ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- เรื่องเงิน ๆทองๆ ระดับประเทศ ใน ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคมนี้ จะเกิดขิ้นอีกครั้งที่สภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีการเปิดการประชุมสมัยวิสามัญ และพิจารณาวาระรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557
ที่รัฐบาล พรรคเพื่อไทย โดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 2,525,000 ล้านบาท
ส่วนโครงสร้างงบประมาณปี 2557 สรุปอย่างสั้น ๆ แบ่งออกเป็น
ประมาณการรายได้ ที่รัฐบาลหวังว่า ภายใต้ข้อสมมติฐานเศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่า จะขยายตัวประมาณ 4.5% อัตราเงินเฟ้อประมาณ 3.2% คาดว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 2,718,200 ล้านบาท เมื่อหักคืนภาษีของกรมสรรพากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผน
และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จะคงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,275,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิ ปีงบประมาณ 2556 ตามเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ 2,100,000 ล้านบาท จำนวน 175,000 ล้านบาท หรือ 8.3%
ส่วนนโยบายงบประมาณวงเงิน และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจ และประมาณการรายได้รัฐบาลตามข้างต้น เพื่อให้การจัดการรายจ่ายภาครัฐ สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 และดำเนินนโยบายสำคัญอย่างต่อเนื่อง จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณงบประมาณขาดดุล
โดยขาดดุลจำนวน 250,000 ล้านบาท และมีวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 2,525,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 ที่กำหนดไว้ 2,500,000 ล้านบาท จำนวน 125,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.2% สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่าย จำนวน 2,525,000 ล้านบาท มีดังนี้
ประมาณการรายจ่าย จำนวน 2,001,368.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 จำนวน 100,891.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.3% และคิดเป็นสัดส่วน 79.3% ของวงเงินงบประมาณโดยรวม เทียบกับสัดส่วน 79.2% ของปีงบประมาณ 2556
รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 13,423.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.5% ของวงเงินงบประมาณโดยรวม
รายจ่ายลงทุน จำนวน 457,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 จำนวน 6,626.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.5% และคิดเป็นสัดส่วน 18.1% ของวงเงินงบประมาณรวมเทียบกับสัดส่วน 18.7% ของปีงบประมาณ 2556
รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 53,207.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 จำนวน 4,058.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.3% และคิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของวงเงินงบประมาณรวม เท่ากับสัดส่วนของปีงบประมาณ 2556
ขณะที่ รายได้สุทธิ จำนวน 2,275,000 ล้านบาท งบประมาณขาดดุล จำนวน 250,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2556 จำนวน 50,000 ล้านบาท หรือลดลง 16.7% และคิดเป็น 1.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เทียบกับสัดส่วน 2.5% ของปีงบประมาณ 2556
ส่วนการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 256,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณ พ.ศ. 2556 ที่ได้รับการจัดสรร 236,500 ล้านบาท จำนวน 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.5%
รัฐบาลตั้งงบจ่ายดอกเบี้ยจัดการน้ำ-โครงสร้างพื้นฐาน1.6หมื่นล้าน
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 รัฐบาลตั้งงบเพื่อจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเงินกู้
โครงการบริหารจัดการน้ำ 11,950 ล้านบาท และ โครงการลงทุนพื้นฐาน 3,094.24 ล้านบาท
ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้เงินกู้ รวมทั้งสิ้น 194,311.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,116.1 ล้านบาท หรือ 9.1% จากงบประมาณปี 2556 ที่มีงบประมาณชำระเงินกู้ 177,947.8 ล้านบาท
งบประมาณชำระเงินกู้ แบ่งเป็น รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 53,207.8 ล้านบาท และดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 140,856.6 ล้านบาท
ทั้งนี้ยังพบว่า กระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 10 อันดับแรกได้รับการจัดสรรงบเพิ่มขึ้นจากปี 2556 แทบ ยกเว้นเพียงกระทรวงแรงงานที่ได้รับงบประมาณลดลง
10กระทรวง ดังกล่าวประกอบด้วย
1.กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 481,337.8 ล้านบาท 2.กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 328,755.4 ล้านบาท 3.กระทรวงการคลัง วงเงิน 229,355.6 ล้านบาท 4.กระทรวงกลาโหม วงเงิน 184,737.5 ล้านบาท 5.กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 106,436.3 ล้านบาท 6.กระทรวงคมนาคม วงเงิน 99,389.8 ล้านบาท 7.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 77,276.4 ล้านบาท 8.กระทรวงแรงงาน วงเงิน 33,483.7 ลดลงจากปี 2556 จำนวน 3,035.8 ล้านบาท 9.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 31,836.7 ล้านบาท และ 10.สำนักนายกรัฐมนตรี วงเงิน 31,742.8 ล้านบาท
ขณะที่กระทรวงที่ได้รับจัดสรรน้อยที่สุดคือ กระทรวงพลังงาน 2,098.3 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลตั้งงบกลางไว้ที่วงเงิน 345,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 25,595 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8%
ส่วนหน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ล้วนได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น จากงบประมาณปี 2556 แทบทั้งสิ้น แบ่งเป็นหน่วยงานของศาล จำนวน 16,827.2 ล้านบาท จากเดิมปี 2556 ได้ 16,445 ล้านบาท ขณะที่องค์กรและหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญได้ 14,132 ล้านบาท จากเดิมปี 2556 ได้ 12,615 ล้านบาท
2 วันในการอภิปรายทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล จะใช้เวลาฝ่ายละ 15 ชั่วโมง รวม 30 ชั่วโมง ซึ่งจะไม่รวมกับเวลาการประท้วงหรือพาดพิง
เปิดประชุมเวลา 9.00 น.และสิ้นสุดเวลา 24.00 น. ส่วนวันที่ 31 พ.ค.จะเริ่มเวลา 9.00 น. สิ้นสุดเวลา 12. 00 น. เพื่อหลีกเวลาช่วงบ่ายให้กับวุฒิสภาได้ประชุมตั้งกรรมาธิการศึกษารายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 คู่ขนานไปกับสภาผู้แทนราษฏร
โดยพรรคเพื่อไทยวางตัว ส.ส.ที่จะอภิปรายประมาณ 60 คน ในหัวข้อตามสาระสำคัญ 7 ด้าน ส่วนฝ่ายค้านมีผู้แจ้งความจำนงอภิปรายประมาณ 70 คน
มีการตีปี๊บ เบื้องต้นมาแล้ว! มุ่งเป้าไปที่กู้หนี้มาชดใช้งบประมาณ โดยเฉพาะตัวเลขที่ต้องก่อหนี้
ประธานวิปฝ่ายค้าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ บอกว่า พบว่าเป็นเพียงตัวเลขหนี้หน้าฉาก ที่ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557
ความเป็นจริงมีการก่อหนี้ก่อนหน้านี้ และกำลังจะก่อหนี้ในระยะเวลาใกล้นี้ จะเป็นภาระการจัดงบประมาณแผ่นดินการใช้หนี้ในอนาคต 3 ก้อน คือ 1. หนี้เกิดจากการรับจำนำข้าว 2. หนี้ที่เกิดจากโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท และ 3.หนี้จาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แต่ต้องชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยประมาณ 5 ล้านล้านบาท เมื่อรวมหนี้ทั้ง 3 ก้อนนี้ประมาณ 6 ล้านล้านบาท และดูจากจีดีพีจะขยายตัวลดลงเหลือประมาณร้อยละ 4.2-5.2 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังตั้งข้อสงสัยเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกโยงกับการจัดซื้อรถตู้ 1,000 คันหรือไม่ ซึ่งพบว่าในงบประมาณปี 2557 มีการจัดซื้อรถตู้จริง จึงต้องตรวจสอบ
ส่วน น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เปิดประเด็นว่า เตรียมจัดทำข้อมูลการบริหารงานในกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าว เพื่อเปิดเผยในการอภิปรายร่างพ..รบ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557
โดยเป็นตอนที่ 2 ในชื่อ ว่าฉีกหน้ากากจอมบงการ ซึ่งเนื้อหาจะเชื่อมโยงกับการอภิปรายครั้งที่แล้ว โดยจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยให้ตัวแทนของทุนสามานย์ เข้ามาครอบงำการบริหารงาน โดยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว. พาณิชย์เป็นเพียงหุ่นเชิด ซึ่งจะมีทั้งตัวละครเก่าและใหม่ และตัวเอกจะยังเป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และนายบุญทรง โดยจะชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในโครงการรับจำนำข้าวและความสูญเสียจากเรื่องนี้ ที่สุดท้ายหนีไม่พ้นภาษีประชาชน ดังนั้นประชาชนควรติดตามการอภิปรายในครั้งนี้และจะเข้าใจว่า ทำไมรัฐบาลถึงดึงดัน ที่จะผลักดันโครงการนี้
ก่อนจะยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบ
"ในการจัดงบประมาณสำหรับโครงการรับจำนำข้าวในปี 2557 นั้น รัฐบาลจัดงบไว้ราว 8 หมื่นล้านบาท แต่เป็นที่รู้กันว่างบประมาณส่วนใหญ่ที่ใช้ในโครงการนี้จะเป็นเงินนอกงบประมาณ โดยในขณะนี้ก็มีปัญหาว่ามีการใช้เงินเต็มเพดานไปแล้ว ยังหาเงินที่จะนำมาใช้ในฤดูกาลต่อไปไม่ได้ ในขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ได้สำรองจ่ายให้กับรัฐบาลไปก่อนแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่สามารถระบายข้าวเพื่อนำรายได้มาชำระคืนให้กับ ธกส.ได้ ดังนั้นหากจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อโดยใช้วิธีเดิมคือให้ ธกส.ออกเงินไปก่อน ก็เชื่อว่าจะกระทบต่อสถานะทางการเงินของ ธกส. ทำให้เกิดปัญหาขาดทุนไม่ต่างจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบ๊งก์"นพ .วรงค์กล่าว
แต่ประเด็นที่น่าจับตา เชื่อว่าจะมีการหยิบยกมาพูดอย่างแน่นอนคือ เรื่องของงบประมาณปี 2557 กรณีที่ทำให้รัฐบาลมียอดใช้จ่ายงบประมาณเกือบ 2.5 ล้านล้านบาท
ซึ่งจุดนี้อาจเป็นสาเหตุให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มีปัญหากับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย
เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ ถูกใช้จ่ายในโครงการประชานิยม ตามนโยบายของรัฐบาลมากกว่าโครงการพื้นฐาน ทั้งโครงการจำนำข้าว ที่ใช้งบประมาณของรัฐไปแล้ว 8 หมื่นกว่าล้านบาท ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ออกมาติงว่า รัฐบาลใช้เงินไปกับการแทรกแซงบิดเบือนกลไกตลาด สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นสะท้อนแนวทางการทำงบประมาณปี 2557 ที่สร้างผลกระทบเชิงกว้าง เช่น งบประมาณในการแก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐจัดงบให้เพิ่มขึ้นเพียง 3พันกว่าล้านบาท ทั้งๆที่มีปัญหาหนักและเกิดความรุนแรงถี่ขึ้น
แต่รัฐบาลก็ไม่มีทีท่าว่า จะทบทวนการจัดงบประมาณ ในปี 2557 โดยฝ่ายค้านโจมตีว่า จะทำให้ประเทศกลับไปมีสภาพปัญหาเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา คือเมื่อร่างพ.ร.บ.งบประมาณ เข้าสู่สภาฯ ก็จะใช้เสียงข้างมากโหวตให้ผ่านสภาฯ แต่จะกลายเป็นปัญหาของประเทศในระยะยาว