xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งงบ"57วงเงิน2.5ล้านล้าน ทุ่มด้านการศึกษา8แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงบประมาณได้จัดทำเอกสาร ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2557 จำนวน 2,525,000 ล้านบาท ส่งให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจกจ่ายให้กับส.ส. สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ในวาระที่ 1 สมัยประชุมวิสามัญ ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ค.56 ทั้งนี้การจัดสรรงบประมาณปี 2557 เพิ่มขึ้นจากงบประมาณประจำปี 2556 จำนวน 125,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.2 % โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ จำนวน 8 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์เร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมต่อประชาคมอาเซียน จำนวน 145,006.9 ล้านบาท คิดเป็น 5.7 % ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการดำเนินงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณท์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระหว่างภูมิภาคและบูรณาการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
2. ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ จำนวน 210,783.5 ล้านบาท คิดเป็น 8.4 % ของวงเงินงบประมาณ ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ เทิดทูนและพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ และฟื้นฟูประชาธิปไตย รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยเสริมสร้างและพัฒนาระบบป้องกันประเทศ โดยเสริมสร้างพัฒนาระบบป้องกันประเทศให้มีความพร้อมและศักยภาพ
3. ยุทธศาตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำนวน 343,746.7 ล้านบาท คิดเป็น 13.6 % ของเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง รักษาเสียรภาพทางการคลัง จัดการหนี้สาธารณะอย่างเหมาะสม เพื่อมูลค่าทางภาคการเกษตร โดยใช้ระบบจำนำสินค้าเกษตรเป็นเครื่องมือสำคัยในการยกระดับรายได้เกษตรกร ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน
4. ยุทธศาสตร์การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมในสังคม จำนวน 849,861.9 ล้านบาท คิดเป็น 33.7 % ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม และลดการเลี่ยมล้ำ โดยให้ความสำคัญกับการยกระดีบคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ส่งเสริมขยายโอกาสการเจ้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง และเร่งรัดการปฏิรูป และพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้มีมาตรฐานระดับสากล สนับสนุนการจัดการการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา สร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมและการปราบปรามการทุจริตมิชอบในภาครัฐ เพื่อความความโปร่งใสและธรรมาภิบาล
5.ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 112,288.5 ล้านบาท คิดเป็น 4.4 % ของวงเงินงบประมาณ โดยมุ่งเน้นการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์กับมิติทางเศรษฐกิจทางสังคมและสิ่งแวกล้อมอย่างยั่ยยืน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตลอดจนเตรียมความพร้อมรองรับและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก
6. ยุทธศาตร์การพัฒนาวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม จำนวน 21,323. 8 ล้านบาท คิดเป็น 0.8 % ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเสริมสร้างให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่อยู่บนองค์ความรู้ โดยให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
7. ยุทธศาสตร์การต่างประเทศ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำนวน 9,004.5 คิดเป็น 0.4 % ของวงเงินประมาณ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการ ที่เกี่ยวโยงกับการร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจแก่รัฐบาล
8. ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 351,339.9 ล้านบาท คิดเป็น 13.9 % ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการ ของภาครัฐให้มีความพร้อม มุ่งเน้นการตอบสนองคงามต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีขีดความสามารถในการให้บริหารสาธารณะได้อย่างเหมาะสม ปฏิรูปกฎหมายให้เป็นสากลและพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรม ให้กับประชาชนอย่างมีประสิทะภาพ ตลอดจนสนับสนุนการบริหารงานของรัฐสภา ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้ดำเนินการที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันในเอกสารสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีฉบับนี้ ได้บรรยายถึงภาพรวมแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยไว้ว่า ในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัว 4.5-5.5 % มีอัตราเงินเฟ้อ 2.5-3.5 % โดยมีปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ จากอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และจากการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี ตามรายได้ครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการยกระดับราคาสินค้าเกษตร และการลดค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากการเร่งรัดการใช้จ่ายตามแผนกู้เงิน ตามพ.ร.ก. กู้เงิน บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ และร่างพ.ร.บ. กู้เงินเพื่อพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามเศรฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่สำคัยได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งปีแรก สภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ที่จะส่งผลต่อความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท และสถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะส่งผลต่อการขยายตัวในภาคเกษตร
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัว 4-5 % อัตราเงินเฟ้อประมาณ 2.7-3.7% โดยมัปัจจัยสนับสนุนมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐ ขณะเดียวกันอุปสงค์ของภาคต่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเซียและเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกขยายตัวของครึ่งปีหลังในปึ 2556 ต่อเนื่องไปยังปี 2557

**เร่งพิจารณาแผนกู้เงิน 2 ล้านล้าน

วานนี้ (15พ.ค.) มีการประชุมวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ…วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่มีนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสักนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมาธิการ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายวราเทพ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะเพิ่มการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็น 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้การพิจารณาเสร็จสิ้นภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเอกสารมาให้พิจารณาล่าช้า ทำให้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ไม่สามารถพิจารณาได้ทันการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งวันนี้จะมีการพิจารณางบประมาณของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงการรถไฟรางคู่
ทั้งนี้ นายวิฑูร นามบุตร กรรมาธิการ เสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย กลับไปทบทวนการใช้งบประมาณในการก่อสร้างโครงการรถไฟรางคู่ที่ตั้งงบประมาณสูงกว่าความ เป็นจริง และงบประมาณสำหรับจ้างที่ปรึกษาโครงการ ที่มีความซ้ำซ้อน ทำให้สิ้น เปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ นอกจากนี้ที่ประชุมเห็น ตรงกันว่าควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเอง โดยไม่ควรจ้างบริษัทที่ปรึกษามาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้ เนื่องจากในอนาคตการรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องเข้ามาดูแลรถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟรางคู่เอง
ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ กรรมาธิการ เห็นว่าการรถไฟแห่งประเทศควรหารือกับสำนักงบประมาณในการปรับลดค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการและงบประมาณในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ให้มีความเหมาะสมตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด
นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดูแลด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเอง โดยไม่ควรจ้างบริษัทที่ปรึกษามาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณ เนื่องจากในอนาคตการรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องเข้ามาดูแลรถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟรางคู่เอง
กำลังโหลดความคิดเห็น