xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นซ้ำรอย ‘แผนปฏิรูปอาเบะ’แค่ฝันชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น
เอเจนซี - หากใช้อดีตเป็นบรรทัดฐานแล้ว พวกที่มองโลกแง่ดีว่า นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ จะเข้าท้าทายกลุ่มที่มีผลประโยชน์ติดอยู่กับระบบเดิมอย่างเหนียวแน่น และกล้าหาญใช้มาตรการเปิดประเทศรับการแข่งขันมากขึ้น เพื่อเป็นหนทางกระตุ้นการเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ อาจจะต้องประสบความผิดหวังอีกครั้ง

อาเบะซึ่งได้รับโอกาสครั้งที่สองแบบที่นักการเมืองญี่ปุ่นน้อยคนนักจะได้รับ จากการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเป็นสมัยที่ 2 หลังจากพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ของเขาชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น ประกาศให้การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ เป็น “ลูกศรดอกที่ 3” ในแผน “เศรษฐกิจสไตล์อาเบะ”

ทว่า คนมากมายยังสงสัยว่า เขาจะปฏิรูปเศรษฐกิจสำเร็จหรือไม่ หลังจาก ได้ใช้“ลูกศร” สองดอกแรกไปแล้ว นั่นคือการใช้จ่ายทางการคลังและนโยบายผ่อนคลายเป็นพิเศษในทางการ ซึ่งล้วนแต่ช่วยกันหนุนตลาดหุ้น รวมทั้งคะแนนนิยมในตัวอาเบะ

จุนจิ อันเนน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยชูโอะและสมาชิกคณะกรรมการการผ่อนคลายกฎระเบียบของอาเบะ ชี้ว่าประชาชนบางส่วนคิดว่า ไม่จำเป็นต้องดำเนินขั้นตอนต่อๆ ไปที่มีความยากลำบากเป็นอย่างมากกันอีกแล้ว ทั้งๆ ที่พวกนักวิชาการระบุมาหลายสิบปีแล้วว่า ขั้นตอนเหล่านั้นมีความจำเป็น ศาสตราจารย์ผู้นี้มองว่า รัฐบาลอาเบะจะเผชิญการคัดค้านมาตรการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และอาจจบลงด้วยการที่รัฐบาลยอมรามือลงเมื่อเศรษฐกิจทำท่าว่าดีขึ้นสักเล็กน้อย

ข้อเสนอจากคณะกรรมการว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมและการปฏิรูปกฎระเบียบ จะเป็นยุทธศาสตร์สำหรับการเติบโตของญี่ปุ่น ซึ่งอาเบะเตรียมจะเปิดเผยในเดือนมิถุนายน ก่อนการเลือกตั้งวุฒิสภาที่พรรครัฐบาลต้องการชัยชนะเพื่อกระชับอำนาจ

อย่างไรก็ดี บรรดาที่ปรึกษานายกฯ กลับมีความเห็นแตกแยกในเรื่องที่ว่า รัฐบาลควรขยายบทบาทของตนในกิจการเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน บางคนอยากให้รัฐนำกองทุนสาธารณะไปลงทุนในภาคสำคัญ ซึ่งย่อมหมายถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล ขณะที่คนอื่นๆ ต้องการให้ดำเนินการผ่อนคลายการควบคุมของรัฐเนื่องจากมองว่า กฎระเบียบนี่แหละคือตัวขัดขวางนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ๆ

อันที่จริง ในอดีตก็เคยมีการออกรายงานที่เรียกร้องการปฏิรูปมาหลายฉบับแล้ว โดยสามารถย้อนกลับไปได้อย่างน้อยถึงปี 1986 ใน “รายงานมาเอะกาวะ” เมื่อฮารูโอะ มาเอะกาวะ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และที่ปรึกษาอื่นๆ เรียกร้องให้ผู้วางนโยบายละทิ้งการเติบโตที่หนุนนำโดยการส่งออกและหันมาเปิดตลาดรวมทั้งดำเนินการผ่อนคลายกฎระเบียบแทน

หลายเดือนหลังจากนั้น นักการทูตต่างชาติร้องเรียนว่า นายกรัฐมนตรียาสึฮิโร นากาโซเน ผิดสัญญาที่ว่าจะดำเนินการเปลี่ยนแปลง

ต่อมาในช่วงปลายปี 1993 เกอิชิ ฮิราอิวะ ผู้นำกลุ่มล็อบบี้ธุรกิจ ไคดันเรน เรียกร้องให้รัฐบาลลดกระบวนการซับซ้อนในระบบราชการที่ขัดขวางการเติบโต แต่หลังจากรับคำแนะนั้นมาดำเนินการได้เพียง 4 เดือน นายกรัฐมนตรีโมริฮิโร โฮโซกาวะ มีอันหลุดจากตำแหน่งจากเรื่องอื้อฉาวและความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลสายปฏิรูป

ขณะที่ในช่วง 2 ทศวรรษแห่งการเติบโตอย่างเฉื่อยชา ซึ่งรวมถึงระยะเวลา 5 ปีแห่งการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีนักปฏิรูป จุนอิชิโร โคอิซุมิ มีการให้คำมั่นผ่อนคลายกฎระเบียบ ซึ่งหลายเรื่องยังดำเนินอยู่ถึงปัจจุบันทว่าหลายเรื่องเลิกไปแล้ว

ฮิโรโกะ โอตะ สมาชิกคณะกรรมการการผ่อนคลายกฎของอาเบะ ยืนยันว่า แม้การผ่อนคลายกฎระเบียบมีความล่าช้า แต่ถือว่ามีความคืบหน้า เช่น การเปิดตลาดบริการการเงินและโทรคมนาคม

ทว่า ฮิโรชิ มิกิตานิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) รากูเตน ผู้ดำเนินการอีคอมเมิร์ซชั้นนำของญี่ปุ่น ชี้ว่าเหล่าที่ปรึกษาของอาเบะมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องที่ว่า รัฐบาลควรมีส่วนร่วมในการสร้างยุทธศาสตร์และการปฏิรูปอุตสาหกรรมอย่างไรและแค่ไหน

สมาชิกบางคนกังวลว่า พรรคแอลดีพีจะยึดติดกับรากเหง้าในการเป็น “รัฐบาลขนาดใหญ่” และนิยมชมชอบ “เศรษฐกิจแบบควบคุม” โดยเฉพาะหากพรรคนี้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม

ไบรอน ซีเกล อดีตเจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐฯ ขานรับโดยแสดงความกังวลว่ากลุ่มที่ผูกติดกับผลประโยชน์เก่าๆ อย่างเหนียวแน่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีอิทธิพลและสายสัมพันธ์กับรัฐบาลแอลดีพีและต่อต้านการปฏิรูป ยังจะเป็นฝ่ายมีชัย ขณะที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ต้องการการเปิดเสรีเพื่อฟื้นเศรษฐกิจและความสามารถแข่งขันในระดับโลกของญี่ปุ่นนั้น กลับเป็นเพียงผู้เล่นขนาดเล็กที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงนัก

อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าอาเบะเคลื่อนไหวเร็วกว่าที่คาดไว้ในการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ รวมทั้งเริ่มเปิดเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป อันจะเพิ่มความกดดันกับอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ได้รับการปกป้องแต่เก่าก่อน และกระตุ้นความหวังสำหรับผู้ส่งเสริมการปฏิรูปว่า ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเดิม

โรเบิร์ต เฟลด์แมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนเลย์ เอ็มยูเอฟจี ซีเคียวริตี้ส์ในโตเกียว กล่าวด้วยความหวังว่า ครั้งนี้กลุ่มต่อต้านระบบผลประโยชน์เดิม แต่ส่งเสริมการเปิดตลาดจะเป็นฝ่ายชนะ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนรับรู้ได้เป็นอย่างดีแล้วถึงมาตรฐานการครองชีพที่กำลังเสื่อมถอยลง
กำลังโหลดความคิดเห็น