เริ่มแล้วการประชุมสภาฯ วิสามัญ ถกงบปี 57 นายกฯ ชูทำงบบนพื้นฐานยุทธศาสตร์ประเทศ ตอบสนองประชาชนทุกพื้นที่ มุ่งแก้เศรษฐกิจและสังคม รองรับประชาคมอาเซียน อ้างกู้น้ำ-ชินคันเซ็นเพิ่มแรงหนุน ศก.ขยายตัว เผย 8 แผนใช้เงิน
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ที่คณะรัฐมนตรีเสนอในวงเงิน 2,525,000 ล้านบาท โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า ครม.ได้ตั้งงบประมาณไว้เป็นจำนวนไม่เกิน 2,525,000,000,000 บาท เป็นการทำงบประมาณแบบขาดดุล สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น จำนวน 2,511,576,321,700 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 13,423,678,300 บาท ซึ่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของ “ยุทธศาสตร์ประเทศ” ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานในทุกๆ ด้านของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกพื้นที่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 2 ประการ คือ เพื่อดำเนินนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมา และเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศและการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจทั่วไป ในไตรมาสแรกของปี 2556 ชะลอตัวลงเนื่องจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ในขณะที่นโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักในโลกกำลังขยายปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลสู่ภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย และสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าหลายประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปี 2556 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.2-5.2 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 2.3-3.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และการฟื้นตัวของภาวะการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ซึ่งเริ่มมีสัญญาณที่ชัดเจนในสหรัฐฯ จะช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและส่งออกของไทยประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 119.9 ในปี 2555 และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2556 นอกจากนั้นการใช้จ่ายตามแผนการกู้เงินตาม พ.รก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศและแผนการกู้เงินตามร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศจะเริ่มเข้ามาเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ดีขึ้นต่อไป
นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-5.0 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 2.7-3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนการขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินตามแผนการกู้เงินตามพระราชกำหนด และแผนการกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติ ขณะเดียวกัน ภาคต่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกมีบทบาทมากขึ้นต่อการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 และต่อเนื่องจนถึงปี 2557 ด้วยภาวะที่ยังมีความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง ด้วยการกระตุ้นให้ภาคการผลิตมีการลงทุนและค้าขายที่แท้จริงและเหมาะสม เป็นการลดการพึ่งการส่งออก ในขณะที่รัฐบาลมุ่งเน้นมาตรการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อเป็นพื้นฐานการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุลในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,384,000 ล้านบาท และเมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 จำนวน 109,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,275,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สำหรับการบริหารจัดการรายจ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 รัฐบาล ได้กำหนดนโยบายงบประมาณและแนวทางการจัดทำงบประมาณให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของหน่วยงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 นโยบายสำคัญของรัฐบาล และการบูรณาการภารกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสแก่ประชาชน ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณควบคู่กับการพิจารณาแหล่งเงินอื่น และการบูรณาการการทำงานในระดับพื้นที่ของแต่ละภาคส่วน เพื่อลดความซ้ำซ้อน เสริมสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ภารกิจการจัดบริการสาธารณะของประชาชนดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมของประเทศเพื่อรองรับบริบทการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยจัดสรรงบประมาณไว้จำนวน 145,006.9 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 2.ความมั่นคงแห่งรัฐ จำนวน 210,783.5 ล้านบาท อาทิ การเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 13,670.8 ล้านบาท เพื่อเทิดทูนพิทักษ์และธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้มีผู้ใดล่วงละเมิด ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดี เทิดทูน และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนส่งเสริมและเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์และฟื้นฟูประชาธิปไตย จำนวน 421.8 ล้านบาท โดยรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึกความรักสามัคคี ความปรองดองสมานฉันท์ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ จำนวน 181,006.4 ล้านบาท การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ จำนวน 15,684.5 ล้านบาท
นายกฯ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำนวน 343,746.7 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 4 การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคมจำนวน 849,861.9 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 112,288.5 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 21,323.8 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 7 การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำนวน 9,004.5 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 8 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จำนวน 351,339.9 ล้านบาท ส่วนรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 481,644.3 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารบุคลากรภาครัฐ การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 13,423.7 ล้านบาท
“ดิฉันและคณะรัฐมนตรีได้ตระหนักอยู่เสมอว่าการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้บริบทที่มีความท้าท้ายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ประเทศที่ชัดเจน แข่งขันได้ และสร้างความผาสุกอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่นำเสนอฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงหวังว่าสมาชิกจะให้การสนับสนุนและพิจารณารับหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ เพื่อรัฐบาลจะได้ยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว