โบรกฯ ประเมิน...เตรียมรับชะตากรรม “กลุ่มทรูฯ” ลูกค้าเคเบิลทีวีวูบ หลังโดน “วิชัย ทองแตง และตระกูลวัชรพล” ตัดหน้าคว้าลิขสิทธิ์บอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ 3 ปี เชื่อกระทบแน่ แนะนำ “ทยอยขาย” และ “หลีกเลี่ยงลงทุน” แต่ในแง่ดีช่วยกดต้นทุนทรูวิชั่นส์ลดลงไปอื้อ ภาพรวมทั้งกลุ่มถือว่ายังไม่มีความแน่นอน เหตุอาจต้องมีการเพิ่มทุนในอนาคต เพื่อนำเงินมาใช้ลงทุน 3G ทำให้หุ้นที่มีอยู่ไดรูท ส่วน “ซีทีเอช” แม้มีพันธมิตรช่วยแบ่งเบาต้นทุน 7 พันล้าน ก็ยังถือเป็นงานช้าง ในการคืนทุนใน 3 ปี ชี้ ต้องมีผู้ใช้บริการมากกว่า 6.5 แสนรายต่อค่าบริการ 300 บาท/เดือน
บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง หรือซีทีเอช ของ นายวิชัย ทองแตง และตระกูลวัชรพล ได้ทุ่มงบประมาณราว 7,000 ล้านบาท บรรลุข้อตกลงซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ชิป ของอังกฤษ 3 ปี ตั้งแต่ฤดูกาล 2013-14 เป็นต้นไป เรื่องดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยจำนวนมาก เพราะมีผลต่อราคาหุ้นของบริษัท ทูร คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) นั่นเอง โดยล่าสุด ปิดตลาดวานนี้ (15 พ.ย.) ที่ระดับ 4.82 บาท ลดลง 0.08 บาท หรือ 1.63% มูลค่าการซื้อขาย 775.80 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ บริษัท ทรูวิชั่นส์ (บริษัทย่อยของ TRUE) บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ และบริษัท อาร์เอส ต่างออกมาประกาศว่าต้องการครอบครองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ชิป ของอังกฤษ ทว่า ผลปรากฎว่า ซีทีเอชกลับได้ลิขสิทธิ์ไปครอง โดยฟุตบอลพรีเมียร์ ลีกเริ่มทยอยประกาศรายชื่อผู้ได้รับสิทธิในการถ่ายทอดสดแล้ว ซึ่งคาดว่ามูลค่าลิขสิทธิ์ที่จะได้รับจะสูงถึง 250,000 ล้านบาท
โบรกฯ เตือนปล่อยขายเพื่อความไม่ประมาท
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคที ซีมิโก้ จำกัด ระบุถึงเรื่องดังกล่าวว่า แนะนำ “ทยอยขาย” หรือ “หลีกเลี่ยงการลงทุน” ในหุ้น TRUE หลังแพ้ประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอด 3 ฤดูกาลหน้าให้แก่กลุ่มซีทีเอช อย่างไรก็ตาม มองว่า กลุ่มทรูฯ ยังมีออปชันประมูลสู้ แต่จำนวนเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารรายการนี้ให้คุ้มทุน และกรณีเลวร้ายไม่ได้สิทธิในการถ่ายทอดต่อจากนั้น เบื้องต้นคาดว่าอาจกระทบต่อมูลค่าพื้นฐานราว 0.50 บาท เมื่อผนวกกับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของใบอนุญาต 3G จะเป็นแรงกดดันต่อราคาหุ้นระยะสั้น
“ทรีนิตี้” ชี้เป็นปัจจัยลบระยะสั้น
นักวิเคราะห์ บล.ทรีนิตี้ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุนในระยะสั้นต่อหุ้น TRUE แน่ โดยจากข้อมูลที่รับทราบพบว่า ในการประมูล ทรูวิชั่นส์ ได้เสนอไปด้วยวงเงินสูงถึงประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกดังกล่าว แต่ต้องแพ้ให้แก่ “ซีทีเอช” ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบต่อฐานลูกค้าผู้ใช้บริการเคเบิลทีวีของทรูฯ แน่ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมกลับถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทรูฯ ไม่สามารถชนะการประมูลได้ เพราะหากชนะการประมูล นั่นหมายถึงต้องใช้เม็ดเงินจำนวนที่มากกว่ากลุ่มซีทีเอช ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนในการดำเนินงานทรูวิชั่นส์ที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น เมือเปรียบเทียบต้นทุนที่หายไปกับปริมาณฐานลูกค้าที่อาจลงไปแล้ว ประเมินว่า ไม่มีผลต่อฐานะทางการเงินของบริษัทมากนัก
“โดยทั่วไป นักลงทุนหลายคนมองหุ้น TRUE เป็นหุ้นที่ลงทุนเพื่อเก็งกำไรมากกว่า เพราะธุรกิจของบริษัทยังไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่อง 3G ซึ่งหากไม่ผิดพลาด ทรูฯ น่าจะได้สัมปทาน 3G ด้วย นั่นหมายถึงบริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายการลงทุนจำนวนมาก และเรื่องดังกล่าวอาจทำให้บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งจะมีผลให้ราคาหุ้น TRUE ที่นักลงทุนถือยู่ในปัจจุบันปรับตัวลดลงตามไปด้วย
ส่วนความกังวลเรื่องข้อกฎหมายต่อกรณีข้อตกลงที่กลุ่มทรูฯ ทำไว้กับ กสท นั้น มองว่าไม่น่ากังวลเท่าใดนัก เพราะในข้อตกลงที่ร่วมมือกันระบุไว้อย่างชัดเจนว่าแม้สัญญาที่ตกลงกันไว้ในปัจจุบันจะมีข้อผิดพลาด กลุ่มทรูฯ และ กสท สามารถตกลงแก้ไขสัญญาความร่วมมือดังกล่าวได้เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยไม่จำเป็นต้องให้ถือว่าข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันแล้วนั้นเป็นโมฆะ
“ซีทีเอช” แม้ชนะแต่ก็ไม่ง่าย...
สำหรับกรณี “ซีทีเอช” ผู้ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลลีกอังกฤษ รายใหม่ ประเมินว่า ด้วยวงเงินที่ยื่นไปถึง 7,000 ล้านบาทนั้น อยู่ในระดับที่สูงมาก แต่ยังมีข้อดี คือ “ซีทีเอช” จะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมกันถ่ายทอดสด และร่วมกันแบกรับต้นทุนลิขสิทธิ์จำนวนมากนี้ ขณะเดียวกัน การมีพันธมิตรช่วยถ่ายทอดจะทำให้ช่วยสร้างฐานลูกค้าให้แก่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกก้าวของวงการธุรกิจเคเบิลทีวี ทีมีผู้ชมทั้งประเทศรวมกันประมาณ 30 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ ทรูวิชั่นส์ มีฐานลูกค้าประมาณ 1 ล้านกว่าราย และเป็นลูกค้าระดับพรีเมียมประมาณ 3-4 แสนราย
“แพกเกจเคเบิลทีวีของทรูฯ ที่ให้บริการลูกค้าอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีราคาที่สูง เมื่อเทียบกับเจ้าอื่น การเสียลิขสิทธิ์บอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ซึ่งนับเป็นรายการแม่เหล็กที่ดึงคนดูให้หันมาเป็นสมาชิกของทรูฯ ย่อมมีผลต่อธุรกิจของบริษัทแน่ แต่จากต้นทุนที่ลดลงไปด้วยน่าจะช่วยสร้างความสมดุลได้
ดังนั้น จากนี้ไปสิ่งที่น่าจับตาดู คือ การบริหารจัดการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ของ “ซีทีเอช” ว่า จะดำเนินการจัดสรร และทำอย่างไรให้คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปถึง 7 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก หรือเฉลี่ยเป็นปีละ 2.33 พันล้านบาท/ปี แม้จะมีรายอื่นเข้ามาร่วมแชร์แบกรับต้นทุนตรงนี้ แต่การบริหารจัดการให้คุ้มค่า ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะทั้งกลุ่มจะต้องหาลูกค้าเข้ามาใช้บริการกว่า 6.5 แสนราย ด้วยค่าใช้บริการเดือนละ 300 บาท/ราย ซึ่งหากจะปรับเพิ่มราคาการให้บริการมากกว่า 300 บาท มองว่ายิ่งเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มดังกล่าวประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับจากคนดู ก็เชื่อว่า จะเป็นการพลิกโฉมวงการเคเบิลทีวี และจะทำให้ต่อไปจะมีการแข่งขันแย่งชิงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดต่างๆ รุนแรงยิ่งขึ้น”