ยิ่งใกล้วันประกาศผลผู้คว้าชัยลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ในไทย ฤดูกาล 2013-2016 คงจะไม่มีใครใจเต้นระทึกกันมากไปกว่าผู้บริหารของ 4 ค่ายใหญ่ คือ 1.ทรูวิชั่นส์ 2.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ 3.อาร์เอส 4.ซีทีเอช ที่ต่างก็พยายามช่วงชิงลิขสิทธิ์เข้ามาไว้ในอ้อมกอดให้ได้
แต่ดูเหมือนว่า ทุกฝ่ายกลับแสดงอาการบ่งบอกแบบ 50-50 กันทั้งนั้น
ไม่เว้นแม้แต่ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม บอสใหญ่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ที่ว่า คงไม่มีใครมั่นใจ 100% ถ้าไม่ได้ครั้งนี้ ก็ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับการลงทุนที่จะมากมาย
รวมไปถึง นายวิชัย ทองแตง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ซีทีเอช ที่กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ได้หวังว่าจะได้สิทธิ์ในการประมูลฟุตบอลอังกฤษพรีเมียร์ลีกครั้งนี้ เพราะบริษัทยังเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ของธุรกิจดังกล่าว แต่ก็ถือเป็นโอกาสหนึ่งที่จะทำให้เรามีคอนเทนต์ดีๆ มานำเสนอสมาชิก
ขณะที่ฟาก อาร์เอส ก็เช่นกัน นางสาวพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่เคยกล่าวไว้ว่า บริษัทก็คงจะสู้เท่าที่สู้ไหว
แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่า ในใจลึกๆ ของทุกค่ายแล้ว ก็ย้ำว่า “แพ้ไม่ได้”
โดยเฉพาะ ค่ายทรูวิชั่นส์ จากการประกาศของ นายองอาจ ประภากมล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายคอมเมอร์เชียล บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จะออกมาย้ำล่าสุดว่า อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ และถ้าครั้งนี้ทรูวิชั่นส์ไม่สามารถจะรักษาลิขสิทธิ์เอาไว้ได้ ก็ไม่เป็นไร เพราะยังมีคอนเทนต์อื่นอีกมาก รวมทั้งเม็ดเงินที่ใส่ไปครั้งนี้ ก็ถือว่ามากแล้ว ซึ่งหากใครเสนอมากกว่าทรูฯก็คิดว่าคงจะประกอบธุรกิจได้ยาก
ทว่า ก้นบึ้งของหัวใจของทรูฯแล้ว “ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก” จะหลุดมือไปให้กับคู่แข่งไม่ได้เด็ดขาด!
เพราะนี่คือ หัวใจทองคำ และเป็นเสมือนบ่อทองที่ทำให้ทรูฯมีวันนี้ได้ จากการถือลิขสิทธิ์มานั้นหลายปีติดต่อกัน
ไม่เช่นนั้น เราคงไม่เห็นการดิ้นรนของทรูวิชั่นส์ ในการที่จะต่อยอดและกระจายช่องทางหรือแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งจับมือกับพันธมิตรอย่างมากมายในช่วงที่ผผ่านมาแน่นอน เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้พร้อมในการนำภาพแห่งการฟาดแข้งของทัวร์นาเมนต์ที่เป็นที่สุดของโลก อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย
กล่าวได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับการวิ่งหาพันธมิตรในการกระจายแพลตฟอร์มากมายของทรูฯเยี่ยงนี้ ในปีนี้
และนี่คือ ประเด็นสำคัญที่เจ้าของลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก พิจารณาด้วย ไม่แพ้ประเด็นเม็ดเงินที่แต่ละค่ายเสนอกันเข้าไป ซึ่งว่ากันว่า ลิขสิทธิ์ครั้งนี้น่าจะพุ่งขึ้นเฉียดๆ 4,000-5,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศหลายสัญญาที่ราคาค่าลิขสิทธิ์พุ่งขึ้นถึง 100% โดยรวมทั่วโลกขณะนี้มีตัวเลขสูงเป็นประวิติการณ์ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ 5,000 ล้านปอนด์ หรือราว 250,000 ล้าน! เฉพาะที่อังกฤษแหล่งกำเนิดมียอดรายรับที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้มากถึง 150,000 ล้านบาทแล้ว
นับตั้งแต่การส่งคอนเทนต์บางรายการบางช่องให้กับทางซีทีเอช ผู้ประกอบการเคเบิลภูธร การทำตลาดร่วมกับทางจานดาวเทียมพีเอสไอในการสินค้าชื่อว่า พีเอสไอทรูทีวี ราคาประมาณ 900 กว่าบาท และกล่องพีเอสไอทั้ง 2 ระบบ การส่งคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกไปแพร่ภาพที่ช่อง 3 การส่งคอนเทนต์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ไปแพร่ภาพที่ช่อง 9 การส่งคอนเทนต์ฟุตบอลยูโรป้าไปแพร่ภาพที่ช่อง 5 การเปิดช่องใหม่ทรูเท็นส่งไปทุกแพลตฟอร์มที่เป็นพันธมิตร การเปิดทรูวิชั่นส์อินเทอร์เน็ตทีวี ซึ่งสามารถรับชมพรีเมียร์ลีกได้ในราคาแค่ 350 บาทต่อเดือน และยังรับชมได้ 380 แมตช์อีกด้วย และอีกมากมาย
ทำให้ ฐานสมาชิกที่มีกว่า 2 ล้านสมาชิก จากทั้งหมด 5 แพกเกจหลัก ที่ประกอบไปด้วย แพลทินัม, โกลด์, ซูเปอร์เอนเตอร์เทนเมนต์, ซูเปอร์สปอร์ต และทรูโนว์เลจแพกเกจ เพิ่มขึ้นโดยอัติโนมัติ จากฐานของสมาชิกพันธมิตรนั่นเอง
เจ้าของลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ต้องการที่จะให้พรีเมียร์ลีกนั้น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนดูให้มากที่สุด ซึ่งจะพิจารณาจากผู้ที่มีความได้เปรียบจากแพลตฟอร์มที่หลากหลายนั่นเอง ซึ่งทรูวิชั่นส์ได้เปรียบมากที่สุดในเรื่องนี้
ต่างจากทั้ง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ อาร์เอส หรือ ซีทีเอช เอง ที่มีข้อจำกัดด้านนี้ เพราะอยู่ในสนามนี้ช้ากว่าทรูวิชั่นส์ ซึ่งทรูวิชั่นส์เองก็ยังมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับเจ้าของสิทธิ์ในฐานะรายเก่าที่ประมูลสิทธิ์และครองมาหลายปีรวมกว่า 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่สมัยทียังอยู่ช่องอีเอสพีเอ็น และการเข้าประมูลเอง 2 ครั้ง รวม 6 ฤดูกาลล่าสุดที่ผ่านมา ด้วยเม็ดเงินที่ว่ากันว่าประมาณ 1,700-2,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ทรูวิชั่นส์เองก็เพิ่งจะเสียแชมป์ไปถึง 2 ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ อย่างเช่น ลิขสิทธิ์ฟุตบอลลาลีกาสเปน ที่ค่ายอาร์เอส แย่งชิงไปได้ รวมทั้งฟุตบอลบุนเดสลีกา เยอรมัน ที่หลุดไปอยู่กับมือของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ในฤดูกาลใหม่
และทั้งสองค่ายนี้ก็ยังคงตามมาราวีเป็นคู่แข่งในสนามพรีเมียร์ลีกอีกเช่นเดิม
ล่าสุด ทรูวิชั่นส์ก็สามารถที่จะคว้าลิขสิทธิ์เอ็นเอฟแอล หรืออเมริกันฟุตบอล กลับคืนมาได้ หลังจากที่ตกไปอยู่กับรายอื่นมา 1 ฤดูกาล
นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศชัดเจนว่า จุดแข็งที่ทรูวิชั่นส์สามารถจะมัดใจเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ คือ การมีช่องทางในการที่จะถ่ายทอดฟุตบอลให้กับผู้ชมหลายทาง ที่มากกว่าคู่แข่งทุกราย และยังมีระบบที่ทันสมัยอย่างไฮเดฟฟิเนชั่น หรือเอชดี อีกด้วย ที่ทรูฯเป็นเจ้าแรกและรายเดียวในไทย รวมทั้งเขายังดูว่าคนที่ได้รับสิทธิ์ไปสามารถจัดการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ได้ถูกต้องหรือไม่
ที่สำคัญกว่านั้น ฐานสมาชิกของทรูฯที่เพิ่มขึ้นตลอดมานั้น ก็เพราะมีพรีเมียร์ลีกเป็นแม่เหล็กดึงดูดนั่นเอง ขณะที่คอนเทนต์อื่นเป็นเพียงมวยรองเท่านั้น ซึ่งถ้าหากลิขสิทธิ์หลุดลอยไป นั่นหมายความว่า ทรูฯจะต้องเคว้งคว้างและเสี่ยงต่อฐานสมาชิกลดลงแน่นอน เพราะมันนานถึง 3 ปีเลยทีเดียว
ดังนั้น พรีเมียร์ลีก จึงเป็นอะไรที่ ทรูวิชั่นส์ เสียไม่ได้อีกแล้ว เพราะวันนี้อยู่ในฐานะหลังพิงฝาแล้ว เพราะถ้าเอาลาลีกา กับบุนเดสลีกา รวมกันแล้ว เชื่อว่า ความนิยมชมชอบและปริมาณคนดูก็ยังน้อยกว่าพรีเมียร์ลีกแน่นอน
การเทหมดหน้าตักของทรูวิชั่นส์ครั้งนี้ คล้ายกับการแข่งขันแมตช์ชี้ชะตาชิงแชมป์ของพรีเมียร์ลึกที่บังคับให้ทรูฯแพ้ไม่ได้ เพราะมันหมายถึงฐานสมาชิกที่สั่งสมมา และสมาชิกใหม่ผูกโยงกับลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษนั่นเอง !