจำนำข้าวที่สะสมไปเรื่อยๆ แบบนี้ ตอนนี้ทางส.ส.ประชาธิปัตย์ได้เริ่มแบ่งทีมกันแล้วว่า จะให้มีส.ส.คนไหนของพรรคย้ำแผลเรื่องโครงการรับจำนำข้าวแบบเอาให้แผลเดิมที่ประชาธิปัตย์เคยเปิดเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งป่านนี้ยังไม่หาย มารอบนี้ต้องย้ำแผลเดิมหนักขึ้นไปอีกเพื่อหวังให้กลายเป็นแผลอักเสบประจานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลางสภาฯอีกครั้งให้ได้

อย่างไรก็ตาม ถึงเวลานี้ ยังไงเสียรัฐบาลเพื่อไทย ก็ไม่มีวันล้มเลิกโครงการรับจำนำข้าวแน่นอน เพราะนอกจากเสียหายทางการเมืองแล้วยังเท่ากับยอมรับว่าเป็นโครงการที่ผิดพลาด ก็เลยเป็นอย่างที่เห็น ปัญหาก็ยังคงมีให้เห็นกันไม่จบสิ้น แต่ก็ดันทุรังกันต่อไป อย่างในงบฯ 57 ก็มีการตั้งงบประมาณสำหรับโครงการรับจำนำข้าวในปีงบปี 2557 ไว้เบื้องต้น 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินนอกงบประมาณ ก็ไม่รู้ว่าต้องถมกันไปแบบนี้เรื่อยๆ อีกกี่ปี

ยิ่งล่าสุด ทักษิณ ชินวัตร สไกป์ไปยังเวทีเสื้อแดง ที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ทักษิณก็สั่งการเด็ดขาดในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวมากนัก เพราะโดนเรื่องอื่นกลบหมด โดยย้ำว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ รัฐบาลยกเลิกไม่ได้เด็ดขาด แต่ตัวทักษิณก็ยอมรับว่าก็เป็นโครงการที่อาจมีช่องโหว่บ้างแต่ก็ต้องเดินหน้า แถมยังแถไปเรื่อยว่ามีขบวนการจ้องล้มโครงการรับจำนำข้าว ด้วยการไปล็อบบี้ประชาชนไม่ให้ซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อรัฐบาลจะได้ถังแตกไม่มีเงินมาซื้อข้าวจากชาวนา โถ! คิดไปได้ ทักษิณ

“ทีมข่าวการเมือง”ต้องการให้ประชาชนช่วยกันติดตามการถ่ายทอดสดการพิจารณางบฯ 57 กันด้วย เพราะเนื่องจากเงินทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินภาษีประชาชน แม้การอภิปรายอาจจะมีน่าเบื่อบ้างในบางช่วง หากส.ส.อภิปรายกันด้วยข้อมูลเชิงวิชาการอะไรต่างๆ หรือ อาจดูไร้สาระบ้างในบางจังหวะ เช่น การประท้วงอะไรกันกลางสภาฯ แต่ก็ควรช่วยกันให้ความสนใจ

ขณะที่เนื้อหาการอภิปรายประเด็นอื่นๆ เชื่อว่า ส.ส.ฝ่ายค้านก็คงอภิปรายแบบแตะไปที่หลายกระทรวง ที่แน่นอนว่าต้องมีการนำเรื่องสถานการณ์ร้อนๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละกระทรวงมาอภิปรายด้วย เพื่อทำให้การอภิปรายน่าติดตาม

อย่างการอภิปรายงบของกระทรวงสาธารณสุข ก็มีข่าวว่าจะมี ส.ส.บางคนอภิปรายพุ่งเป้าไปที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ในประเด็นการบริหารงานในกระทรวงที่กำลังมีปัญหาถูกวิจารณ์หนักเวลานี้

เช่นกรณีคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. ออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังถูกปลุกกระแสจากหลายฝ่ายว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานที่มีผลประโยชน์จากการผลิตยาปีละหมื่นกว่าล้านบาท จึงต้องเอาคนที่ใครบางคนต้องการไปนั่งเป็น ผอ.องค์การเภสัชกรรมแทน เพื่อคุมองค์กรที่มากด้วยผลประโยชน์แห่งนี้

และที่คาดกันว่าเรื่องที่ฝ่ายค้านจะมีการอภิปรายกันมากเป็นพิเศษก็คือ เรื่องเศรษฐกิจ โดยใช้การอภิปรายงบของกระทรวงเศรษฐกิจ เช่น ก.คลัง-ก.พาณิชย์ วกเข้าไปอภิปราย ที่น่าจะมีทั้งเรื่อง สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพสูง เป็นต้น ควบคู่ไปกับการอภิปรายเรื่องเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น การเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งของกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง ที่ลงมาล้วงลูก และแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งเรื่องที่ ส.ส.ฝ่ายค้านคงไม่พลาดในการอภิปรายก็คือเรื่อง ปัญหาภาคใต้ ที่จะอภิปรายพ่วงไปกับงบการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ของหลายหน่วยงาน เช่น ก.กลาโหม-สภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการตั้งโต๊ะพูดคุยกับแกนนำกลุ่มโจรบีอาร์เอ็น เชื่อว่าคงมี ส.ส.ภาคใต้ ประชาธิปัตย์ใช้โอกาสนี้ พูดเรื่องความล้มเหลวในการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลชุดนี้อย่างหนักหน่วงแน่นอน

การอภิปรายงบฯ 57 ตลอดสามวัน 29-31 พ.ค. 56 จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์การเมืองสำคัญ ในสัปดาห์หน้านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น