xs
xsm
sm
md
lg

ปาฐถกาของนายกรัฐมนตรี

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ข่าวนายกฯ ไปพูดที่มองโกเลียเป็นที่วิจารณ์กันทั่วไปว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นการกล่าวให้ร้ายประเทศไทย ที่จริงนายกฯ (หรือคนเขียนให้) ก็จับอารมณ์ที่ประชุมได้จึงพูดถึงรัฐประหารซึ่งไม่มีใครชอบ แต่ก็ยังกล่าววิจารณ์องค์กรอิสระด้วยว่ามีอำนาจมากเกินไป

ที่จริงแล้ว การคาดหวังให้นายกฯ รวมเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปด้วย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่การวิจารณ์นายกฯ เกี่ยวกับการพูดพาดพิงองค์กรอิสระก็เป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ เพราะเวลานี้องค์กรอิสระที่กำลังถูกกดดันอย่างหนักก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

การวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญนี้มีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ โครงสร้างของตุลาการที่มี 9 คนกับการใช้อำนาจของศาลที่บางคนเห็นว่าเกินขอบเขต

เรื่องจำนวน 9 คนน้อยไปหรือไม่นั้น บางคนเห็นว่าไม่สำคัญ และสามารถแก้ไขให้มีมติ 2 ใน 3 ก็ได้ แต่บางคนเห็นว่าจำนวนน้อยเกินไป และการที่มีองค์คณะเพียง 5 คน ก็ประชุมได้แล้ว ก็เห็นว่าไม่สมควร

ส่วนเรื่องอำนาจนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ใช้อำนาจเกินขอบเขต เพียงแต่บางเรื่องที่ผ่านรัฐสภามาแล้วอย่างเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลก็ยังรับพิจารณาคำร้องข้อสำคัญไม่ได้อยู่ที่การรับหรือไม่รับคำร้อง แต่อยู่ที่คำวินิจฉัยมากกว่า เวลานี้ยังไม่มีการวินิจฉัย แต่ก็มีการออกมาคัดค้านเข้าทำนองตีปลาหน้าไซ กดดันศาล

การจะแก้ไขอำนาจศาลหรือไม่อย่างไรนั้น ก็ต้องทบทวนความคิดหลักอีกครั้งว่า มีความต้องการจะให้มีการถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารหรือไม่ หากยึดหลักความมีอำนาจสูงสุดของผู้แทนปวงชนแล้ว ก็ไม่ควรมีอำนาจอะไรมาล้มล้างมติของรัฐสภา และที่น่าคิดก็คือศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีที่มาที่ไม่ใช่จากประชาชนโดยตรงจึงมีปัญหาด้านความชอบธรรมว่าจะมาหักล้างอำนาจที่มาจากประชาชนได้อย่างไร

นักวิชาการบางคนเห็นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเชี่ยวชาญน้อยกว่ากรรมการกฤษฎี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีจำนวนมากกว่า แล้วจะให้คนจำนวนน้อยมามีอำนาจดุลพินิจเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎรอย่างไร

ไม่ว่าข้อวิจารณ์จะเป็นเช่นไร คิดว่าคงจะมีการแก้ไขอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในทำนองการลดอำนาจไม่ให้ยุบพรรคได้ และคงเหลือเฉพาะการดูว่ามีกฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังไงเสียเราก็จะต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ บางคนพูดว่าควรกลับไปเป็นเหมือนเดิมคือเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ต้องมีสำนักงาน ใช้คนของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้ช่วย

จำนวนคนกับที่มาก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะบางคนเป็นโดยตำแหน่งด้วยการสรรหา จึงทำให้ปัญหาความชอบธรรมยังคงมีอยู่

ดังนั้น ความชอบธรรมในแง่นี้จึงเป็นปัญหาขั้นพื้นฐานจะต้องแก้ให้ตกเสียก่อน ส่วนความชอบธรรมอีกระดับหนึ่งนั้นได้แก่ ความชอบธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือ Performance Legitimacy ศาลรัฐธรรมนูญกำลังถูกท้าทายทั้งสองด้าน

องค์กรอิสระของเราถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นหนทางสุดท้ายในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ต่างก็มีบทบาทเช่นนี้ ดังนั้น จะมองว่าองค์กรอิสระเป็นปราการด่านสุดท้ายในการป้องกันอำนาจเผด็จการก็เห็นจะไม่ผิด จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พรรคการเมือง และรัฐบาลจะไม่ชอบ

แต่การล้มเลิกศาลรัฐธรรมนูญไปเลยเห็นจะทำได้ยาก เพราะประชาชนส่วนหนึ่งยังเห็นความสำคัญ และความจำเป็นในการมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

ผมเองไม่อยากตำหนินายกรัฐมนตรี เพราะเป็นการพูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อม เป็นการดีเสียอีกที่เราได้รู้ว่านายกรัฐมนตรีมีความคิดอย่างไร และเราคงไม่ต้องกลัวต่างชาติจะเห็นว่าไทยไม่ดี เพราะหากนายกฯ พูดเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ทราบว่าคนฟังจับต้นชนปลายไม่ค่อยได้ เพราะท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น