xs
xsm
sm
md
lg

“นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (22)

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

           ตัวตนที่แท้จริงของทักษิณคือ อวิชชา
        พิสูจน์ได้เสมอจากคำพูดของเขาว่าไม่รู้จริง

ทักษิณ นักโทษหนีคุก อ้างถึงการจัดการเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงที่นายกฯอาเบะแห่งพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ใช้แนวนโยบายเพิ่มปริมาณเงิน (Quantitative Easing) เพื่อพลักดันในเกิดเงินเฟ้อร้อยละ 2 และเงินเยนอ่อนค่า (Depreciate) เหมือนเช่นที่ญี่ปุ่นเคยทำมาก่อนช่วงหลังฟองสบู่แตกและสหรัฐฯทำในปัจจุบัน โดยอ้างว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซาให้ก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่และไทยควรทำตาม

ทักษิณ อ้างถึงการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นเพื่อให้ดำเนินนโยบายตามที่รัฐบาลต้องการว่า เป็นความก้าวหน้าเป็นความหวัง ขณะที่อ้างถึงกรณีประเทศไทยว่า ธนาคารกลางไทย ที่ไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่รัฐมนตรีคลังและรัฐบาลต้องการว่า ไร้ซึ่งปัญญา (Wisdom) อันจะนำมาซึ่งการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดเหมือนเช่นที่นักการเมืองญี่ปุ่นได้ทำ

อะไรคือความถูก-ผิด? อะไรคือสาเหตุการข้อเสนอดังกล่าว? และอะไรคือผลลัพธ์ที่จะติดตามมาหากทำหรือไม่ทำตามข้อเสนอลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย? ลองมาพิจารณาแนวนโยบายของนายกฯ อาเบะเสียก่อน

กุนซือนายกฯ อาเบะคงมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อยู่ในภาวะซบเซาอันเนื่องมาจากขาดอุปสงค์การใช้จ่ายภายในประเทศ ในขณะที่การส่งออกไม่สามารถทำได้เพราะเงินเยนมีค่าแข็งเกินไปเป็นสาเหตุสำคัญ ดังนั้นการพลิกฟื้นสถานการณ์จึงน่าจะแก้ได้ด้วยการทำให้ทุกคนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นด้วยการซื้อคืนพันธบัตรด้วยเงินจากธนาคารกลางญี่ปุ่นเพื่อชักจูงให้นำเงินที่ได้มาออกมาใช้จ่าย ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาจากสาเหตุดังกล่าวได้

สิ่งที่ทักษิณไม่ได้พูดก็คือ ทุกวันนี้สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำมาโดยตลอดคือกู้ยืมเงินโดยการขายพันธบัตรให้เอกชนในประเทศเป็นหลักเพราะมีรายรับจากภาษีเพียงครึ่งเดียวของรายจ่ายในงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ จึงไม่แปลกที่หนี้สาธารณะของประเทศจะสูงเกินกว่า 2 เท่าของรายได้หรือผลผลิตที่วัดโดย GDP การกู้ยืมเงิน 3.5 แสนล้านและ 2 ล้านล้านบาทนอกงบประมาณของรัฐบาลหุ่นเชิดทักษิณก็คงไม่แตกต่างมากกว่ากันสักเท่าใด

แต่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ล่มสลายจากระดับหนี้สาธารณะที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลกก็เพราะคนญี่ปุ่นยอมเอาเงินออมมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่จ่ายดอกเบี้ยถูกแสนถูกถือเอาไว้ไม่นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย ต่างชาติจึงเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลญี่ปุ่นน้อยมาก หากเป็นเช่นเดียวกับ กรีซ สเปน โปรตุเกส หรือ ไซปรัส ที่ต่างชาติเป็นเจ้าหนี้หลักก็คงล่มสลายไปนานแล้ว

เหตุที่คนญี่ปุ่นยอมทำเช่นนี้ก็เพราะภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อติดลบที่เกิดขึ้นทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงมีมากกว่าที่หน้าตั๋วของพันธบัตรที่ระบุไว้ รัฐบาลจึงรับภาระดอกเบี้ยจ่ายต่ำขณะที่เอกชนก็รู้สึกปลอดภัยเพราะราคาสินค้าไม่แพงทั้งแผ่นดิน ดังนั้นจึงไม่ต้องการดอกเบี้ยสูงจากการออมในพันธบัตร ทำให้ภาวะฟองสบู่เก็งกำไรไม่เกิด นี่คือกุญแจสำคัญและเป็นผลด้านดีของเงินฝืดในญี่ปุ่น

เงินฝืดจึงอาจหมายความว่า ซื้อพรุ่งนี้ถูกกว่าซื้อวันนี้ การบริโภคการลงทุนจึงมีต่ำ ซึ่งเป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับเงินเฟ้อที่ ซื้อวันนี้ถูกกว่าซื้อพรุ่งนี้

แต่หากรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนเงินฝืดเป็นเงินเฟ้อ จากติดลบมาเป็นบวกเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2 และทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนอ่อนค่าลง อันเป็นผลมาจากรัฐบาลเพิ่มปริมาณเงินในระบบโดยให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นเพิ่มการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลแล้วให้เงินกับผู้ที่มาขายมากขึ้น เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูงและหนี้สาธารณะสูงจะเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารจานเด็ดที่มีชื่อว่า ความล่มสลายทางเศรษฐกิจ ที่เสิร์ฟให้กับหลายๆ ประเทศนับครั้งไม่ถ้วน ไทยเองก็เคยสูดปากซี้ดซ๊าดมาแล้วมิใช่หรือกับอาหารจานนี้

เงินเยนอ่อนค่าอาจมองได้ว่าจะช่วยให้การส่งออกดีขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่าสินค้านำเข้าก็จะมีราคาแพงขึ้นเช่นกัน และจะเป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มมากกว่าที่นายกฯ อาเบะตั้งเป้าเอาไว้ เงินเฟ้อจะทำให้อัตราผลตอบแทนที่ต้องการจากการซื้อพันธบัตรสูงขึ้นมากกว่าเดิม ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการออกพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นก็จะเพิ่มขึ้น แต่ที่น่ากลัวก็คือดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาพันธบัตรลดลงในระยะยาว ทำลายความมั่งคั่งของผู้ที่ถือพันธบัตรเดิม ลดความสามารถในการใช้จ่ายมากกว่าจะเพิ่ม

ทั้งเงินเฟ้อและค่าเงินอ่อนจะทำให้การออมในประเทศลดลง ผลร้ายจะเกิดกลับมาหารัฐบาลไม่สามารถขายพันธบัตรให้กับเอกชนภายในประเทศได้เหมือนเดิม หากรัฐบาลไม่ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้จากภาษี พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในอนาคตก็จำต้องขายให้ต่างชาติสร้างหนี้ต่างประเทศเหมือนเช่นก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก “นรก” กำลังมาเยือน นายกฯ อาเบะ “เอาอยู่” หรือไม่?

รัฐบาลญี่ปุ่นนับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ก็เป็นรัฐบาลของ LDP เป็นส่วนใหญ่ มีช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่ครั้งที่ LDP ไม่ได้เป็นรัฐบาล ช่วงฟองสบู่ก่อตัวและแตกออกนำมาซึ่งความล่มสลายทางเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นมากว่า 10 ปีในช่วงทศวรรษที่ 1990 ก็เป็นบทพิสูจน์ว่าผลงานของ LDP ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทำได้ดีเพียงใด แตกต่างจากรัฐบาลทักษิณและพวกหรือไม่

หากพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (DJP) ก่อนที่อาเบะจะได้มาเป็นนายกฯครั้งที่สองในชีวิตสามารถแก้ปัญหาเรื่องแผ่นดินไหว สึนามิ และรังสีรั่วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อต้นปี 2011 ได้ดีกว่านี้ คิดหรือว่าอาเบะและพรรคของเขาจะได้กลับมาครองอำนาจ ที่คนญี่ปุ่นเขาเลือก DJP ก่อนหน้านี้ก็เพราะผลงาน LDP ห่วยมาหลายสิบปีต่างหากและที่ต้องเลือก LDP ในครั้งนี้ก็เพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่านี้

การเมืองญี่ปุ่นจึงไม่แตกต่างไปจากการเมืองไทยสักเท่าใด ที่ดีกว่าก็คือนักการเมืองเขาไม่หน้าด้านเหมือนนักการเมืองไทย อาเบะเป็นนายกฯ รอบสองได้ก็เพราะไม่หน้าด้านอ้างคาถาความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้งขออยู่ในตำแหน่งนายกฯ ทั้งๆ ที่ประชาชนไม่ประทับใจการบริหาร การลาออกก่อนจึงเป็นสำนึกในความรับผิดชอบเป็นอานิสงส์ให้อาเบะในปัจจุบัน

ต้นตอปัญหาของชาติจึงอยู่ที่นักการเมืองมากกว่าระบบการเมืองเช่นรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระเพราะทำตัวให้เป็นปัญหาแทนที่จะเป็นผู้เข้ามาแก้ไขปัญหา อย่าลืมรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น สหรัฐฯ ผู้ยึดครองเป็นผู้ร่างให้และใช้มาแล้วกว่า 70 ปี ไม่เห็นคนญี่ปุ่นหรือคนอื่นบอกว่าประเทศไม่เจริญก้าวหน้าเพราะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เห็นมีแต่ นช.ทักษิณกับพวก ก็แค่นั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น