xs
xsm
sm
md
lg

คำพิพากษา 2505 ฐานคดีพระวิหารที่ไทยเสียเปรียบ!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ไม่ว่าในการแถลงด้วยวาจาประเทศไทยจะทำได้ดีขนาดไหน และไม่ว่าแผนที่ the big map ของไทยจะฉีกแผนที่ the annex I map ของกัมพูชาขาดกระจุยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 50 ปีอย่างไร แต่ก็ต้องยอมรับความจริงกัน ณ นาทีนี้ว่าประเทศไทยยังคงเสียเปรียบมากและยังคงมีโอกาสที่จะสูญเสียไม่น้อยจากคำพิพากษาศาลโลกที่จะมีออกมาภายใน 6 เดือนบวกลบจากนี้

เพราะนี่ไม่ใช่ “คดีใหม่” แต่เป็นการตีความคำพิพากษา “คดีเก่า” เมื่อ 51 ปีก่อน

เป็นคำพิพากษา “คดีเก่า” ที่ทำร้ายประเทศไทยสาหัส

ฐานของการต่อสู้คดีในศาลโลกครั้งนี้ประเทศไทยจึงเสียเปรียบกัมพูชาอย่างมหาศาลมาตั้งแต่ต้น

ท่านจะไม่สามารถทำความเข้าใจคดีปราสาทพระวิหาร ไม่ว่าภาคแรก หรือภาคสอง ได้ด้วยเหตุผลเลยหากไม่อ่านคำพิพากษาศาลโลกวันที่ 15 มิถุนายน 2505 เป็นอย่างน้อย ในการแถลงด้วยวาจาเมื่อ 15 – 19 เมษายนที่ผ่านมา ฝ่ายกัมพูชาก็ได้อ้างคำพิพากษาดังกล่าวหลายตอน

กัมพูชากล่าวอ้างว่าศาลตัดสินไปแล้วว่าเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาเป็นไปตามแผนที่ annex I

ไทยบอกว่าศาลไม่ได้ตัดสิน


ต่อสู้กันอยู่แค่นี้แหละที่เป็นประเด็นข้อกฎหมายหลัก

ต้องยอมรับความจริงว่าศาลโลกเมื่อปี 2505 มีคำพิพากษาในส่วนของ “บทปฏิบัติการ” หรือคำสั่งที่ปรากฏในตอนท้ายออกมาเพียง 3 ประการ หรือ 3 ย่อหน้า กล่าวย่อๆ ก็คือหนึ่งให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา สองให้ไทยถอนกำลังออกมาจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียง และสามให้ไทยคืนของที่ได้มาจากปราสาท ไม่ได้กล่าวถึงความถูกต้องของแผนที่ annex I และเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา

แต่ในส่วนของ “เหตุผล” หรือบทบรรยายคำพิพากษาก่อนหน้านั้น ได้ให้ความสำคัญกับแผนที่ annex I และเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชามาก

ขออนุญาตชี้ให้เห็นจากคำพิพากษาฉบับแปลภาษาไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่เมื่อ 51 ปีก่อนที่ได้ใช้เป็นหลักฐานทางวิชาการในการอ้างอิงมาโดยตลอด

ต่อไปนี้คือส่วนสำคัญของบท “เหตุผล” ในคำพิพากษาที่ทำร้ายประเทศไทย

“เพื่อที่จะชี้ขาดปัญหาอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ศาลจำต้องพิจารณาถึงเส้นเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองในตอนนี้...” (หน้า 16)

“ประเทศไทยได้ยอมรับเส้นเขตแดนตรงจุดนี้ดังที่ลากไว้บนแผนที่ โดยไม่คำนึงว่าจะตรงกันกับเส้นสันปันน้ำหรือไม่...” (หน้า 39)

ศาลมีความเห็นว่าประเทศไทยใน ค.ศ. 1908 - 09 ได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา ศาลมีความเห็นต่อไปว่าเมื่อพิจารณาโดยทั่วๆ ไป การกระทำต่อๆ มาของไทยมีแต่ยืนยันและชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่าการกระทำของไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายโดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน... (หน้า 45)

ศาลมีความเห็นว่าการยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 โดยคู่กรณีเป็นผลให้แผนที่นั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับความตกลงโดยสนธิสัญญา และกลายเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงนั้น ไม่มีใครสามารถกล่าวได้ว่าวิธีการเช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดแผกไปหรือเป็นการละเมิดตัวบทของสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 ในตอนที่เส้นในแผนที่ผิดแผกไปจากเส้นของสันปันน้ำ เพราะตามความเห็นของศาล แผนที่นั้น (ไม่ว่าจะถูกต้องตรงกับเส้นสันปันน้ำในทุกประการหรือไม่ก็ตาม) ได้รับการยอมรับจากคู่กรณีใน ค.ศ. 1908 และภายหลังจากนั้นแล้วว่าเป็นผลจากการตีความการปักปันเขตแดนตามวัตถุประสงค์สนธิสัญญาโดยรัฐบาลทั้งสอง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า คู่กรณีขณะนั้นได้รับเอาการตีความข้อตกลงโดยสนธิสัญญาซึ่งเป็นผลให้เส้นในแผนที่เท่าที่ผิดจากเส้นสันปันน้ำไปมีความสำคัญกว่าข้อบัญญัติของสนธิสัญญาในเรื่องนี้... (หน้า 47)

“...ศาลจึงจำต้องลงความเห็นให้ถือเส้นเขตแดนตามแผนที่ของบริเวณพิพาท...” (หน้า 50)

ในส่วนที่ผมขีดเส้นใต้ไว้ เป็นส่วนสำคัญที่ทางฝ่ายกัมพูชายกขึ้นมาอ้างอิงครั้งแล้วครั้งเล่าในการแถลงด้วยวาจา

อันที่จริงคำพิพากษาจากหน้า 47 ไปถึง 50 ล้วนกล่าวถึงประเด็นที่ศาลเห็นว่าต่อให้เส้นตามแผนที่ annex I ไม่เป็นไปตามเส้นสันปันน้ำจริง ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะคู่กรณีย่อมต้องการให้มีเส้นเขตแดนที่แท้จริงเป็นสำคัญมากกว่า เหตุผลในคำพิพากษาว่าอย่างนี้ เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่สำคัญเท่ากับว่าคำพิพากษานี้ผูกพันประเทศไทย เพราะในช่วงที่เป็นคดีภาคแรกเรายังรับเขตอำนาจศาลโลกอยู่ แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา เราก็ปฏิบัติตาม

ประเด็นที่เราต่อสู้ในคดีภาคสองนี้คือเราปฏิบัติตามครบถ้วนแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี 10 กรกฎาคม 2505 และศาลไม่มีอำนาจพิพากษานอกประเด็นที่ศาลเมื่อ 50 ปีก่อนไม่ได้พิพากษาไว้ในบทปฏิบัติการ

ประเด็นนี้แหละครับที่สำคัญที่สุด

การที่ศาลไม่ได้พิพากษาไว้ในบทปฏิบัติการ แต่กล่าวไว้ชัดเจนในเหตุผล การตีความครั้งนี้ศาลจะตีความเฉพาะบทปฏิบัติการ หรือก้าวล่วงเข้าไปตีความในส่วนของเหตุผลด้วย ในฐานะที่อาจจะกล่าวอ้างว่าเป็นเหตุผลที่แยกไม่ออกจากบทปฏิบัติการ

ขึ้นอยู่กับตุลาการทั้ง 17 คนของศาลโลกสถานเดียว!

ไม่ต้องพูดว่าศาลโลกเป็นศาลการเมืองหรือไม่ มีผลประโยชน์ของมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เอาแค่ข้อกฎหมายและกฎเกณฑ์ของศาลโลกสถานเดียว ประเทศไทยก็ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าการต่อสู้ครั้งนี้เราจะชนะ หรือถ้าพูดให้ถูกก็คือเสมอตัว

แม้โปรเฟสเซอร์เจมส์ ครอว์ฟอร์ดจะตอบนายกรัฐมนตรีทางโทรศัพท์ในวันแถลงด้วยวาจาจบว่าน่าจะสบายใจได้ หนทางที่เลวร้ายที่สุดไม่น่าจะเกิดขึ้น คนไทยส่วนใหญ่ก็ต้องทำความเข้าใจว่าคำพูดนี้ทนายความฝ่ายไทยเชื่อมั่นว่าศาลโลกไม่น่าจะพิพากษาตีความตามความต้องการที่กัมพูชาขอมา คือให้อาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นไปตามแผนที่ annex I เพราะคงจะเชื่อมั่นว่าไทยต่อสู้ทำลายความน่าเชื่อถือของแผนที่ผิดความจริงนี้ไปได้หมด

แต่ในประการแรก ผมยังไม่ปักใจเชื่อทั้งหมด โอกาสที่ศาลโลกจะตีความเข้าทางกัมพูชาทั้งหมดยังคงมีอยู่

ในประการที่สองที่สำคัญกว่าก็คือ สมมติว่าศาลไม่ตีความเข้าทางกัมพูชาทั้งหมด แต่ก็ไม่เข้าทางไทยทั้งหมดเช่นกัน คือตีความว่าอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารไม่ใช่เส้นตามมติคณะรัฐมนตรี 10 กรกฎาคม 2505 แต่ศาลกำหนดขึ้นเองโดยขยายออกมาทางตะวันตกของตัวปราสาทผนวกเอาบริเวณถนนและวัดที่กัมพูชาสร้างขึ้นเข้าไว้ด้วยล่ะ

คนไทยยินยอมหรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น