xs
xsm
sm
md
lg

The big map แผนที่ที่ศาลไม่สนใจเมื่อ 50 ปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

การแถลงด้วยวาจาของฝ่ายไทยในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 ระหว่างวันที่ 15 - 19 เมษายนที่ผ่านมา คงทราบกันดีว่าทีมทนายความฝ่ายไทยได้ตอบโต้แผนที่ระวางดงรัก หรือแผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000 หรือแผนที่ภาคผนวก 1 หรือที่เราได้ยินกันตลอดช่วง 4 วันนั้นว่า The annex I map ได้อย่างน่าชื่นชมในประเด็นข้อเท็จจริง หลักฐานที่เราหยิบยกมาเป็นแผนที่เช่นกัน

‘The big map’

หรือ ‘Map 85 d’ หรือ ‘Annex 85 d map’ สุดแท้แต่จะเรียกกัน แต่ละคำล้วนเป็นภาษาในสำนวนคดีปราสาทพระวิหารภาคแรกระหว่างปี 2502 - 2505 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2505

หมายความว่าไม่ใช่ของใหม่!

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ที่ทีมทนายความไทยใช้ในครั้งนี้มาจากอิบรู (IBRU : international Boundaries Research Unit) คือ ศ.มาร์ติน แพรต และอาลิสแตร์ แมคโดนัล ไม่ใช่มิสอลินา มีรอง เธอเป็นนักกฎหมาย เป็นนักศึกษาปริญญาเอกศิษย์ของศ.อแลง แปลเล่ต์ ที่ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก IBRU มาโดยตลอดในคดีนี้ และคดีอื่น การทำงานของทีมก็เพื่อศึกษาทำความเข้าในและนำเสนอต่อศาลอย่างเป็นระบบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ถึงความผิดพลาดของ the annex I map ของกัมพูชาที่ค้นพบมาตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อนในรายงานของศ.วิลเลม สเกมาฮอน แห่งสถาบัน I.T.C. : International Training Centre for Aerial Survey เอกสารท้ายคำให้การฝ่ายไทยหมายเลข 49 ที่มีแผนที่รวม 4 ฉบับ คือ map sheets 1, 2, 3 และ 4 ที่พัฒนาไปเป็น the big map หรือ map 85 d

ย้ำอีกครั้งว่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดมาเพื่ออ่าน ทำความเข้าใจ และนำเสนอ หลักฐานที่ไทยเคยใช้เป็นจุดยืนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

ผมเคยเขียนเล่าเรื่องรายงานสเกมาฮอนมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อคราวตอบโต้เอกสาร 50 ปี 50 ประเด็นของกระทรวงการต่างประเทศ

อ่านของจริงได้จากเว็บไซต์ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หน้า 432 - 436

ในรายงานได้แนบแผนที่ 4 ฉบับดังนี้

- Map sheets I , 2 attached to Annex 49 = Phra Viharn, Scale 1 : 10,000 compiled from aerial photographs by I.T.C.

- Map sheet 3 = 1 : 50,000 enlargement of Annex I map

- Map sheet 4 = 1:50,000 reduction of map sheet I and 2  มีลักษณะเป็นแผ่นใส

ในหน้า 434 - 435 ศ.วิลเลม สเกมาฮอนได้กล่าวถึงการเปรียบเทียบ topographic feature บริเวณปราสาทระหว่างแผนที่ของ I.T.C และแผนที่ Annex I ซึ่งสามารถทำได้โดยนำแผนที่ Map sheet 4 วางซ้อนแผนที่ Map sheet 3

ศาลเมื่อปี 2505 ทำการผลิตส่วนสำคัญที่สุดของ the big map เฉพาะส่วนสำคัญที่สุด 4.5% พิมพ์เป็นแผ่นใหญ่ขนาดหน้าหนังสือพิมพ์รายวันกาง 2 หน้าต่อกัน (ภาษาโรงพิมพ์เรียกว่าขนาดตัด 1) พับแนบท้ายไว้ในเอกสารกระบวนการพิจารณาทั้งหมดที่มีอยู่ 2 เล่มโตๆ ที่ภาษาในคดีเขาจะเรียกว่าเอกสาร Pleadings ย่อมาจาก “Pleadings, Oral Arguments, Documents” ที่มีอยู่ในห้องสมุดศาล และห้องสมุดกฎหมายทั่วโลก และกระทรวงการต่างประเทศไทยคัดลอกมาพิมพ์ไว้ศึกษาเองไม่ได้จำหน่ายจ่ายแจกและไม่ได้แปล

ที่ว่าโชคดีก็เพราะ the big map ของจริงที่ใช้แสดงในศาลเมื่อ 15 มีนาคม 2505 นั้นหาได้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเป็นกระดาษที่มีขนาดใหญ่มาก 3 แผ่นๆ ละ 3X1.5 เมตร มาต่อกันจนได้เป็น 4.5X3 เมตร หาได้เพียง 2 แผ่น อีกแผ่นที่หายไปคือส่วนสำคัญที่สุดบริเวณปราสาทพระวิหาร และเมื่อตามไปหาที่สถาบัน ITC ของศ.วิลเลม สเกมาฮอน ก็ไม่พบ เนื่องจากช่วงที่สถาบันย้ายจากเมืองเดลฟท์ไปอยู่ที่เมืองเอสเคเด ได้ทำลายเอกสารเก่าบางส่วนไป

ทีมทนายความไทยให้ความสำคัญกับ the big map และรายงานสเกมาฮอนในภาคผนวก 49 เป็นอย่างมาก ถึงขนาดตามตัวคุณปู่ฟรีดริค เอคเคอมานผู้เดินทางไปสำรวจพื้นที่จริงเมื่อเดือนกรกฎคม 2504 จนพบที่เมืองสตุ๊ตการ์ด เยอรมนี และสนทนาบันทึกเรื่องราวแต่หนหลังไว้ อันเป็นที่มาสำคัญที่คุณปู่ได้เข้ามาร่วมฟังการแถลงด้วยวาจาในศาลเมื่อวันที่ 15 และ 17 เมษายน

ที่ตามคุณปู่จนพบ ก็เพราะอลิสแตร์ แมคโดนัล ผู้เชี่ยวชาญจากอิบรู ก็รู้จักคุณปู่ เพราะอยู่ในแวดวงเดียวกัน เคยพบกันในกรณีอื่น ประกอบกับคุณปู่เองก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงภูมิศาสตร์โลกจากการเดินสำรวจที่ปราสาทพระวิหารจนพบลำน้ำสำคัญในแผนที่ รู้จักกันในนาม Ackermann's stream

แม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่อลินา มิรองก็ให้ความสนใจแผนที่ ตลอดจนร่วมค้นพบว่า the annex I map ของกัมพูชาเวอร์ชั่นเมื่อ 50 ปีก่อนกับเวอร์ชันวันนี้ไม่เหมือนกัน

แม้จะไม่มีใครตอบตรงๆ ว่าทำไมเลือกเธอขึ้นให้การแทนที่จะเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่โดยตรงจากอิบรู แต่ได้ยินมาว่าทีมไทยต้องการให้ผู้แถลงไม้ตายนี้เป็นนักกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่นักภูมิศาสตร์ โดยนักภูมิศาสตร์จะทำงานในส่วนให้ข้อมูลเท่านั้น

อาจจะเป็นเพราะเป็นการเก็บรับบทเรียนจากการขึ้นให้การของศ.วิลเลม สเกมาฮอนเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2505 ที่มีบางตอนผิดพลาด เป็นการผิดพลาดในประเด็นสำคัญที่อาจจะมีส่วนมีผลต่อคำพิพากษา ความผิดพลาดนี้มีบันทึกอยู่ในเอกสาร Pleadings แต่รายละเอียดขอไม่กล่าวถึงขณะนี้

ในที่สุด อลินา มิรองก็เป็นนักกฎหมายที่ได้รับเลือกให้ขึ้นแถลงประเด็นสำคัญนี้โดยเฉพาะ

นอกจากชี้แจงในชั้นแถลงด้วยวาจาตามที่เราได้เห็นกันแล้ว แผนที่ map sheets 1 - 4 ของ Annex 49 จุดยืนของประเทศไทยในคดีเก่า ได้ถูกผลิตใหม่ และแนบไปในเอกสารแนบคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรของไทย ที่ส่งศาลไปเมื่อ 21 มิถุนายน 2555 ก่อนหน้าแล้ว โดยปรากฏในภาคผนวกที่ 47 - 50 ของเอกสารแนบของคำอธิบายเพิ่มเติม ดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเช่นกัน

เป็นเรื่องน่าชื่นชมที่คนไทยในพ.ศ.นี้ยังใช้ข้อต่อสู้ที่เป็นจุดยืนของประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2505

แต่จะประสบความสำเร็จแค่ไหน อย่างไร

ประเด็นนี้ต้องเผื่อใจไว้ให้มาก!

ก็อย่างที่ผมขึ้นหัวบทความวันนี้ไว้นั่นแหละครับ นี่ไม่ใช่ข้อต่อสู้ใหม่ แต่เป็นข้อต่อสู้เมื่อ 50 ปีที่แล้วที่ศาลเดียวกันนี้ไม่รับฟัง และตัดสินออกมาอย่างน่าเกลียด วันนี้ศาลแห่งเดียวกันนี้จะรับฟังหรือไม่ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด

อย่าลืมว่าวันนี้ไม่ใช่การรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่

แต่เป็นการตีความคำพิพากษาคดีเก่า

คดีเก่าที่ศาลพิพากษาทำร้ายประเทศไทยไว้โดยไม่สนใจ the big map และรายงานสเกมาฮอนเลย

รายงานสเกมาฮอน
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000026425

เว็บไซต์ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
http://www.icj-cij.org/docket/files/45/9253.pdf

เว็บไซต์ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเช่นกัน
http://www.icj-cij.org/docket/files/151/17294.pdf
กำลังโหลดความคิดเห็น