ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“ซันบอกซ์” ของ “เฮียฮ้อ”-สุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์ แห่งบริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) เวลานี้ กล่าวได้ว่า ตกอยู่ในขั้นโคม่าเมื่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีมติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ให้ “บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด” หรือ “อาร์เอสบีเอส(RSBS)” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของอาร์เอส ผู้ครอบครองลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิลระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน-13 กรกฎาคม 2556 ต้องถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายผ่านฟรีทีวีครบทั้ง 64 คู่ จากที่อาร์เอสบีเอสยื่นขอถ่ายทอดผ่านช่องฟรีทีวีเพียง 22 คู่
กสท.ให้เหตุผลว่าเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (มัสต์แฮฟ)
ทั้งนี้ มติดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องมาจาก “ปรากฏการณ์จอดำ” ในช่วงการถ่ายทอดสดฟุตบอลแห่งชาติยุโรป 2012 ที่บริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ของ “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ได้รับลิขสิทธิ์ จนผู้คนก่นด่าไปทั้งบ้านทั้งเมือง เนื่องจากไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมระบบซีแบนได้ และในครั้งนั้น กสท.ไม่สามารถบังคับได้บริษัทของอากู๋ทำตามมติได้
งานนี้ หวยจึงมาออกมาที่การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกของอาร์เอส เพราะเสมือนหนึ่ง กสท.ต้องการแก้ตัวหรือต้องการลบภาพความโหล่ยโท่ยของตนเองในครั้งนั้น
ทว่า ในขณะเดียวกัน มติของ กสท.ก็ได้ทุบหม้อข้าวของเฮียฮ้อให้พินาศย่อยยับไปในชั่วพริบตา
คำถามที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่ากรณีของอาร์เอสและซันบอกซ์แตกต่างจากกรณีของแกรมมี่และกล่องจีเอ็มเอ็มแซทที่ตรงไหน?
กรณีนี้ต่างกันตรงที่กรณีของแกรมมี่นั้น การแข่งขันที่ถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี ประชาชนจะไม่สามารถรับชมทางผ่านทางจานรับสัญญาณดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้ ส่วนกรณีของอาร์เอส ประกาศชัดเจนว่า ทุกคู่ที่ถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี จะไม่มีการปิดกั้นการรับชมของประชาชนผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีแต่ประการใด แต่ถ้าคู่ไหนที่ไม่ได้ถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี แฟนบอลจะสามารถรับชมผ่านทางซันบอกซ์เท่านั้น
นอกจากนั้นกรณีของแกรมมี่ กสท.ไม่ได้มีข้อบังคับใดๆ ออกมาให้อากู๋ขุ่นข้องหมองใจเลยแม้แต่น้อย และแกรมมี่สามารถถ่ายทอดสัญญาณผ่านกล่องจีเอ็มเอ็มแซทของตนเองได้อย่างสบายใจเฉิบ ขณะที่กรณีของอาร์เอส ไม่สามารถทำได้แม้กระทั่งถ่ายทอดสัญญาณผ่านกล่องซันบอกซ์ของตนเอง
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ให้เหตุผลของมติที่เกิดขึ้นเอาไว้อย่างสวยหรูว่า กสท.เห็นว่า การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ถือเป็นรายการกีฬาที่คนไทยต้องได้รับชม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะเป็นรายการกีฬามหาชนแห่งมวลมนุษยชาติ รวมทั้งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ก็บังคับให้นำรายการแข่งขันถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้อาร์เอสนำฟุตบอลโลกไปถ่ายทอดสดผ่านช่องรายการของตนเองทั้งในระบบปกติ และในระบบช่องบริการแบบบอกรับสมาชิก ที่มีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มตาม ผ่านกล่อง "ซันบอกซ์" ของอาร์เอสเอง
“ในการออกอากาศจะต้องฉายผ่านฟรีทีวีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส หรือช่องรายการอื่นที่มีการออกอากาศผ่านระบบทีวีดิจิตอลทั้ง 48 ช่อง ซึ่งเราเห็นว่าอาร์เอสยังมีเวลาในการเจรจาธุรกิจเพื่อนำลิขสิทธิ์ไปออกผ่านช่องทางเหล่านี้ ทั้งนี้ อาร์เอสสามารถเข้าประมูลทีวีดิจิตอลในกลุ่มช่องธุรกิจช่วงปลายปีนี้ได้เช่นกัน และหากอาร์เอสประมูลได้ก็สามารถนำมาออกอากาศในช่องทีวีดิจิตอลได้”
พ.อ.นทีให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า หากอาร์เอสต้องการนำลิขสิทธิ์ไปออกอากาศผ่านกล่องซันบอกซ์ จะต้องได้รับข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งต้องมาจากการพิจารณาเห็นสมควรของบอร์ด กสท. อาทิ นำไปออกอากาศเพิ่มเติมคู่ขนานกับช่องฟรีทีวีในระบบความคมชัดสูง (เอชดี) และกรณีที่ไม่สามารถเจรจานำลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกไปออกอากาศผ่านช่องทางฟรีใดๆ ได้เลย อาร์เอสจะต้องให้ช่องฟรีทีวีที่ตนเจรจาด้วย ทำหนังสือยืนยันพร้อมอธิบายเหตุผลของการเจรจาไม่ลุล่วงส่งมายัง กสทช.
แน่นอน งานนี้อาร์เอสย่อมต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพราะถ้าหากยินยอมทำตามคำสั่งของ กสท. จะส่งผลถึงแผนการตลาดและยอดรายได้ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างหนักหนาสาหัส
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอาร์เอสได้ส่งหนังสือแจ้งมายังกสท. 2 ครั้ง โดยครั้งแรกได้ขอผ่อนผันการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 22 แมชต์เท่านั้น แต่ กสท.ก็ไม่ได้พิจารณา ต่อมาอาร์เอสได้ส่งหนังสืออีก 1 ฉบับเพื่อขอถอนเรื่องดังกล่าวออกจากการประชุมของ กสท. โดยแจ้งว่าบริษัทที่ได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลกไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามประกาศของ กสทช.
ขณะเดียวกัน รายงานข่าวยืนยันด้วยว่า ทางอาร์เอสได้ฟ้องร้องสำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครอง เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 เลขคดีดำที่ 726/2556 โดยอาร์เอสเห็นว่าทางบริษัทมีสิทธิในการเผยแพร่ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านช่องฟรีทีวีจำนวน 22 คู่ ตามที่ต้องการ ในฐานะผู้ที่ถือครองลิขสิทธิ์ เนื่องจากการทำสัญญาลิขสิทธิ์นั้นเกิดขึ้นก่อน กสทช. มีการออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (มัสต์ แฮฟ)
นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางอาร์เอส มองว่าหลักเกณฑ์นี้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง และจะนำมาซึ่งปัญหาและความวุ่นวายอีกมากมาย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลแห่งชาติยุโรปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการแบบใช้คลื่นความถี่ เพราะเสมือนเป็นการบังคับให้บริษัทซึ่งได้รับสิทธิการถ่ายทอดฟุตบอลโลกจากฟีฟ่า ต้องไปซื้อเวลาการถ่ายทอดจากผู้ประกอบการที่ใช้คลื่นความถี่ ทั้งที่มีสถานีของตนเองอยู่แล้ว แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อผู้ประกอบการแบบใช้คลื่นความถี่ได้รับสิทธิการถ่ายทอดมาก็สามารถเผยแพร่ผ่านสถานีของตนเองได้โดยไม่ต้องซื้อเวลาถ่ายทอดจากใคร
ที่สำคัญคือ ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2014 รอบสุดท้าย (FIFA WORLD CUP 2014 FINAL) ที่ทางอาร์เอสได้รับสิทธิ์มาจากฟีฟ่าหรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาตินั้น ไม่ใช่รายการที่เป็นลิขสิทธิ์ของรัฐหรือสาธารณะประโยชน์ของแผ่นดิน หากแต่เป็นลิขสิทธิ์ของบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบุคคลที่มิได้อยู่ภายในราชอาณาจักรไทย และภายใต้บังคับของกฎหมายไทย อาร์เอสในฐานะผู้ได้รับสิทธิจำเป็นต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ฟีฟ่าบังคับใช้กับทุกประเทศทั่วโลก ข้อกำหนดหรือข้อบังคับดังกล่าวของ กสทช. จึงเป็นการกระทบถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ (รวมถึงสิทธิของผู้ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์) อันเป็นการออกกฎที่ไม่เป็นมาตรฐานสากล และไม่เคารพต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและจะไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ รวมถึงจะทำให้เกิดผลเสียแก่ประชาชนส่วนรวม เพราะต่อไปจะไม่มีเอกชนรายใดลงทุนประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการทั้งหลายดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อประชาชน เนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่ที่ไม่เป็นหลักสากล นอกเสียจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ ภาครัฐ หรือ ผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่เท่านั้น จะเป็นผู้ยอมลงทุนจ่ายค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของลิขสิทธิ์เสียเอง ประชาชนจึงมีโอกาสได้รับชมการถ่ายทอดดังกล่าวได้ ส่วนผู้ที่ให้บริการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่คงต้องจะถูกลดทอนโดยข้อกำหนดดังกล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอาร์เอสระบุด้วยว่า ทางอาร์เอส ได้รับสิทธิ์การเผยแพร่การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2014 รอบสุดท้าย ( FIFA WORLD CUP 2014 FINAL) มาล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปี การออกข้อกำหนดจึงไม่ควรมีผลย้อนหลัง อันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการ และอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฟ้องร้องให้ยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว
ดังนั้น จึงกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ศึกระหว่างอาร์เอสและ กสท.จะไม่ยุติลงง่ายๆ เพราะมีข้อขัดแย้งทางกฎหมายพอสมควร ดังเช่นที่ “สุภิญญา กลางณรงค์” กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้ความเห็นเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า “เบื้องต้นเสนอให้อาร์เอสไปเขียนโมเดลธุรกิจมาเสนอบอร์ด กสท.เพื่อพิจารณา เพราะในประกาศดังกล่าวมีส่วนที่เป็นข้อยกเว้นอยู่ แต่ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามา ส่วนตัวมองว่า การแบ่งให้ถ่ายทอดสดนั้นเป็นเรื่องที่รับได้ เพราะหากต้องถ่ายทอดสดทุกแมตซ์จะสามารถถ่ายทอดสดได้จริงหรือไม่ในฟรีทีวี เพราะเวลาที่จะต้องมาแทรกในฟรีทีวีและคนที่อยากดูส่วนใหญ่อยากดูทุกแมตซ์หรือไม่ เพื่อให้ความยุติธรรมกับผู้ประกอบการด้วย เพราะเขาทำสัญญาลิขสิทธิ์ก่อนที่ กสทช.จะออกประกาศ”