xs
xsm
sm
md
lg

เขาว่าล้างพิษตับเป็นเรื่อง “หลอกลวง” (ตอนที่ 2) : เชิญดูผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ “ก้อนสีเขียว”คือ “สบู่ก้อน” จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คนที่อวดอ้างว่าตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนหนึ่งหลังจาก“ปล่อยไก่” ออกมาว่า “ก้อนสีเขียว” นั้น เป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้เกิดสบู่ก้อน ที่เกิดขึ้นจาก "น้ำดีซึ่งเป็นด่างที่แรงทำปฏิกิริยากับน้ำมันมะกอก" พอมีคนท้วงว่าน้ำดีมี pH 7.5-8.8 เท่านั้น จึงไม่สามารถทำให้เกิดสบู่ก้อนได้ ก็รีบกลับลำแก้ไขกระทู้ต่อต้านการล้างพิษตับ “ลอกตัดแปะ” เอาจากนักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศว่า เป็นการทำปฏิกิริยาเคมีระหว่าง "กรดไขมันในน้ำมันมะกอกกับโพแทสเซียมในน้ำมะนาว"แทน ผมจึงจับได้ว่าคนที่อวดอ้างว่าตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โจมตีกล่าวหาการล้างพิษตับว่าหลอกลวงนั้น คนเหล่านี้ไม่รู้จริง และไม่มีความแม่นยำทางวิทยาศาสตร์ในการโจมตีคนอื่นเลย

ผมเฝ้ารอมา 1 สัปดาห์หลังจากเขียนบทความ นึกว่าคนที่อวดอ้างว่าตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์จะทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้ดูหน่อยว่าการเกิดสบู่ก้อนในภาวะที่ไม่ได้เกิดจากด่างรุนแรงจะทำให้เกิดสบู่ก้อนได้หรือไม่? (ตามวิสัยของนักวิทยาศาสตร์ที่ดี) ก็ไม่มีใครมาทดสอบทางวิทยาศาสตร์ให้เห็นนอกจากทำตัวเป็นนักเลงแป้นพิมพ์หน้าคอมพิวเตอร์แต่เพียงอย่างเดียว

ผมจะไม่สนใจถึงเหตุผลว่าเหตุใดคนที่โจมตีการล้างพิษตับเหล่านี้จึงไม่ยอมทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้ประชาชนเห็น แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลาผมจึงไปทดสอบทางวิทยาศาสตร์แบบตื้นๆ ตามประสาสื่อมวลชนและชาวบ้านธรรมดาๆมาให้ชมกันดังนี้

ก่อนอื่นเพื่อทำความเข้าใจพื้นฐานให้ท่านผู้อ่านทราบว่าคำว่า “กรด” และ “ด่าง”นั้น เขาวัดกันที่ค่า pH ที่เรียกว่า potential of the hydrogen มีตั้งแต่ค่า 0 ถึง 14

ถ้าได้ค่า 7.0 เรียกว่าเป็นกลาง
ถ้าได้ค่าต่ำกว่า 7 (ระหว่าง 0 ถึง 6.9) เรียกว่ากรด (Acid)
ถ้าได้ค่าสูงกว่า 7 (ระหว่าง 8 ถึง 14) เรียกว่าด่าง (Alkaline)


ส่วน “สบู่” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายแปลว่า “สิ่งที่ผลิตขึ้นโดยนำไขสัตว์เช่นวัว หรือน้ำมันพืชเช่นน้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอกไปต้มกับด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์จะได้สบู่แข็ง หรือนำไปต้มกับด่างโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ จะได้สบู่อ่อน ใช้ชำระล้างและซักฟอก”

ราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติศัพท์ทางวิทยาศาสตร์นี้โดยไม่ลงรายละเอียดว่า ค่า pH ของด่างทั้ง 2 ชนิดว่ามีความเข้มข้นของความเป็นด่างเข้มข้นสูงสุดเทียบเท่าระดับประมาณค่า pH 12-14 จึงจะมีโอกาสทำให้เกิด “สบู่ก้อน” ได้
และในการทำสบู่นั้นเขาจะมีสัดส่วนการผสมชัดเจน

เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ซึ่งมีค่าเป็นด่าง (Alkaline) ที่มีความรุนแรงสูงสุดถึง pH 12 ถึง14 ถ้ามีการผสมกันกับน้ำมันมะกอก โดยใช้อัตราส่วนน้ำมันมะกอก 100 กรัม และใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) 12.46 กรัม ที่ผสมกับน้ำเล็กน้อย เมื่อนำมาผสมกันก็จะทำเป็นสบู่ก้อนได้แล้ว แต่ถ้าโซเดียมไฮดรอกไซด์ถูกเจือจางจนมีความด่างน้อยลงมากไม่ว่าจะผสมเพิ่มอีกมากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถทำให้เกิดสบู่ก้อนได้

ตรงนี้นี่เองจึงย่อมเป็นการพิสูจน์ว่า “น้ำดี” ซึ่งปกติมีค่า pH ประมาณ 7.5 – 8.8 ถือเป็นด่างอ่อนเกินไปที่จะทำปฏิกิริยาเคมีจนเกิด “สบู่ก้อน” ได้ !!!

ผมจึงได้ทดลองวิทยาศาสตร์พื้นฐานธรรมดาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยทำสบู่ก้อนจากน้ำมันมะกอกและด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH)ที่มีค่าความเป็นด่างเข้มข้นได้ค่า pH 13 ตามสูตรผลปรากฏว่าได้สบู่ก้อนจริง (ตามภาพที่ 1)

ในขณะที่ผมนำสูตรล้างพิษตับในคืนสุดท้ายที่ดื่มกัน ซึ่งก็คือน้ำมันมะกอก 150 ซีซี น้ำมะนาว 150 ซีซี และดีเกลือ เอามาเขย่ารวมกันแล้วผสมด้วย โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ที่นำมาเจือจางจนค่า pH ได้ 9.0 ซึ่งถือว่าใกล้เคียงความเป็นด่างสูงสุดของน้ำดีที่จะเป็นได้คือ 7.5-8.8 ผลปรากฏว่าไม่สามารถทำปฏิกิริยาเคมีทำให้เกิดสบู่ก้อนได้ ไม่ว่าจะผสมเพิ่มอีกเท่าไหร่ก็ตาม และเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ก็ไม่สามารถเกิดก้อนสบู่ได้ (ตามภาพที่ 2)


พอประเด็นน้ำดี ซึ่งมีค่า pH อยู่ระหว่าง 7.5 -8.8 ซึ่งสิ่งที่ดื่มเข้าไปไม่สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำดีให้เกิดสบู่ได้ นักวิทยาศาสตร์คนเดียวกันที่ต่อต้านการล้างพิษตับว่าหลอกลวง จึงมาเปลี่ยนหักเหแก้ไขใช้เหตุผลใหม่ภายหลังเอาดื้อๆเลยว่า "ก้อนสีเขียวดังกล่าวเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างเอนไซม์ไลเปสในระบบย่อยอาหารกับไตรกลีเซอรอลซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำมันมะกอก ทำให้เกิดกรดคาร์บอซีลิกเป็นพันธะสายยาว (ส่วนใหญ่เป็นกรดโอเลอิก) กระบวนการนี้ถูกกระทำต่อด้วยกระบวนการซาปอนิฟิเคชั่น (Saponification) กลายเป็นก้อนไขมัน (หรือไมเซลล์ micelle) ขนาดใหญ่ไม่ละลายน้ำของโพแทสเซียมคาร์บอซิเลต เนื่องจากน้ำมะนาวมีโพแทสเซียมสูงอยู่ในความเข้มข้น ได้เป็นก้อน "นิ่วสบู่" ไม่ละลายน้ำ ส่วนสีเขียวๆ ก็มาจากน้ำดีนั่นเอง (Saponification ) คือปฏิกิริยาการสร้างสบู่ เมื่อเอามาผสมน้ำด่าง แล้วกลายเป็นกรดไขมัน + กรีเซอรีน หรือสบู่นั่นเอง"

ถึงแม้ว่าจะเป็นการกลับลำจากคนที่อ้างตนว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์คนเดียวกันที่เปลี่ยนจากเหตุผลว่า "น้ำดีทำปฏิกิริยากับน้ำมันมะกอก" กลายเป็น"น้ำมะนาวทำปฏิกิริยากับน้ำมันมะกอก" ซึ่งความเห็นที่แสดงมาข้างต้นนั้น ก็ยังคงเป็นแค่ "ความเชื่อ" หรือ "ความเห็น" และยังไม่ใช่ความจริงที่พิสูจน์แล้วเช่นกัน

นี่คือการ"ลักไก่" โจมตีเรื่องการล้างพิษตับด้วยศัพท์ตื้นๆว่า "เพราะน้ำมะนาวมีโพแทสเซียมสูงในความเข้มข้น" แต่กลับไม่พิจารณาหรือตั้งคำถามว่าสิ่งที่ดื่มเข้าไปในการล้างพิษตับนั้น โพแทสเซียมเข้มข้นเท่าไหร่ในน้ำมะนาวเมื่อเทียบกับน้ำมันมะกอก จึงจะเกิดสบู่ก้อนได้?

ผมได้ทดลองผลิตสบู่ด้วยโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์สักประมาณ 14 กรัม ผสมกับน้ำมันมะกอกสักประมาณ 100 กรัมแล้วเราก็จะพบว่าโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่เป็นด่างเข้มข้นประมาณ 14% นั้นพบว่าบางส่วนกลายเป็นสบู่ก้อนอยู่ด้านล่าง และจะเหลือน้ำมันมะกอกบางส่วน ซึ่งหมายความว่าเราต้องการโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์มีสัดส่วนเข้มข้นที่มีปริมาณสัดส่วนที่มากกว่านี้จึงจะทำให้น้ำมันมะกอก 100 กรัมกลายเป็นสบู่ทั้งก้อนได้ (ตามภาพที่ 3)

แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เราดื่มเข้าไปในคืนสุดท้ายก็คือน้ำมันมะกอกและน้ำมะนาวอย่างละครึ่ง จึงเป็นไม่ได้ที่จะเกิดปฏิกิริยาสบู่อีกเช่นกัน เหตุผลเพราะว่าน้ำมันมะกอก 100 ซีซี จะมีกรดโอเลอิกประมาณ 55%-83% ในขณะที่น้ำมะนาว 100 ซีซี แม้จะมีโพแทเซียมแต่ก็มีอยู่เพียง 0.102 กรัมเท่านั้น จึงย่อมไม่สามารถผลิตสบู่ก้อนได้ตามอ้างแน่นอน

ผมจึงได้ทดลองเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้โดยนำน้ำมันมะกอก 100 ซีซี ผสมกับ โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ตามสัดส่วนที่อ้างว่าอยู่ในมะนาวที่ดื่มเข้าไป ก็ไม่สามารถก่อให้เกิดสบู่ก้อนแต่อย่างใด ต่อให้ผสมไปมากกว่านี้เป็น 2 - 3 เท่าตัวก็ไม่เกิดสบู่ก่อนอีกเช่นเดียวกัน (ตามภาพที่ 4)

มิพักต้องพูดถึงว่าให้ทดลองเอาน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาวและผสมดีเกลือเขย่าแล้วตั้งทิ้งไว้ข้ามปีข้ามชาติอย่างไรก็ไม่สามารถเกิดก้อนสบู่ได้แต่อย่างไร?

ถึงแม้ผมจะแสดงเหตุผลเหล่านี้ข้างต้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าการเกิดปฏิกิริยาสบู่ก้อนเกิดขึ้นไม่ได้ในภาวะที่ไม่เกิดด่างเข้มข้นเพียงพอไม่ว่าจาก "น้ำดี" หรือ "โพแทสเซียมในน้ำมะนาว" ที่ดื่มเข้าไปในการล้างพิษตับ แต่ก็บางคนอาจยังเกิดข้อสงสัยอยู่ดีว่าสิ่งที่ผมอธิบายจากปฏิกิริยาภายนอกนั้นอาจไม่เหมือนปฏิกิริยาภายในร่างกาย ซึ่งก็คงจริงส่วนหนึ่ง แต่ความจริงอีกส่วนหนึ่งคือต้องตั้งคำถามด้วยว่าการเกิดปฏิกิริยาสบู่ก้อนที่มีด่างที่รุนแรงระดับ pH 12-14 มีมากพอจริงหรือในร่างกายเราที่จะทำสบู่ก้อนได้?

น้ำมะนาวแม้อยู่ภายนอกจะเป็นกรด (ที่มาจากกรดซีตริก) แต่นักโภชนาการทั่วโลกต่างจัดให้เป็นหมวดอาหารที่ออกฤทธิ์เป็นด่างเมื่อถูกย่อยสลายในร่างกายเราแล้ว และจัดให้น้ำมะนาวอาหารประเภทด่างสูงสุดที่มีค่า pH ไม่เกิน 9.0 ซึ่งเป็นด่างที่ไม่เข้มข้นพอที่จะทำให้เกิดสบู่ก้อนได้


เพื่อตัดปัญหาในประเด็นข้อสงสัยนี้ ผมจึงได้ขอให้สถานล้างพิษตับ ที่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ชื่อ "ธัญสมุย" โดยคุณชนาบุญ เพชรพรหม (คุณกอบ) ผู้ดูแลศูนย์ได้ตรวจสอบพร้อมถ่ายวีดีโอและภาพถ่ายว่าก้อนที่ออกมาเป็นสบู่หรือไม่ด้วยการทดสอบ 2 ประการง่ายๆ คือ ประการแรก วัดค่า pH ของ "ก้อนสีเขียว" ถ้าเป็น "ก้อนสบู่"ปกติต้องเป็นด่างอยู่ที่ประมาณ 10 -12 จริงหรือไม่ ? ประการที่สอง ถ้า "ก้อนสีเขียว" เป็น "สบู่ก้อน" ที่เป็นด่างจริง หากขยี้แล้วนำมาถูแล้วเกิดฟองหรือไม่?
ภาพที่ 5 วัดค่า pH ของก้อนสีเขียวด้วยกระดาษวัดค่า pH ได้ค่าประมาณระหว่าง 7 - 8 ไม่ใช่คุณลักษณะของสบู่ก้อน
ภาพที่ 6 เมื่อนำมาขยี้และถูก้อนสีเขียวที่ออกมาจากการล้างพิษตับแล้วไม่เกิดฟอง
ผลปรากฏว่าเมื่อทดสอบค่า pH และลักษณะทางกายภาพในการเกิดฟองแล้ว ไม่สามารถเรียกก้อนเหล่านี้ว่าสบู่ก้อนได้แต่ประการใด คุณชญาบุญที่ทดสอบเรื่องนี้ใจดีฝากบอกนักวิทยาศาสตร์ด้วยว่าหากจะลองเอาก้อนเหล่านี้ไปลองฟอกเมื่อไหร่ก็จะส่งไปให้ด้วยความยินดี

ผมจึงโทรศัพท์ไปสัมภาษณ์ขอความคิดเห็นจาก คุณหมออนัน ศรีพนัสกุล
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านเป็นอาจารย์แพทย์ที่ผ่าตัดตับตับคนไข้มามากในลำดับต้นๆของประเทศไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปฏิกิริยาสบู่ในร่างกายว่า "ถ้าเกิดปฏิกิริยาสบู่ได้จริงร่างกายจะตอบสนองด้วยการเร่งถ่ายท้องอย่างรุนแรงโดยทันที" ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าแทบทุกคนที่เข้าหลักสูตรล้างพิษตับต้องทานดีเกลือหรือสวนล้างเสียด้วยซ้ำจึงจะทำให้ก้อนเหล่านี้ออกมาจากร่างกายได้ ไม่ได้อยู่ในภาวะถ่ายท้องอย่างรุนแรงแต่ประการใด

ผมอาจจะเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่าก้อนที่ออกมานั้นน่าจะเรียกว่า "ก้อนไขมัน" น่าจะถูกต้องกว่าคำว่า"นิ่ว" ก็เพียงเพราะเหตุผลที่ว่าอาจทำให้เกิดความสับสนกับก้อนนิ่วที่เป็นแคลเซียมที่จมน้ำได้ แต่ผมก็ไม่สามารถจะหาคำตอบได้ว่าจะเรียกก้อนเหล่านี้เพื่อลดความน่าเชื่อถือว่าเป็น "ก้อนสบู่" ได้อย่างไรเช่นกัน?

คนที่อวดอ้างว่าตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โจมตีเรื่องนี้และเรียกก้อนที่ออกมาจากการล้างพิษตับว่า "ก้อนสบู่" และดูถูกดูแคลนว่าคนที่เรียกว่า "ก้อนนิ่ว" นั้นเป็นพวกหลอกลวงและคนที่เชื่อก็เป็นพวกโง่นั้น ผมกลับคิดตรงกันข้ามว่าคนที่เรียกว่า "ก้อนนิ่ว" นั้นอาจจะใกล้เคียงมากกว่าคำว่า "ก้อนสบู่" ด้วยซ้ำไป

เพราะ "นิ่ว" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่าหมายถึง "เกลือเคมีหรือสารเคมีอื่น เช่น คอเลสเตอรอลที่เกิดเป็นก้อนแข็งในไต กระเพาะปัสสาวะ ถุงน้ำดี หรือท่อของต่อมบางชนิดในร่างกาย เช่น ต่อมน้ำลาย ตับอ่อน"

ส่วน "สบู่" ตามพจนานุกรมต้องใช้ชำระซักฟอกได้ แต่ก้อนเหล่านี้ไม่มีคุณสมบัตินำมาใช้ชำระและซักฟอกไม่ได้เลยแม้แต่น้อย

ผมเป็นคนหนึ่งได้ทดลองล้างพิษตับด้วยตัวเองด้วยเปลี่ยนวิธีหลายรูปแบบ (เพื่อทดลองหาความจริง) และเห็นคนที่เจ็บป่วยที่หายได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งคนป่วยหลายคนที่มีนิ่วในถุงน้ำดีหายไปจากการตรวจดูด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์โดยไม่ต้องผ่าตัด “คนจำนวนมาก” ที่เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดบีดีขึ้นอย่างแทบไม่น่าเชื่อ อาการโรคภูมิแพ้หลายคนดีขึ้น ฯลฯ ผมกลับสนใจมากกว่าว่าการหายป่วยจากอาการเหล่านี้มีผลตรวจทางการแพทย์ยืนยันได้นั้นสามารถหายได้อย่างไร จากวิธีการนี้?

แต่ถ้าใครเพียงแค่สังเกตได้ว่า "น้ำดี" ที่ถูกล่อให้ขับออกมาจำนวนมากเพื่อช่วยย่อย "น้ำมันมะกอก" นั้น "น้ำดี"ได้ถูกผลิตมาจากองค์ประกอบของคลอเลสเตอรอลหรือไขมันชั้นเลวจากตับ แต่น้ำมันมะกอกนั้นเป็นไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวที่เป็นไขมันชั้นดี ถ้าสังเกตเรื่องนี้ให้ดีก็จะรู้ว่าวิธีการนี้ไม่ธรรมดา และแหลมคมกว่านักวิทยาศาสตร์ตื้นๆที่มาสนใจหาก้อนสบู่ยิ่งนัก

เรื่องนี้ยังไม่จบ โปรดติดตามตอนต่อไป หรืออาจจะหลายตอนนะครับ !!!



กำลังโหลดความคิดเห็น