ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากลุ้นระทึกกันอย่างใจจดใจจ่อว่า “ใคร” จะสามารถคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน “ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก” ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุดของแฟนบอลชาวไทยสำเร็จ หลังบรรดาค่ายยักษ์ใหญ่ต่างประกาศเจตนารมณ์ว่าต้องช่วงชิงมาให้จงได้ ทั้ง บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน), จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และ อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในที่สุดก็เป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ซีทีเอช คือบริษัทที่ได้รับสิทธิอันนั้น
แน่นอน ค่ายที่สั่นสะเทือนหนักที่สุดก็คือ “ทรูวิชันส์” เจ้าของลิขสิทธิ์เดิมที่พ่ายแพ้กลเกมทางการตลาดไปอย่างเจ็บปวด เพราะพรีเมียร์ลีกคือจุดสำคัญยิ่งสำหรับฐานลุกค้าของทรูฯ
ที่สำคัญคือ ลิขสิทธิ์ที่ซีทีเอชได้รับนั้นมีระยะเวลายาวนานถึง 3 ปีนับตั้งแต่ฤดูกาล 2013-14 เป็นต้นไป
ด้วยเหตุดังกล่าว ดีลธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านในครั้งนี้จึงก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย ทั้งในส่วนของซีทีเอชเองว่า มีที่มาและที่ไปอย่างไร ทำไมถึงสามารถโค่นทรูฯ ลงได้อย่างราบคาบ โมเดลทางธุรกิจของซีทีเอชเป็นอย่างไร จะอาศัยช่องทางไหนในการถ่ายทอดสด และเม็ดเงินที่ทุ่มลงไปจำนวนมหาศาลนั้น จะคุ้มทุนได้ในเร็ววันหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่า นี่คือความท้าทายต่อการทำธุรกิจที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
ด้านแฟนบอลชาวไทยเองก็กระหายใคร่รู้เช่นกันว่า จะต้องควักเงินซื้อกล่องรับสัญญาณเพิ่มเติมอีก 1 กล่องหรือไม่
ขณะที่ในส่วนของทรูฯ เอง คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทรูฯ จะทำอย่างไรต่อไป เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ทรูฯ จะต้องสูญเสียฐานลูกค้าไปจำนวนมหาศาล หรือว่าสุดท้ายแล้ว ทรูฯ จะไปผนึกกำลังร่วมกับซีทีเอช เพราะยังเหลือหุ้นอีก 20% ที่ซีทีเอชยังรอผู้ร่วมทุน และก่อนหน้านี้ทรูฯ และซีทีเอชก็เคยมีการเจรจาความเมืองกันมาบ้างแล้ว
กล่าวสำหรับค่ายซีทีเอชนั้น ความสำคัญและความน่าสนใจทั้งหลายทั้งปวงของชัยชนะในครั้งนี้อยู่ตรงชื่อของ “วิชัย ทองแตง” ผู้เป็นหุ้นส่วนใหญ่ เพราะเป็นที่ชัดแจ้งว่า ทนายความคนดังผู้นี้มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ นช.ทักษิณ ชินวัตรเป็นอย่างมาก
เดิมทีเคเบิลไทย โฮลดิ้ง มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท และมีนายเกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยเป็นแกนหลัก แต่หลังการเปลี่ยนแปลงได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000 ล้านบาท โดยผู้ร่วมทุนกลุ่มใหม่ประกอบด้วย
หนึ่ง-จูเนียร์-วัชร วัชรพล บุตรชายของยิ่งลักษณ์ วัชรพล ทายาทรุ่นที่ 3 ของไทยรัฐ ถือหุ้น 25%
สอง-นายวิชัย ทองแตง ถือหุ้น 25%
สาม-ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ที่กำลังเจรจา ถือหุ้น 20%
และสี่-กลุ่มเคเบิลไทยเดิมถือหุ้น 30%
โดยส่วนตัวแล้ว เมื่อกล่าวถึง “วิชัย ทองแตง” คงไม่มีใครไม่นึกถึง “ทักษิณ ชินวัตร” เพราะต้องไม่ลืมว่า เขาคือทนายความที่ว่าความให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีในคดีซุกหุ้น เมื่อปี พ.ศ. 2544 ด้วยข้อแก้ต่างที่เรียกว่า “บกพร่องโดยสุจริต” และเป็นการปลดล็อกสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณก้าวไปสู่จุดสูงสุดด้านการเมืองในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ได้สำเร็จ ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมาชื่อ ของวิชัย ทองแตง โดดเด่นขึ้นมาในสังคม
ขณะเดียวกันก็เป็นที่ยอมรับเช่นกันว่า วิชัย ทองแตงคือมือไม้หรือ “นอมินี” ของ นช.ทักษิณการทำธุรกิจ ปี พ.ศ. 2542 วิชัย ทองแตงได้เข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลศิครินทร์ เข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลเปาโล ในปี พ.ศ. 2543 โดยดีลธุรกิจที่หลายคนยังไม่ลืมก็คือการกว้านซื้อหุ้นของโรงพยาบาลพญาไท จนสามารถก้าวขึ้นไปเป็นหุ้นใหญ่
ทั้งนี้ การเข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลจำนวนมาก ทำให้สังคมพุ่งเป้าว่า เขาคือนอมินีให้ตระกูลชินวัตร เพราะเป็นการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทักษิณที่มีนโยบายชัดเจนจะทำให้ประเทศไทยเป็น “เมดิคัล ฮับ”
วันนี้ธุรกิจโรงพยาบาลในมือวิชัยมีเครือข่ายแล้ว 30 โรงพยาบาล มีเตียงรองรับคนไข้ 5,000 เตียง โดยผลงานชิ้นล่าสุดก็คือการร่วมกิจการกับ บริษัทกรุงเทพดุลิต เวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BGH หรือโรงพยาบาลกรุงเทพนั่นเอง
วันนี้ วิชัย ทองแตงก้าวขึ้นไปสู่เศรษฐีหุ้นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย ด้วยมูลค่าการถือครองสูงสุด 11,804.14 จากการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี พ.ศ. 2554 โดยวารสารการเงินการธนาคาร ร่วมกับอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะที่ตระกูลทองแตงเองก็ติดอันดับตระกูลเศรษฐีหุ้นในอันดับ 5 ด้วยการถือครองหุ้นรวมมูลค่า 15,328.38 ล้านบาท ที่ก้าวกระโดดจากอันดับที่ 297 เพียงระยะเวลาแค่ 1 ปี
ดังนั้น ดีลครั้งนี้ จึงไม่อาจสลัดภาพความเป็นนอมินีของนช.ทักษิณ ให้พ้นจากความเป็น “พรีแม้วลีก” ได้
ก่อนหน้าที่จะคว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ชิป 3 ฤดูกาลมาครอง “วิชัย ทองแตง” ในฐานะประธานกรรมการบริหารออกตัวว่า ไม่ได้หวังว่าจะได้สิทธิ์ในการประมูลฟุตบอลอังกฤษพรีเมียร์ชิปครั้งนี้ เพราะบริษัทยังเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ของธุรกิจดังกล่าว แต่ในที่สุดซีทีเอชก็ทำสำเร็จ โดย คาดว่ากลุ่มซีทีเอช จะต้องใช้เงินประมาณ7,000- 9,000 ล้านบาทและเมื่อรวมภาษีและค่าใช้จ่ายทั้งหมดตัวเลขอาจสูงถึง 10,000 ล้านบาท สูงกว่าครั้งก่อนที่"ทรูวิชั่นส์"ได้ไปในราคาไม่ถึง 2,000 ล้านบาท
“เราคว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล พรีเมียร์ชิป ในประเทศไทย ครอบคลุมถึง กัมพูชา และ ลาว ตอนนี้แผนที่วางไว้คร่าวๆ คือ เป็นแบบขายกล่องบอกรับสมาชิกรายเดือน ส่วนเรื่องประมูลยังบอกไม่ได้ เพราะถือเป็นจรรยาบรรณต่อผู้ร่วมอาชีพและต้องรอ พรีเมียร์ ลีก อนุญาต รวมถึง คุณกฤษณัน งามผาติพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเดินทางไปเจรจากลับมาก่อน”วิชัยให้ข้อมูลในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555
สำหรับแผนการดำเนินงานของซีทีเอชนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ล่าสุดได้จับมือกับทางบริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในการเลือกใช้โครงข่ายไฟเบอร์ออปติกที่มีศักยภาพของทางซิมโฟนี่ฯเข้ามาเสริมทัพ โดยเฉพาะในเขต กทม.และภาคตะวันออก จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ ได้ร่วมมือเลือกใช้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกของทางทีโอทีที่ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ตามเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการเป็นผู้ให้บริการแบบทริปเปิล เพย์ คือ เคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตภายในปลายปี 2556
ความร่วมมือครั้งนี้ ซีทีเอชลงทุนไปกว่า 142 ล้านบาท สำหรับ 3 ปีหลังจากนี้ โดยจะทำให้บริษัทประหยัดเวลาได้กว่า 3 เท่าตัวในการขยายโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมสามารถเปิดให้บริการเคเบิลทีวีในรูปแบบดิจิตอลได้ภายในเดือน ก.พ.2556 ทั่วประเทศ ขณะที่สมาชิกยังคงจ่ายค่าบริการเท่าเดิม ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ภายใน 5 ปีหลังจากนี้ จะสามารถเข้าถึงคนไทยทั่วประเทศได้ที่ 7-10 ล้านครัวเรือนตามเป้าหมาย
นอกจากนั้น ยังเตรียมเปิดตัวผู้ผลิตรายการคุณภาพ ที่จะเข้ามาร่วมเปิดตัวช่องรายการกับทางซีทีเอชอีก 4 ราย คือ ทีวีบูรพา บางอ้อ D-Dog และ พาโนราม่า
รวมถึงข่าวการเจรจาเป็นพันธมิตรฯ กับฟรีทีวีบางช่องตามกฎของพรีเมียร์ลีก ซึ่งมีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะเป็นช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์
“เราจะนำเสนอในรูปแบบดิจิตอล บอร์ดแบรนด์แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นการลากสายไซเบอร์เข้าถึงบ้านได้เลย จึงสามารถมีลูกเล่นแบบสื่อสาร 2 ทางถึงผู้รับได้โดยตรงในทันทีระหว่างการชมการถ่ายทอดสดหลายรูปแบบ ทั้งนี้ สัญญาณของซีทีเอชกระจายได้ทั่วประเทศ 900 อำเภอ 77 จังหวัดและแน่นอนว่าจอไม่ดำ ขั้นตอนต่อจากนี้เราจะประชุมวางแผนการตลาดอีกครั้งเพื่อหาคอนเทนท์อื่นๆ มาเสริม โดยจะเพิ่มช่องทางเพื่อรองรับกว่า 120 ช่อง ส่วนแผนการตลาดที่วางไว้คร่าวๆ ในตอนนี้จะเป็นการขายกล่องบอกรับสมาชิกแบบรายเดือน ปัจจุบันค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 300-500 บาท แต่หลังจากนี้จะต้องรอแผนการตลาดที่แน่นอนว่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งลูกค้าเก่าอาจได้ในราคาที่ต่ำที่สุด” วิชัย ทองแตงแจกแจงข้อมูล
ขณะที่จูเนียร์ขยายความเพิ่มเติมว่า ช่องสำหรับการถ่ายทอดพรีเมียร์ลีกจะเพิ่มเป็น 8 ช่อง โดยเป็นระบบ HD 4 ช่อง ส่วนนัดสุดท้ายที่แข่งพร้อมกันจะเพิ่มเป็น 10 ช่อง
คำถามมีอยู่ว่า ลิขสิทธิ์ครั้งนี้ ซีทีเอชได้คุ้มเสียหรือไม่
ทางด้านทรูฯ นั้น แม้ก่อนหน้านี้ นายองอาจ ประภากมล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายคอมเมอร์เชียล บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ออกมาย้ำ ล่าสุดว่า อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ และถ้าครั้งนี้ทรูวิชั่นส์ไม่สามารถจะรักษาลิขสิทธิ์เอาไว้ได้ ก็ไม่เป็นไร เพราะยังมีคอนเทนต์อื่นอีกมาก รวมทั้งเม็ดเงินที่ใส่ไปครั้งนี้ ก็ถือว่ามากแล้ว ซึ่งหากใครเสนอมากกว่าทรูฯก็คิดว่าคงจะประกอบธุรกิจได้ยาก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทรูฯ พยายามขยายช่องทางไปในทุกแพลตฟอร์ม นับตั้งแต่การส่งคอนเทนต์บางรายการบางช่องให้กับทางซีทีเอช ผู้ประกอบการเคเบิลภูธร การทำตลาดร่วมกับทางจานดาวเทียมพีเอสไอในการสินค้าชื่อว่า พีเอสไอทรูทีวี ราคาประมาณ 900 กว่าบาท และกล่องพีเอสไอทั้ง 2 ระบบ การส่งคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกไปแพร่ภาพที่ช่อง 3 การส่งคอนเทนต์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ไปแพร่ภาพที่ช่อง 9 การส่งคอนเทนต์ฟุตบอลยูโรป้าไปแพร่ภาพที่ช่อง 5 การเปิดช่องใหม่ทรูเท็นส่งไปทุกแพลตฟอร์มที่เป็นพันธมิตร การเปิดทรูวิชั่นส์อินเทอร์เน็ตทีวี ซึ่งสามารถรับชมพรีเมียร์ลีกได้ในราคาแค่ 350 บาทต่อเดือน และยังรับชมได้ 380 แมตช์อีกด้วย และอีกมากมาย
ทำให้ ฐานสมาชิกที่มีกว่า 2 ล้านสมาชิก จากทั้งหมด 5 แพกเกจหลัก ที่ประกอบไปด้วย แพลทินัม, โกลด์, ซูเปอร์เอนเตอร์เทนเมนต์, ซูเปอร์สปอร์ต และทรูโนว์เลจแพกเกจ เพิ่มขึ้นโดยอัติโนมัติ จากฐานของสมาชิกพันธมิตรนั่นเอง
แต่เอาเข้าจริงกลับพลาดอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ทรูฯได้เปรียบคู่แข่งขันมากที่สุด ไม่นับรวมสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับเจ้าของสิทธิ์ในฐานะรายเก่าที่ประมูลสิทธิ์และครองมาหลายปีรวมกว่า 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่สมัยทียังอยู่ช่องอีเอสพีเอ็น และการเข้าประมูลเอง 2 ครั้ง รวม 6 ฤดูกาลล่าสุดที่ผ่านมา ด้วยเม็ดเงินที่ว่ากันว่าประมาณ 1,700-2,000 ล้านบาท
ดังนั้น คงไม่เกินเลยไปนักที่จะบอกว่านี่คือความพ่ายแพ้ทางธุรกิจครั้งสำคัญ เพราะทรูฯมีวันนี้ได้ก็เพราะลิขสิทธิ์พรีเมียร์ชิป
แถมนี่ไม่ใช่ความพ่ายแพ้แรกที่ทรูฯ ได้รับ เพราะก่อนหน้านี้ก็พลาดปล่อยให้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลลาลีกาสเปนตกเป็นของค่ายอาร์เอส รวมทั้งฟุตบอลบุนเดสลีกา เยอรมัน ที่หลุดไปอยู่กับมือของ “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” แห่งจีเอ็มเอ็มแกรมมี่
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโอกาสของทรูฯ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง เพราะต้องไม่ลืมว่า ซีทีเอชเองก็เปิดช่องในการหาพันธมิตรทางธุรกิจเช่นกัน โดยคงเหลือหุ้นของบริษัทเอาไว้ถึง 20% เพื่อรอการเจรจาต่อรอง โดยก่อนหน้านี้ “แกรมมี่” เป็นหนึ่งในค่ายที่เคยเจรจากับซีทีเอชมาแล้ว เช่นเดียวกับทรูฯ ที่มีข่าวว่า ปรารถนาจะแตะมือกับซีทีเอชเช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วทรูฯจะต้องไปแก้ปัญหาสมาชิกที่รับแพคเกจซึ่งรวมการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกรวมอยู่ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
นอกจากนี้ ในการแถลงข่าวของ 2 หุ้นส่วนสำคัญคือนายวิชัย ทองแตง ประธานกรรมการบริษัท เคเบิล ไทยโฮลดิ้ง จำกัด และ วัชร วัชรพล ทายาทหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หลังคว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกมาครองได้สำเร็จ วิชัยประกาศเอาไว้ชัดเจนว่า “จากนี้เราพร้อมเปิดรับพันธมิตรจากทุกค่าย ไม่เว้นแม้กระทั่ง ทรู วิชันส์ ที่ยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งก็มีติดต่อเข้ามา 2-3 เจ้าแล้ว แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎที่ พรีเมียร์ ลีก วางเอาไว้ ขอยืนยันว่า ครั้งนี้ไม่มีฮั้วประมูล โดยงบประมาณที่เราวางเอาไว้ตอนนั้น ขั้นต่ำรวมค่าลิขสิทธิ์และจัดการทุกอย่างน่าจะอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท”
นั่นหมายความว่า ทั้งทรูฯ และแกรมมี่ก็อาจกลายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับซีทีเอชก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจึงดีลครั้งนี้ทุกฝ่ายมีแต่ได้กับได้ ไม่มีใครเสีย ส่วนจะได้มากหรือได้น้อย มิใช่เรื่องสำคัญ