xs
xsm
sm
md
lg

“นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (19)

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง,สุวินัย ภรณวลัย

อะไรคือ “ฝัน” ของ “คนขายไก่” จากการซื้อ macro

7-11 ของไทย ซื้อ makro ของไทย ด้วยเงินกว่า 1.8 แสนล้านบาท เป็นข่าวใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ อะไรอยู่เบื้องหลัง “ฝัน” ของ เจ้าสัวซีพี

ขนาดของ 7-11 ใหญ่กว่า makro เกือบ 2 เท่าทั้งทรัพย์สินและยอดขาย ทั้ง 2 กิจการว่าไปแล้วอยู่คนละตลาด 7-11 ขายปลีกขณะที่ makro ขายส่ง

หากดูจากกำไรที่ได้ในแต่ละปีจะเห็นเค้าลาง “ฝัน” ของ เจ้าสัวซีพี เพราะ makro ด้วยตัวของมันเองก็มีกำไรเพียงปีละพันกว่าล้านบาทมาหลายปี มีแต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กำไรเพิ่มขึ้นจนถึง 3.5 พันล้านในปีที่แล้ว ด้วยกำไรขนาดนี้เทียบกับต้นทุนในการได้มากว่า 1.8 แสนล้านบาท มันคุ้มค่าหรือที่จะซื้อ

หากจะเชื่อว่า makro มีมูลค่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งซ่อนอยู่เพราะซื้อมาได้ถูกและไม่ได้มีการประเมินมูลค่าใหม่ จำนวนสาขา 50 กว่าสาขาแต่ละสาขาต้องมีมูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 3,000 ล้านบาทถึงจะมีมูลค่าถึง 1.8 แสนล้าน แต่ข้อเท็จจริงคือ makro ลงบัญชีล่าสุดว่ามีทรัพย์สินทั้งหมดที่รวมที่ดินด้วยเพียง 3.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ดูจากข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว ผู้ถือหุ้น 7-11 หรือคนทั่วไปจะเชื่อตาม เจ้าสัวซีพี หรือไม่ว่า makro คือเครื่องพิมพ์ธนบัตร? แต่ก็น่าแปลกที่หากเป็นจริง ทำไม เจ้าสัวซีพีจึงไม่เพิ่มทุนเอาเงินไม่เสียดอกเบี้ยมาซื้อแทนที่จะไปกู้ธนาคารที่หากคิดดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 5 ก็เกินกำไรของ makro ที่หาได้ในแต่ละปีแถมยังต้องเอากำไรของ 7-11 มารวมจึงจะพอจ่ายดอกเบี้ย

ทำแบบนี้ดูไปแล้ว เจ้าสัวซีพี ช่างใจร้ายกับผู้ถือหุ้นเดิมจริงๆ นอกจากไม่ยอมให้ผู้ถือหุ้นร่ำรวยไปด้วยกันแล้วยังให้แบกดอกเบี้ยอีก

ข้ออ้างการซื้อ makro เพื่อเป็นใบเบิกทางนำค้าปลีกไทยไปสู่เวทีตลาดโลกดูจะเป็นเป้าหมายสูงสุดที่สวยหรู แต่ดูจากข้อเท็จจริง เจ้าสัวซีพี อยากจะไปแค่กลางทาง นั่นคือ ผูกขาดทั้งค้าปลีกและค้าส่งภายในประเทศในลักษณะของ ไซบัตสึ (Zaibatsu) เสียมากกว่า

การผูกขาดมิใช่ต้องทำเฉพาะในสินค้าหรือตลาดเดียวกันอันเป็นการรวมหัวผูกขาดในแนวนอน หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้จากการรวมหัวผูกขาดตั้งแต่ ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ค้าส่ง จนถึงผู้ค้าปลีก ให้มาอยู่ในเครือเดียวกันอันเป็นการรวมหัวผูกขาดในแนวตั้ง

ไซบัตสึอันเป็นกิจการผูกขาดทั้งในแนวตั้งและ/หรือแนวนอนให้อยู่ในการควบคุมของตระกูลใดตระกูลหนึ่งของญี่ปุ่นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นตัวอย่างที่ดี ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ การปฏิรูปที่ดินและการคลังของญี่ปุ่นของสหรัฐฯ ในฐานะผู้ดูแลหลังชนะสงครามจึงทำควบคู่กันไปกับการยุบเลิก ไซบัตสึ เป็นลำดับแรกๆ

ปฏิเสธได้ยากว่า เจ้าสัวซีพี เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในทุกขั้นตอนตั้งแต่ อาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ เมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป และการขายปลีก ผ่านเครือข่ายกิจการในเครือที่อาจมีชื่อแตกต่างกันไป แต่เจ้าของเป็นของตระกูลเดียว

การซื้อ makro จึงเป็นการเชื่อมห่วงโซ่ในการผูกขาดในแนวตั้งให้ครบสมบูรณ์ ประโยชน์ทั้ง 3 ที่ เจ้าสัวซีพี อ้างว่า ประเทศ ประชาชน และบริษัท(ของเขา) จะได้นั้นดูจะมีเพียงประโยชน์เดียวเท่านั้นที่จะได้คือประโยชน์ของตระกูลเจ้าของบริษัท

คราวนี้โชวห่วยอีกหลายหมื่นร้านที่ขายแข่งกับ 7-11 หรือผู้ผลิตรายย่อยรายกลางที่เรียกว่า SME จำนวนมากที่ไม่ยอมเสียค่าเข้าฯ ค่าวางสินค้าให้กับ 7-11 ที่จากเดิมเป็นคู่ค้ากับ makro ทั้งในฐานะผู้ขายหรือผู้ซื้อก็จะถูกบีบให้เป็นกลายเป็น “กิจการบริวาร” ในไม่ช้าเพราะไม่มีที่ให้ค้าขายอย่างเสรี

การผูกขาดโดยตระกูลเดียวที่ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คุมปริมาณการผลิต คุมราคา ด้วยอำนาจต่อรองจากการผูกขาดในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ทั้งจาก makro และ 7-11 ในขณะที่ผูกขาดในฐานะผู้ขายค้าปลีกรายใหญ่จาก 7-11 อยู่แล้ว

นี่คือข้อเสียและความจริงของทุนนิยม หากจะควบคุมด้านเลวและให้ด้านดีของทุนนิยมปรากฏออกมา รัฐก็จำเป็นต้องเป็นผู้กำกับดูแล

การแข่งขันอย่างเสรีเท่าเทียมกันคือด้านดีของทุนนิยมที่อยู่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้นเพราะมีการแข่งขันจากผู้เล่นหลายคนจึงทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ทั้งจากสินค้าที่มีอย่างหลากหลายด้วยราคาถูกมีคุณภาพ ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวให้มีประสิทธิภาพพร้อมบริการผู้บริโภคอยู่เสมอ สภาวะ “ลูกค้าคือพระเจ้า” จึงเกิดขึ้นได้ หาไม่จะกลายเป็น “ผู้ผลิต/ผู้ขายคือพระเจ้า” แทน

การผูกขาดจึงเป็นสิ่งต้องห้ามเป็นความผิดร้ายแรงสำหรับประเทศที่ใช้ระบอบทุนนิยม หลายๆ ประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่าไทยในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี ต่างก็ผ่านพ้นสภาวะเช่นที่เราประสบในปัจจุบันมาก่อน แต่ทำไมเขาก้าวผ่านไปได้?

สิ่งที่สำคัญก็คือ ความเป็นมืออาชีพ ที่มิได้หมายความว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้สูงแต่เพียงลำพัง หากแต่เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต่างหาก อย่าเข้าใจผิด

ก่อศักดิ์ หรือ วีระชัย เป็นตัวอย่างที่ดีของความเป็นมืออาชีพเพราะเข้าใจและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา แม้คนหนึ่งจะเป็นมือเป็นเท้าให้ เจ้าสัวซีพี แต่ก็เป็นไปตามหน้าที่ของเขา

เช่นเดียวกับวีระชัย Hero จากกรณีคดีปราสาทพระวิหาร 2 เพราะเขารู้ว่าหน้าที่คือปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติอันเป็นผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทย ไม่มากกว่านั้นและไม่น้อยไปกว่านั้น จุดเล็กๆ ที่เขาทำจึงสามารถเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างที่หลายคนไม่เชื่อว่าจะเปลี่ยนได้ แม้แต่ Zero เช่น นพดล ก็คงต้องเชื่อหากจะต้องติดคุกเพราะการทำหน้าที่ของวีระชัย

กลับมาดูกรณี 7-11 ซื้อ makro ความเป็นมืออาชีพของข้าราชการที่จะทำหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมายให้ทำดูเหมือนจะเป็น Zero มากกว่า Hero

เพียงวันรุ่งขึ้นที่มีการแถลงข่าว ข้าราชการระดับสูงที่มีหน้าที่ดูแลการแข่งขันทางการค้าก็ออกมารับรองโดยพลันว่าไม่เข้าข่ายผูกขาด ไม่ต้องรีบเอาใจขนาดนั้นก็ได้ ตั้งกรรมการไต่สวนรอผลว่าผิดหรือไม่ผิดสักหลายวันเสียก่อนค่อยออกมาแถลงก็ยังไม่สาย

ดูไปแล้วข้าราชการระดับสูงหลายคนในกระทรวงค้าขายที่ในปัจจุบันกลายเป็น “สมาคมแม่บ้าน” ต่างหลงลืมไปแล้วว่า ความเป็นมืออาชีพนั้นเป็นอย่างไร จะมีตำแหน่งสูงหรือต่ำมิได้เป็นเครื่องชี้ หากแต่พฤติกรรมที่รับผิดชอบไม่ทรยศต่อหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบต่างหากที่จะเป็นเครื่องชี้ว่าท่านมีความเป็นมืออาชีพเพียงใด จะเป็น Hero หรือ Zero

ท่านอาจจะดูตัวอย่างปาฐกถาด่าประเทศตนเองของนางนายกฯ ที่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาอย่างชัดเจนว่าเป็น Zero เพราะมิได้ทำหน้าที่ของตนที่ประชาชนมอบหมายให้มาทำคือปกป้องผลประโยชน์ของชาติ หากแต่มุ่งที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตระกูลตนเองมากกว่า

จุดเปลี่ยนประเทศก็คือ ก้าวเล็กๆ ของข้าราชการในการทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ แล้วหน้าที่นั้นก็คือ การปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศอันเป็นผลประโยชน์ของประชาชน หาใช่ของตระกูลใดหรือคนใด ว่าแต่วันนี้ท่านทำแล้วหรือยัง?
กำลังโหลดความคิดเห็น