ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -อลินา มิรอง ทนายสาวเชื้อชาติโรมาเนีย ยิ้มแย้ม หัวเราะ และเขินอายเมื่อรู้ว่าตนเองกลายเป็นดาวเด่นขวัญใจคนไทยชั่วข้ามคืนทั้งในโลกออนไลน์และในโลกแห่งความเป็นจริงในสังคมไทย หลังจากเธอขึ้นแถลงคดีตีความปราสาทพระวิหารที่ศาลโลก “ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก นั่นเป็นความรู้สึกที่แท้จริง”
เป็นความชาญฉลาดของทีมกฎหมายฝ่ายไทยในการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ที่เลือก อลินา มิรอง ขึ้นแถลงคดีต่อหน้าคณะผู้พิพากษาศาลโลก เพราะนอกจากเธอจะสามารถนำเสนอเนื้อหาเรื่องแผนที่ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและน่าเบื่อให้เป็นที่สนใจจนเชื่อกันว่าจะสามารถหักล้างฝ่ายคู่ความได้แล้ว ความที่เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวในทีม แถมมีหน้าตาจัดอยู่ในขั้นสะสวย มีบุคลิก “ไบรท์และเฟรช” สร้างความมีชีวิตชีวาที่ช่วยเพิ่มพูนความน่าสนใจในการแถลงคดีเป็นอย่างดี สังเกตจากการมีเสียงกระเซ้าจากคณะผู้พิพากษาเมื่อตอนที่เชิญเธอแถลงคดี ซึ่งปกติไม่ค่อยเกิดขึ้น
กระแสความชื่นชมและชื่นชอบการทำหน้าที่ของเธอในคดีนี้ สร้างเซอร์ไพรส์มากมายจนเหลือเชื่อ เธอเองไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนชื่นชอบมากขนาดนี้ เมื่อเทียบกับว่า การเดินทางมายังเมืองไทยของเธอครั้งก่อนหน้านี้ที่ไม่มีใครสนใจและทักทายเอาเสียเลย ผิดกับตอนนี้ไปไหนมาไหนมีแต่คนรุมล้อม ขอถ่ายรูป จับไม้จับมือ มีสำนักข่าวต่างๆ ขอจองคิวสัมภาษณ์ยาวเหยียด จนเธอเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงมีผู้คนสนใจเธอมากมายขนาดนี้ เพราะเธอคิดว่าเรื่องการต่อสู้ในศาลโลกอาจจะไม่ค่อยมีใครสนใจมากเนื่องจากค่อนข้างน่าเบื่อสำหรับคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง
อลินา มิรอง ได้เปิดใจผ่านรายการ “เจาะข่าวเด่น” ทางช่อง 3 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ที่ผ่านมาว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เธอนำเสนอต่อหน้าศาลโลก ตอนนั้น (เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2556ฝ่ายไทยแถลงคดีด้วยวาจาต่อศาลโลก) เธอเองก็ตื่นเต้นมาก 10 นาทีแรกค่อนข้างลำบาก เหมือนเสียงจะหายไปเลย แต่หลังจากนั้นใช้เวลา 5 นาที ก็สื่อสารกับผู้พิพากษาได้ เธอเองพยายามพูดให้เข้าใจง่ายที่สุด สคริปต์ของเธอก็ผ่านการปรึกษากับทีมมาแล้ว การขึ้นให้การต่อศาลในวันที่ 2 ก็ต้องมีการปรับบ้าง เพราะทางกัมพูชาเองไม่เดินตามประเด็นที่ให้ไว้ในครั้งแรก ครั้งที่ 2 ก็ต้องตอบคำถามไป
“สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำคดีนี้คือ มีคำตัดสินเมื่อ 50 ปีก่อน และคำตัดสินครั้งนี้น่าจะต่างไป อีกทั้งยังเป็นเรื่องท้าทาย ที่ต้องขจัดความเชื่อที่มีมาก่อน”
ขณะที่ใครๆ ต่างชื่นชมว่า การนำเสนอต่อศาลโลกโดยเฉพาะในประเด็นแผนที่ที่ อลินา มิรอง แถลงนั้น ถือเป็นไม้เด็ดในการแถลงฝ่ายไทยเพราะเป็นครั้งแรกที่มีการยืนยันความไม่ชัดเจน ไม่น่าเชื่อถือของแผนที่ 1: 200,000 ที่ฝ่ายกัมพูชาใช้อ้างมาตลอด โดยทนายสาวอลินา สามารถอ้างแผนที่ที่มีความแม่นยำกว่า คือ “map sheets 3” หรือ “The big map” ที่อยู่ในรายงานสเกมาฮอน แห่งสถาบัน ITC พยานผู้เชี่ยวชาญของไทย (Annex 49) ที่มาจากภาพถ่ายทางอากาศของอเมริกัน ผสมกับการเดินสำรวจสถานที่จริงของ นายเฟรเดริค อัครมัน ผู้ช่วยของ ศ.วิลเลม สเกมาฮอน
แต่สำหรับอลินาแล้ว เธอบอกว่า นี่อาจเป็นสิ่งที่ผู้คนสนใจ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เธอต้องทำให้ผู้พิพากษาสนใจ แผนที่เป็นเพียงการให้ข้อมูลเสริมเท่านั้น ข้อมูลที่สำคัญกว่ามาจากทนายทั้ง 3 คน ได้แก่ ศ.อแลง แปลเล่ต์ ศ.เจมส์ ครอวฟอร์ด และ ศ.โดนัลด์ เอ็ม.แมคเลย์ แผนที่เองเป็นเพียงส่วนเสริม เหตุที่แผนที่ไม่ใช่ส่วนสำคัญของการไต่สวนในครั้งนี้ เพราะแผนที่ไม่ใช่ข้อโต้แย้งทางกฎหมาย มันเป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่าปราสาทอยู่ที่ไหน เขตแดนอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นหลักฐานที่โน้มน้าวให้ศาลเห็นว่า จุดยืนของเรามีเหตุผล สิ่งที่เราทำ ทำให้เห็นความแตกต่างของแผนที่ที่กัมพูชาให้มา และบ่งชี้ถึงความหมายที่แท้จริงตามแผนที่ที่ฉบับนี้ได้แสดงเอาไว้ เมื่อเธอได้มาเจอกับ Map Sheet 3 ซึ่งเธอเห็นว่า น่าจะมีประโยชน์กับทางฝ่ายไทย เธอจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ และชี้แจงว่าแผนที่นี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร
แผนที่ฉบับนี้ ทูตวีรชัย พลาศรัย หัวหน้าทีมทนายความต่อสู้คดีตีความคดีปราสาทพระวิหารฝ่ายไทย อธิบายในขั้นตอนการเตรียมแถลงคดีว่า ในส่วนแผนที่ได้นำมาจากเอกสารประมวลคดีเก่าที่อยู่ในศาลโลก 6 ฉบับมาพิจารณา รวมถึงจดหมายเหตุที่อยู่ในกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ แล้วนำมาเปรียบเทียบกันว่าตรงหรือต่างกันอย่างไร รวมถึงยังค้นหาข้อมูลใหม่ๆ มาเพิ่มเติม ทั้งนี้ เหตุผลที่ว่าทำไมเอกสารบางอย่างที่ศาลมี แต่เราไม่มี ก็เป็นเพราะในการต่อสู้คดีเมื่อปี 2505 เราได้ยื่นต่อศาลและศาลได้เก็บไปเลย แต่ตอนนี้ได้ถูกนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว เช่น เอกสารแผนที่ เอส3 และเอส4
เมื่อหัวหน้าทีมฝ่ายไทยได้แผนที่มาแล้ว ก็นำมาให้ทีมทนายช่วยกันดู และอลินา มิรอง ก็ได้เข้ามาทำงานนี้โดยหัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทยได้ติดต่อผ่านทางศ.อแลง แปลเล่ต์ และเธอจึงเริ่มเข้าใจว่าแผนที่นี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร
เธอทำงานกับแผนที่นี้ประมาณ 2 ปี ในฐานะผู้ช่วยของศ.อแลง แปลเล่ต์ โดยต้องหาข้อมูลและไปสถานที่จริง เพื่อยืนยันว่าสมมุติฐานของไทยว่ามีความน่าเชื่อถือ เธอยังไปที่ศาลโลก 2 - 3 ครั้ง ไปดูในส่วนของแผนที่ใหญ่ที่เปิดเผยได้ นำข้อมูลที่ได้มาพูดคุยกับทีม ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ คือ นายมาร์ติน แครป และนายอสาสแตร์ เม็กโคนัล ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่จากมหาวิทยาลัยเดอรัม ร่วมทีมด้วย และลงไปที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร เพื่อหาข้อมูลในพื้นที่จริงๆ อีกด้วย
จากนั้น อลินา ยังเล่าว่า เธอเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่หรืออะไร แต่ในฐานะของทนาย เธอต้องมีความเข้าใจในแผนที่ที่เธอนำไปเสนอต่อศาล เพื่ออธิบายถึงปัญหา สิ่งสำคัญของการเป็นทนายคือการเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เพื่อนำไปบอกผู้พิพากษา เพราะผู้พิพากษาไม่เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่
ความจริงแล้วก่อนหน้าที่อลินา มิรอง จะมาทำคดีตีความคดีปราสาทพระวิหาร เธอเคยมาเดินย่ำแผ่นดินไทยมาแล้วครั้งแรกเมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อทำรายงานคดีในเรื่องการปักปันเขตแดน ซึ่งทำให้เธอต้องศึกษาหาความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชาด้วย
สำหรับการเข้ามาร่วมทำงานกับทีมไทย อลินา ไม่ได้ลังเลเลยแม้แต่น้อย เพราะนี่คือสิ่งที่เธอชอบ เพราะคำพิพากษาในปี 2505 คือกรณีศึกษาที่นักศึกษากฎหมายต้องเรียน เธอจึงตื่นเต้นที่จะได้กลับมาทำคดีนี้อีกครั้ง และการได้ทำงานร่วมกับทนายทั้ง 3 คนที่สำคัญที่สุดในกฎหมายระหว่างประเทศ ยังเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก ส่วนทีมกฎหมายจากไทย โดยเฉพาะทูตวีรชัย พลาศรัย นั้น อลินาว่านี่เป็นทีมที่เธอทำงานแล้วตื่นเต้นที่สุด ทุกคนเป็นมิตร และทูตวีรชัยก็มีแนวทางในการต่อสู้คดีอยู่แล้ว เธอรู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่ทำงานเบื้องหลังและเธอไม่ได้เจอ แต่พวกเขาก็สำคัญเสมอ
อลินา ถือว่าเธอโชคดีมากที่ได้ร่วมทำคดีนี้ ซึ่งโดยทั่วไปคนที่ทำงานในลักษณะนี้มักเป็นผู้ชาย แต่เธอไม่ให้เรื่องเพศเป็นอุปสรรค แม้ว่าในสายงานนี้ผู้หญิงมักจะไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่ แต่สำหรับอลินาแล้ว ไม่ว่าคดีไหน เธอก็ต้องทำงานหนักเสมอ เพราะมีคนไม่มากที่ก้าวเข้ามาถึงจุดนี้ได้ และส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของโชค รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนด้วย
“หากทำงานหนักแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน คุณก็ไม่สามารถทำอะไรได้”
อลินาไม่ได้ทำคดีให้ไทยอย่างเดียว ยังมีคดีอื่นที่เธอได้ทำในฐานะผู้ช่วยของ ศ.อแลง แปลเล่ต์ ซึ่งเขาเองค่อนข้างยุ่ง เธอจึงต้องศึกษาเนื้อหาและสรุปข้อมูลเบื้องต้นให้เขาฟังและนำมาคุยกัน ซึ่งในฐานะผู้ช่วยของศ.อแลง แปลเล่ต์ เธอได้ร่วมทำงานด้วยในหลายคดี เช่น คดีล่าวาฬในมหาสมุทรแอนตาร์กติก (ออสเตรเลีย ฟ้อง ญี่ปุ่น), ว่าความให้ประเทศนิการากัว คดีความเคลื่อนไหวละเมิดอธิปไตยบริเวณชายแดน (คอสตาริก้า ฟ้อง นิการากัว),ว่าความให้ประเทศกรีซ คดีความชอบธรรมเอกสารข้อมติรัฐบาลชั่วคราว ปี 1995 (มาเซโดเนีย ฟ้อง กรีซ), ว่าความให้ประเทศรัสเซีย คดีความชอบธรรมพิธีสารว่าด้วยการยุติการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ (จอร์เจีย ฟ้อง รัสเซีย) เป็นต้น
ชีวิตนักกฎหมายของทนายสาวชาวโรมาเนีย เธอผ่านการศึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองจากหลายสถาบันในประเทศฝรั่งเศส เธอทำคะแนนดีทั้งในการศึกษาที่ Universite Paris-Ouest Nanterre la Defense, Universite Paris-Ouest la Defense and Universite des Sciences Sociales อีกทั้งเคยมีประสบการณ์ด้านงานสอนและวิจัยที่ Universite Paris-Ouest la Defense และล่าสุด อลินา กำลังศึกษาปริญญาเอกทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ที่มหาวิยาลัย ปารี อูเวสต์ นองแต ลา เดอฟองซ์ ที่เมืองนองแต ประเทศฝรั่งเศส
สำหรับชีวิตที่ดูยุ่งเหยิงทั้งเรื่องการศึกษาและการงาน หากไม่นับว่าต้องเร่งรีบทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้เสร็จแล้ว สิ่งที่อลินา ชอบทำจริงๆ คือ การที่ได้ออกไปเดินเล่น สูดอากาศบริสุทธิ์ ปีนเขา เดินทอดน่องตามชายหาด ก่อนที่จะทิ้งท้ายว่า เธออยากกลับมาที่เมืองไทยอีกครั้ง มาที่อยุธยา สุโขทัย และไปเยือนเกาะกูดอีกครั้ง