xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐยุตินำเข้าเหล้าในเอฟทีเอ ชี้ 1 เดือน คนไทยจ่ายค่าซดเหล้านอกพุ่งล้านเหรียญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการตะลึง! คนไทยดวดเหล้านอก เดือนเดียวยอดพุ่งล้านเหรียญ จี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ผนึกพลังอาเซียน ตั้งข้อสงวนยุตินำเข้าน้ำเมาใน เอฟทีเอ เหตุอันตรายทำลายสุขภาพ พร้อมกระตุกผู้นำหญิง ควรเข้มแข็งต้านอิทธิพลธุรกิจเหล้า แฉกลุ่มอียูหวังส่งออกขายเหล้า พยุงเศรษฐกิจแย่

วันนี้ (10 มี.ค.) รศ.ดร.ฉัตรสุมน พฤฒิภิญโญ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจ คือก่อนหน้านี้ไทยได้ทำเอฟทีเอกับออสเตรเลีย โดยกรมศุลกากรไทยนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากออสเตรเลียในเดือนธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาจำนวน 0.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันในอีกหนึ่งเดือนถัดมา คือมกราคม 2556 ปรากฏว่ายอดการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงน่าตกใจว่าระยะเวลาผ่านไปแค่หนึ่งเดือนแต่ยอดนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงมากถึง 1 ล้านเหรียญในประเทศไทย ซึ่งนี้เป็นการเทียบกันของตารางฐานข้อมูลของศุลกากรเดือนต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาวิจัยซึ่งทำในช่วงปี 2554-2555 มองเห็นปัญหาสำคัญ คือหากไทยทำเอฟทีเอสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหมือนกรณีสินค้าอื่นๆ จะทำให้มีการนำเข้า การขาย การทำการตลาด และการลงทุนของเครื่องดื่มสุรามากขึ้น และนั้นจะนำมาสู่อันตรายต่อสุขภาพคนไทยเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

รัฐบาลต้องนำสุราออกจากเรื่องการเจรจา FTA โดยเฉพาะกับประเทศใหม่ๆ เพราะเป็นเรื่องทวิภาคี เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องเป็นข้อสงวน ส่วนประเทศเก่าที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ก็ขอให้ทบทวน เพราะเรื่องนี้มีผลต่ออนาคตโดยเฉพาะการเข้าสู่ประเทศอาเซียนซึ่งจะเป็นข้อผูกพันสัญญาเป็นกลุ่มประเทศ ซึ่งขณะนี้มีเพียงประเทศบรูไนประเทศเดียวที่มีข้อสงวนเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะฉะนั้นประเทศอาเซียนต้องมาทบทวนเรื่องตั้งข้อสงวนกันให้ชัดเจน คือต้องเอาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกไปตามมติรัฐมนตรีอาเซียน มิฉะนั้นหากประเทศหนึ่งประเทศใดในกลุ่มอาเซียนไปตกลงทำเอฟทีเอ มันหมายถึงประเทศอื่นๆในกลุ่ม ก็สามารถใช้สิทธิ์นั้นได้โดยปริยาย เพราะกฎหมายเปิดช่องให้” รศ.ดร.ฉัตรสุมน กล่าว
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นักวิชาการ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้อาจจะยากในทางกฎหมายแต่ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับประเทศใหม่ๆ ควรจะยุติการทำเอฟทีเอเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ ไม่ควรเอาเข้าไปเจรจา เพราะในอนาคตมันจะกลายเป็นทวิภาคี พหุภาคี ข้ามขั้วระหว่างประเทศ ซึ่งมันจะเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ และกฎหมายที่สลับซับซ้อน และนั่นจะเป็นต้นเหตุในข้อพิพาท และผลกระทบที่จะตามมา คือการเคลื่อนไหวยอดขาย บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะคนไทยมีรสนิยมเห่อเหล้านอก เมื่อสินค้าเหล่านี้มีราคาถูกลงอีก ก็ยิ่งตอกย้ำการบริโภค ปัญหาที่ตามมาก็เป็นระวิงทั้งความรุนแรง อาชญากรรม และอันตราย อุบัติเหตุ ปัญหาสังคม ครอบครัว ที่เป็นต้นตอมากจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“คนชอบเหล้าแบรนด์ ผูกติดยี่ห้อเป็นรสนิยม เหล้านอกราคาถูก เหล้าไทยก็ยิ่งถูกลง และตลาดน้ำเมาจะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎเกณฑ์กติกาเอฟทีเอ เวลาทำสัญญาก็จะมีการขยายความก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เช่น ทำสัญญาไว้ 3 กลุ่มสินค้าขยายไปอีก 10 กลุ่ม แล้วเพิ่มเป็น 20 กลุ่ม นี้คือกฎกติกาในระยะสั้น ขณะเดียวกันนักธุรกิจอยากให้ขยายความก้าวหน้า ซึ่งมันจะเพิ่มความเสียหายทวี จึงควรมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง มองผลเสียหายที่จะตามมามากกว่าผลประโยชน์” รศ.ดร.ฉัตรสุมน กล่าว

รศ.ดร.ฉัตรสุมน กล่าวต่อว่า นายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องพึงระลึกให้มีมาตรการหยุดสินค้าด้านมืด ไม่ควรให้สินค้าชนิดนี้เข้าไปอยู่ในสินค้าปกติ ต้องเข้มแข็งในการต่อรองทำสัญญา แม้จะเป็นผู้หญิง แต่เราเป็นผู้นำประเทศ และเป็นคนกุมผลประโยชน์ด้านชีวิตของคนในประเทศ ต้องเข้าใจว่าขณะนี้ประเทศในแถบยุโรปตกต่ำทางด้านเศรษฐกิจเขาต้องพยายามอย่างที่สุดในการขยายตลาด เรื่องนี้เราไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่สามารถส่งออกสินค้าของเราได้ แต่ควรตระหนักถึงอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะผลวิจัยระบุชัดเจนว่า คนไทยมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย วัฒนธรรมการเคารพกฎหมายน้อย หากผู้นำไม่เข้มแข็ง แล้วปล่อยให้สินค้าอันตรายเหล่านี้ถูกปฏิบัติเหมือนสินค้าอื่นๆ เช่น รถยนต์ พืชผักผลไม้ มันจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสังคม ซึ่งผู้นำฝ่ายบริหารน่าจะทำได้ แม้อิทธิพลของธุรกิจสุราจะใหญ่มาก และผ่านการล๊อบบี้ฝ่ายการเมืองและวิธีการอื่นๆ อีกหลายวิธี แต่นายกฯ ต้องเข้มแข็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น